การจัดการรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นโดยเทคนิคเรซินอินฟิลเทรชัน

บทความ

การจัดการรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นโดยเทคนิคเรซินอินฟิลเทรชัน

            รอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น (Initial carious lesion) หรือรอยโรคจุดขาว (White spot lesion) เกิดจากความไม่สมดุลของการสูญเสียแร่ธาตุ (Demineralization)  และการคืนกลับแร่ธาตุ(Remineralization)  โดยรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นจะมีการสูญเสียแร่ธาตุของชั้นเคลือบฟัน (Enamel) แต่ยังไม่มีการสูญเสียโครงสร้างในชั้นเคลือบฟันจนเกิดเป็นโพรงฟันผุ สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุระยะเริ่มต้นมีหลายปัจจัย (Multifactorial factor) ได้แก่  มนุษย์ (Host) เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) อาหาร (Diet) และระยะเวลา (Time) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดสภาวะความเป็นกรดที่รบกวนสมดุลกรดด่างภายในช่องปาก มีผลทำให้ชั้นเคลือบฟันเกิดการสูญเสียแร่ธาตุ หากไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขสภาวะดังกล่าวชั้นเคลือบฟันจะมีการสูญเสียแร่ธาตุมากขึ้น นำไปสู่การเกิดรูพรุนที่เพิ่มขึ้นเกิดเป็นรอยโรคฟันผุที่มีความรุนแรงและเป็นโพรงฟันผุได้ (Cavitated carious lesion)

            การจัดรอยโรคฟันผุมีหลากหลายวิธี โดยในหลายปีที่ผ่านมาแนวทางการรักษารอยโรคฟันผุมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นการรักษาแบบบูรณะแก้ไข (Restorative treatment) เช่น การอุดฟัน การทำครอบฟัน เป็นแนวทางการรักษารอยโรคฟันผุที่เน้นการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive treatment) หรือการรักษาแบบไม่รุกล้ำ (Non-invasive treatment) มากขึ้น ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การตรวจหารอยโรคฟันผุให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำการรักษาแบบไม่รุกล้ำให้สูญเสียโครงสร้างฟันให้น้อยที่สุด ลดการสูญเสียแร่ธาตุ และหยุดการลุกลามของรอยโรคฟันผุได้

การรักษาเชิงป้องกันหรือการรักษาแบบไม่รุกล้ำของรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นมีหลายวิธี เช่น การดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก (Oral hygiene) ร่วมกับการเพิ่มการคืนกลับแร่ธาตุด้วยฟลูออไรด์ (Fluoride) หรือเคซีนฟอสโฟเปปไทด์อะมอร์ฟัสแคลเซียมฟอสเฟตหรือซีพีพี-เอซีพี (Casein phosphopeptide amorphous calcium phosphate, CPP-ACP) และอีกวิธีคือการทำเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant) ด้านบดเคี้ยวของฟัน นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือการทำเรซินอินฟิลเทรชั่น (Resin infiltration) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษารอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น โดยจะทำหน้าที่เติมเต็ม (Fill) เสริมความแข็งแรง (Reinforce) และสร้างความเสถียร (Stabilize) ของเคลือบฟันที่เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (1)

รอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น

            รอยโรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียสร้างกรดจากอาหารทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟัน เมื่อมีการสูญเสียแร่ธาตุมากกว่าการคืนกลับแร่ธาตุทำให้เกิดการเสียสมดุล เกิดการละลายของผิวเคลือบฟัน โดยเริ่มจากบริเวณพื้นผิวด้านใต้ (Subsurface) ทำให้มีรูพรุนในชั้นผิวเคลือบฟันมากขึ้น ลักษณะทางคลินิกของรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น จะพบรอยสีขาวขุ่นที่ผิวเคลือบฟันซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความโปร่งแสง (Translucency) ของเคลือบฟันจากการสูญเสียแร่ธาตุ ซึ่งปกติเคลือบฟันมีค่าดรรชนีหักเหแสง (Refractive index, RI) ประมาณ 1.62 กรณีเกิดสูญเสียแร่ธาตุทำให้เกิดรูพรุนใต้ผิวเคลือบฟัน โดยถ้ารอยโรคสัมผัสกับน้ำลายจะมีค่าดรรชนีหักเหแสงเท่ากับ 1.33 กรณีที่ทำให้รอยโรคแห้งจะมีผลให้อากาศเข้าไปแทนที่น้ำในรูพรุน จะทำให้มีค่าดรรชนีหักเหแสงที่ 1.0 ยิ่งมีความแตกต่างของดรรชนีหักเหแสงมากขึ้นยิ่งทำให้เห็นรอยสีขาวขุ่นบนฟันชัดเจน (2)

วิธีการรักษาแบบเรซินอินฟิลเทรชัน

การรักษาด้วยเรซินอินฟิลเทรชันเป็นเทคนิคใหม่ โดยอาศัยหลักการแพร่ของแรงแคปปิลารี่ (Capillary force) โดยใช้วัสดุเรซินความหนืดต่ำที่มีปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์แบบใช้แสงเป็นตัวกระตุ้นเข้าไปเติมเต็มในรูพรุนของเคลือบฟันที่เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ โดยจะสามารถหยุดการดำเนิน (Arrested) ของรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นได้ โดยเป้าหมายของเรซินอินฟิลเทรชันคือ การเติมเต็มรูพรุนภายในรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น เริ่มจากการใช้กรดกัดบริเวณรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นเพื่อให้เกิดการสูญเสียหรือละลายแร่ธาตุในชั้นเซอร์เฟสโซนออก เพื่อให้สารเรซินความหนืดต่ำแพร่ลงไปชั้นบอดี้ออฟลีชันได้อย่างเต็มที่ จากนั้นใช้เอทานอลเป็นตัวกำจัดน้ำให้ออกจากเคลือบฟัน แล้วจึงใส่สารเรซินความหนืดต่ำเพื่อให้แพร่ผ่านลงไปอุดรูพรุนที่เกิดขึ้นด้านในของรอยโรค เรซินจะเข้าไปแทนที่อากาศในรูพรุนของเคลือบฟันในรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้น จึงสามารถทำให้หยุดการดำเนินของรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นได้ โดยมีรายงานการศึกษา พบว่า การทำเรซินอินฟิลเทรชันจะทำให้ชั้นเคลือบฟันที่เกิดการสูญเสียแร่ธาตุมีค่าความแข็งแรงระดับจุลภาค (Microhardness) เพิ่มขึ้น (3,4) นอกจากนี้ยังพบว่าฟันที่ผ่านการทำเรซินอินฟิลเทรชันจะมีความขรุขระ (Roughness) ที่น้อยลงด้วย (5) รายงานการศึกษาของ Belli R และคณะ (6) พบว่า ฟันที่ผ่านการทำเรซินอินฟิลเทรชันจะทนต่อการสึกกร่อนจากการแปรงฟันได้ดี ยังมีรายงานรายศึกษาของ Wiegand A และคณะ (7) พบว่าการทำเรซินอินฟิลเทรชันแล้วตามด้วยการทาสารยึดติดจะไม่ส่งผลต่อแรงยึดติดในชั้นเคลือบฟัน แต่การศึกษาของ Jia L และคณะ (8) กลับพบว่า การปนเปื้อนของสารเรซินอินฟิลเทรชันที่เข้าไปในชั้นเนื้อฟัน จะส่งผลทำให้การยึดติดในชั้นเนื้อฟันมีค่าต่ำลง

นอกจากนี้เรซินอินฟิลเทรชันยังช่วยในเรื่องความสวยงามอีกด้วย โดยอาศัยหลักการการลดการกระจายของแสง (Light scatter) (รูปที่ 1) เนื่องจากค่าดัชนีการหักเหของแสงของเคลือบฟันที่มีการแทรกซึมด้วยสารเรซินมีค่าเท่ากับ 1.46-1.65 ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับค่าดัชนีการหักเหของแสงของผิวเคลือบฟันปกติ (RI = 1.62) จึงส่งผลให้ช่วยปรับสีบริเวณรอยโรคให้ดูกลมกลืนกับผิวเคลือบฟันธรรมชาติได้ (2) มีรายงานการศึกษาของ Hammad SM และคณะ (9) Knösel M และคณะ (10) พบว่าการทำเรซินอินฟิลเทรชันในฟันหน้าแท้ (Permanent anterior teeth) จะให้ผลสำเสร็จทางด้านความสวยงามทันทีหลังจากที่ทำเรซินอินฟิลเทรชัน ยังมีการศึกษาแนะนำให้ใช้เรซินอินฟิลเทรชันเป็นทางเลือกในการรักษารอยโรคฟันผุในระยะเริ่มต้นที่ต้องการความสวยงาม (11) นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาฟันผุในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นโพรงในด้านประชิดได้อีกด้วย

         

     รูปที่ 1 ดัชนีหักแหของแสงในรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นที่มีการแทรกซึมของเรซินอินฟิลแทรนท์

 

หลักการทำงานและส่วนประกอบของเรซินอินฟิลเทรชัน

            เรซินอินฟิลเทรชันมีชื่อผลิตภัณฑ์ทางการค้า คือ ไอคอน (Icon, DMG, Hamburg, Germany) ที่พัฒนาโดยประเทศเยอรมนี มี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ สำหรับใช้ในด้านผิวเรียบและใช้ในบริเวณด้านประชิด โดยในชุดผลิตภัณฑ์ไอคอนจะประกอบไปด้วย กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid) เข้มข้นร้อยละ 15เอทานอล (Ethanol) เข้มข้นร้อยละ 99 และเรซินอินฟิลแทรนท์ (Resin infiltrant)

ผลิตภัณฑ์ไอคอนใช้กรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นร้อยละ 15 แทนการใช้กรดฟอสฟอริกเข้มข้นร้อยละ 37 ดังที่ใช้ในการบูรณะฟันด้วยเรซินคอมโพสิต เนื่องจากมีรายงานการศึกษาว่ากรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นร้อยละ 15 มีความสามารถในการกัดเคลือบฟันได้ลึกถึง 58 ไมโครเมตร ซึ่งลึกกว่ากรดฟอสฟอริกที่สามารถกัดชั้นเคลือบฟันได้ลึกเพียง 25 ไมโครเมตร ดังนั้นกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นร้อยละ 15 จึงมีความสามารถในการกัดชั้นเซอร์เฟสโซนออกได้ เนื่องจากชั้นเซอร์เฟสโซนเป็นชั้นที่มีความลึกประมาณ 30 ไมโครเมตร ซึ่งชั้นดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดการขัดขวางต่อการแพร่ของสารเรซินความหนืดต่ำลงสู่ชั้นบอดี้ออฟลีชันของรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นได้ (12)

เอทานอลเข้มข้นร้อยละ 99 มีความสามารถในการกำจัดน้ำของจากเคลือบฟัน โดยจะทำการเปลี่ยนสภาพของเคลือบฟันที่มีความชอบน้ำ (Hydrophilic) เป็นเคลือบฟันที่ไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) ทำให้มีพลังงานพื้นผิว (Surface energy) บริเวณเคลือบฟันเพิ่มขึ้น ทำให้เรซินความหนืดต่ำสามารถเกิดการแพร่เข้าไปในบริเวณรอยโรคฟันผุได้ดีขึ้น นอกจากนี้การใช้ความเข้มข้นของเอทานอลที่สูงจะสามารถป้องกันการแยกชั้น (Phase separation) ของเรซินที่ไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic resin) ได้อีกด้วย

สารเรซินอินฟิลแทรนท์ความหนืดต่ำที่ใช้ คือ สารไตรเอททิลลีนไกลคอลไดเมทาคริเลตหรือเทคดีม่า (Triethylene glycol dimethacrylate, TEGDMA) โดยมีสมบัติที่ดี คือ ควรมีความหนืดต่ำ (Low viscosity) มุมสัมผัสต่ำ (Low contact angle) มีค่าดัชนีหักเหแสงใกล้เคียงผิวเคลือบฟัน และที่สำคัญคือมีความสามารถในการแพร่ได้ดี โดยสารเรซินอินฟิลแทรนท์มีความสามารถที่จะแพร่ลงไปในส่วนรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นได้มากกว่า 100 ไมโครเมตร (13) มีรายงานการศึกษาของ Araujo GS และคณะ (14) พบว่าการเติมสารเรซินที่ไม่ชอบน้ำตัวอื่น ๆ และเอทานอลในสัดส่วนต่าง ๆ กันผสมลงในสารเทคดีม่าไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่ของสารเรซินอินฟิลแทรนท์ที่ลึกขึ้น Meyer-Lueckel H และคณะ (15) พบว่าการใช้สารเทคดีม่าเป็นสารเรซินอินฟิลแทรนท์จะทำให้เกิดการแพร่ของสารลงในรอยโรคฟันผุระยะเริ่มต้นได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ทำเรซินอินฟิลเทรชันเสร็จแล้วให้ทำการขัดด้วยถ้วยยาง (Rubber cup) ร่วมกับพัมมิส (Pumice) โดยการศึกษาของ Paris S และคณะ (16) พบว่าการขัดภายหลังจากการทำเรซินอินฟิลเทรชันจะช่วยป้องกันการติดคราบสีต่าง ๆ ได้


เอกสารอ้างอิง

 

  1. Arslan S, Zorba YO, Atalay MA, Özcan S, Demirbuga S, Pala K et al. Effect of resin infiltration on enamel surface properties and Streptococcus mutans adhesion to artificial enamel lesions. Dent Mater J. 2015;34(1):25-30.
  2. Paris S, Meyer-Lueckel H. Masking of labial enamel white spot lesions by resin infiltration--a clinical report. Quintessence Int. 2009;40(9):713-8.
  3. Taher NM, Alkhamis HA, Dowaidi SM. The influence of resin infiltration system on enamel microhardness and surface roughness: An in vitro study. Saudi Dent J. 2012;24(2):79-84.
  4. Paris S, Schwendicke F, Seddig S, Müller WD, Dörfer C, Meyer-Lueckel H. Micro-hardness and mineral loss of enamel lesions after infiltration with various resins: influence of infiltrant composition and application frequency in vitro. J Dent. 2013;41(6):543-8.
  5. Arslan S, Zorba YO, Atalay MA, Özcan S, Demirbuga S, Pala K et al. Effect of resin infiltration on enamel surface properties and Streptococcus mutans adhesion to artificial enamel lesions. Dent Mater J. 2015;34(1):25-30.
  6. Belli R, Rahiotis C, Schubert EW, Baratieri LN, Petschelt A, Lohbauer U. Wear and morphology of infiltrated white spot lesions. J Dent. 2011;39(5):376-85.
  7. Wiegand A, Stawarczyk B, Kolakovic M, Hämmerle CH, Attin T, Schmidlin PR. Adhesive performance of a caries infiltrant on sound and demineralised enamel. J Dent. 2011;39(2):117-21.
  8. Jia L, Stawarczyk B, Schmidlin PR, Attin T, Wiegand A. Influence of caries infiltrant contamination on shear bond strength of different adhesives to dentin. Clin Oral Investig. 2013;17(2):643-8.
  9. Hammad SM, El Banna M, El Zayat I, Mohsen MA. Effect of resin infiltration on white spot lesions after debonding orthodontic brackets. Am J Dent. 2012;25(1):3-8.
  10. Knösel M, Eckstein A, Helms HJ. Durability of esthetic improvement following Icon resin infiltration of multibracket-induced white spot lesions compared with no therapy over 6 months: a single-center, split-mouth, randomized clinical trial. Am J Orthod Dentofacial Orthop. 2013;144(1):86-96.
  11. Tinanoff N, Coll JA, Dhar V, Maas WR, Chhibber S, Zokaei L. Evidence-based Update of Pediatric Dental Restorative Procedures: Preventive Strategies. J Clin Pediatr Dent. 2015;39(3):193-7.
  12. Manoharan V, Kumar SA, Arumugam SB, Anand V, Krishnamoorthy S, Methippara JJ. Is Resin Infiltration a Microinvasive Approach to White Lesions of Calcified Tooth Structures?: A Systemic Review. Int J Clin Pediatr Dent. 2019;12(1):53-8.
  13. Kielbassa AM, Muller J, Gernhardt CR. Closing the gap between oral hygiene and minimally invasive dentistry: a review on the resin infiltration technique of incipient (proximal) enamel lesions. Quintessence Int. 2009;40(8):663-81.
  14. Araújo GS, Sfalcin RA, Araújo TG, Alonso RC, Puppin-Rontani RM. Evaluation of polymerization characteristics and penetration into enamel caries lesions of experimental infiltrants. J Dent. 2013;41(11):1014-9.
  15. Meyer-Lueckel H, Paris S. Infiltration of natural caries lesions with experimental resins differing in penetration coefficients and ethanol addition. Caries Res. 2010;44(4):408-14.
  16. Paris S, Schwendicke F, Keltsch J, Dörfer C, Meyer-Lueckel H. Masking of white spot lesions by resin infiltration in vitro. J Dent. 2013;41(5):e28-34.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพ.อวิรุทธ์ คล้ายศิริ
ทพญ.จินต์จุฑา รัตนบุรี
ทพ.นิยม ธำรงค์อนันต์สกุล
ทพ.ตุลย์ ศรีอัมพร
ทพญ.นันทวรรณ กระจ่างตา

แบบทดสอบ