การติดสีดำในฟันน้ำนม (Black Stains in Primary Teeth)

บทความ

การติดสีดำในฟันน้ำนม (Black Stains in Primary Teeth)

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              ผศ.ทพญ.พิชานัน เหลี่ยวรุ่งเรือง

 

            การติดสีดำในฟันน้ำนมจะมีลักษณะเฉพาะคือพบในตำแหน่งคอฟัน มีลักษณะเป็นจุดสีดำหรือเป็นแนวเส้นสีดำที่ขนานไปกับขอบเหงือก พบได้ทั้งด้านแก้มและด้านลิ้น โดยพบอุบัติการณ์ในชุดฟันน้ำนมร้อยละ 5.4  ชุดฟันผสมร้อยละ 19.9 1 การติดสีจะเริ่มเห็นที่ผิวเคลือบฟันตั้งแต่ผู้ป่วยอายุ 2-3 ปีซึ่งส่งผลต่อความสวยงามของผู้ป่วยดังรูปที่ 1

กลไกการติดสี (Mechanism of Constitution)

                เกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ผิวฟันมีการตกตะกอนของสารประกอบธาตุเหล็ก แคลเซียมและฟอสเฟต ทำให้เกิดคราบแข็งสีดำ ที่ไม่สามารถแปรงออกได้ คราบสีดำเป็นสีที่เกิดจากสารประกอบเฟอร์ริกทำปฏิกริยากับน้ำลาย หรือเกิดจากการทำปฏิกริยาระหว่าง gingival fluid ที่มีส่วนประกอบเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ผลิตจากแบคทีเรียที่อยู่ในร่องเหงือกกับธาตุเหล็ก จากการศึกษาแบคทีเรียที่สัมพันธ์กับการติดสีดำได้แก่ Prevotella, Porphyromonas, Actinomyces 2,3

การวินิจฉัย (Diagnosis and Classification)

                ปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบการวินิจฉัยที่ชัดเจน ผู้วิจัยแต่ละท่านจะกำหนดรูปแบบการวินิจฉัยขึ้นมาเองเช่น Koch et al.1 คือการปรากฏจุดดำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 มม.รวมตัวกันเป็นเส้นยาวขนานไปกับแนวขอบเหงือก โดยพบที่ผิวฟันด้านเรียบอย่างน้อย 2 ซี่โดยไม่มีรอยผุที่ชั้นเคลือบฟัน  Shourie 4 บันทึกการมีหรือไม่มีการติดสีสีดำดังนี้ 1.ไม่มีการติดสี  2.ลักษณะเป็นจุดสีดำไม่ต่อเนื่องกันเป็นเส้น 3. เป็นเส้นสีดำต่อเนื่อง  Garan et al. 5 กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยโดยมีการระบุตำแหน่งและใส่ตัวเลขเพื่อแสดงระดับของการติดสีตามพื้นที่ผิวโดยระดับที่ 1 พบจุดสีหรือแนวเส้นบางๆที่ไม่ต่อเนื่องกันขนานกับแนวขอบเหงือก ระดับที่ 2 เส้นสีดำต่อเนื่องกันโดยไม่เกินครึ่งนึงของตำแหน่ง 1/3 ของคอฟัน ระดับ 3 เส้นสีดำต่อเนื่องกันโดยเกินครึ่งนึงของตำแหน่ง 1/3 ของคอฟัน

การวินิจฉัยแยกโรค (Differential Diagnosis)

                การติดสีของฟันน้ำนมแบ่งออกตามตำแหน่งที่เกิดการติดสีคือภายนอกฟัน (extrinsic), ภายในฟัน (intrinsic)

การติดสีที่ภายนอกฟันมีได้หลายสีเช่น สีน้ำตาล สีเขียว สีส้ม สีโลหะหรืออาจเป็นคราบจากการสูบบุหรี่หรือการติดสีจากส่วนประกอบจากยา สารประกอบแทนนิน (tannin) พบในเครื่องดื่มชา กาแฟ จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลที่ผิวฟัน การติดสีเขียวที่ผิวฟันเกิดจากแบคทีเรียในกลุ่มฟลูออเรสเซนต์และเชื้อรา 6 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงและสัมพันธ์กับคนที่มีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี 7 การติดสีส้มหรือสีแดงอมส้มสันนิษฐานว่าเกิดจากกลุ่มโครโมเจนิกแบคทีเรีย (chromogenic bacteria)  และสัมพันธ์กับคนที่มีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี 6  การติดสีโลหะเกิดจากการได้รับโลหะจากการทำงานในอุตสาหกรรมเหล็ก แมงกานีส เงิน   และการรับประทานยาน้ำธาตุเหล็ก (iron syrup) 8

                        การติดสีภายในฟันเกิดจากการมีเม็ดสีเข้าไปใน dental tissue ในขั้นตอนการสร้างฟัน (odontogenesis) สาเหตุจากการติดเชื้อเช่น หัดเยอรมัน การได้รับยาบางชนิดเช่น เตตราไซคลีน (Tetracyclines),ฟลูออไรด์ ภาวะทุพโภชนาการ โรคเลือดเช่น sickle cell anemia, thalassemia  การสร้างฟันที่ผิดปกติเช่น amelogenesis imperfecta, dentinogenesis imperfecta 3,9-10

                        การวินิจฉัยแยกโรคกับโรคฟันผุ การเกิดฟันผุจะมีการสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟัน (decalcification) หรือลุกลามจนเกิดการสูญเสียชั้นผิวเคลือบฟันหรือการสูญเสียชั้นเนื้อฟันในภาวะที่ไม่สามารถผันกลับได้ ซึ่งแตกต่างจากการติดสีดำที่ผิวฟันเนื่องจากคราบสีดำสามารถกำจัดออกได้ด้วยการขัด เมื่อขัดคราบสีดำออกแล้วผิวฟันมีลักษณะ intact ไม่มีลักษณะ decalcification ประกอบกับลักษณะทางคลินิกที่สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้อย่างชัดเจนดังรูป

การรักษา (Treatment)

                การติดสีดำที่ฟันมีผลต่อความสวยงามของผู้ป่วย ซึ่งการแปรงฟันตามปกติไม่สามารถกำจัดคราบสีดำเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทันตแพทย์ การกำจัดคราบสีทำได้โดยการใช้ผงขัด pumice ร่วมกับ rubber cup หรือการใช้ sharp scaling instrument ในกรณีที่เป็นคราบแข็งเหนียว  ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องขูดหินน้ำลายแบบ ultrasonic เพราะจะทำให้สูญเสียผิวเคลือบฟันบางส่วนได้ 3, 9-10    หากขัดด้วยผงขัด pumice แล้วคราบบางส่วนยังคงเหลืออยู่ให้ซับน้ำบางส่วนออกจากผงขัดและเช็ดผิวฟันให้แห้งก่อนขัดจะทำให้การขัดคราบออกได้ดียิ่งขึ้น

                หลังจากขัดคราบสีดำออก การกลับมาเป็นใหม่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 เดือน11 ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย หากผู้ป่วยควบคุมการเกิด biofilm ได้ดีจะส่งผลให้ปริมาณคราบสีดำที่เกิดขึ้นนั้นลดลง

สรุป (Conclusion)

                การติดสีดำในฟันน้ำนม สาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่ชัดเจน สามารถกำจัดคราบสีออกได้โดยการขัดด้วย pumice และมีการเกิดขึ้นใหม่ได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีการติดสีดำในฟันน้ำนมจะมีอุบัติการณ์การเกิดฟันผุต่ำเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะของเชื้อใน biofilm และการมีส่วนประกอบของแคลเซียมและฟอสเฟตที่สูงใน biofilm 12

 

   

รูป การติดสีดำในฟันน้ำนม


เอกสารอ้างอิง

References

  1. Koch MJ, Bove M, Schroff J, Perlea P, Garcia-Godoy F. Black stain and dental caries in schoolchildren in Potenza, Italy. ASDC J Dent Child 2001;68: 353-355.
  2. Rachid F, Mehdi HE. Black Stains in Primary Teeth: Overview. Pediatr Dent Care 2016;1(4).
  3. Saba C, Solidani M, Berlutti F, Vestri A, Ottolenghi L. Black stains in the mixed dentition: A PCR microbiological study of the etiopathogenic bacteria. J Clin Pediatr Dent 2006;30(3):219-34.
  4. Shourie KL. Mesenteric line or pigmented plaque; a sign of comparative freedom from caries. J Am Dent Assoc 1947;35:805–7.
  5. Garan A, Akyüz S, Oztürk LK, Yarat A. Salivary parameters and caries indices in children with black tooth stains. J Clin Pediatr Dent 2012;36(3):285–8.
  6. Hattab FN, Qudeimat MA, al-Rimawi HS. Dental discoloration: an overview. J Esthet Dent 1999;11(6):291-310.
  7.  Sarkonen N, Konoen E, Summanen P, Kanervo A, Takala A. Oral colonization with Actinomyces species in infants by two years of age. J Dent Res 2000;79:864-867.
  8. Pani SC, Alenazi FM, Alotain AM, Alanazi HD, Alasmari AS.Extrinsic tooth staining potential of high dose and sustained release iron syrups on primary teeth. BMC Oral Health 2015;15:90.
  9.  Wilkins EM. Clinical practice of the dental hygienist (9th ed) Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins 2005;316-317.
  10. Bonecker M, Cleaton-Jones P. Trends in dental caries in Latin American and Caribbean 5-6 and 11-13 year-old children: a systematic review. Community Dent Oral Epidemiol 2003;31:152-157.
  11. Prathap S, Prathap MS. Occurrence of black chromogenic stains and its association with oral hygiene of patients. Ann Med Health Sci Res. 2018;8:18-21.
  12. Li Y, Zhang Q, Zhang F, Liu R, Liu H, Chen F. Analysis of the microbiota of black stain in the primary dentition. PLOS ONE 2015; DOI:10.1371/journal.pone.0137030

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ.พิชานัน เหลี่ยวรุ่งเรือง

แบบทดสอบ