รอยโรคไลเคนอยด์ (Lichenoid lesions)

บทความ

รอยโรคไลเคนอยด์ (Lichenoid lesions)

          รอยโรคไลเคนอยด์เป็นรอยโรคที่เหมือนกับไลเคนแพลนัส (lichen planus) ทั้งลักษณะทางคลินิกและลักษณะทางพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อ ซึ่งจัดแบ่งกลุ่มทางคลินิกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ (1) รอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัส (oral lichenoid contact lesions; OLCL) ซึ่งเป็นผลจากปฏิกิริยาภาวะภูมิไวเกินแบบช้า (delayed hypersensitivity reaction) จากการสัมผัสกับวัสดุทางทันตกรรมซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอะมัลกัม (amalgam) นอกจากนี้มีรายงานการเกิดรอยโรคไลเคนอยด์จากเรซินคอมโพสิต (composite resin)1,2   (2) ปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยา (oral lichenoid drug reactions; OLDR)  ในปัจจุบันมีรายงานเกี่ยวกับยาหลายชนิดที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปาก ได้แก่ ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (hypoglycemic drugs) ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซินคอนเวอร์ติงเอนไซม์ (angiotensin-converting enzyme inhibitors; ACE inhibitors) ยาต้านมาลาเรีย (antimalarial drugs) ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs)  ยาลดความดันเลือด (antihypertensive drugs) เกลือของทอง (gold salts) และยาเพนิซิลลามีน (penicillamine) แม้ว่ากลไกที่ยาเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจะยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัดแต่มีสมมุติฐานว่าเกี่ยวข้องกับปฏิกริยาภาวะภูมิไวเกินแบบช้า1-3 (3) รอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (oral lichenoid lesions of graft-versus-host disease; OLL-GVHD) ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง1,2     

          ลักษณะทางคลินิกของรอยโรคไลเคนอยด์เหมือนกับรอยโรคไลเคนแพลนัส   อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างระหว่างการกระจายของรอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสซึ่งจะพบรอยโรคจำกัดอยู่เฉพาะในตำแหน่งเยื่อเมือกช่องปากที่สัมผัสกับวัสดุทางทันตกรรม เช่น เยื่อเมือกกระพุ้งแก้มและด้านข้างของลิ้นที่สัมผัสกับวัสดุบูรณะอะมัลกัม รวมทั้งเยื่อเมือกริมฝีปากบนและล่างที่สัมผัสกับวัสดุบูรณะเรซินคอมโพสิต1  ส่วนปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยาอาจเกิดรอยโรคในช่องปากและ/หรือรอยโรคผิวหนังซึ่งสัมพันธ์กับการเริ่มรับยา  มีรายงานว่าปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยาส่วนใหญ่มักพบรอยโรคคล้ายไลเคนแพลนัสในช่องปากชนิดแผล  อย่างไรก็ตามสามารถพบรอยโรคชนิดอื่นได้1,2  รอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังโดยส่วนใหญ่เกิดรอยโรคทั้งในช่องปากและรอยโรคผิวหนังที่มีลักษณะทางคลินิกเหมือนกับรอยโรคไลเคนแพลนัส  แต่รอยโรคไลเคนอยด์จากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายมักมีการกระจายของรอยโรคในช่องปากมากกว่าไลเคนแพลนัสในช่องปาก และพบร่วมกับอาการแสดงอื่นได้แก่ อาการปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (xerostomia) การมีรอยโรคผิวหนังแบบเฉพาะ และพบการทำหน้าที่ผิดปกติของตับ1,2

          ควรให้การวินิจฉัยแยกรอยโรคไลเคนอยด์กับไลเคนแพลนัส และโรคอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิกที่ตรวจพบ   หากพบรอยโรคสีขาวควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับ ลูพัสอีริทีมาโทซัส (lupus erythematosus) ไวท์สปอนจ์นีวัส (white sponge nevus) ลิวโคเพลเคีย (leukoplakia) การกัดแก้มเรื้อรัง (chronic cheek biting) โรคราแคนดิดาชนิดเยื่อเทียม (pseudomembranous candidiasis) โรคราแคนดิดาชนิดเจริญเกิน (chronic hyperplastic candidiasis หรือ candidal leukoplakia) และมะเร็งเซลล์สแควมัส (squamous cell carcinoma) ส่วนรอยโรคชนิดฝ่อหรือลีบและชนิดรอยถลอกหรือแผลควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับโรคในกลุ่มรอยโรคสีแดงและแผลในช่องปาก ได้แก่ เพมพิกัสวัลการิส (pemphigus vulgaris) มิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ (mucous membrane pemphigoid) ลูพัสอีริทีมาโทซัส ปฏิกิริยาภูมิไวเกินจากการสัมผัส (contact hypersensitivity) และโรคราแคนดิดาชนิดเยื่อบุแดง (erythematous candidiasis)1,4,5

          การวินิจฉัยโรคใช้การซักประวัติ การตรวจทางคลินิก และการตัดเนื้อเยื่อออกตรวจ (biopsy) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคอื่นที่ไม่ใช่ไลเคนแพลนัส  เนื่องจากลักษณะทางคลินิกและลักษณะพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อของรอยโรคไลเคนอยด์และโรคไลเคนแพลนัสเหมือนกัน1,2,4   อย่างไรก็ตามมีหลักการในการวินิจฉัยแยกรอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสซึ่งจะพบรอยโรคจำกัดอยู่ในบริเวณที่สัมผัสกับวัสดุทางทันตกรรมเท่านั้น  ในขณะที่โรคไลเคนแพลนัสมักเกิดรอยโรคทั้งสองข้างของเยื่อเมือกกระพุ้งแก้มและตำแหน่งอื่นในช่องปาก1 นอกจากนี้การทดสอบภูมิแพ้จากการสัมผัส (patch test) เป็นวิธีที่ช่วยในการตรวจหาวัสดุทางทันตกรรมที่เป็นสาเหตุของรอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสได้2    การวินิจฉัยแยกปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยาจะใช้การซักประวัติเกี่ยวกับรอยโรคซึ่งปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยาจะเกิดขึ้นสัมพันธ์กับระยะเวลาการเริ่มรับยา   ส่วนไลเคนแพลนัสในช่องปากจะเกิดรอยโรคขึ้นโดยที่ไม่สัมพันธ์กับระยะเวลาการเริ่มได้รับยา  อย่างไรก็ตามวิธีการถอนยาและการทดลองให้ยาที่สงสัยซ้ำเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดในการวินิจฉัยปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยา แต่การทดลองให้ยาที่สงสัยซ้ำเป็นวิธีที่ไม่นิยมปฏิบัติทางคลินิก1-3    ส่วนการวินิจฉัยแยกรอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายกับไลเคนแพลนัสในช่องปากซึ่งมีลักษณะทางคลินิกเหมือนกัน  แต่พบว่ารอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายมักมีการกระจายของรอยโรคมากกว่าและมีอาการแสดงอื่นทางร่างกายร่วมด้วย1,2

          การรักษารอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสกับวัสดุทางทันตกรรม ควรมีการกำจัดและเปลี่ยนวัสดุทางทันตกรรมที่เป็นสาเหตุ โดยรอยโรคส่วนใหญ่จะหายภายหลังจากการกำจัดวัสดุที่เป็นสาเหตุออกในช่วงเวลา 1-2 เดือน1,2  การรักษาปฏิกิริยาไลเคนอยด์จากยาควรมีการปรึกษากับแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยเพื่อหยุดยาและเปลี่ยนยาที่สงสัย ซึ่งรอยโรคจะหายโดยใช้เวลาหลายสัปดาห์ภายหลังการหยุดยา3 และให้การรักษารอยโรคไลเคนอยด์ทั้ง 3 กลุ่ม ตามอาการเหมือนการรักษาโรคไลเคนแพลนัสโดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบออกฤทธิ์เฉพาะที่ (topical corticosteroid) เป็นยาหลัก  รวมทั้งควรให้คำแนะนำกับผู้ป่วยถึงสาเหตุของการเกิดรอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสและปฏิกิริยาไลเคนอยด์ในช่องปากจากยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ  นอกจากนี้มีรายงานการเกิดมะเร็งทุติยภูมิ (secondary malignancy) ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนรุนแรงของภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดรอยโรคปฏิกิริยาไลเคนอยด์จากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายควรได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะ1

 

                 
   
     
 
 
     
 
     
 
     

รอยโรคไลเคนอยด์ในช่องปากจากการสัมผัสกับวัสดุบูรณะอะมัลกัม


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Jontell M, Holmstrup P. Red and white lesions of the oral mucosa. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 91-121.
  2. Al-Hashimi I, Schifter M, Lockhart PB, Wray D, Brennan M, Migliorati CA, et al. Oral lichen planus and oral lichenoid lesions: diagnostic and therapeutic considerations. Oral Surgery Oral Medicine Oral Pathology Oral Radiology and Endodontology 2007; 103 Suppl:S25.e1-12.
  3. Kaomongkolgit R. Oral lichenoid drug reaction associated with antihypertensive and hypoglycemic drugs. Journal of Drugs in Dermatology 2010; 9(1): 73-75.
  4. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  5. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ