สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน

บทความ

สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน

          ภาวะเนื้อฟันไวเกิน (Dentin hypersensitivity) เป็นภาวะที่ฟันมีอาการปวดแปลบจากท่อเนื้อฟันที่เผยผึ่งตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นจากภายนอก ทั้งจากอุณหภูมิ การระเหย การกระตุ้นเชิงกล ออสโมติก รวมถึงสารเคมี  ซึ่งอาการตอบสนองนี้จะต้องไม่เกิดจากความผิดปกติของฟันหรือรอยโรคใด ๆ (1) โดยภาวะเนื้อฟันไวเกินเป็นปัญหาที่ทันตแพทย์สามารถพบได้โดยทั่วไป นอกจากนี้ภาวะเนื้อฟันไวเกินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเพียงแค่ฟันเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย  

สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินและการแบ่งประเภท

          จากการศึกษาของ Grossman (2) รายงานว่า สารที่มีคุณสมบัติในการลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน (Desensitizing agent) ที่ดีควรมีคุณสมบัติ คือ สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว มีผลในระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด สามารถใช้งานได้ง่าย รวมถึงไม่ทำให้เกิดฟันเปลี่ยนสี  โดยสามารถแบ่งประเภทของสารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ 2 รูปแบบ คือ 1. แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ และ 2. แบ่งตามลักษณะการใช้งาน

          การแบ่งประเภทสารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินตามกลไกการออกฤทธิ์สามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ 1. กลไกในการลดการรับความรู้สึกของเส้นประสาท (Desensitized nerve) ได้แก่ โพแทสเซียม (Potassium) และ 2. กลไกในการอุดกั้นท่อเนื้อฟัน (Occluded dentinal tubules) เช่น สตรอนเชี่ยม (Strontium) สแตนนัสฟลูออไรด์ (Stannous fluoride) ออกซาเลต (Oxalate) กลูตารัลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) สารกลุ่มขนส่งแคลเซียม (Calcium carriers) รวมถึงสารยึดติดต่าง ๆ (Adhesive agent) เป็นต้น  นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งานเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. สารที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน (At-home self-care) ซึ่งทำออกมาให้ใช้ได้ง่าย สามารถใช้ได้กับฟันหลาย ๆ ซี่พร้อมกัน และ 2. สารที่ต้องใช้โดยทันตแพทย์ (In-office professional treatment) ซึ่งมีราคาแพง มีความซับซ้อน ใช้รักษาในฟันเฉพาะซี่

สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน

            ปัจจุบันการใช้สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินที่ขายอยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งมีส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเสียวฟันโดยทั่วไปทั้งปาก และไม่มีลักษณะรูปร่างของฟันหรือเหงือกที่ผิดปกติ หนึ่งในตัวเลือกในการรักษาคือการใช้สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน โดยมีการนัดหมายเพื่อติดตามผลหลังใช้ประมาณ 4 -6  สัปดาห์ ยกเว้นในสารกลุ่มโพแทสเซียมที่จำเป็นต้องรอถึง 8 สัปดาห์ (3)

โพแทสเซียม

          สารในกลุ่มโพแทสเซียมเป็นส่วนผสมที่นิยมมากที่สุดสำหรับการลดการรับความรู้สึกของเส้นประสาทในผลิตภัณฑ์ลดภาวะเนื้อฟันไวเกินต่าง ๆ ที่วางขายในท้องตลาด เช่น ส่วนผสมในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น โดยการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของโพแทสเซียมอิออน (Potassium ion) ภายนอกเซลล์ซึ่งจะทำให้สภาวะดีโพลาไรซ์ (Depolarization state) ของเส้นประสาทไม่สามารถเกิดการรีโพลาไรซ์ (Repolarization) กลับได้ ลดการกระตุ้นของเส้นประสาทและการรับรู้ความเจ็บปวด โดยสารในกลุ่มโพแทสเซียมสามารถอยู่ในรูปแบบของ โพแทสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) แล โพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate) จากการศึกษาของ Bae และคณะ พบว่ายาสีฟันที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมมีผลในการลดอาการของภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ (4)

สตรอนเชี่ยม

            สตรอนเชี่ยมคลอไรด์ (Strontium chloride) เป็นส่วนผสมตัวแรกที่ใช้เป็นสารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินในยาสีฟัน ที่ใช้กันมามากกว่า 50 ปี แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถใช้ร่วมกับฟลูออไรด์ได้ โดยในปัจจุบันได้มีการใช้ในรูปสตรอนเชี่ยมอะซิเตต (Strontium acetate) มากขึ้น เนื่องจากถูกพัฒนาให้สามารถใช้ร่วมกับฟลูออไรด์ได้ รายงานการศึกษาของ Markowitz K (5) พบว่าการใช้สตรอนเชี่ยมอะซิเตตร่วมกับฟลูออไรด์จะให้ผลรักษาที่ดี โดยสตรอนเชี่ยมสามารถถูกดูดซับในชั้นเคลือบฟันและชั้นเนื้อฟันได้ ด้วยการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุกัน ทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุไปปิดช่องของเนื้อฟันที่เผยผึ่ง ลดการเกิดภาวะเนื้อฟันไวเกิน จากการศึกษาถึงประสิทธิผลของการทำงานของสารในกลุ่มสตรอนเชี่ยม พบว่า สตรอนเชี่ยมที่ผสมอยู่ในยาสีฟันไม่มีผลต่อการลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน ในขณะที่การศึกษาของ West และคณะ (6) แนะนำว่าสามารถใช้สตรอนเชี่ยมอะซิเตตเป็นส่วนผสมในยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟันได้

ออกซาเลต

            ในปัจจุบันออกซาเลตสามารถพบได้ในรูปแบบโพแทสเซียมออกซาเลตเข้มข้นร้อยละ 1.4 ในน้ำยาบ้วนปาก มีรายงานของ Pashley DH และคณะ (7) พบว่าออกซาเลตสามารถสร้างผลึกอุดกั้นปิดท่อเนื้อฟันเป็นผลให้ลดการซึมผ่านของของเหลวภายในเนื้อฟันได้ และตะกอนของออกซาเลตยังมีความต้านทานต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรด นอกจากนี้ยังสามารถเกิดชั้นพื้นผิวที่เต็มไปด้วยแคลเซี่ยมและคาร์บอกซีเลต ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการยึดติดทางเคมีต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามตะกอนของออกซาเลตสามารถลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งออกซาเลตในรูปของโพแทสเซียมออกซาเลตไม่ควรใช้ในระยะยาวเนื่องจากสามารถทำให้เกิดความผิดปกติของระบบย่อยอาหารได้

อาร์จินีน

              อาร์จินีนเป็นกรดอะมิโนที่สามารถพบได้ในน้ำลาย สามารถจับตัวกับแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) และฟอสเฟต (Phosphate) โดยประจุบวกของอาร์จีนีนจะไปยึดเกาะกับประจุลบที่ผิวของเนื้อฟัน หลังจากนั้นอาร์จินีนจะถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ในน้ำลาย สร้างเป็นสารแอมโมเนีย (Ammonia) ที่มีความเป็นด่างที่สูง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) ไปอุดกั้นในท่อเนื้อฟัน ป้องกันการไหลของของเหลวในท่อเนื้อฟัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีอาร์จินีนผสมอยู่มีทั้งในรูปแบบของยาสีฟัน (8% arginine) ในชื่อสารโปรอาร์จินีน (Pro-arginine) และน้ำยาบ้วนปาก (0.8% arginine) ในปัจจุบันประสิทธิภาพในการลดภาวะเนื้อฟันไวเกินของอาร์จินีนได้รับการยอมรับในหลายการศึกษา ทั้งในรูปแบบของยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก (6)

สแตนนัสฟลูออไรด์

            สแตนนัสสามารถตกตะกอนในเนื้อฟันและอุดกั้นท่อเนื้อฟันได้ พิสูจน์ได้จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่มีกำลังขยายสูง และมีความสามารถทนต่อสภาวะที่เป็นกรดได้ สามารถเข้ากันได้ดีกับฟลูออไรด์ นอกจากนี้ตัวฟลูออไรด์เองมีกลไกในการอุดกั้นท่อเนื้อฟันได้เช่นเดียวกัน ทำให้สแตนนัสฟลูออไรด์สามารถลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน โดยสามารถพบสแตนนัสฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมในยาสีฟันที่มีคุณสมบัติลดอาการเสียวฟันได้  จากการศึกษาพบว่าการใช้สแตนนัสฟลูออไรด์ สามารถช่วยลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ดีกว่าการใช้ฟลูออไรด์ในรูปแบบอื่น ๆ  และในหลายการศึกษาได้ให้การยอมรับว่าสแตนนัสฟลูออไรด์ในยาสีฟันสามารถช่วยลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานด้วยการใช้ปลายนิ้วมือทายาสีฟันไปในบริเวณที่มีอาการเสียวฟันแทนการแปรงฟัน (6,9)

แคลเซียมโซเดียมฟอสโฟซิลิเกตหรือซีเอสพีเอส (Calcium sodium phosphosilicate, CSPS)

            สารซีเอสพีเอสทำหน้าที่เป็นแก้วชีวภาพ (Bioactive glass) สามารถจับกับคอลลาเจนในชั้นเนื้อฟันและเกิดปฏิกิริยากับแคลเซียมและไฮโดรเจนฟอสเฟตไอออนที่อยู่ในน้ำลาย เกิดการสร้างเป็นชั้นอะมอร์ฟัสของแคลเซียมฟอสเฟตขึ้นมาปิดกั้นท่อเนื้อฟันได้ ทำให้สามารถลดการเกิดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ โดยเป็นส่วนผสมในยาสีฟันที่มีชื่อทางการค้า คือ โนวามิน (NovaMin) และในปัจจุบันหลายการศึกษายอมรับว่าสารซีเอสพีเอสในยาสีฟันมีประสิทธิภาพในการลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ (6,9)

นาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Nanohydroxyapatite)

            นาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ คือผลึกขนาดนาโนเมตรของไฮดรอกซีอะพาไทต์ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บแคลเซียมและฟอสเฟต ช่วยให้เกิดการสะสมที่พื้นผิวของฟันรวมถึงในท่อเนื้อฟัน (9) ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาศึกษาเพื่อปรับใช้ในทางทันตกรรมมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เช่น การกำจัดรอยโรคฟันผุในเด็ก รวมไปถึงสารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินด้วยเช่นกัน โดยมีการพัฒนาใส่นาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์เข้มข้นร้อยละ 15 ในส่วนผสมของยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟัน การศึกษาของ Hu และคณะ ได้รายงานว่ายาสีฟันที่มีส่วนผสมของนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์เป็นยาสีฟันลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้ดีที่สุดอีกด้วย (10) แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวในปัจจุบันยังสามารถหาซื้อได้ยากในประเทศไทย

สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินที่ต้องใช้โดยทันตแพทย์

          หากอาการนำของผู้ป่วยเป็นลักษณะเฉพาะที่ รวมทั้งในกรณีที่เมื่อใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากลดอาการเสียวฟันแล้วอาการไม่ดีขึ้น การใช้สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินในคลินิกทันตกรรมก็เป็นหนึ่งในการรักษาแบบไม่รุกล้ำ แต่อย่างไรก็หากอาการเสียวฟันมีสาเหตุเกิดจากเปลี่ยนแปลงของรูปร่างฟันและเหงือก อาจจำเป็นต้องรักษาแบบรุกล้ำ เช่น การบูรณะฟันด้วยวัสดุอุดต่าง ๆ การบูรณะด้วยการทำครอบฟัน การทำศัลย์ปริทันต์ เป็นต้น

กลุ่มสารยึดติด

            กลุ่มของสารยึดติดนั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน ซึ่งสารในกลุ่มนี้จะมีการคงตัวของสารเอง และอาจจะลดภาวะเนื้อฟันไวเกินได้นานขึ้น แนวคิดในการลดภาวะเนื้อฟันไวเกินของสารยึดติดนั้น คือ การลดการเคลื่อนที่ของของเหลวในท่อเนื้อฟัน โดยกลไกก็คือการเข้าไปผนึกและอุดกั้นท่อเนื้อฟัน (11) สารยึดติดที่นำมาใช้เพื่อลดภาวะเนื้อฟันไวเกินมีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น กลูมาดีเซนซิไทเซอร์ (Gluma desensitizer) ที่มีกลูมาทำหน้าที่เป็นสารลดภาวะเนื้อฟันไวเกิน โดยผ่านการทำปฏิกิริยากับอัลบูมินในของเหลวในท่อเนื้อฟัน และเหนี่ยวนำให้อัลบูมินตกตะกอนเกิดกระบวนการเกิดพอลิเมอร์ของฮีมา เป็นต้น

ฟลูออไรด์วาร์นิช (Fluoride varnish)

            การใช้ฟลูออไรด์ในคลินิกทันตกรรมที่ทันตแพทย์รู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งที่เป็นที่นิยมคือ โซเดียมฟลูออไรด์เข้มข้นร้อยละ 5 ในรูปแบบของฟลูออไรด์วาร์นิช โดยการทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมฟลูออไรด์ที่พื้นผิวของท่อเนื้อฟันที่เปิด แต่อย่างไรก็ตามผลในการลดภาวะเนื้อฟันไวเกินคงอยู่ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จำเป็นต้องมีการใช้ซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง รวมไปถึงในการศึกษาของ West และคณะ (6) แนะนำให้ใช้สารลดภาวะเนื้อฟันไวเกินในคลินิกทันตกรรมตัวอื่นแทนการใช้ฟลูออไรด์วานิช


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Canadian Advisory Board on Dentin Hypersensitivity. Consensus-based recommendations for the diagnosis and management of dentin hypersensitivity. J Can Dent  Assoc. 2003;69(4)221–6.
  2. Grossman LI. A Systematic Method for the Treatment of Hypersensitive Dentin. J Am Dent  Assoc. 1935;22(4):592-602.
  3. Schiff T, Dos Santos M, Laffi S, Yoshioka M, Baines E, Brasil KD et al. Efficacy of a dentifrice containing 5% potassium nitrate and 1500 PPM sodium monofluorophosphate in a precipitated calcium carbonate base on dentinal hypersensitivity. J Clin Dent. 1998;9(1):22-5.
  4. Bae JH, Kim YK, Myung SK. Desensitizing toothpaste versus placebo for dentin hypersensitivity: a systematic review and meta-analysis. J Clin Periodontol. 2015;42(2):131-41.
  5. Markowitz K. The original desensitizers: strontium and potassium salts. J Clin Dent. 2009;20(5):145-51.
  6. West NX, Seong J, Davies M. Management of dentine hypersensitivity: efficacy of professionally and self-administered agents. J Clin Periodontol. 2015;42(Suppl16): S256–302.
  7. Pashley DH, Galloway SE. The effects of oxalate treatment on the smear layer of ground surfaces of human dentine. Arch Oral Biol. 1985;30(10):731-37.
  8. Marto CM, Baptista Paula A, Nunes T, Pimenta M, Abrantes AM, Pires AS et al. Evaluation of the efficacy of dentin hypersensitivity treatments—A systematic review and follow-up analysis. J Oral Rehabil. 2019;46(10):952-90.
  9. Martins CC, Firmino RT, Riva JJ, Ge L, Carrasco-Labra A, Brignardello-Petersen R et al. Desensitizing Toothpastes for Dentin Hypersensitivity: A Network Meta-analysis. J Dent Res. 2020;99(5)514-22.
  10. Hu ML, Zheng G, Lin H, Yang M, Zhang YD, Han JM. Network meta-analysis on the effect of desensitizing toothpastes on dentine hypersensitivity. J Dent. 2019;88:103170.
  11. van Loveren C, Schmidlin P, Martens L, Amaechi B. Dentin Hypersensitivity: Prevalence, Etiology, Pathogenesis, and Management. Dental Erosion and Its Clinical Management. Cham; Heidelberg: Springer, 2015;275-302. 

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพ.อวิรุทธ์ คล้ายศิริ, ทพญ.นันทวรรณ กระจ่างตา, ทพ.สูงกฤษฏิ์ พจน์มนต์ปิติ และทพญ.มินตรา วุฒิคุณ

แบบทดสอบ