การประเมินผู้ป่วยสูงอายุในทางทันตกรรม (Older dental patient assessment)

บทความ

การประเมินผู้ป่วยสูงอายุในทางทันตกรรม (Older dental patient assessment)

          โลกเข้าสู่ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations; UN) ได้ประเมินสถานการณ์ว่า พ.ศ. 2544-2643 (ค.ศ. 2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึง การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก   คำว่า “ผู้สูงอายุ” (older หรือ elderly person) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้อายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ในการเรียกผู้สูงอายุ   สำหรับประเทศไทยได้กำหนดนิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย  โดยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุได้ 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) เป็นช่วงวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้  กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) เป็นช่วงวัยที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วย ร่างกายเริ่มอ่อนแอและมีโรคเรื้อรัง และกลุ่มที่ 3 ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงวัยที่เจ็บป่วยบ่อยขึ้น อวัยวะเสื่อมสภาพ และอาจมีภาวะทุพพลภาพ

          การเปลี่ยนตามวัย (aging)  ส่งผลให้เกิดภูมิไวรับ (susceptibility) ต่อการเกิดโรคในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้สุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุเสื่อมลง อย่างไรก็ตามอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงปัจจัยเดียวอาจไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเนื่องจากมีปัจจัยอื่น ได้แก่ โรคในช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ โรคเยื่อเมือกช่องปาก ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ และการละลายของกระดูกเบ้าฟัน รวมทั้งโรคทั่วกาย (systemic disease) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular accident; CVA) และโรคอัลซไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease)  ตลอดจนยาที่ผู้สูงอายุได้รับ และการได้รับรังสีรักษา (radiotherapy) ในบริเวณศีรษะและลำคอ  ล้วนเป็นปัจจัยทำให้สุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุเสื่อมลงและมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของช่องปาก ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ผลกระทบต่อการสื่อสาร และคุณภาพชีวิตที่ลดลง  นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายจุลชีพก่อโรคทางกระแสเลือดและการสูด (aspiration) เข้าปอดซึ่งนำไปสู่ภาวะคุกคามต่อชีวิตของผู้สูงอายุ 

         ในปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ในการรักษาโรค  ส่งผลให้ทันตแพทย์ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีปัญหาทางการแพทย์ (medical problem) มีโรคทั่วกาย รับประทานยาหลายชนิด และผู้ป่วยบางรายมีปัญหาด้านจิตสังคม (psychosocial problem) ซึ่งประเด็นทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการวางแผนการรักษาและการพยากรณ์โรคทางทันตกรรม  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ทันตแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจะต้องทราบถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงและโรคในช่องปากของผู้สูงอายุ สามารถให้การวินิจฉัยโรค รวมทั้งจัดการกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและโรคในช่องปากของผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม1-6  โดยปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคปริทันต์ ฟันผุ ฟันสึก การสูญเสียฟัน ภาวะปากแห้ง แผลในช่องปาก และมะเร็งในช่องปาก1

          การประเมินผู้ป่วยสูงอายุมีความแตกต่างและมีความซับซ้อนมากกว่าการประเมินผู้ป่วยกลุ่มอายุน้อยกว่า ซึ่งการประเมินผู้ป่วยสูงอายุจะต้องอาศัยข้อมูลจากหลายมิติและหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน ได้แก่ ความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน สุขภาพร่างกาย กระบวนการรู้คิด (cognition) สุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อมทางสังคมของผู้ป่วย  นอกจากนี้การประเมินผู้ป่วยสูงอายุควรมีการตรวจสอบถึงยาที่ผู้ป่วยได้รับทั้งที่สั่งจ่ายและไม่ได้สั่งจ่ายโดยแพทย์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและการก่อภูมิคุ้มกัน (immunization)  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสหสาวิชาชีพต่าง ๆ ร่วมกันในการประเมินผู้ป่วยสูงอายุ1,2,6

          การประเมินทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ามารับการรักษาทางทันตกรรมประกอบด้วยการซักประวัติและการตรวจทางคลินิก   ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยจะต้องประเมินสุขภาพทางการแพทย์ของผู้ป่วยให้สมบูรณ์  โดยควรใช้การประเมินที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วนในทุกส่วนและทำให้ไม่พลาดในส่วนที่มีความสำคัญ  วิธีการที่ควรใช้ในการซักประวัติผู้ป่วยสูงอายุนั้น  ทันตแพทย์และผู้ป่วยควรนั่งให้ระดับสายตาสบกันพอดี ในห้องที่เงียบและไม่มีแสงจ้าส่องมาจากทางด้านหลังใบหน้าของทันตแพทย์ เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายอาจใช้การอ่านริมฝีปากเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ทันตแพทย์พูด  เริ่มต้นก่อนการซักประวัติทันตแพทย์ควรแนะนำตัวต่อผู้ป่วยอย่างเป็นมิตร ควรพูดให้ช้า ชัดเจนด้วยระดับเสียงต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงดัง การพูดเสียงดังขึ้นอาจจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน  ในระหว่างการซักประวัติควรทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์เพื่อสร้างความไว้วางใจของผู้ป่วยต่อทันตแพทย์ และกระตุ้นให้ผู้ป่วยบอกเล่าถึงอาการสำคัญ (chief complaint) และอาการอื่น ๆ รวมทั้งความรู้สึกหรือความกลัวของผู้ป่วย6

          สำหรับการวางแผนการรักษาและการจัดการทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา ประกอบกับข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเงิน ครอบครัว รวมทั้งข้อจำกัดทางการแพทย์และทางกายภาพ ตลอดจนข้อจำกัดในการเดินทางของผู้ป่วย ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาเมื่อมีการวางแผนการรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุ   นอกจากนี้การวางแผนการรักษาในผู้ป่วยสูงอายุควรสามารถปรับเปลี่ยนแผนการรักษาได้ตลอดเวลา เนื่องจากสุขภาพร่างกายของผู้อายุอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างกระบวนการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขแผนการรักษาใหม่และจำเป็นต้องมีการประเมินผู้ป่วยอีกครั้ง ร่วมกับการสื่อสารให้ผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วยเข้าใจถึงภาวะในช่องปากและความจำเป็นในการรักษานั้นด้วย1,4,7

          แนวทางที่เป็นระบบในการจัดการทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุคือ การทำให้เกิดการรักษาทางทันตกรรมอย่างครอบคลุมที่สุดหรือการรักษาแบบทันตกรรมพร้อมมูล (comprehensive treatment)  และมีข้อแนะนำว่าควรมีการประเมินความเสี่ยง 4 ประการ ก่อนเริ่มให้การรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคทั่วกายหรือมีความซับซ้อนทางการแพทย์นั้น1 ได้แก่

  1. ความเสี่ยงในการติดเชื้อ (risk of infection)
  2. ความเสี่ยงในการมีเลือดออก (risk of bleeding)
  3. ความเสี่ยงในฤทธิ์ยาและการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา (risk of drug actions and interactions)
  4. ความเสี่ยงในการเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ (risk of medical emergency) ในระหว่างการรักษาทางทันตกรรม   

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินแบบหลายมิติสำหรับการวางแผนการรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย The American Academy of Oral Medicine (AAOM) เครื่องมือนี้เรียกว่า “OSCAR” เนื่องจากเพื่อให้จำได้ง่ายและเป็นการประเมินผู้ป่วยที่อาศัยองค์ประกอบ 5 ส่วน ประกอบด้วย

O คือ Oral

S คือ Systemic

C คือ Capability

A คือ Autonomy

และ R คือ Reality

          โดยเป็นแนวทางช่วยให้ทันตแพทย์สามารถระบุถึงปัจจัยทางทันตกรรม  ปัจจัยทางการแพทย์  ปัจจัยทางเภสัชวิทยา  ปัจจัยการทำหน้าที่  ปัจจัยด้านจริยธรรม และปัจจัยด้านการเงิน  ที่จำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนให้การรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุ 

          การประเมินโดยใช้ OSCAR เริ่มต้นจากส่วน O (oral) หมายถึง การประเมินความต้องการการรักษาในช่องปาก  การประเมินส่วนต่อไปคือ S (systemic) หมายถึงการประเมินปัจจัยทั่วกาย โรคทั่วกาย ยาที่ผู้ป่วยได้รับ ตลอดจนการติดต่อและปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง  การประเมินส่วนต่อไปซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากคือ C (capability) หมายถึง การประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน การมีผู้ดูแล การเคลื่อนไหวร่างกาย ความสามารถในการเดินทาง และทักษะในการดูแลอนามัยช่องปาก การประเมินส่วนต่อไปคือ A (autonomy) หมายถึง การประเมินความสามารถของผู้ป่วยในการตัดสินใจเองได้ ความสามารถในการสื่อสารและความเข้าใจ รวมทั้งความสามารถในการแสดงความยินยอมต่อการรักษา และการประเมินส่วนสุดท้ายคือ R (reality) หมายถึง การประเมินถึงสภาวะความคงที่ของโรคทั่วกาย การพยากรณ์โรค อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ข้อจำกัดทางด้านการเงิน และความสามารถที่จะคงสภาพอนามัยช่องปากของผู้ป่วย


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Ciarrocca K, Gulati N. Geriatric Oral Medicine. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 653-667.
  2. Wu B. Aging: implications for the oral cavity. In: Friedman PK, editor. Geriatric dentistry: caring for our aging population. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014. p. 3-16.
  3. Sims-Gould J, Brondani MA, Bryant SR, MacEntee MI. Theories and significance of oral health in frailty. In: Macentee MI, Muller F, Wyatt C, editors. Oral healthcare and the frail elder: a clinical perspective. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2011. p. 3-12.
  4. Olshansky SJ. Demography-impact of an expanding elderly population. In: Holm-Pedersen P, Walls AWG, Ship JA, editors. Textbook of geriatric dentistry. 3rd ed. West Sussex: John Wiley & Sons Ltd.; 2015. p. 1-5.
  5. Truhlar MR. Geriatric patient assessment. In: Friedman PK, editor. Geriatric dentistry: caring for our aging population. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014. p. 61-69.
  6. Ghezzi EM, Berkey DB, Besdine RW, Jones JA. Clinical assessment of the elderly patient. In: Holm-Pedersen P, Walls AWG, Ship JA, editors. Textbook of geriatric dentistry. 3rd ed. West Sussex: John Wiley & Sons Ltd.; 2015. p. 61-80.
  7. Hains F, Jones J. Treatment planning for the geriatric patient. In: Holm-Pedersen P, Walls AWG, Ship JA, editors. Textbook of geriatric dentistry. 3rd ed. West Sussex: John Wiley & Sons Ltd.; 2015. p. 165-180.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ