การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์

บทความ

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องปากของหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องปากมากกว่าปกติดังนี้

  เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ เนื่องจากภาวะตั้งครรภ์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิด ความชอบรับประทานอาหารแปลก ๆ รับประทานบ่อย ๆ รับประทานอาหารว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เกิดภาวะปากแห้ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ นอกจากนี้แม่ที่มีฟันผุมาก มักจะปริมาณเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุในน้ำลายมาก มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อดังกล่าวไปสู่ลูกได้มากกว่าแม่ที่ไม่มีฟันผุ

  เสี่ยงต่อภาวะฟันกร่อน หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 50-90 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือกรดไหลย้อน ทำให้เกิดภาวะกรดในช่องปากมากขึ้นและบ่อยจึงมีความเสี่ยงต่อภาวะฟันกร่อน เนื่องจากสัมผัสกับกรดบ่อย ๆ

  เสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเหงือก ทำให้เหงือกไวต่อสิ่งระคายเคืองและบวม นอกจากนี้ยังขัดขวางการตอบสนองปกติของร่างกายที่มีต่อเชื้อก่อโรคปริทันต์ มีการสะสมคราบจุลินทรีย์ง่ายขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบมากขึ้น ลักษณะโรคเหงือกอักเสบคือ มีเหงือกบวมแดง กดเจ็บ เลือดออกบ่อย มักเริ่มในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และมีอาการมากขึ้นในช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ พบที่ฟันหน้ามากกว่าฟันกราม อาการจะเป็นมากขึ้น ถ้าสุขอนามัยช่องปากไม่ดี แปรงฟันไม่สะอาด และหายใจทางปาก อาจลุกลามไปเป็นโรคปริทันต์อักเสบได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ เช่น เด็กมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยได้ แม้ว่ายังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามมีหลักฐานยืนยันว่า การรักษาปริทันต์ในระหว่างตั้งครรภ์ไม่มีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์และปลอดภัยต่อแม่

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์

          การดูแลสุขภาพฟันและเหงือกเป็นสิ่งสำคัญในขณะตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องปากและอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้การสุขภาพช่องปากที่ดีของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ยังลดปริมาณเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุในน้ำลายของเด็กที่จะคลอดออกมาด้วย

อาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและครบ 5 หมู่ตามคำแนะนำของสูตินรีแพทย์ เช่น โฟเลต วิตามิน บี 6 วิตามินบี 12 แคลเซียมและสังกะสี เพื่อให้แม่และเด็กจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เพราะฟันซี่แรกของเด็กเริ่มสร้างเมื่ออายุครรภ์ 3 เดือน อาหารประเภทนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต เป็นแหล่งแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างฟันและกระดูกของทารกในครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารว่างที่มีน้ำตาลสูง แม้ว่าระหว่างตั้งครรภ์มักมีอาการอยากรับประทานของหวาน เนื่องจากการรับประทานอาหารเหล่านี้บ่อย ๆ ทำให้มีโอกาสเกิดฟันผุได้มากขึ้น

การใช้ยา ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และควรหลีกเลี่ยงการจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น doxycycline และ tetracycline ยาคลายความกังวล เช่น alprazolam and diazepam การได้รับยากันชักเช่น topiramate, valproic acid มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ของทารกในครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงยาที่ซื้อได้เองเช่น ยาเกี่ยวกับระบบอาหารลำไส้ที่มี bismuth subsalicylate ยาลดน้ำมูก เช่น phenylephrine, pseudoephedrine ยาแก้หวัดที่มี guaifenesin ยาแก้หวัด เช่น ibuprofen, naproxen และ aspirin

การได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์งดสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ การใช้การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ร้ายแรง หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงมากขึ้นต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy) แท้ง (spontaneous abortion) และคลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดมาจากแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ มักจะมีรูปร่างเล็กกว่าอายุครรภ์ มีน้ำหนักแรกคลอดน้อย ยิ่งระหว่างการตั้งครรภ์แม่สูบบุหรี่นานเท่าไร ยิ่งมีผลต่อน้ำหนักแรกคลอดของเด็กมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าการที่หญิงตั้งครรภ์สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับความบกพร่องทางสติปัญญาและความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทารกเสี่ยงต่อการตายระหว่างคลอด และกลุ่มอาการตายอย่างกะทันหันของทารก (sudden infant death syndrome, SIDS) มากขึ้นด้วย

ข้อแนะนำในการดูแลสุขอนามัยในช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพช่องปากป้องกันหรือลดปัญหาโรคในช่องปากได้ ควรแนะนำหญิงตั้งครรภ์ดังนี้

  1. ใช้ไหมขัดฟันและแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ในช่องปาก ช่วยให้เกิดการคืนกลับแร่ธาตุของเคลือบฟัน และลดการอักเสบของเหงือก ถ้าการอาเจียนทำให้ไม่อยากแปรงฟัน ให้เปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันรสอ่อนโยน
  2. ถ้าอาเจียนบ่อย ควรบ้วนปากด้วยน้ำที่ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา และไม่ควรแปรงฟันหลังอาเจียน 1 ชั่วโมง เพื่อลดภาวะฟันกร่อนจากการสัมผัสกับกรดจากกระเพาะอาหารบ่อย ๆ
  3. ถ้ามีอาการปากแห้ง ให้ดื่มน้ำมากขึ้น หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย
  4. หญิงที่ไม่ได้พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอมักจะไม่พบทันตแพทย์ในระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุมักเป็นเพราะไม่มั่นใจว่า การรักษาในระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยหรือไม่ เหตุผลที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคในช่องปากอาจส่งผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ อาจเกิดการติดเชื้อที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาที่อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ และการรักษาบางอย่างไม่สามารถรอหรือเลื่อนออกไปได้

หลังจากที่ทราบว่าตั้งครรภ์และได้รับการตรวจและคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์แล้ว

  1. หญิงตั้งครรภ์ควรไปพบทันตแพทย์ในไตรมาสแรก เพื่อให้ทันตแพทย์ซักประวัติ ตรวจช่องปากอย่างละเอียด ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องปาก เช่น โรคฟันผุ ให้คำแนะนำในการดูแลสุขอนามัยในช่องปาก และวางแผนรักษาทางทันตกรรม
  2. หญิงตั้งครรภ์ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบว่าตั้งครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว บอกข้อห้ามหรือข้อแนะนำเฉพาะ ตลอดจนยาและขนาดยาที่ได้รับจากสูตินรีแพทย์ เพราะทันตแพทย์อาจต้องปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม
  3. ทันตแพทย์สามารถให้การป้องกัน การวินิจฉัยและการรักษาโรคช่องปาก รวมถึงการถ่ายภาพรังสีที่จำเป็นต่อการรักษาได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ โดยไม่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเด็กในครรภ์และแม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ให้การรักษา
  4. แม้ว่าจะสามารถให้การรักษาทางทันตกรรมได้อย่างปลอดภัยในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ แต่หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักรู้สึกสบาย ถ้ารักษาในระหว่างสัปดาห์ที่ 14-20 หรือช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ การบูรณะฟันและรักษาโรคเหงือกหรือโรคปริทันต์ในช่วงนี้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อหรือปัญหาอื่น ๆ ในช่องปากที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่อาจเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร เนื่องจากตำแหน่งกระเพาะอาหารอยู่สูงขึ้นและอาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารช้า
  5. ทุกครั้งที่พบทันตแพทย์ ควรตรวจความดันโลหิต กรณีที่พบว่าความดันโลหิตสูง ควรส่งต่อแพทย์ประจำตัวของคนไข้
  6. การตรวจสุขภาพปริทันต์ (เหงือก) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการตั้งครรภ์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์มากขึ้น โดยทั่วไปทำให้เหงือกมีเลือดออกง่าย หรือเกิดโรคเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์ (pregnancy gingivitis) และเนื้องอกจากการตั้งครรภ์ (pregnancy tumor) โรคเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์มักรุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการเจ็บ เลือดออกหรือเหงือกบวมโตระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที
  7. ถ้าหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับการถ่ายภาพรังสี ต้องใส่เสื้อตะกั่วป้องกันบริเวณท้องและไทรอยด์ในขณะที่ถ่ายภาพรังสี
  8. การรักษาที่รอได้ หรือที่คาดว่าจะทำให้เจ็บปวดหรือเกิดการติดเชื้อ ควรเลื่อนออกไปทำหลังจากคลอดบุตรแล้ว
  9. ห้ามใช้ไนตรัสออกไซด์ออกซิเจนในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการแท้ง อย่างไรก็ตามในรายที่จำเป็นต้องใช้ไนตรัสออกไซด์ออกซิเจนร่วมกับยาชาเฉพาะที่ในการรักษาทางทันตกรรม ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเตรียมการป้องกันภาวะ hypoxia, hypotension และ aspiration
  10. ถ้าหลังคลอดยังมีปัญหาโรคเหงือก ให้ไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อตรวจช่องปากและประเมินสภาวะปริทันต์

เอกสารอ้างอิง

บรรณานุกรม

American Academy of Pediatric Dentistry.Oral Health Care for the Pregnant Pediatric Dental Patient. Reference Manual of Pediatric Dentistry 2022-2023. Available at https://www.aapd.org/globalassets/media/policies_guidelines/bp_pregnancy.pdf

American Academy of Pediatric Dentistry.Perinatal and Infant Oral Health Care. Pediatr Dent 2018; 39: 208-12. Dean JA, Avery DR, and McDonald RE. McDonald & Avery’s Dentistry for the Child and Adolescent. 10th ed.

St. Louis: Mosby. 2016. Berkowitz RJ, Turner J, Green P. Maternal salivary levels of Streptococcus mutans and primary oral infection in infants.

Arch Oral Biol 1981;26(2):147-9.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ.จินดา เลิศศิริวรกุล

แบบทดสอบ