การให้บริการทันตกรรมหลัง COVID-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น

บทความ

 การให้บริการทันตกรรมหลัง COVID-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น

          การระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวทั่วโลกถึงแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะการให้บริการทางทันตกรรมซึ่งจัดว่าเป็นการให้บริการทางสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อการติดโรคของระบบทางเดินหายใจ ก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ทันตบุคลากรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับโรคของระบบทางเดินหายใจมาโดยตลอด โดยจะยึดถือปฏิบัติเพียงหลักการ Standard precautions การให้การรักษาทางทันตกรรมโดยใช้หลักการของ Airborne precautions เข้ามาร่วมด้วยนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ในขณะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญของ Standard precautions และ Airborne precautions แสดงให้เห็นในตารางที่ 1 โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Airborne precautions นั้นยากที่จะนำมาปฏิบัติในคลินิกทันตกรรมทุกแห่งคือ การใส่ PPE ที่ต้องสามารถป้องกันทางเดินหายใจของผู้ให้บริการได้ เช่นหน้ากาก N95 การจัดการกับระบบหมุนเวียนของอากาศในคลินิกให้สามารถเจือจางอากาศติดเชื้อที่เกิดขึ้นขณะให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงความปลอดภัยต่อทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ รวมถึงการคัดกรองผู้ป่วยด้วยอาการของโรคของระบบทางเดินหายใจอย่างเข้มข้น และมาตรการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขณะให้การรักษาทางทันตกรรม อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นและสามารถปฏิบัติจนเป็นปกติได้แล้วในช่วงระยะเวลากว่าสองปีที่ระบบให้บริการทันตกรรมภายในประเทศเราค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานการให้บริการใหม่


ตารางที่ 1: องค์ประกอบที่สำคัญของ Standard precautions และ Transmission-based precautions (Contact, Droplet, Airborne)

ภายหลังจากที่ COVID-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 กรมการแพทย์ได้ออกประกาศ  เรื่อง แนวทางปฏิบัติทางทันตกรรมวิถีใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2565 ซึ่งสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมการติดต่อของโรคระบบทางเดินหายใจในคลินิกทันตกรรมอยู่ จึงนับเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติวิถีใหม่ทางทันตกรรมให้ถือปฏิบัติต่อจากนี้ไปโดยแท้จริง แนวปฏิบัตินี้มีความคล้ายคลึงกับแนวปฏิบัติในการให้บริการขณะ COVID-19 ยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยมีการผ่อนปรนบางมาตรการ ในการให้บริการทันตกรรมนับจากนี้ไปประเด็นที่ทันตบุคลากรควรให้ความสำคัญในการป้องกันการติดต่อของโรคระบบทางเดินหายใจ มี 4 ข้อด้วยกันคือ

               1. การคัดกรอง/คัดแยกผู้ป่วย (Triage/screening)

การคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคระบบทางเดินหายใจ ยังคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก หากผู้ป่วยมีอาการแสดงเหล่านี้ ควรเลื่อนการรักษาที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน หากจำเป็นต้องให้การรักษาไม่ว่ากรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉินควรพิจารณาทำการตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วย ATK หรือ RT-PCR และให้การรักษาในห้องทันตกรรมที่มีลักษณะเป็นห้องเดี่ยวและมีการจัดการระบบระบายอากาศที่ดี (อย่างน้อย 12 Air Change per Hour: ACH) บุคลากรใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองแบบเต็มขั้น (Full PPE) โดยเน้นให้มีกาวน์กันน้ำและหน้ากาก N95 มาตรการเหล่านี้ยังใช้กับการให้การรักษาฉุกเฉินกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าป่วยด้วย COVID-19 และยังไม่พ้นระยะแพร่เชื้อ หรือยังไม่พ้นระยะปลอดภัย ซึ่งในประกาศฉบับนี้กำหนดระยะปลอดภัยในการรับบริการทันตกรรมของผู้ป่วย COVID-19 อยู่ที่ 20 วัน หลังจากวันที่ตรวจพบ (ระยะปลอดภัยที่จะรับบริการทางทันตกรรมนี้กำหนดจากเวลาสองเท่าของระยะที่คาดว่าผู้ป่วยจะไม่แพร่เชื้อแล้วในทางการแพทย์) ส่วนผู้ป่วยที่คัดกรองแล้วไม่มีความเสี่ยงคือไม่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจหรือป่วยด้วยโรค COVID-19 มาเกิน 20 วันแล้ว สามารถรับบริการทันตกรรมได้ตามปกติ ในห้องแยกเดี่ยวหรือห้องรวมได้ โดยผู้ให้บริการสามารถใส่อุปกรณ์ป้องกันแบบ standard PPE ได้ 

 

รูปที่ 1: แนวทางคัดกรองผู้ป่วย1

               2. อุปกรณ์ส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment, PPE)

อุปกรณ์ป้องกันตนเองพื้นฐาน (standard PPE) ที่แนะนำให้ทันตบุคลากรใส่ในการให้การรักษาทันตกรรมตามปกติคือ เสื้อกาวน์ ซึ่งอาจเป็นกาวน์ผ้าหรือกาวน์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นกาวน์กันน้ำแล้วเพราะงานทันตกรรมมีโอกาสปนเปื้อนจากละอองฝอยซึ่งโดยทั่วไปไม่เปียกชุ่มโชก หมวกคลุมผมและหน้ากาก N95 ยังแนะนำให้ใส่ต่อไป ในกรณีที่ไม่สามารถหา N95 ได้อนุโลมให้ใช้หน้ากากอนามัยที่ทำการซีลที่ขอบเพื่อป้องกันการั่วของอากาศจากด้านข้าง ร่วมกับการใส่ face shield และ ถุงมือ

อุปกรณ์ป้องกันตนเองแบบเต็มขั้น (full PPE) ให้ใส่กาวน์กันน้ำ (Waterproof gown) หรือ ชุดป้องกันแบบ Medical protective coverall ใส่หมวกคลุมศีรษะ หน้ากาก N95 (หรืออุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจที่ดีกว่า) ร่วมกับ face shield หรือแว่นป้องกันตา (goggle) และถุงมือ

รูปที่ 2: อุปกรณ์ส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อ1

 

               3. การควบคุมการติดเชื้อจากละอองฝอย  (Local Control of Aerosol)

ในขณะให้การรักษาทางทันตกรรมมาตรการต่างๆ ที่สามารถช่วยลดหรือช่วยควบคุมการฟุ้งกระจายของละอองฝอยยังคงมีความจำเป็น และยังคงต้องปฏิบัติต่อไป เช่น การให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเริ่มทำหัตถการ เป็นมาตรการที่สามาถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่ช่วยลดปริมาณการฟุ้งกระจายของละอองฝอยแต่สามารถลดความมีชีวิตของเชื้อที่ฟุ้งออกมากับละอองฝอยได้ น้ำยาฆ่าเชื้อที่แนะนำให้ใช้มีหลายชนิด ได้แก่ 0.12 – 0.2 % คลอเฮกซิดีนกลูโคเนต (Chx) (จัดเป็น gold standard ในการใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากก่อนทำหัตถการ) 0.2% โพวิโดนไอโอดีน (PI) 1% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือ 0.05% ไซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ (CPC) น้ำยาแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ทุกชนิดมีประสิทธิภาพในการลดเชื้อที่ฟุ้งออกมากับละอองฝอยที่เกิดจากหัตถการทันตกรรมทั้งสิ้น ในปัจจุบันมีการศึกษาออกมามากมาย ตัวอย่างเช่น Rola Elzein et al., รายงานว่าน้ำยาบ้วนปาก Chx 0.2% และ PI 1% สามารถลดปริมาณของเชื้อไวรัส SARCoV2 ในน้ำลายของผู้ป่วยโรค COVID-19 ได้จริง ภายหลังบ้วนปากด้วยน้ำยานาน 30 นาที การศึกษาในห้องปฏิบัติการโดย J Muñoz-Basagoiti et al., ยังพบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ CPC ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลายสามารถลดการติดต่อ (infectivity) ของ SARCoV2 ได้ถึง 1000 เท่า นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการโดย Vunjia Tiong et al., ยังพบกว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Chx CPC และ เฮกซิติดีน (Hexitidine) สามารถลดเชื้อ SARSCoV2 ลงได้ถึง 99.99% ภายในระยะเวลาสัมผัส 30 วินาที ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าน้ำยาเคมีฆ่าเชื้อส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากสามารถฆ่าเชื้อ SARCoV2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจาก SARCoV2 เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้มซึ่งจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีความทนทานต่อน้ำยาเคมีฆ่าเชื้อต่ำ ในการเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากยังข้อพิจารณาในการใช้งานที่สำคัญ เช่น คลอเฮกซิดีนและโพวิโดนไอโอดีน นั้นเป็นน้ำยาเคมีฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติเด่นคือมีฤทธิ์คงค้างอยู่บนพื้นผิวได้นานแม้ถูกชะล้างด้วยน้ำแล้ว ดังนั้นสามารถให้ผู้ป่วยบ้วนน้ำตามได้ภายหลังบ้วนด้วยน้ำยาสองชนิดนี้เพื่อกำจัดรสชาติอันไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้มาตรการอื่นๆ ที่ใช้ในการลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยเช่น การใช้เครื่องดูดกำลังสูงแบบใช้ภายในช่องปากได้ (intra oral high power suction) หรือเครื่องดูดละอองฝอยแบบใช้ภายนอกช่องปาก (Extra Oral Suction: EOS) มีรายงานออกมาชัดเจนแล้วว่าการให้การรักษาทางทันตกรรมโดยการขูดหินน้ำลายให้ผู้ป่วย COVID-19 เป็นเวลา 10 นาที นั้นก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัสไปในละอองลอยภายในห้องที่ให้การรักษา และการใช้เครื่องดูดกำลังสูงแบบใช้ในช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดเชื้อไวรัสในอากาศภายในห้องที่ให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วย COVID-19 ได้ นอกจากนี้มาตรการเสริมอื่นๆ เช่น การทำหัตถการโดยใช้แผ่นยางกันน้ำลายในกรณีที่สามารถทำได้ ยังควรปฏิบัติให้เป็นวิถีปกติ

               4. การจัดการสิ่งแวดล้อม  (Environment Control)

ประเด็นสำคัญในหัวข้อนี้คือการจัดการให้มีการระบายอากาศอย่างเหมาะสมในคลินิกทันตกรรม โดยในคลินิกที่ให้บริการผู้ป่วยที่คัดกรองแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงแนะนำให้มีการระบายอากาศในคลินิกอย่างน้อย 3 ACH (in-out) ด้วยอากาศบริสุทธิ์ (fresh air) ซึ่งเป็นมาตรฐานต่ำสุดของการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร ซึ่ง 3 ACH fresh air นี้นอกจากจะช่วยเจือจางอากาศติดเชื้อที่เกิดจากหัตถการในคลินิกแล้วยังช่วยเจือจากก๊าซหรือสารเคมีที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในคลินิกด้วย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลิ่นของสารเคมี สำหรับห้องทันตกรรมที่จะให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรจัดให้มีการระบายอากาศไม่ต่ำกว่า 12 ACH โดยอย่างน้อยที่สุดควรจัดให้มีการระบายอากาศด้วยอากาศบริสุทธิ์ (fresh air in/out) อย่างน้อย 3 ACH ส่วนที่เหลืออีก 9 ACHสามารถใช้การหมุนเวียนอากาศภายในห้องรักษาด้วยการบำบัดอากาศผ่านเครื่องฟอกอากาศชนิด HEPA filter (recirculate through HEPA filtration) ซึ่งรวมแล้วควรได้ 12 ACH หรือมากกว่า พึงระลึกไว้เสมอว่าการระบายอากาศโดยใช้อาการบริสุทธิ์ทั้ง 12 ACH เติมเข้ามาให้คลินิกย่อมดีกว่าการหมุนเวียนอากาศผ่านเครื่องฟอก HEPA แต่อย่างไรก็ตามการเติมอากาศบริสุทธ์จากภายนอกเข้ามาทั้ง 12 ACH มีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมอุณหภูมิและความสะอาดของอากาศที่เติมเข้ามา หากไม่ทำให้อากาศเย็นลงก่อนจะส่งผลต่ออุณหภูมิและความชื้นภายในคลินิกได้ ส่งผลให้วิธีเติมอากาศบริสุทธิ์ทั้ง 12 ACH จะสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้ามาก อย่างไรก็ตามการหมุนเวียนอากาศผ่านเครื่องฟอกชนิด HEPA ควรมีการบำรุงรักษาเปลี่ยนไส้กรองอากาศตามระยะเวลาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเป็นไปตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ควรออกแบบทิศทางการไหลของอากาศภายในคลินิกจากบริเวณที่สกปรกน้อยไปยังบริเวณที่สกปรกมากเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุด

การจัดการสิ่งแวดล้อมยังรวมไปถึงการทำความสะอาดพื้นผิวในคลินิกอย่างเหมาะสมและทั่วถึง การจัดการสิ่งแวดล้อมในการถ่ายภาพรังสี ข้อพึงระวังในการตัดแต่งชิ้นงานทันตกรรมนอกช่องปากควรมีการฆ่าเชื้อชิ้นงานก่อนและมีการใช้เครื่องดูดความแรงสูงนอกช่องปากช่วยดูดละอองที่เกิดจากการกรอแต่งชิ้นงาน รวมทั้งการแนะนำให้แม่บ้านที่ทำความสะอาดภายในบริเวณคลินิกมีการใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม

 

                 รูปที่ 3: การออกแบบระบบระบายอากาศในคลินิกทันตกรรม

รูปที่ 4: มาตรการสำคัญในการป้องกันการติดต่อของ COVID-19 และโรคระบบทางเดินหายใจในคลินิกทันตกรรม


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. ประกาศกรมการแพทย์ เรื่อง แนวทางปฏิบัติทางทันตกรรมวิถีใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2565
  2. Ampornaramveth R. Control of Airborne Infection in Dental Clinics. (Review) Journal of the Dental Association of Thailand. 2021;71 (4):247-257.
  3. C G Jones. Chlorhexidine: is it still the gold standard? Periodontol 2000. 1997; 15:55-62.
  4. Rola ElzeinFadi Abdel-SaterSoha FakhreddinePierre Abi HannaRita FeghaliHassan HamadFouad Ayoub. In vivo evaluation of the virucidal efficacy of chlorhexidine and povidone-iodine mouthwashes against salivary SARS-CoV-2. A randomized-controlled clinical trial. J Evid Based Dent Pract. 2021;21(3):101584.
  5. J Muñoz-BasagoitiD Perez-ZsoltR LeónV BlancD Raïch-ReguéM Cano-SarabiaB TrinitéE PradenasJ BlancoJ GispertB ClotetN Izquierdo-Useros. Mouthwashes with CPC Reduce the Infectivity of SARS-CoV-2 Variants In Vitro J Dent Res. 2021;100(11):1265-1272.
  6. Vunjia Tiong, Pouya Hassandarvish, Sazaly Abu Bakar, Nurul Azmawati Mohamed, Wan Shahida Wan Sulaiman, Nizam Baharom, Farishah Nur Abdul Samad, and Ilina Isahak. The effectiveness of various gargle formulations and salt water against SARS-CoV-2. Sci Rep. 2021;11: 20502.
  7. Hakan Akin, Oguz Karabay, Hande Toptan, Halit Furuncuoglu. Investigation of the Presence of SARS-CoV-2 in Aerosol After Dental Treatment.  International Dental Journal. 2022;72 (2): 211-215.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชนี อัมพรอร่ามเวทย์

แบบทดสอบ