ปากอักเสบเหตุฟันเทียม (Denture stomatitis)

บทความ

ปากอักเสบเหตุฟันเทียม(Denture stomatitis)

          ปากอักเสบเหตุฟันเทียมมีศัพท์ในภาษาอังกฤษหลายคำ ได้แก่ denture stomatitis (DS), denture-induced stomatitis, denture-related stomatitis, denture sore mouth, denture-associated erythematous candidiasis, chronic atrophic candidiasis และ chronic erythematous candidiasis  หากเรียกชื่อตามการจัดกลุ่มโรคราแคนดิดาในช่องปาก (oral candidiasis) ที่ใช้ในปัจจุบันจะใช้ชื่อเป็น Candida-associated denture-induced stomatitis หรือ Candida-associated denture stomatitis เป็นรอยโรคที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 30-60 ของผู้ใส่ฟันเทียมถอดได้1-3   ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในอาสาสมัครชาวไทยที่ใส่ฟันเทียมถอดได้พบความชุกของโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมร้อยละ 33.44  และมีรายงานว่าร้อยละ 65 ของผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากเป็นโรคนี้2  แม้ว่าปากอักเสบเหตุฟันเทียมจะเป็นรอยโรคที่พบได้บ่อยแต่สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัด   ในปัจจุบันเชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดโรคหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเฉพาะที่ (local factor) และปัจจัยทั่วกาย (systemic factor) ของผู้ป่วย ได้แก่ การติดเชื้อแคนดิดา การติดเชื้อแบคทีเรีย การบาดเจ็บจากฟันเทียม การมีอนามัยช่องปากและอนามัยฟันเทียม (denture hygiene) ไม่ดี อายุและชนิดของฟันเทียม  น้ำลาย การสูบบุหรี่ และสภาวะทั่วกาย (systemic condition) ที่ส่งผลให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันลดลง5   

          ปากอักเสบเหตุฟันเทียมมีลักษณะทางคลินิกเป็นรอยโรคสีแดงขอบเขตชัดเจนที่เยื่อเมือกช่องปากบริเวณที่สัมผัสกับฐานของงานทันตกรรมประดิษฐ์ชนิดถอดได้ ได้แก่ ฟันเทียม เครื่องมือจัดฟัน (orthodontic appliance)5-6 รวมถึงแผ่นปิด (obturator)7  รอยโรคมีความรุนแรงแตกต่างกันและมีการจัดกลุ่มของปากอักเสบเหตุฟันเทียมตามลักษณะทางคลินิกโดย Newton ซึ่งรายงานในปี ค.ศ. 19628  แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ ชนิดที่หนึ่งหรือระยะแรกจะพบจุดเลือดคั่งขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดในบางตำแหน่ง  ชนิดที่สองจะพบรอยแดงและการบวมกระจายทั่วไปในบริเวณเยื่อเมือกที่สัมผัสกับฐานฟันเทียม  รอยโรคจะมีขอบเขตชัดเจนและมักพบร่วมกับมุมปากอักเสบ (angular cheilitis)  หากไม่ได้รับการรักษาโรคจะดำเนินต่อไปและมีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นชนิดที่สาม ซึ่งจะเกิดการตอบสนองแบบเจริญเกิน (hyperplasia) ทำให้เกิดลักษณะรอยโรคยื่นนูนเป็นปุ่มขนาดเล็กบริเวณกลางเพดานปากร่วมกับพบการฝ่อหรือลีบของเยื่อเมือกช่องปาก5,9

ตารางแสดงการจัดกลุ่มรอยโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมตามลักษณะทางคลินิก10

          รอยโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมมักไม่มีอาการเจ็บปวดแม้ว่าจะพบรอยแดงจัดปรากฏที่เยื่อเมือกช่องปาก อย่างไรก็ตามมีรายงานพบว่าในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการเจ็บเล็กน้อยหรือมีอาการแสบร้อนที่บริเวณรอยโรคได้     นอกจากนี้ผู้ป่วยปากอักเสบเหตุฟันเทียมบางรายจะมีรอยโรคมุมปากอักเสบร่วมด้วยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ5  รายงานพบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีรอยโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมจะพบรอยโรคมุมปากอักเสบ5  ซึ่งอาการของมุมปากอักเสบมักจะเป็นอาการนำ (chief complaint) ที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์มากกว่าปากอักเสบเหตุฟันเทียมที่ผู้ป่วยไม่มีอาการและทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อและมีรอยโรคเกิดขึ้น10 รอยโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับ แผลบาดเจ็บ (traumatic ulcer) การบาดเจ็บจากความร้อน  ไลเคนแพลนัส (lichen planus) ไลเคนอยด์ (lichenoid) ปฏิกิริยาภูมิแพ้ (allergic reaction) และลูพัสอีริทีมาโทซัส (lupus erythematosus)2  

          การวินิจฉัยโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมจะใช้อาการและอาการแสดงทางคลินิก  รวมถึงประวัติของผู้ป่วยและการตรวจหาปัจจัยชักนำให้เกิดโรค เป็นข้อมูลหลักในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา และใช้การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจทางจุลชีววิทยา (microbiology) เพื่อเป็นการตรวจหาเชื้อ ตรวจหาปริมาณเชื้อ การระบุชนิดพันธุ์ และการตรวจหาความไวต่อยา (drug susceptibility)  รวมถึงการตรวจทางพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อในบางกรณี   นอกจากนี้การตรวจทางโลหิตวิทยา (hematology) และการตรวจทางชีวเคมี (biochemistry) อาจมีความจำเป็นเพื่อตรวจหาปัจจัยทั่วกายที่เป็นปัจจัยชักนำให้เกิดโรคราแคนดิดาในช่องปาก เช่น ภาวะขาดสารอาหารและวิตามิน ภาวะเลือดจาง (anemia) และโรคเบาหวาน รวมถึงการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (human immunodeficiency virus; HIV) ซึ่งจะเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคและการรักษา

          การรักษาโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียมควรเริ่มต้นจากการตรวจหาและแก้ไขหรือกำจัดปัจจัยชักนำให้เกิดโรคทั้งปัจจัยเฉพาะที่และปัจจัยทั่วกายในผู้ป่วยแต่ละราย  ซึ่งได้จากการซักประวัติและการตรวจผู้ป่วยรวมถึงการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ2,5  นอกจากนี้จะต้องมีการกำจัดเชื้อก่อโรคจากรอยโรคหรือฟันเทียมด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา (antifungal drug) การใช้สารระงับเชื้อและสารฆ่าเชื้อ การใช้สารทำความสะอาดฟันเทียม และการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของผู้ป่วยในการควบคุมคราบจุลินทรีย์ (dental plaque) โดยการปรับเปลี่ยนอนามัยในการดูแลช่องปากและการใช้ฟันเทียม11 รวมถึงมีการนำสารสกัดจากธรรมชาติหลายชนิดมาพัฒนาใช้เป็นการรักษาทางเลือก  โดยวิธีการดังกล่าวมุ่งเน้นการกำจัดแผ่นคราบชีวภาพ (biofilm) ของเชื้อแคนดิดาในช่องปากและฐานฟันเทียมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อโรค10


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  2. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.
  3. Bruch JM, Treister NS. Clinical oral medicine and pathology. 2nd ed. Cham: Springer International Publishing AG; 2017.
  4. Kaomongkolgit R, Wongviriya A, Daroonpan P, Chansamat R, Tantanapornkul W, Palasuk J. Denture stomatitis and its predisposing factors in denture wearers. Journal of International Dental and Medical Research 2017; 10(1) :89-94.
  5. Jontell M, Holmstrup P. Red and white lesions of the oral mucosa. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 91-121.
  6. Robbins MR. Oral mucosal lesions. In: Friedman PK, editor. Geriatric dentistry: caring for our aging population. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014. p. 137-151.
  7. Mattos BS, Sousa AA, Magalhaes MH, Andre M, Brito E Dias R. Candida albicans in patients with oronasal communication and obturator prostheses. Brazilian Dental Journal 2009; 20: 336-340.
  8. Newton AV. Denture sore mouth: a possible aetiology. British Dental Journal 1962; 112: 357-360.
  9. Holmstrup P, Reibel J, Mackenzie IC. Pathology and treatment of oral mucosal diseases. In: Holm-Pedersen P, Walls AWG, Ship JA, editors. Textbook of geriatric dentistry. 3rd ed. West Sussex: John Wiley & Sons Ltd.; 2015. p. 225-244.
  10. รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ. ปากอักเสบเหตุฟันเทียม. เชียงใหม่: บริษัท ทรีโอ แอดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์ มีเดีย จำกัด; 2556.
  11. Manfredi M, Polonelli L, Aguirre-Urizar J, Carrozzo M, McCullough M. Urban legends series: oral candidosis. Oral Diseases 2013; 19(3): 245-261.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ