การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม

บทความ

การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม

          ยาปฏิชีวนะจะเกิดประโยชน์ในการรักษา ต่อเมื่อมีการจ่ายยาอย่างถูกต้องสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการดื้อยาปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะคือ ใช้ยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปริมาณน้อยที่สุด เพื่อทำลายแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรเลือกยาที่ความเฉพาะเจาะจงติดเชื้อและมีผลข้างเคียงน้อย แม้วิธีการที่ได้ผลแน่นอนคือ ทำการเพาะเชื้อและทดสอบความไว (culture and sensitivity test) ก่อนเลือกใช้ยา แต่ในทางปฏิบัติมีข้อจำกัด และเป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อในช่องปากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแกรมบวก ดังนั้นเพนนิซิลลินและยาในกลุ่มเดียวกันก็ยังเป็นตัวยาแรกที่เลือกใช้

          ก่อนจ่ายยาปฏิชีวนะ ควรพิจารณาความจำเป็นของผู้ป่วยในการใช้ยาปฏิชีวนะ สภาพร่างกายและโรคของผู้ป่วย ภาวะภูมิคุ้มกันที่ถูกกด และชนิดของการรักษาทางทันตกรรม ร่วมกับการปรึกษาแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วย ระยะเวลาของการใช้ยาและขนาดยาที่จ่ายขึ้นกับความรุนแรงของการติดเชื้อ แนะนำให้ใช้ยาต่อไปหลังจากที่อาการดีขึ้นอย่างน้อย 5 วัน การติดเชื้อเฉียบพลันส่วนใหญ่ อาการจะดีขึ้นภายใน 3-7 วัน ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นควรหยุดยาเดิมและพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่น เพื่อป้องกันการดื้อยา โดยอาจทำการเพาะเชื้อและทดสอบความไวก่อน

ภาวะที่อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

  • โรคทางระบบหรือภาวะที่ส่งผลให้ความสามารถในการตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการหายของแผลตามปกติลดลง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต ลิวคีเมีย ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกด เช่น ในรายที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ภาวะช็อก ทุพโภชนาการ สูญเสียน้ำ (dehydration) เป็นต้น
  • การติดเชื้อจากฟันผุ เช่น ฟันผุที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อใน (Pulpitis) ฟันผุที่มีการอักเสบของเอ็นยึดปริทันต์ (Apical periodontitis) ฟันผุมี sinus tract หรือฟันผุที่มีการบวมในช่องปากเฉพาะที่ (Localized intraoral swelling) มักไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่มีอาการติดเชื้อทางระบบ เช่น มีไข้ ใบหน้าบวม และเด็กที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดหรือมีโรคทางระบบที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง
  • บาดแผลบริเวณช่องปากและใบหน้า แผลในช่องปาก ถ้าเป็นแผลที่สะอาด ไม่มีสิ่งแปลกปลอมตกค้างและปากแผลปิดดี โดยทั่วไปจะมีการหายได้ดีโดยไม่มีการติดเชื้อ แม้จะมีการปนเปื้อนแบคทีเรียในช่องปาก แต่แผลบริเวณผิวหนังโดยเฉพาะที่ติดต่อกับเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก มักจะติดเชื้อได้ แผลในช่องปากที่ปนเปื้อนแบคทีเรียจากภายนอกช่องปาก บาดแผลจากการแตกหักที่เปิด (open fractures) และภยันตรายของข้อต่อขากรรไกรมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ
  • ภาวะใบหน้าบวมเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากฟัน เป็นภาวะที่ควรให้การดูแลทันที โดยพิจารณาอายุ สภาวะทางการแพทย์ ความรุนแรงของการติดเชื้อ และอาการของผู้ป่วย อาจจำเป็นต้องให้ยาทางหลอดเลือดดำและ/หรือส่งต่อแพทย์
  • ภยันตรายต่อฟัน ส่วนใหญ่มักไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตามกรณีที่ฟันแท้หลุดจากเบ้า (avulsion) ทั้งที่ปลายรากฟันยังเปิดอยู่หรือปิดแล้ว ควรให้ยาปฏิชีวนะ Amoxicillin หรือ Penicillin ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อในช่องปากและลดผลข้างเคียง สำหรับ Doxycycline เป็นยาที่ใช้แทน Penicillin ได้ แต่จะเสี่ยงต่อการเกิดฟันเปลี่ยนสี ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี ส่วนกรณีที่มีบาดแผลบริเวณช่องปากและใบหน้า ควรพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมด้วย
  • โรคปริทันต์ในเด็ก ยาปฏิชีวนะอาจจำเป็นสำหรับโรคปริทันต์ในเด็กชนิดที่รุนแรงหรือเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบ เช่น severe congenital neutropenia, Papillon-Lefèvre syndrome, Leukocyte adhesion deficiency ในการเลือกชนิดยา ควรทำการเพาะเชื้อและทดสอบความไว (sensitivity test) ต่อยาก่อน
  • ฝาเหงือกอักเสบ (Pericoronitis) ในรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ อ่อนเพลีย ควรพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการถอนฟันหรือการรักษาเฉพาะที่อื่น ๆ
  • โรคที่มีสาเหตุจากไวรัส เช่น Acute primary herpetic gingivostomatitis ไม่ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียเกิดซ้อนทับ
  • การติดเชื้อของต่อมน้ำลาย กรณีที่มีการบวมของต่อมน้ำลายอย่างเฉียบพลันจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ Amoxicillin/clavulanate แต่ถ้าให้ยาอย่างเดียวแล้ว อาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง ให้ทำการเจาะระบายหนองด้วย นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะยังเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา Acute bacterial submandibular sialadenitis และ Chronic recurrent submandibular sialadenitis ด้วย

ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อยในเด็ก

เพนนิซิลลิน วี โพแทสเซียม (Penicillin V Potassium) ในรูปแบบยาขนาด125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร ยาเม็ดขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี: 25-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3-4 ครั้ง

     เด็กอายุมากกว่า 12 ปี และผู้ใหญ่: 125-500 มิลลิกรัมทุก 6-8 ชั่วโมง

อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ในรูปแบบยาน้ำขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร ยาเม็ดขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม และแคปซูลขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็กอายุมากกว่า 3 เดือนจนถึงน้ำหนัก 40 กิโลกรัม: 20-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง

                                                                                                หรือ 25-45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง

     เด็กน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมและผู้ใหญ่: 250-500 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง

                                                                                                หรือ 500-875 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง

     การป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ: 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกิน 2 กรัม ก่อนทำหัตถการ 30-60 นาที)

อะม็อกซีซิลลินคลาวูลาเนท (Amoxicillin clavulanate, Augmentin®) ในรูปแบบยาน้ำขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร ยาเม็ดขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็กอายุมากกว่า 3 เดือนจนถึงน้ำหนัก 40 กิโลกรัม: 25-45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง

     เด็กน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมและผู้ใหญ่: 500-875 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง

อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ใช้สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลินหรือ เซฟาโลสปอลิน ในรูปแบบยาเม็ด แคปซูลและยาฉีด

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 16 ปี: 10-12 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม) วันละครั้งในวันที่ 1

ตามด้วย 5-6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ต่อไปอีก 2-5วัน

                                     การป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ: 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ก่อนทำหัตถการ 30-60 นาที)

เซฟาเลกซิน (Cephalexin) ในรูปแบบยาน้ำขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร ยาเม็ดขนาด 250 มิลลิกรัม

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็ก: 25-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง

     ผู้ใหญ่: 250 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง

                                     การป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ: 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกิน 2 กรัม ก่อนทำหัตถการ 30-60 นาที)

คลินดามัยซิน ไฮโดรคลอไรด์ (Clindamycin HCl) ใช้สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลินหรือ เซฟาโลสปอลิน ในรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด แคปซูลขนาด 75, 150 และ 300 มิลลิกรัม และยาฉีด

ขนาดสำหรับรับประทาน: เด็ก: 8-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3-4 ครั้ง

     ผู้ใหญ่: 150-450 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง

ขนาดสำหรับฉีด: เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน: 20-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3-4 ครั้ง

         เด็กอายุมากกว่า 12 ปี และผู้ใหญ่: 1.2-1.8 กรัม/วัน แบ่งให้ 2-4 ครั้ง

ปัจจุบันไม่ใช้ยานี้เพื่อการป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ 


เอกสารอ้างอิง

บรรณานุกรม

Agarwal A, Panat SR, Anshul, Gurtu A, Aggarwal A. Antibiotic usage in Pediatric Dentistry: A Comprehensive Review J Dent Sci Oral Rehabil 2014;5(3):125-132

American Academy of Pediatric Dentistry Council on Clinical Affairs. Use of Antibiotic Therapy for Pediatric Dental Patients. Reference Manual of Pediatric Dentistry 2022-2023. Available at https://www.aapd.org/globalassets/media/policies_guidelines/bp_antibiotictherapy.pdf?v=new

American Academy of Pediatric Dentistry council on clinical affairs. Useful Medications for Oral Conditions. Reference Manual of Pediatric Dentistry 2022-2023. Available at https://www.aapd.org/globalassets/r_usefulmeds.pdf

Hills-Smith HH, Schuman NJ. Antibiotic therapy in pediatric dentistry II. Treatment of oral infection and management of systemic disease. Pediatr Dent 1983;5(1):45-50.

American Dental Association. Oral health topics: Antibiotic prophylaxis prior to dental procedures. American Dental Association website. September 29, 2020. Available at https://www.ada.org/en/ member-center/oral-health-topics/antibiotic-stewardship


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ.จินดา เลิศศิริวรกุล

แบบทดสอบ