แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมี(Thermal and chemical injuries/burns)

บทความ

แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมี

(Thermal and chemical injuries/burns)

          แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนเป็นการบาดเจ็บของเยื่อเมือกช่องปากที่เกิดจากการสัมผัสกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป  หรือการบาดเจ็บเหตุหมอทำ (iatrogenic) จากการใช้เครื่องมือทางทันตกรรมที่ร้อนมาสัมผัสกับเยื่อเมือกช่องปากของผู้ป่วย1,2  ส่วนแผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากสารเคมีเป็นการบาดเจ็บของเยื่อเมือกช่องปากจากสารเคมีที่สัมผัสโดยตรงกับเยื่อเมือกช่องปาก  ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ป่วยเองหรือจากการกระทำของทันตแพทย์ในระหว่างการรักษา ได้แก่ การวางเม็ดยาหรือผงยาแอสไพริน (aspirin) ให้สัมผัสกับเยื่อเมือกช่องปากเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน1-7 การอมยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน (oral bisphosphonate)1,2  และยารักษาอาการทางจิตเวช (antipsychotic drugs) ได้แก่ คลอร์โปรมาซีน (chlorpromazine) และ โปรมาซีน (promazine)3   การใช้น้ำยาบ้วนปากหรือผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (alcohol) ในปริมาณสูง1,4 หรือมีส่วนผสมของไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide; H2O2) หรือฟีนอล (phenol)1,3,7 รวมทั้งการรั่วซึมของสารเคมี เช่น ฟอร์โมครีซอล (formocresol) และโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite; NaOCl; NaClO) ที่ใช้ในการรักษาคลองรากฟัน1-3,7

แผลบาดเจ็บจากความร้อนของอาหารหรือเครื่องดื่มส่วนใหญ่เป็นรอยโรคขนาดเล็กและจำกัดเฉพาะที่เยื่อเมือกเพดานแข็ง หรือริมฝีปาก1,4 หรือบริเวณปลายลิ้น2  รอยโรคที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะเยื่อบุแดง (erythema) ที่มีอาการกดเจ็บ (tenderness) แล้วเกิดเป็นแผลในเวลาต่อมา และอาจพบมีเนื้อตายสีขาวคลุมแผล ส่วนแผลบาดเจ็บจากสารเคมีมักพบเป็นปื้นเนื้อตาย (necrotic patch) สีขาวและจะพบเป็นแผลมีเลือดออกเมื่อเนื้อตายที่คลุมแผลหลุดออก2-4  ความรุนแรงของการบาดเจ็บจากสารเคมีขึ้นกับชนิดของสาร ความเข้มข้นของสาร และระยะเวลาที่เยื่อเมือกช่องปากสัมผัสกับสารเคมี1  แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมีเป็นแผลที่มีอาการเจ็บปวด4  นอกจากนี้หากวัสดุที่ใช้ในการรักษาคลองรากฟันมีการทะลุ (perforation) ปลายรากฟันเข้าไปในกระดูกอาจทำให้เกิดการตายของกระดูก (bone necrosis) และมีอาการปวด อาจเกิดแผลและการบวมของเนื้อเยื่อใกล้กับตำแหน่งที่มีการทะลุ3

          แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมีที่พบรอยโรคสีขาวควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับโรคราแคนดิดาชนิดเยื่อเทียม (pseudomembranous candidiasis) เยื่อเมือกช่องปากอักเสบเหตุเคมีบำบัด (chemotherapy-induced oral mucositis) และเยื่อเมือกช่องปากอักเสบเหตุรังสีรักษา (radiotherapy -induced oral mucositis)  ส่วนแผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมีที่พบรอยโรคสีแดงหรือแผลควรให้การวินิจฉัยแยกโรคกับแผลบาดเจ็บ โรคราแคนดิดาชนิดเยื่อบุแดง (erythematous candidiasis) ปากอักเสบเหตุฟันเทียม (denture stomatitis) และลิ้นอักเสบรอมบอยด์หรือกลางลิ้นอักเสบรูปขนมเปียกปูน (median rhomboid glossitis) ไลเคนแพลนัส (lichen planus) ไลเคนอยด์ (lichenoid) และปฏิกิริยาการแพ้ (allergic reactions)8,9

          การวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุของแผลร่วมกับการตรวจทางคลินิก1,7 ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอื่นหากประวัติของการบาดเจ็บชัดเจน  อย่างไรก็ตามอาจใช้การเพาะเชื้อ (culture) หากพบแผลหายช้าหรือมีการเกิดหนองเพื่อตรวจหาการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary infection)  นอกจากนี้ควรมีการถ่ายภาพรังสีรอบปลายราก (periapical radiograph) หากวัสดุที่ใช้ในการรักษาคลองรากฟันมีการทะลุปลายรากฟัน1

          แผลบาดเจ็บหรือแผลไหม้จากความร้อนและสารเคมีที่แผลมีขนาดเล็กและไม่รุนแรงจะหายได้เองภายใน 10-14 วัน เมื่อกำจัดสาเหตุออก1-3  แผลที่มีขนาดใหญ่และรุนแรงควรมีการขูดทำความสะอาดหรือการกำจัดเนื้อตายร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics)3,7 และควรมีการควบคุมอาการปวดด้วยยาชาเฉพาะที่ เช่น ลิโดเคนวิสคัส (lidocaine viscous) หรือสารปกปิดแผล (protective agents)3 นอกจากนี้ควรป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บซ้ำโดยการให้คำแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับการใช้ยาหรือสารเคมีในช่องปากให้ถูกต้อง ทันตแพทย์ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารเคมีและวัสดุหรืออุปกรณ์ทางทันตกรรม1 การใช้แผ่นยางกันน้ำลาย (rubber dam) ช่วยลดความถี่ในการเกิดแผลบาดเจ็บหรือแผลไม้จากสารเคมีในระหว่างการรักษาผู้ป่วยได้3

 

แผลบาดเจ็บจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษาทางทันตกรรม


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Woo SB, Greenberg MS. Ulcerative, vesicular, and bullous lesions. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 57-89.
  2. Prabhu SR. Textbook of oral medicine. 1st ed. New Delhi: Oxford University Press; 2004.
  3. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  4. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.
  5. Scully C, Porter S. Orofacial disease. Update for the dental clinical team. 1st ed. Edinburg: Churchill Livingstone; 2003.
  6. Field A, Longman L, Tyldesley WR. Tyldesley’s oral medicine. 5th ed. New York: Oxford University Press; 2003.
  7. Bruch JM, Treister NS. Clinical oral medicine and pathology. 2nd ed. Cham: Springer International Publishing AG; 2017.
  8. Ship JA. Clinician’s guide: oral health in geriatric patients. 2nd ed. Hamilton: BC Decker Inc.; 2006.
  9. Kahn MA, Hall JM. The ADA practical guide to soft tissue oral disease. 1st ed. Ames: John Wiley & Sons Inc.; 2014.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ