ความสัมพันธ์ของโรคปริทันต์ และโรคคลองรากฟัน

บทความ

ความสัมพันธ์ของโรคปริทันต์ และโรคคลองรากฟัน

โรคปริทันต์อักเสบ คือ การอักเสบของอวัยวะปริทันต์ เกิดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันจากการอักเสบ ในทางคลินิกจะตรวจพบร่องลึกปริทันต์ ที่มากกว่า 4 มิลลิเมตรขึ้นไป มักจะพบร่องลึกปริทันต์ได้ทั่วไปในฟันซี่อื่นๆในช่องปาก ร่วมกับพบการสะสมของคราบแบคทีเรีย และหินน้ำลาย โดยเฉพาะหินน้ำลายใต้เหงือก ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการมีร่องลึกปริทันต์ที่บริเวณดังกล่าว และสามารถพบการละลายของกระดูกเบ้าฟันได้จากภาพถ่ายรังสี

โรคคลองรากฟัน คือ การตายของเนื้อเยื่อประสาทฟัน มักมีสาเหตุมาจากการมีฟันผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน หรือฟันได้รับอุบัติเหตุจนทำให้เนื้อเยื่อประสาทฟันตาย เกิดเป็นพยาธิสภาพรอบปลายรากฟันตามมา

เนื่องจากเนื้อเยื่อประสาทฟัน และอวัยวะปริทันต์ มีช่องทางที่สามารถติดต่อกันได้ 2 ทาง คือ ทาง anatomical pathway เช่น apical foramen และ accessory canal และ non-physiological pathway เช่น root fracture หรือ root perforation ดังนั้นการเกิดพยาธิสภาพที่บริเวณหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่ออีกบริเวณหนึ่งได้

เนื้อเยื่อประสาทฟันที่ยังมีชีวิตอยู่แม้มีการอักเสบเกิดขึ้นก็มักไม่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะปริทันต์ แต่เมื่อเนื้อเยื่อประสาทฟันตาย เชื้อแบคทีเรียและสารที่เชื้อผลิตขึ้น สามารถกระจายออกสู่อวัยวะปริทันต์ได้โดยผ่านทาง apical foramenหรือ accessory canal โดยจะพบเป็นรอยโรคที่ปลายรากฟัน อาจพบ sinus tract เกิดขึ้นที่บริเวณเหงือกใกล้กับปลายรากฟัน เพื่อเป็นทางระบายหนองจากปลายรากฟัน หรืออาจมีการระบายผ่านออกมาทางร่องเหงือกทำให้เกิดเป็นร่องลึกปริทันต์ขึ้น

โรคปริทันต์ส่งผลต่อเนื้อเยื่อประสาทฟันน้อยมาก และมักไม่ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อประสาทฟัน ยกเว้นมีการทำลายของอวัยวะปริทันต์ลุกลามลงไปถึง apical foramen ซึ่งจะขัดขวางเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงเนื้อเยื่อประสาทฟัน ก็อาจจะทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อประสาทฟัน และเกิดเป็นรอยโรคคลองรากฟันขึ้นได้

เมื่อพบว่าฟันซี่หนึ่งเป็นโรคปริทันต์ หรือเป็นโรคคลองรากฟัน เพียงโรคใดโรคหนึ่ง การรักษาจะค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ในกรณีที่ตรวจพบว่ารอยโรคปริทันต์และรอยโรคปลายรากฟันมีการลุกลามมากขึ้นจนมาเชื่อมกัน จะทำให้การวินิจฉัย การพยากรณ์โรค รวมไปถึงการให้การรักษา มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น

การวินิจฉัย สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. Primary endodontic with secondary periodontal involvement คือ พยาธิสภาพเริ่มต้นมาจากการตายของเนื้อเยื่อประสาทฟัน เกิดเป็นรอยโรคปลายรากฟัน แล้วมีการระบายของหนองออกมาทางร่องเหงือก ทำให้เกิดเป็นร่องลึกปริทันต์ และเป็นรอยโรคทางปริทันต์ตามมา
  2. Primary periodontal with secondary endodontic involvement คือ โรคปริทันต์ที่ลุกลามลงไปถึงปลายรากฟัน ทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อประสาทฟัน และเกิดเป็นรอยโรคปลายรากฟันขึ้น
  3. True combined periodontal endodontic lesion คือ การที่โรคทั้งสองเกิดขึ้นแยกกัน แล้วลุกลามจนมาเชื่อมต่อกัน
  4. Concomitant endodontic periodontal lesion คือ การที่โรคทั้งสองโรคเกิดขึ้นในฟันซี่เดียวกัน แต่รอยโรคไม่ได้มีการลุกลามมาเชื่อมต่อกัน

การวินิจฉัยจะต้องอาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด ถึงอาการและอาการแสดงของโรค เพื่อหาสาเหตุและลำดับของการเกิดโรคที่แน่นอน ทำการตรวจในช่องปาก และถ่ายภาพรังสี โดยจากข้อมูลดังกล่าวร่วมกับลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างกันของรอยโรคทั้งสอง จะใช้ประกอบในการตัดสินใจว่า รอยโรคใดเกิดก่อนหรือรอยโรคทั้งสองเกิดพร้อมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพยากรณ์โรคที่ถูกต้อง และการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคปริทันต์เป็นหลัก โดยในทางปริทันต์นั้นถ้ามีการทำลายของกระดูกเบ้าฟันไปมาก จนคาดว่าไม่สามารถเก็บฟันไว้ใช้งานได้แม้ได้รับการรักษาทางปริทันต์ ก็ควรจะถอนฟันซี่ดังกล่าวออกโดยไม่มีความจำเป็นต้องให้การรักษารากฟัน เพราะถึงแม้ในการรักษารากฟันมักสามารถคาดหวังผลสำเร็จของการรักษา และเกิดการหายของรอยโรคปลายรากได้ดี แต่อวัยวะปริทันต์ที่ส่วนถูกทำลายไปจากการเป็นโรคปริทันต์จะไม่มีการสร้างกลับมาใหม่แม้ฟันจะได้รับการรักษารากฟันแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงควรพิจารณาสภาวะปริทันต์ และให้พยากรณ์โรคทางปริทันต์ของฟันซี่ดังกล่าวให้ถูกต้องก่อนเริ่มต้นการรักษา

เมื่อพิจารณาพยากรณ์โรคของฟัน endo perio lesion แล้ว พบว่าภายหลังการรักษาน่าจะสามารถเก็บฟันไว้ใช้งานได้ การรักษาจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การรักษารากฟัน และการรักษาทางปริทันต์ โดยลำดับของการรักษาจะแตกต่างกันเล็กน้อยตามการวินิจฉัยโรคของฟันซี่นั้นๆ ดังนี้  

  1.  Primary endodontic with secondary periodontal involvement เนื่องจากร่องลึกปริทันต์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการเป็นทางระบายของหนองจากปลายรากฟัน การรักษาจึงควรเริ่มจากการรักษารากฟันก่อน โดยเมื่อกำจัดเชื้อโรคจากคลองรากฟันแล้ว น่าจะสามารถคาดหวังการหายของร่องลึกปริทันต์ได้
  2. Primary periodontal with secondary endodontic involvement
  3. True combined periodontal endodontic lesion สำหรับการวินิจฉัยในข้อ 2 และ 3 เนื่องจากมีทั้งโรคปริทันต์ และรอยโรคปลายรากฟัน การรักษาจะต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการรักษารากฟันและการรักษาทางปริทันต์ และการรักษาโรคหนึ่งจะส่งผลต่อการหายของอีกโรคหนึ่งด้วย
  4. Concomitant endodontic periodontal lesion แม้ฟันซี่นี้จะเป็นทั้งโรคปริทันต์ และมีรอยโรคปลายรากฟัน แต่รอยโรคทั้งสองไม่ได้มีการเชื่อมต่อกัน ดังนั้นจึงสามารถรักษารากฟัน และรักษาทางปริทันต์ได้โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีการปวดมาจากโรคคลองรากฟัน จึงมักให้การรักษาโรคคลองรากฟันก่อน เพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย

ตัวอย่างรายงานผู้ป่วย

ประวัติผู้ป่วย: ผู้ป่วยชาย อายุ 45 ปี มารับการรักษาด้วยอาการเสียวฟันกรามบนด้านซ้าย (ซี่ 26) เวลาทานน้ำเย็น และเจ็บเวลากัดฟันซี่นี้ เป็นๆหายๆมานาน 2 เดือนแล้ว ผู้ป่วยสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง มานาน 20 ปี และให้ประวัติชอบรับประทานอาหารแข็ง และมีการกัดเน้นฟันเวลาเครียด

การตรวจในช่องปาก: ตรวจพบร่องลึกปริทันต์ลึก 4-6 มิลลิเมตร โดยทั่วไปทั้งปาก พบการสบกระแทกที่ฟัน 26/37 (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะทางคลินิกของฟันซี่ 26 และ 37

ฟันซี่ 26

การตรวจทางคลินิก และภาพถ่ายรังสี

การตรวจทางคลินิก: พบร่องลึกปริทันต์ลึก 10 มิลลิเมตร ทางด้าน palatal ลักษณะเป็น broad pocket มีจุดลึกสุดที่ mid palatal และค่อยๆตื้นขึ้นมาทาง mesial และ distal เหลือลึกประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ร่วมกับมีหินน้ำลายใต้เหงือกในปริมาณมาก พบ furcation involvement ระดับ 2 ที่ด้าน mesial พบฟันโยกระดับ 2 ไม่พบรอยผุที่ฟันซี่นี้ ตรวจความมีชีวิตของฟัน พบว่าฟันยังตอบสนองต่อ EPT

ภาพถ่ายรังสีฟัน: พบ mild horizontal bone loss ทางด้าน mesial และ distal พบ widening PDL space ร่วมกับมี periapical lesion ที่ palatal root ทำ tracing ด้วย gutta percha จากร่องลึกปริทันต์พบว่า รอยโรคไปสิ้นสุดที่บริเวณปลายรากฟัน เชื่อมต่อกับรอยโรคปลายราก (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 แสดงลักษณะทางคลินิก โดยตัวเลขแสดงถึงระดับความลึกของร่องลึกปริทันต์ทางด้าน palatal ลักษณะทางภาพถ่ายรังสี และภาพถ่ายรังสีการทำ gutta percha tracing ของฟันซี่ 26 จากร่องลึกปริทันต์ทางด้าน palatal พบว่าไปสิ้นสุดที่ปลายรากฟัน

 

การวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และแนวทางการรักษา

การวินิจฉัย: Primary periodontal with secondary endodontic involvement เนื่องจากลักษณะของร่องลึกปริทันต์เป็นแบบ broad pocket มีจุดที่ลึกที่สุดทางด้าน palatal และค่อยๆตื้นขึ้นมาทาง proximal ซึ่งเป็นลักษณะของรอยโรคทางปริทันต์ ฟันมีการสบกระแทก ทำให้โรคมีการลุกลามไปเร็วกว่าฟันซี่อื่นๆในช่องปาก และลุกลามไปถึงปลายรากฟัน น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันตาย และมีรอยโรคปลายรากตามมา

การพยากรณ์โรค: Questionable เนื่องจากฟันมีการสูญเสียระดับการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ไปมากถึงปลายรากฟัน ร่วมกับมี furcation involvement ระดับ 2 ทางด้าน mesial ฟันมีการสบกระแทก มีการโยกระดับ 2 และมีรอยโรคปลายรากเชื่อมกับรอยโรคทางปริทันต์

การรักษา: ให้การรักษาทั้งทางปริทันต์ และการรักษารากฟันควบคู่กันไป รวมถึงกรอแก้ไขการสบกระแทกที่ฟันซี่นี้ด้วย โดยในทางปริทันต์สามารถขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันไปได้ตลอดความลึกของร่องลึกปริทันต์ เนื่องจากร่องลึกปริทันต์นี้เกิดมาจากการเป็นโรคปริทันต์

ผลการรักษา

ภายหลังการรักษารากฟัน และการแก้ไขการสบฟัน พบว่าฟันไม่มีการโยกแล้ว ร่องลึกปริทันต์ทางด้าน palatal จากเดิมลึก 10 มิลลิเมตร ลดลงเหลือ 8 มิลลิเมตร และเหลือ 4-5 มิลลิเมตรโดยรอบซี่ฟัน สอดคล้องกับผลคาดหวังของการลดลงของร่องลึกปริทันต์ภายหลังจากการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน

เมื่อติดตามผล 6 เดือนภายหลังการรักษารากฟัน พบว่ามี bone fill เกิดขึ้น และไม่พบรอยโรคปลายรากแล้ว (ภาพที่ 3) อย่างไรก็ตามยังคงพบร่องลึกปริทันต์ 8 มิลลิเมตร ทางด้าน palatal ซึ่งสอดคล้องกับการวินิจฉัยที่ให้ไว้ ว่าร่องลึกปริทันต์นี้เกิดมาจากการเป็นโรคปริทันต์ การรักษารากฟันไม่สามารถทำให้มีการสร้างใหม่ของอวัยวะปริทันต์ที่ถูกทำลายไปจากการเป็นโรคปริทันต์ได้ ดังนั้นจึงมีแผนการทำศัลยกรรมปริทันต์ต่อไป

ภาพที่ 3 แสดงลักษณะทางคลินิก และลักษณะทางภาพถ่ายรังสีเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษาโรคปริทันต์ และการรักษารากฟัน ของฟันซี่ 26 ติดตามผลภายหลังการรักษา 6 เดือน

ฟันซี่ 37

การตรวจทางคลินิก และภาพถ่ายรังสี

การตรวจทางคลินิก: พบร่องลึกปริทันต์ลึก 15 มิลลิเมตร ทางด้าน distal ลักษณะเป็น deep narrow pocket ส่วนตำแหน่งอื่นๆรอบซี่ฟันพบร่องลึกปริทันต์ 4-6 มิลลิเมตร ร่วมกับมีหินน้ำลายใต้เหงือกในปริมาณมาก พบการโยกระดับ 1 และไม่พบรอยผุที่ฟันซี่นี้ ตรวจความมีชีวิตของฟันพบว่า ไม่ตอบสนองต่อ EPT แล้ว

ภาพถ่ายรังสี: พบ severe vertical bone loss ทางด้าน distal พบ widening PDL space ร่วมกับมี periapical lesion ที่ distal root ทำ tracing จากร่องลึกปริทันต์ พบว่ารอยโรคไปสิ้นสุดที่บริเวณปลายรากฟัน เชื่อมกับรอยโรคปลายราก (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 แสดงลักษณะทางคลินิก โดยตัวเลขแสดงถึงระดับความลึกของร่องลึกปริทันต์ ลักษณะทางภาพถ่ายรังสี และภาพถ่ายรังสีการทำ tracing ของฟันซี่ 37 จากร่องลึกปริทันต์ทางด้าน distal เห็นไปสิ้นสุดที่ปลายรากฟัน

การวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และแนวทางการรักษา

การวินิจฉัย: Primary endodontic with secondary periodontal involvement เนื่องจากลักษณะของร่องลึกปริทันต์ที่เป็น deep narrow pocket ลงไปถึงปลายรากฟัน คาดว่าน่าจะเป็นเพียงทางระบายของหนองจากพยาธิสภาพปลายรากฟัน อย่างไรก็ตามฟันซี่นี้ไม่พบมีรอยผุลึกที่น่าจะเป็นสาเหตุของการตายของฟัน จึงคาดว่าฟันน่าจะตายมาจากการมีการสบกระแทกมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ในผู้ป่วยรายนี้จากการตรวจพบการสบกระแทก และมีประวัติ clenching จึงให้วินิจฉัยแยกโรคเป็น cracked tooth ไว้ด้วย

การพยากรณ์โรค: Questionable เนื่องจากฟันมีการสูญเสียระดับการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ไปมากถึงปลายรากฟัน ฟันมีการสบกระแทก มีการโยกระดับ 1 และมีรอยโรคปลายรากเชื่อมกับรอยโรคทางปริทันต์

การรักษา: ทำการรักษารากฟันก่อน โดยไม่มีความจำเป็นต้องขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันลงไปตลอดความลึกของร่องลึกปริทันต์จนถึงปลายรากฟัน เนื่องจากคาดว่าเป็นเพียงทางระบายของหนองจากรอยโรคปลายราก และน่าจะสามารถหายได้ภายหลังจากกำจัดเชื้อโรคในคลองรากฟันแล้ว แต่สำหรับส่วนบนของร่องลึกปริทันต์ (5-6 มิลลิเมตร รอบซี่ฟัน) ที่พบมีหินน้ำลายใต้เหงือก สามารถขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันได้โดยไม่ต้องรอการรักษารากฟัน

ผลการรักษา

ร่องลึกปริทันต์ทางด้าน distal จากเดิมลึก 15 มิลลิเมตร ลดเหลือ 6 มิลลิเมตร ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษารากฟัน ซึ่งผ่านการรักษาเพียงขั้นตอนการขยายคลองรากฟันเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการวินิจฉัยโรคที่ให้ไว้แต่แรก ว่าร่องลึกปริทันต์นี้เป็นเพียงทางระบายของหนองจากรอยโรคปลายรากเท่านั้น และสามารถเกิดการหายได้เองภายหลังจากกำจัดเชื้อโรคภายในคลองรากฟัน ส่วนร่องลึกปริทันต์โดยรอบซี่ฟัน ลดเหลือประมาณ 4 มิลลิเมตร ซึ่งลดลงตามความคาดหวังของการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ฟันไม่พบการโยกแล้ว เมื่อติดตามผล 6 เดือนภายหลังการรักษารากฟัน พบมี bone fill เกิดขึ้น ไม่พบรอยโรคปลายรากฟัน และไม่พบลักษณะ severe vertical bone loss ทางด้าน distal ของฟันแล้ว (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5 แสดงลักษณะทางคลินิก และลักษณะทางภาพถ่ายรังสีเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษาโรคปริทันต์ และการรักษารากฟัน ของฟันซี่ 37 ติดตามผลภายหลังการรักษา 6 เดือน


เอกสารอ้างอิง

  1. Meng HX. Periodontic-endodontic lesions. Ann Periodontol. 1999 Dec;4(1):84-90.
  2. Ammons WF, Harington GW. The Periodontic-endodontic continuum: In Carranza, Newman, Takai. Clinical Periodontology 9th edition; Chapter 65 The Periodontic-Endodontic Continuum p: 840-850 St. Louis: Mosby, c2002.
  3. Harington GW and Steiner DR. Principle and Practice of endodontics 3rd edition; Periodontal-Endodontic consideration p:466-484.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

อ.ทญ.กนกนัดดา ตะเวทีกุล
วุฒิบัตร สาขาปริทันตวิทยา
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบบทดสอบ