มิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ (Mucous membrane pemphigoid)

บทความ

มิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ (Mucous membrane pemphigoid)

          มิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ (mucous membrane pemphigoid; MMP) หรือ  ซิกาทริเชียลเพมฟิกอยด์ (cicatricial pemphigoid)1,2 และชื่ออื่นได้แก่ oral pemphigoid, ocular cicatricial pemphigoid, ocular pemphigoid และ benign mucous membrane pemphigoid3-5  เป็นโรคเหตุภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune disease) แบบเรื้อรังในกลุ่มโรคใต้เยื่อบุผิว (subepithelial diseases)  โดยมีออโตแอนติบอดี (autoantibody) ต่อเฮมิเดสโมโซม (hemidesmosome) ในเยื่อใต้ฐานเซลล์ (basement membrane)2,6  ซึ่งมีรายงานถึงแอนติเจนที่พบบ่อยในโรค ได้แก่ บูลลัสเพมฟิกอยด์แอนติเจน 2 (bullous pemphigoid antigen 2; BPAg2 หรือ a 180-kDa protein; BP180)  และลามินิน-332 (laminin-332) หรือลามินิน-5 (laminin-5) หรืออิพิลิกริน (epiligrin)4,5 นอกจากนี้มีรายงานพบการเกิดโรคที่ถูกกระตุ้นจากยา เช่น เมทิลโดปา (methyldopa) โคลนิดีน (clonidine) และดีเพนิซิลลามีน (D-penicillamine)5  โรคนี้ส่งผลกระทบต่อเยื่อเมือกของผู้ป่วยทำให้เกิดเป็นตุ่มพองของเยื่อเมือก (mucosal blistering) แผลที่มีอาการเจ็บปวด และการเกิดแผลเป็นในเยื่อเมือกบางตำแหน่ง1,7

          มิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์พบในผู้สูงอายุที่มีช่วงอายุระหว่าง 60-80 ปี5,6,8  บางรายงานพบว่าเกิดโรคในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี1,3 และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย2,7,8  ในอัตราส่วน 2:11,3,5,6  รอยโรคเกิดที่ผิวหนังและเยื่อเมือกของร่างกายโดยเยื่อเมือกช่องปากเป็นตำแหน่งที่พบรอยโรคมากที่สุดประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วย1,5,8 รองลงมาคือเยื่อตา (conjunctiva) และทำให้เกิดแผลเป็น รวมทั้งการยึดติดระหว่างเยื่อตาส่วนลูกตาและเยื่อตาส่วนหนังตา (bulbar and palpebral conjunctiva) เรียกว่า “เยื่อตาติดกัน” (symblepharon) และทำให้เกิดความเสียหายของกระจกตา ส่งผลให้มีการเกิดแผลเป็นซึ่งทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้  โดยพบประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วย1,2,5,6  รอยโรคอาจเกิดที่เยื่อเมือกอวัยวะเพศซึ่งทำให้มีอาการเจ็บปวด1  หากรอยโรคเกิดที่กล่องเสียงจะทำให้มีอาการเจ็บปวด เสียงแหบ หายใจลำบากและอาจทำให้เกิดการตายได้จากสาเหตุการขาดอากาศหายใจ (asphyxiation)1,3 และหากรอยโรคเกิดที่หลอดอาหารจะทำให้มีการกลืนลำบากซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดการตายได้1,5 นอกจากนี้พบรอยโรคที่ผิวหนังบริเวณศีรษะและลำคอ โดยพบประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วย1   รอยโรคในช่องปากเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด โดยจะพบลักษณะเหงือกอักเสบลอกหลุด (desquamative gingivitis)1,2 รอยโรคอาจปรากฏเป็นตุ่มพองที่เหงือกหรือเยื่อเมือกช่องปากส่วนอื่นได้แก่ เพดานปาก เยื่อเมือกกระพุ้งแก้ม และเยื่อเมือกเบ้าฟัน (alveolar mucosa) บางครั้งอาจพบตุ่มพองเลือด (blood blister)8 แต่ส่วนใหญ่จะพบรอยโรคลักษณะเป็นรอยถลอก แผลและรอยแดง ส่วนการเกิดแผลเป็นในช่องปากพบไม่บ่อย1,3,6

          รอยโรคในช่องปากที่มีลักษณะเหงือกอักเสบลอกหลุดจะมีลักษณะคล้ายกับไลเคนแพลนัสชนิดรอยถลอก (erosive lichen planus) และเพมฟิกัสวัลการิส (pemphigus vulgaris)1,3  ซึ่งผู้ป่วยที่มีเหงือกอักเสบลอกหลุดทุกรายควรได้รับการตัดเนื้อเยื่อออกตรวจ (biopsy) ทางพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อ  และการตรวจด้วยวิธีอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรง (direct immunofluorescence) เพื่อให้การวินิจฉัยโรค1  นอกจากนี้ควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับโรคอื่นในกลุ่มแผลและตุ่มพองในช่องปาก4

 

รอยโรคมิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์บริเวณเยื่อเมือกเพดานปาก

 

          การวินิจฉัยโรคใช้การซักประวัติ การตรวจทางคลินิก และใช้การตัดเนื้อเยื่อออกตรวจ ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นมิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ควรได้รับการตัดเนื้อเยื่อออกตรวจทางพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อและการตรวจด้วยวิธีอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรง ซึ่งควรเลือกตัวอย่างเนื้อเยื่อจากขอบแผลหรือตุ่มพองหรือรอยแดง1,3,6   ลักษณะพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อจะพบรอยแยกใต้เยื่อบุผิว (subepithelial cleft) โดยชั้นเยื่อบุผิวเป็นส่วนบนของรอยแยกและชั้นเนื้อเยื่อยึดต่อ (connective tissue) เป็นฐานของรอยแยกที่มีการแทรกซึมของเซลล์อักเสบ1,6  ส่วนการตรวจด้วยวิธีอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงจะพบผลบวกต่ออิมมูโนโกลบูลินจี (immunoglobulin G; IgG) คอมพลีเมนท์ 3 (complement; C3) และบางครั้งพบผลบวกต่ออิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA)1,5 และอิมมูโนโกลบูลินเอ็ม (IgM)3 ในลักษณะเป็นแนวยาว (linear pattern) ในส่วนเยื่อใต้ฐานเซลล์ (basement membrane zone; BMZ)2 โดยพบประมาณร้อยละ 50-80 ของผู้ป่วย1 และการตรวจด้วยเทคนิคซอลท์สปลิท (salt split technique; SST) จะพบปฏิกิริยาระหว่างแอนติเจนกับแอนติบอดี (immunoreaction) ที่ส่วนบนของรอยแยก1 นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยโรคมิวคัสเมมเบรน เพมฟิกอยด์ประมาณร้อยละ 5-25 พบผลบวกจากการตรวจด้วยวิธีอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยอ้อม (indirect immunofluorescence)1,3

          การรักษาโรคมิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของรอยโรค1   ซึ่งได้มีการจัดแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามตำแหน่งที่พบรอยโรคเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ คือกลุ่มที่พบรอยโรคในช่องปากและผิวหนัง  และกลุ่มความเสี่ยงสูง คือกลุ่มที่พบรอยโรคในตำแหน่งอื่น เช่น ตา อวัยวะเพศ หลอดอาหารและกล่องเสียง และผู้ป่วยในกลุ่มความเสี่ยงสูงจะได้รับการรักษาแบบโหมรักษา (aggressive treatment)9  โดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบออกฤทธิ์ทั่วกาย (systemic corticosteroid) ในช่วงเวลาสั้นเพื่อลดความรุนแรงของโรค หลังจากนั้นจะเปลี่ยนการรักษาโดยการลดขนาดยาลงร่วมกับการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs)  ได้แก่ แอซาไทโอพรีน (azathioprine) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) และไมโคฟีโนเลตโมฟีทิล (mycophenolate mofetil)1,4,5,9   นอกจากนี้มีรายงานการใช้ยาแดปโซน (dapsone) ในการรักษาผู้ป่วยโรคมิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์  อย่างไรก็ตามยาแดปโซนมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency; G6PD) และผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา (sulfa drugs)1,3  การใช้ยาแดปโซนยังทำให้เกิดภาวะเลือดจางเหตุเลือดสลาย (hemolytic anemia)  ดังนั้นควรมีการตรวจติดตามความสมบูรณ์เลือดของผู้ป่วย9 และมีรายงานการใช้ยาไนอาซินาไมด์ (niacinamide) หรือ นิโคทินาไมด์ (nicotinamide) ในการรักษา3  นอกจากนี้มีการใช้ริทูซิแมบ (rituximab) ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือดื้อต่อการรักษา1,6  ส่วนในผู้ป่วยที่มีรอยโรคเฉพาะในช่องปากควรให้การรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบออกฤทธิ์เฉพาะที่ (topical corticosteroid) ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก เจลหรือขี้ผึ้ง หรือการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในรอยโรค1  ในผู้ป่วยที่มีเหงือกอักเสบลอกหลุดอาจใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบออกฤทธิ์เฉพาะที่ร่วมกับเผือกฟันแบบอ่อน (soft splint) ที่คลุมบริเวณเหงือก1,4-6  และควรมีการติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจพบผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น โรคราแคนดิดาในช่องปาก (oral candidiasis)3 มีรายงานการใช้ยาแทโครลิมัส (tacrolimus) ชนิดทาเฉพาะที่6 และการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เททราไซคลีน (tetracycline) หรือดอกซีไซคลีน (doxycycline) โดยเตรียมในรูปแบบน้ำยาบ้วนปากให้ผู้ป่วยอมกลั้วในช่องปากแล้วกลืนเพื่อช่วยลดอาการและระยะเวลาในการเป็นแผล1,9  รวมทั้งควรเน้นให้ผู้ป่วยมีอนามัยช่องปากที่ดีซึ่งจะช่วยลดการอักเสบเฉพาะที่2,4,5,9  ผู้ป่วยมิวคัสเมมเบรนเพมฟิกอยด์ทุกรายควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์4 และหากพบรอยโรคที่อวัยวะส่วนอื่นควรได้รับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่มีความเกี่ยวข้อง8


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Woo SB, Greenberg MS. Ulcerative, vesicular, and bullous lesions. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 57-89.
  2. Robbins MR. Oral mucosal lesions. In: Friedman PK, editor. Geriatric dentistry: caring for our aging population. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014. p. 137-151.
  3. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  4. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.
  5. Xu HH, Werth VP, Parisi E, Sollecito TP. Mucous membrane pemphigoid. Dental Clinics of North America 2013; 57(4): 611-630.
  6. Bruch JM, Treister NS. Clinical oral medicine and pathology. 2nd ed. Cham: Springer International Publishing AG; 2017.
  7. Kahn MA, Hall JM. The ADA practical guide to soft tissue oral disease. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014.
  8. Holmstrup P, Reibel J, Mackenzie IC. Pathology and treatment of oral mucosal diseases. In: Holm-Pedersen P, Walls AWG, Ship JA, editors. Textbook of geriatric dentistry. 3rd ed. West Sussex: John Wiley & Sons Ltd.; 2015. p. 225-244.
  9. Scully C. Oral and maxillofacial medicine. The basis of diagnosis and treatment. 3rd ed. Edinburg: Churchill Livingstone; 2012

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ