การวิเคราะห์ภาพถ่ายกะโหลกศีรษะด้านข้างในเด็กไทยอายุระหว่าง 7-10 ปี กลุ่มหนึ่ง Cephalometric Analyses in A Group of Thai Children between 7-10 Years of Age

บทความ

บทคัดย่อ

            จุดประสงค์ของการวิจัยนี้เพื่อหาค่าปกติของโครงสร้างกระดูกใบหน้าและฟันในเด็กไทยในช่วงอายุ 7-10 ปี จากภาพถ่ายกะโหลกศีรษะด้านข้างในกลุ่มตัวอย่าง 84 คน อายุเฉลี่ย 9.97±0.78 ปี เป็นเพศชาย 44 คน และเพศหญิง 40 คน โดยกลุ่มตัวอย่างที่เลือกจะต้องมี (1) ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 และฟันตัดซี่กลางแท้ขึ้นครบแล้วทุกซี่ (2) ไม่มีฟันหายตั้งแต่กำเนิดและไม่มีการสูญเสียฟันก่อนกำหนด (3) การสบฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 แบบประเภทที่ 1 ตามเกณฑ์ของ Angle (Angle’s classification I) และมีระยะเหลื่อมของฟันในแนวดิ่งและแนวระนาบปกติ (4) การเรียงตัวของฟันปกติ หรือมีฟันบิดซ้อนเกหรือมีช่องว่างได้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร (5) ไม่เคยได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันมาก่อน ผลการศึกษาค่าเฉลี่ยเซฟาโลเมทริกในเด็กไทยที่ได้มีความแตกต่างจากการศึกษาอื่นที่เคยทำในผู้ใหญ่ไทยหรือทำในเด็กต่างประเทศ  ค่าเฉลี่ยที่ได้จากการศึกษานี้สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์และวินิจฉัย การวางแผนการรักษา และการรักษาผู้ป่วยที่เป็นเด็กไทยในการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน

 

คำสำคัญ: การวิเคราะห์ภาพถ่ายกะโหลกศีรษะด้านข้าง, การสบฟันปกติ, ค่าเซฟาโลเมทริก, ชุดฟันผสม, เด็กไทย

 

Abstract

            The objective of this study was to establish the cephalometric norms of skeletal and dental for Thai children between 7-10 years of age by means of various lateral cephalometric analyses of soft tissue. The materials of 84 children (44 boys, 40 girls) with an average age of 9.97±0.78 years. The subjects were selected on the basis of (1) Presence of first molars and central incisors, (2) No congenital missing teeth and no premature loss of teeth, (3) Angle’s Class I molar relationship, normal overbite and overjet, (4) Good dental alignment or having crowding or spacing not exceed 3 mm, (5) No previous history of orthodontic treatment. Results of this study showed that cephalometric standard means of Thai children are differ from previous studies, that were done in Thai adults or foreign children. The standard means from this study can be clinically applied to the diagnosis, treatment planning and treatment in young Thai orthodontic patients.

 

Keywords: Cephalometric radiography, Normal occlusion, Cephalometrics, Mixed dentition, Thai children

 

Received date:                             Revised date:                               Accepted date:

Doi:

 

ติดต่อเกี่ยวกับบทความ:

สมกมล วนิชวัฒนะ, ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 34 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย โทรศัพท์ 02-218-8909 อีเมล:somkamol.v@chula.ac.th

Correspondence to:

Somkamol Vanichvatana, Department of Pediatric Dentistry, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University, 34 Henri-Dunant Road, Wangmai, Pathumwan, Bangkok, 10330 Thailand. Tel: 02-218-8909 E-mail: somkamol.v@chula.ac.th

 

บทนำ

            ในการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันจำเป็นที่จะต้องใช้ภาพถ่ายรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้าง (Lateral cephalogram) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติ ดูความสัมพันธ์ส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้า เพื่อการวินิจฉัยและเตรียมวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง การศึกษาภาพถ่ายรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากมีอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้า ได้แก่ เชื้อชาติ พันธุกรรม สภาวะสิ่งแวดล้อม อายุ เพศ พยาธิสภาพ จะเห็นว่ามีอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ หลายประการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้ารวมทั้งกะโหลกศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อชาติ จากการศึกษาในอดีตพบว่าค่ามาตรฐานของการวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีของกะโหลกศีรษะด้านข้างของชนชาติต่าง ๆ ในโลกมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ1 ไม่ว่าจะใช้วิธีวิเคราะห์โครงสร้างแบบใด แม้กระทั่งในชนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ยังมีความแตกต่างกันในรูปร่างโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกร2 การวิเคราะห์ภาพรังสีกะโหลกศีรษะและใบหน้าด้านข้างสามารถกำหนดความเป็นไปได้ของการรักษาและสามารถสร้างมาตรฐานความสมบูรณ์ของเป้าหมายการรักษาได้ ทันตแพทย์จัดฟันจะเลือกเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยพิจารณาผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ภาพรังสีกะโหลกศีรษะและใบหน้าด้านข้าง แต่ค่ามาตรฐาน (Standard) และค่าปกติ (Norms) ที่ใช้ส่วนมากเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่คนไทย3-8 หรือการศึกษาลักษณะของคนไทยที่มีอยู่นั้นเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่9,10 ในระหว่างที่เด็กมีการเจริญเติบโต ร่างกายทุกส่วนจะมีการเจริญเติบโตทำให้ขนาดของร่างกายใหญ่โตขึ้น ลักษณะโครงสร้างใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน ซึ่งในขณะที่ผู้ป่วยกำลังเจริญเติบโตร่วมกับมีความสัมพันธ์ของโครงสร้างขากรรไกรที่ผิดปกติ ทันตแพทย์สามารถแก้ไขความผิดปกติของฟัน การสบฟัน และความสัมพันธ์ของโครงสร้างขากรรไกร โดยการกระตุ้น ชะลอ หรือปรับเปลี่ยนทิศทางการเติบโตของโครงสร้างขากรรไกร ดังนั้นการจัดฟันในวัยเด็กซึ่งเป็นชุดฟันผสมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความผิดปกติที่ตรวจพบในระยะเริ่มต้นของฟันหรือการสบฟันนั้น เพื่อลดความรุนแรงและความซับซ้อนของทันตกรรมจัดฟันรักษาแก้ไขในระยะต่อมา

            การใช้ค่ามาตรฐานในการเปรียบเทียบเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันควรจะต้องใช้ค่าเฉพาะอายุและเฉพาะเพศ5 ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยต้องการศึกษาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของค่ามุมและระยะทางต่าง ๆ (Angle and linear measurement) จากภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างในเด็กไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร อายุ 7-10 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมในการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเพื่อการป้องกันและรักษาเบื้องต้น11 เป็นประโยชน์ในด้านการนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันให้ได้ผลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นเด็กชายและเด็กหญิงที่เข้ามารับการรักษาที่ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ทำการศึกษา และเด็กนักเรียนชายและเด็กนักเรียนหญิงจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร อายุ 7-10 ปี ตามปีปฏิทิน จำนวน 340 คน หลังจากตรวจช่องปากเพื่อคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เข้าตามเกณฑ์การคัดเข้ากลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์คัดเข้าจำนวน 140 คน โดยมีจำนวนเด็กที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง จำนวน 84 คน เป็นเพศชาย 44 คน เป็นเพศหญิง 40 คน เกณฑ์ในการคัดกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ 1) กลุ่มตัวอย่างจะต้องมีฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 และฟันตัดซี่กลางแท้ขึ้นครบแล้วทุกซี่ 2) มีการสบฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 แบบประเภทที่ 1 ตามเกณฑ์ของ Angle (Angle’s classification I) ไม่มีการสบคร่อมฟันหน้า (Anterior crossbite) และสบคร่อมฟันหลังแบบไขว้ (Posterior crossbite) หรือสบแบบกรรไกร (Scissor bite) 3) มีฟันบิดซ้อนเกหรือมีช่องว่างได้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร12 4) ไม่มีฟันหายตั้งแต่กำเนิดและไม่มีการสูญเสียฟันก่อนกำหนด 5) มีระยะเหลื่อมของฟันในแนวดิ่ง (Overbite) และแนวระนาบ (Overjet) ปกติ (อยู่ในระยะ 1-3 มิลลิเมตร)12 6) ไม่มีโรคทางระบบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้า และไม่เคยได้รับอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้า 7) ไม่เคยได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน และไม่เคยได้รับการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างมาก่อน โครงการวิจัยนี้ได้ผ่านการรับรองจริยธรรมการศึกษาวิจัยในมนุษย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเลข HREC-DCU 2019-019

วิธีการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้าง

กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างที่คลินิกรังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เครื่องถ่ายรังสีนอกช่องปากดิจิทัลเครื่องเดียวกันตลอดการทำวิจัย (ยี่ห้อ Kodak รุ่น CS9000 บริษัท Trophy ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส) ปรับแผงควบคุมให้อยู่ในวิธีการถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้าง ความต่างศักย์ 74 กิโลโวลต์ (kVp) กระแสไฟฟ้า 10 มิลลิแอมแปร์ (mA) เวลาในการถ่าย 0.50 วินาที ระยะทางจากแหล่งกำเนิดรังสีไปยังตัวรับภาพเท่ากับ 5 ฟุต ใส่เสื้อกันรังสีให้กลุ่มตัวอย่างทุกครั้งที่ถ่ายภาพรังสี จัดตำแหน่งให้กลุ่มตัวอย่างยืนตรง คอตั้งตรง สบฟันที่ตำแหน่งฟันสบสนิท (Maximum intercuspation) และริมฝีปากอยู่ในท่าพัก (Rest position) ไม่เกร็งริมฝีปากและกล้ามเนื้อรอบปาก

การรวบรวมข้อมูล

ทำโดยนำภาพถ่ายรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างของกลุ่มตัวอย่างที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Kodak รุ่น Dryview 8900 Laser Imager) ใช้ฟิล์มขนาด 8 x 10 นิ้ว (ยี่ห้อ DRYVIEW Laser Imaging Film, บริษัท Carestream Health ผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา) มาลอกลายละเอียดของโครงสร้างใบหน้าลงบนกระดาษลอกลาย กำหนดตำแหน่งหรือจุดกายวิภาค (Anatomical landmarks) ดังรูปที่ 1 ทำการวัดค่ามุมและระยะทางต่าง ๆ ของโครงสร้างกระดูกใบหน้าและฟันที่ใช้ในการวิเคราะห์ด้วยมือ (Manual method) โดยผู้วิจัยคนเดียว ซึ่งทำการลอกลายและวัดค่าต่าง ๆ ภายใต้สภาวะห้องเดิม และได้มีคำจำกัดความการวัดมุมและระยะทางของโครงสร้างกระดูกและฟันดังแสดงในตารางที่ 1 และ 2

รูปที่ 1      รูปแสดงจุดอ้างอิงในส่วนของโครงสร้างกระดูกและฟันที่ใช้ในงานวิจัย

Figure 1   Cephalometric landmarks and points used in this the investigations

(References points: N, Nasion; Or, Orbitale; S, Sella; Po, Porion; ANS, Anterior nasal spine; PNS, Posterior nasal spine; A point, Subspinale; B point, Supramentale; Pog, Pogonion; Me, Menton; Gn, Gnathion; Go, Gonion; Is, Incision superius; UIA, Upper incisor apex; Ii, Incision inferius; LIA, Lower incisor apex)

 

ตารางที่ 1 แสดงการวัดมุมและระยะของโครงสร้างกระดูกที่ใช้ในงานวิจัย (รูปที่ 2)

Table 1  Definition of skeletal cephalometric measurement in the present study

มุมและระยะทาง

คำจำกัดความ

SNA (องศา)

มุมที่เกิดจากระนาบ SN ทำกับระนาบ NA แสดงตำแหน่งของขากรรไกรบนในแนวหน้าหลังเทียบกับฐานกะโหลกศีรษะ

SNB (องศา)

มุมที่เกิดจากระนาบ SN ทำกับระนาบ NB แสดงตำแหน่งของขากรรไกรล่างในแนวหน้าหลังเทียบกับฐานกะโหลกศีรษะ

NPog-FH (องศา)

มุมที่เกิดจากการตัดกันของระนาบใบหน้าและระนาบแฟรงก์ฟอร์ต แสดงตำแหน่งแนวหน้าหลังของคาง

ANB (องศา)

มุมที่เกิดจากระนาบ NA ทำกับระนาบ NB แสดงความสัมพันธ์ระหว่างขากรรไกรบนและล่างในแนวหน้าหลัง

Wits (มิลลิเมตร)

ระยะทางระหว่าง A และ B ในแนวตั้งฉากกับระนาบบดเคี้ยว แสดงความสัมพันธ์ระหว่างขากรรไกรบนและล่างในแนวหน้าหลัง

SN-GoGn (องศา)

มุมที่เกิดจากระนาบ SN ทำกับระนาบ GoGn แสดงลักษณะโครงสร้างใบหน้าในแนวดิ่ง

FMA (องศา)

มุมที่เกิดจากระนาบแฟรงก์ฟอร์ตทำกับระนาบขากรรไกรล่าง แสดงลักษณะโครงสร้างใบหน้าในแนวดิ่ง

รูปที่ 2     รูปแสดงการวัดมุมและระยะของโครงสร้างกระดูกที่ใช้ในงานวิจัย (1, SNA; 2, SNB; 3, NPog-FH; 4, ANB; 5, Wits; 6, SN-GoGn; 7, FMA)

Figure 2  Skeletal cephalometric angles and distances used in this the investigations

 

ตารางที่ 2 แสดงการวัดมุมและระยะของฟันที่ใช้ในงานวิจัย (รูปที่ 3-4)

Table 2  Definition of dental cephalometric measurement in the present study

มุมและระยะทาง

คำจำกัดความ

IMPA (องศา)

มุมที่เกิดจากแนวแกนฟันตัดหน้าล่างทำกับระนาบขากรรไกรล่าง แสดงมุมของฟันตัดหน้าล่างเมื่อเทียบกับระนาบขากรรไกรล่าง

LI-APog (มิลลิเมตร)

มุมที่เกิดจากแนวแกนของฟันตัดหน้าล่างทำกับระนาบ APog แสดงตำแหน่งของฟันตัดหน้าล่าง

UI-NA (องศา)

มุมที่เกิดจากแนวแกนของฟันตัดหน้าบนทำกับระนาบ NA แสดงมุมเอียงของฟันตัดหน้าบน

UI-NA (มิลลิเมตร)

ระยะที่วัดจากจุด Is (ปลายฟันตัดหน้าบน) ทำกับระนาบ NA แสดงตำแหน่งของฟันตัดกลางหน้าบน

LI-NB (องศา)

มุมที่เกิดจากแนวแกนของฟันตัดหน้าล่างทำกับระนาบ NB แสดงมุมเอียงของฟันตัดหน้าล่าง

LI-NB (มิลลิเมตร)

ระยะที่วัดจากจุด Ii (ปลายฟันตัดหน้าล่าง) ทำกับระนาบ NB แสดงตำแหน่งของฟันตัดหน้าล่าง

UI-LI (องศา)

มุมที่เกิดจากแนวแกนของฟันตัดหน้าบนทำกับแนวแกนของฟันตัดหน้าล่าง แสดงมุมระหว่างฟันตัดหน้าบนและฟันตัดหน้าล่าง

 

รูปที่ 3     รูปแสดงการรวัดมุมของฟันที่ใช้ในงานวิจัย (8, IMPA; 9, UI-NA; 10, LI-NB; 11, UI-LI)

Figure 3  Dental cephalometric angles used in this the investigations

รูปที่ 4     รูปแสดงการรวัดระยะของฟันที่ใช้ในงานวิจัย (12, LI-APog; 13, UI-NA; 14, LI-NB)

Figure 4  Dental cephalometric distances used in this the investigations

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

นำข้อมูลมาวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ทดสอบการแจกแจงของข้อมูลโดยสถิติ Kolmogorov-Smirnov พบว่าข้อมูลมีการแจกแจงปกติ จึงทำการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation, SD) ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ของค่าเซฟาโลเมทริกโครงสร้างกระดูกใบหน้าและฟัน และทดสอบความแตกต่างระหว่างเพศของค่าเซฟาโลเมทริกต่าง ๆ โดยใช้สถิติ Independent t-test ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (α= 0.05) ด้วยโปรแกรม Statistical Package for the Social Sciences (SPSS) version 21.0

การทดสอบความน่าเชื่อถือของการวัด (Method error)

ทดสอบความน่าเชื่อถือในตัวผู้วิจัยในการวัดค่าเซฟาโลเมทริก โดยสุ่มภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ภาพ วาดภาพลอกลายใหม่และวัดซ้ำในระยะเวลาห่างกัน 2 สัปดาห์ และทำการทดสอบความน่าเชื่อถือของผู้วิจัยในการวัดซ้ำ โดยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้น (Intraclass correlation coefficient: ICC) เท่ากับ 0.9 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (α= 0.05) และทดสอบความน่าเชื่อถือของการวัดระหว่างผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญ 1 คน โดยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้น (Intraclass correlation coefficient: ICC) เท่ากับ 0.9 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (α= 0.05)

 

ผลการศึกษา

            จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กไทยที่มีลักษณะการสบฟันดี กล่าวคือมีการสบฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 แบบประเภทที่ 1 ตามเกณฑ์ของ Angle  มีระยะเหลื่อมของฟันในแนวดิ่งและแนวระนาบปกติ มีการเรียงตัวของฟันปกติ จำนวน 84 คน อายุเฉลี่ย 9.97±0.78 ปี เป็นเพศชาย 44 คน อายุเฉลี่ย 10.0±0.79 ปี เพศหญิง 40 คน อายุเฉลี่ย 9.94±0.78 ปี พบค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างกระดูกใบหน้าและฟัน ที่ใช้ในการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ดังแสดงในตารางที่ 3 และ 4 และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างเด็กชาย และกลุ่มตัวอย่างเด็กหญิง ดังแสดงในตารางที่ 5 และ 6 พบว่าค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างกระดูกใบหน้าและฟันของเด็กชายและเด็กหญิงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อันได้แก่ มุม NPog-FH, ระยะ LI-APog, มุม LI-NB, ระยะ LI-NB และมุม UI-LI

 

ตารางที่ 3 แสดงค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างกระดูกใบหน้า ที่ใช้ในการวิจัยของกลุ่มตัวอย่าง

Table 3  Means and standard deviations of skeletal cephalometric measurement in the present study

Variables

Assessment

Total (n=84)

Max

Min

Mean

SD

Range

Skeletal analysis

 

 

 

 

 

Anteroposterior relationship

 

 

 

 

 

  SNA (deg)

Maxillary position

92.50

74.50

81.93

4.19

77.7 - 86.1

  SNB (deg)

Mandibular position

88.00

71.00

79.68

3.92

75.8 - 83.6

  NPog-FH (deg)

Mandibular position

93.00

80.50

87.34

3.03

84.3 - 90.3

  ANB (deg)

Maxillomandibular relationship

7.00

0.50

2.96

1.76

1.2 - 4.7

  Wits (mm)

Maxillomandibular relationship

0.00

-13.00

-4.90

2.94

- 7.8 - (-2)

Vertical relationship

 

 

 

 

 

  SN-GoGn (deg)

Facial growth

43.00

17.00

31.20

5.30

25.9 - 36.5

  FMA (deg)

Mandibular growth

39.50

13.50

25.54

4.95

20.6 - 30.5

 

ตารางที่ 4 แสดงค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างฟัน ที่ใช้ในการวิจัยของกลุ่มตัวอย่าง

Table 4  Means and standard deviations of dental cephalometric measurement in the present study

Variables

Assessment

Total (n=84)

Max

Min

Mean

SD

Range

Dental analysis

 

 

 

 

 

 

  IMPA (deg)

Mandibular incisor inclination

111.50

79.50

96.60

6.26

90.3 - 102.9

  LI-APog (mm)

Mandibular incisor position

11.50

-1.00

4.70

2.33

2.1 - 7.0

  UI-NA (deg)

Maxillary incisor inclination

43.00

17.50

29.33

6.14

23.2 - 35.5

  UI-NA (mm)

Maxillary incisor protrusion

13.00

1.50

6.86

2.89

4.0 - 9.8

  LI-NB (deg)

Mandibular incisor inclination

41.00

17.50

28.83

4.72

24.1 - 33.6

  LI-NB (mm)

Mandibular incisor protrusion

11.00

2.00

6.23

2.01

4.2 - 8.2

  UI-LI (deg)

Interincisal relationship

140.50

105.50

120.38

7.78

112.6 – 128.2

               

 

ตารางที่ 5 แสดงค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างกระดูกใบหน้า ของกลุ่มตัวอย่างระหว่างเพศ

Table 5  Means and standard deviations of skeletal cephalometric measurement between boys and girls

Variables

Total (n=84)

Boys (n=44)

Girls (n=40)

P

Mean

SD

Mean

SD

Mean

SD

  Skeletal analysis

    SNA (deg)

81.93

4.19

81.51

4.08

82.38

4.31

0.351

    SNB (deg)

79.68

3.92

79.27

4.17

80.13

3.63

0.322

    NPog-FH (deg)

87.34

3.03

86.70

3.03

88.03

2.91

0.045*

    ANB (deg)

2.96

1.76

3.13

1.75

2.77

1.77

0.347

    Wits (mm)

-4.90

2.94

-4.90

3.10

-4.90

2.80

0.999

    SN-GoGn (deg)

31.20

5.30

30.75

5.81

31.69

4.70

0.421

    FMA (deg)

25.54

4.95

25.23

5.31

25.88

4.58

0.551

* = Significant difference at p<0.05

 

ตารางที่ 6 แสดงค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเซฟาโลเมตริกของโครงสร้างฟัน ของกลุ่มตัวอย่างระหว่างเพศ

Table 6  Means and standard deviations of dental cephalometric measurement between boys and girls

Variables

Total (n=83)

Boys (n=43)

Girls (n=40)

P

Mean

SD

Mean

SD

Mean

SD

  Dental analysis

    IMPA (deg)

96.60

6.26

96.46

6.55

96.75

6.02

0.834

    LI-APog (mm)

4.70

2.33

4.14

2.20

5.31

2.35

0.022*

    UI-NA (deg)

28.95

6.73

27.71

7.22

30.28

5.96

0.176

    UI-NA (mm)

6.86

2.89

6.44

2.98

7.31

2.76

0.174

    LI-NB (deg)

28.83

4.72

27.73

5.09

30.02

4.03

0.027*

    LI-NB (mm)

6.23

2.01

5.81

2.00

6.68

1.94

0.047*

    UI-LI (deg)

120.38

7.78

122.41

7.80

118.19

7.23

0.013*

* = Significant difference at p<0.05       

 

บทวิจารณ์

            เนื่องจากมีความแตกต่างของโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าในแต่ละกลุ่มประชากร เชื้อชาติ เพศและอายุ6 จึงควรมีการศึกษาค่ามาตรฐานเซฟาโลเมทริกของโครงสร้างกระดูกและฟันในเด็กชุดฟันผสมของชนชาตินั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งค่ามุมและระยะทางที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สามารถแสดงถึงลักษณะของโครงสร้างกระดูกและฟันของเด็กที่มีการสบฟันกรามแบบที่ 1 ได้ดังนี้ ค่ามุม SNA แสดงถึงตำแหน่งของขากรรไกรบนเมื่อเทียบกับฐานกะโหลกศีรษะ โดยค่า SNA ในเด็กชายและเด็กหญิงจะมีค่าเพิ่มขึ้นตามอายุ13 แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างเพศ โดยขากรรไกรบนของเด็กหญิงจะยื่นกว่าของเด็กชาย7 แต่จากการศึกษาของเด็กชาวนอร์เวย์จะพบว่าตำแหน่งขากรรไกรบนของเด็กชายอยู่ยื่นกว่า5 ค่าเฉลี่ย SNA จากการศึกษานี้ มีค่าต่ำกว่าการศึกษามาตรฐานในกลุ่มคอเคเชียน (ค่ามาตรฐานเท่ากับ 82±2 องศา)14 แสดงได้ว่าตำแหน่งขากรรไกรบนอยู่ตำแหน่งถอยหลังกว่าเมื่อเทียบกับฐานกะโหลกศีรษะของชาวคอเคเชียน แต่เมื่อเทียบกับการศึกษาในกลุ่มเด็กไทยอายุ 8-16 ปี พบว่าค่าเฉลี่ย SNA มีค่าใกล้เคียงกัน15 เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในผู้ใหญ่ไทย9, 10, 16 พบว่าตำแหน่งขากรรไกรบนในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ไทยอยู่ยื่นกว่ากลุ่มตัวอย่างของการศึกษานี้ และเมื่อเทียบกับการศึกษาของชนชาติอื่นในชุดฟันผสม พบว่าเด็กชาวไต้หวันที่มีค่าเฉลี่ย SNA เท่ากับ 83.36±2.90 ซึ่งมีตำแหน่งขากรรไกรบนอยู่ยื่นกว่าเด็กของการศึกษานี้13 บางการศึกษาพบว่าตำแหน่งของขากรรไกรบนอยู่ใกล้เคียงกับการศึกษานี้5-7,17,18

            ค่า SNB แสดงตำแหน่งของขากรรไกรล่างเมื่อเทียบกับฐานกะโหลกศีรษะ ตำแหน่งขากรรไกรล่างของการศึกษานี้อยู่ถอยหลังกว่าตำแหน่งของค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานเท่ากับ 80±2 องศา)14 และเมื่อเทียบกับการศึกษาในผู้ใหญ่ไทยแล้ว9,16 พบว่าตำแหน่งขากรรไกรล่างในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ไทยอยู่ยื่นกว่าเด็กจากการศึกษานี้ และเมื่อเทียบกับการศึกษาในกลุ่มเด็กชนชาติอื่น พบว่าในเด็กชาวไต้หวัน13 เด็กชาวญี่ปุ่น17 เด็กชาวโปแลนด์7 เด็กชาวสโลวีเนีย6 เด็กชาวนอร์เวย์5 และเด็กชาวอเมริกัน18 มีลักษณะขากรรไกรล่างถอยหลังมากกว่าเด็กจากการศึกษานี้ โดยค่าเฉลี่ย SNB จากการศึกษานี้ไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกับการศึกษาของเด็กชาวโปแลนด์7 สำหรับค่า ANB นั้นใช้แสดงถึงความสัมพันธ์ของขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างในแนวหน้าหลัง จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าเด็กมีแนวโน้มโครงสร้างใบหน้าแบบที่ 1 เมื่อเทียบกับผลการศึกษาของผู้ใหญ่ไทยพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีลักษณะโครงสร้างขากรรไกรแบบที่ 2 (Skeletal class II)10 และเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กต่างชาติ พบว่าเด็กชาวโปแลนด์มีลักษณะโครงสร้างใบหน้าแบบที่ 1 เช่นเดียวกันการศึกษานี้7 สำหรับเด็กชาวไต้หวัน13 และเด็กชาวสโลวีเนีย6 มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะโครงสร้างใบหน้าแบบที่ 2 ความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรบนและล่าง (ANB) จะพบความแตกต่างอย่างเด่นชัดในเพศชายและเพศหญิง ในเพศชายมีการลดลงของมุม ANB ตามช่วงอายุ ในขณะที่เพศหญิงมีการเพิ่มขึ้นของมุม ANB19 แต่จากการศึกษานี้ไม่พบความแตกต่างของค่า ANB ระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกันกับการศึกษาของ Drevenšek และคณะที่ไม่พบความแตกต่างของค่า
เซฟาโลเมทริกต่าง ๆ ระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง6 สำหรับการศึกษาของเด็กชาวสิงคโปร์พบความแตกต่างระหว่างเพศของการยื่นของขากรรไกรบนและล่าง รวมทั้งการเอียงตัวและระยะการยื่นของฟันหน้าบนและล่าง20 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษานี้ที่พบว่าการเอียงตัวและระยะการยื่นของฟันหน้าล่างมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง นอกจากนี้ก็ยังพบความแตกต่างระหว่างเพศของการเอียงตัวและระยะการยื่นของฟันหน้าบนและล่างในเด็กชาวซาอุดิอาระเบีย21

            ในเพศหญิงจะพบว่ากระดูกขากรรไกรล่างมีการเจริญมากในช่วงเด็กก่อนการเจริญเติบโตวัยหนุ่มสาว (Pubertal spurt) 1-2 ปี แต่ในเพศชายจะพบได้ไม่ชัดเจน22 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงจากการศึกษานี้พบว่ามุม NPog-FH มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าเฉลี่ยมุม NPog-FH นั้นเป็นค่าที่บอกถึงตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรล่างว่ายื่นหรือหด ซึ่งจากการศึกษานี้พบว่าค่าเฉลี่ยมุมในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย

            ในส่วนของการวิเคราะห์ฟัน ค่า UI-NA แสดงถึงการเอียงตัวของฟันตัดหน้าบนกับระนาบ NA ถ้ามุมนี้มีค่ามากกว่าค่าเฉลี่ย แสดงว่าฟันหน้าบนเอียงไปด้านหน้ามากกว่าปกติ (Proclined) เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนหน้าสุดของขากรรไกรบน ถ้ามุมนี้มีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยแสดงว่าฟันหน้าบนเอียงมาด้านหลังมากกว่าปกติ (Retroclined) เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนหน้าสุดของขากรรไกรบน จากการศึกษาของผู้ใหญ่คนไทยพบว่าฟันหน้าบนในผู้ใหญ่ไทยเอียงไปทางด้านหลัง (Retroclined) มากกว่าเด็กในการศึกษานี้9,10 รวมทั้งในการศึกษาของเด็กชาวสโลวีเนียชุดฟันผสม6 และเด็กชาวเกาหลีอายุ 7-11 ปีที่มีการสบฟันแบบ Class I malocclusion23 สำหรับตำแหน่งของฟันหน้าบนพิจารณาจากระยะ UI-NA (mm) ตำแหน่งฟันหน้าบนจากการศึกษานี้อยู่ไปทางด้านหลังมากกว่าผลการศึกษาของสุรชัย เดชคุณากรและคณะ10 แต่ตำแหน่งของฟันหน้าบนมีค่าใกล้เคียงกับผลการศึกษาของวรรณา สุชาโต9

            การเอียงตัวของฟันหน้าล่างพิจารณาจากค่าเฉลี่ย LI-NB การศึกษาในผู้ใหญ่คนไทยพบว่าฟันหน้าล่างเอียงไปทางด้านหน้ามากกว่ากลุ่มตัวอย่างของการศึกษานี้9, 10 ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาของ Drevenšek และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาในเด็กชาวสโลวีเนียชุดฟันผสม พบว่าฟันหน้าล่างเอียงไปทางด้านหลังมากกว่า6 ระยะที่แสดงถึงความยื่นของฟันตัดหน้าล่างในแนวหน้าหลัง ได้แก่ ระยะ LI-NB (mm) สำหรับการศึกษาของผู้ใหญ่คนไทยนั้น พบว่ามีทั้งตำแหน่งของปลายฟันตัดหน้าล่างที่อยู่ใกล้เคียงกับการศึกษานี้10 หากเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในเด็กชาวสโลวีเนียพบว่าตำแหน่งปลายฟันตัดหน้าล่างอยู่ไปทางด้านหลังมากกว่าผลของการศึกษานี้6 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงพบว่าทั้งมุมและระยะทาง LI-NB มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  นอกจากนี้ระยะ LI-APog ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งของฟันหน้าล่างในแนวหน้าหลังเมื่อเทียบกับระนาบ A-Pog ก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การพิจารณาระยะของปลายขอบด้านตัดของฟันตัดซี่กลางห่างจากระนาบ APog เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ผลที่ได้คลาดเคลื่อน เนื่องจากระนาบ APog ทำมุมที่ผิดปกติกับแนวดิ่งหรือมุมของฟันตัดซี่กลางล่างทำกับระนาบขากรรไกรไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรเทียบกับค่าเซฟาโลเมทริกของระยะฟันตัดหน้าล่างค่าอื่นร่วมด้วย

            ในแต่ละกลุ่มประชากรได้มีการศึกษาภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างของโครงสร้างกระดูกและฟันที่แตกต่างกันไป ซึ่งค่ามาตรฐานในรายงานการศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ ค่าเซฟาโลเมทริกที่ได้จึงมีค่ามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษานี้ สำหรับการศึกษาค่ามาตรฐานของโครงสร้างกระดูกและฟันในกลุ่มตัวอย่างคนไทย9,10,16 ได้ศึกษาเฉพาะผู้ที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่เช่นเดียวกัน ซึ่งมักจะพบว่าค่าเซฟาโลเมทริกจากการศึกษาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นมีค่ามากกว่าผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ สำหรับการศึกษาค่ามาตรฐานของโครงสร้างกระดูกและฟันในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตของชนชาติอื่นมีหลายการศึกษา3-8,13,23 ซึ่งค่าเซฟาโลเมทริกที่ใช้ในการวิเคราะห์มีความแตกต่างกันไปเช่นกัน รวมทั้งช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างก็มีความแตกต่างกัน อีกทั้งการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยยังไม่กว้างขวาง15,24-27 จึงยังไม่พบรายงานค่ามาตรฐานลักษณะโครงสร้างกระดูกและฟันที่เป็นค่าตัวแทนของเด็กไทย

            การวิเคราะห์ค่าเซฟาโลเมทริกของโครงสร้างกระดูกและฟันแต่ละเกณฑ์การวิเคราะห์จะมีเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยของคนปกติของชนชาตินั้น โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเลือกมีลักษณะของโครงสร้างที่ดีและได้สัดส่วน สามารถนำมาเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ถึงความผิดปกติ ซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน แม้การวิจัยนี้จะยังไม่สมบูรณ์ อันเนื่องมาจากเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยเพียงจังหวัดเดียว ไม่อาจเป็นตัวแทนค่ามาตรฐานสำหรับเด็กไทยได้ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงเป็นการรวบรวมค่าเฉลี่ยในเด็กไทยอายุ
7-10 ปี ที่มีการสบฟันกรามแบบที่ 1 เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาต่อไป โดยนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้หาค่าปกติเด็กไทยในอนาคต

 

บทสรุป

ค่าเซฟาโลเมทริกที่ได้จากการศึกษานี้แสดงถึงลักษณะของโครงสร้างกระดูกและฟันของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งที่มีการสบฟันกรามแบบที่ 1 ช่วงอายุ 7-10 ปี ซึ่งค่าเซฟาโลเมทริกดังกล่าวมีความแตกต่างจากการศึกษาอื่นในเด็กวัยเดียวกัน การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษาในเด็กไทยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นอาจยังไม่ใช่ค่าปกติของเด็กไทยที่จะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กไทยที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ดังนั้นควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กไทยที่อยู่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรวบรวมให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าปกติของเด็กไทย และควรมีการศึกษาในเด็กช่วงกลุ่มอายุอื่นอีกต่อไป


เอกสารอ้างอิง

กิตติกรรมประกาศ

            ขอขอบพระคุณ รศ.ทญ.ดร.บุษยรัตน์ สันติวงษ์ และ ผศ.ทญ.ดร.อ้อยทิพย์ ชาญการค้า ในการแนะนำและให้คำปรึกษางานวิจัย ขอขอบคุณทุนวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ขอขอบคุณคลินิกรังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่อนุเคราะห์เครื่องถ่ายภาพรังสีนอกช่องปากดิจิทัลเพื่อใช้ในการวิจัย และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมวิจัยและผู้ปกครองของอาสาสมัครทุกท่าน

 

เอกสารอ้างอิง

1.   Cotton WN, Takano WS, Wong WM. The Downs analysis applied to three other ethnic groups. Angle Orthod 1951;21(4):213-20.

2.   Sassouni V. A roentgenographic cephalometric analysis of cephalo-facio-dental relationships. Am J Orthod Dentofacial Orthop 1955;41(10):735-64.

3.   Downs WB. The role of cephalometrics in orthodontic case analysis and diagnosis. Am J Orthod 1952;38(3):162-82.

4.   Bishara SE. Longitudinal cephalometric standards from 5 years of age to adulthood. Am J Orthod 1981;79(1):35-44.

5.   El-Batouti A, Bishara S, Ogaard B, Jakobsen J. Dentofacial changes in Norwegian and Iowan populations between 6 and 18 years of age. Eur J Orthod 1995;17(3):241-9.

6.   Drevensek M, Farcnik F, Vidmar G. Cephalometric standards for Slovenians in the mixed dentition period. Eur J Orthod 2006;28(1):51-7.

7.   Obloj B, Fudalej P, Dudkiewicz Z. Cephalometric standards for Polish 10-year-olds with normal occlusion. Angle Orthod 2008;78(2):262-9.

8.   Meka M, Sandipamu T, Reddy R, Natta S, Aduri R, Dande S. Establishing lateral cephalometric norms for Nalgonda children with mixed dentition. J Orthod Res 2015;3(2):134-7.

9.   Suchato W, Chaiwat J. Cephalometric evaluation of the dentofacial complex of Thai adults. J Dent Assoc Thai 1984;34(5):233-42.

10. Dechkunakorn S, Chaiwat J, Sawaaengkit P, Anuwognukorh N, Taweesedt N. Thai adult norms in various lateral cephalomatric analyses. J Dent Assoc Thai 1994;44(5-6):202-12.

11. Ackerman JL, Proffit WR. Preventive and interceptive orthodontics: a strong theory proves weak in practice. Angle Orthod 1980;50(2):75-86.

12. Proffit WR, Fields HW, Sarver DM. Contemporary orthodontics. 5th ed. Philadelphia: Elsevier Health Sciences; 2014.

13. Chen YW, Inami K, Matsumoto N. A study of Steiner cephalometric norms for Chinese children. J Osaka Dent Univ 2015;49(2):237-44.

14. Steiner CC. Cephalometrics for you and me. Am J Orthod 1953;39(10):729-55.

15. Suntharasaj P. A cephalometric analysis of children in Bangkok age 8-16 years by McNamara analysis and Bjork-Jarabak analysis [dissertation]. Bangkok: Chulalongkorn university; 1993.

16. Sorathesn K. Craniofacial norm for Thai in combined orthodontic surgical procedure. J Dent Assoc Thai 1988;38(5):190-201.

17. Inada E, Saitoh I, Hayasaki H, Yamada C, Iwase Y, Takemoto Y, et al. Cross-sectional growth changes in skeletal and soft tissue cephalometric landmarks of children. Cranio 2008;26(3):170-81.

18. Bishara SE, Peterson LC, Bishara EC. Changes in facial dimensions and relationships between the ages of 5 and 25 years. Am J Orthod 1984;85(3):238-52.

19. Bishara SE, Jakobsen JR, Treder J, Nowak A. Arch width changes from 6 weeks to 45 years of age. Am J Orthod Dentofacial Orthop 1997;111(4):401-9.

20. Yeong P, Huggare J. Morphology of Singapore chinese. Eur J Orthod 2004;26(6):605-12.

21. Hassan AH. Cephalometric norms for the Saudi children living in the western region of Saudi Arabia: a research report. Head Face Med 2005;1:5.

22. Petdachai S. Essential knowledge of puberty growth, mandibular prognathism and face mask. Bangkok: Chulalongkorn university; 2016.

23. Oh S, Lee J, Kim J, Ra J. Correlation between the Inclinations of the Incisors and Lips in Mixed Dentition. J Korean Acad Pediatr Dent 2018;45(1):21-31.

24. Chengprapakorn S. Roentgebnograaphic cephalometry study in Thai children age 11-16 years [dissertation]. Bangkok: Chulalongkorn University; 1981.

25. Jindarochanakul P. Ricketts analysis of cephalometric roentgenography in Thai children 8-16 years [dissertation]. Bangkok: Chulalongkorn university; 1982.

26. Nitipavachon W. Steiner's analysis of cephalometric roentgenography in Chiang Mai children age 8-14 years [dissertation]. Bangkok: Chulalongkorn university; 1985.

27. Raungpaka S, Pusaksrikit S, Visetsiri I. A Comparative dental occlusion and skeletal base anteroposterior relationships in mixed dentition groups. M Dent J 1989;9(2):64-9.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพ.ศิพิมพ์ คงเอี่ยม, ทพญ.ทิพวรรณ ธราภิวัฒนานนท์ และทพ.สมกมล วนิชวัฒนะ

แบบทดสอบ