การรักษาโรคปริทันต์ในผู้สูงอายุ

บทความ

บทความเรื่อง    การรักษาโรคปริทันต์ในผู้สูงอายุ

ผู้เขียนบทความ ผศ.ทพญ.กันยวัชร์ รัตนสุวรรณ

สังกัด             ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วัตถุประสงค์     เป็นบทความในชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองในเว็บไซต์ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางทันตแพทย์

วันที่     11 พฤศจิกายน 2565

การรักษาโรคปริทันต์ในผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะปริทันต์ในผู้สูงอายุ แบ่งได้เป็น 5 ระดับ

  1. Intrinsic changes การเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ (cell) พบว่าอัตราการสร้างเซลล์ทดแทนลดน้อยลง และมีการเสื่อมสภาพของเซลล์ต้นกำเนิด (progenitor cell)
  2. Stochastic changes การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของเซลล์ พบว่าโครงสร้างของเซลล์มีความยืดหยุ่นน้อยลง มีการเลือดมาเลี้ยง (blood supply) ในบริเวณอวัยวะปริทันต์ลดน้อยลง มีการสะสมของของเสีย โดยเฉพาะอนุมูลอิสระ (free radical) มากขึ้น
  3. Physiologic changes การเปลี่ยนแปลงในระดับเนื้อเยื่อปริทันต์ พบว่าความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อลดน้อยลง เส้นใย (fiber) ในอวัยวะปริทันต์ฉีกขาดได้ง่าย
  4. Functional changes การเปลี่ยนแปลงในการทำหน้าที่ของอวัยวะปริทันต์ พบว่าความสามารถในการซ่อมแซม (healing capacity) และอัตราการซ่อมแซฒ (healing rate) ของอวัยวะปริทันต์ลดลง และพบว่าในผู้สูงอายุบางคนมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากมี highly susceptible ต่อเชื้อไวรัสและเชื้อรา
  5. Clinical changes การเปลี่ยนแปลงทางคลินิกของอวัยวะปริทันต์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากอายุมากขึ้นโดยไม่ได้มีสาเหตุจากโรคปริทันต์อักเสบ (periodontal disease) ได้แก่
  • ชั้น epithelium ในช่องปากของผู้สูงอายุบางลง ดังนั้นจะเกิดการระคายเคือง และเป็นแผลได้ง่าย
  • เส้นใยของเอ็นยึดปริทันต์ (periodontal ligament fiber) ขาดความยืดหยุ่นและฉีกขาดง่าย
  • มักพบเหงือกร่นในผู้สูงอายุ ซึ่งการเกิดเหงือกร่นในผู้สูงอายุมักสัมพันธ์กับการเป็นโรคปริทันต์อักเสบมาก่อนหรือการแปรงฟันผิดวิธี
  • การสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ (clinical attachment loss) และการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน (alveolar bone loss)
  • มีชั้นเคลือบรากฟัน (cementum) หนาขึ้น

ลักษณะของคราบจุลินทรีย์ในผู้สูงอายุ

  • ปริมาณของคราบจุลินทรีย์ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างอายุน้อยและผู้สูงอายุ ซึ่งปริมาณของคราบจุลินทรีย์ขึ้นกับการดูแลสุขภาพช่องปากของแต่ละบุคคล
  • ส่วนประกอบหรือปริมาณเชื้อในคราบจุลินทรีย์
    • คราบจุลินทรีย์เหนือเหงือก (supra-gingival plaque) ไม่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ
    • คราบจุลินทรีย์ใต้เหงือก (sub-gingival plaque) พบว่าเชื้อ Porphyromonas gingivalis (Pg) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคปริทันต์มีบทบาท (influence) มากขึ้นอย่างชัดเจนในผู้สูงอายุ

โรคปริทันต์อักเสบมีลักษณะอย่างไรในผู้สูงอายุ

  • โรคปริทันต์อักเสบตรวจพบได้มากในผู้สูงอายุ โดยอายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยง (risk factor) ของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ
  • สาเหตุที่พบโรคปริทันต์อักเสบมากขึ้นในผู้สูงอายุเนื่องจาก โรคปริทันต์อักเสบเป็นโรคเรื้อรังการดำเนินโรคใช้เวลานานจึงจะแสดงอาการ ดังนั้นจึงตรวจพบได้มากในผู้สูงอายุ ระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุเสื่อมลง ความเสื่อมของสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้ความสามารถในการดูแลสุขภาพช่องปากของผุ้สูงอายุลดลง ร่วมกับปริมาณและบทบาทของเชื้อก่อโรคปริทันต์มากขึ้นในคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกของผู้สูงอายุ

แนวทางของการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้สูงอายุ เพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียโดย

  • การควบคุมอนามัยช่องปากโดยตัวผู้สูงอายุและ/หรือผู้ดูแล (control oral hygiene)
  • การขูดหินน้ำลาย เกลารากฟันโดยทันตแพทย์ (mechanical debridement)

การรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้สูงอายุควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

  1. แผนการรักษานั้นควรเหมาะสมกับสุขภาพทางกายและใจของผู้สูงอายุแต่ละคน
  2. เป้าหมายของการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้สูงอายุ คือ ให้ผู้สูงอายุสามารถคงสภาพสภาวะปริทันต์ที่ดีและใช้งานในชีวิตประจำวันได้
  3. การรักษาปริทันต์บำบัดแบบไม่ผ่าตัด (non-surgical periodontal treatment) เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการผ่าตัดศัลยกรรมปริทันต์ (periodontal surgery) ยกเว้นมีข้อบ่งชี้หรือจำเป็นในการทำผ่าตัดศัลยกรรมปริทันต์ และสามารถควบคุมโรคทางระบบของผู้สูงอายุได้ ก็สามารถเลือกทำศัลยกรรมปริทันต์ในผู้สูงอายุได้
  4. ในฟันที่มี questionable prognosis การถอนฟันเป็นทางเลือกที่ง่ายในการดูแลมากกว่าสำหรับผู้สูงอายุ
  5. ความสำเร็จของการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้สูงอายุประกอบด้วย
    • สามารถป้องกันการกลับมาเป็นโรคปริทันต์อักเสบซ้ำได้
    • ผู้สูงอายุสามารถรับประทานอาหารได้ ใช้บดเคี้ยวได้ โดยไม่เจ็บปวด
    • มีความสวยงามที่รับได้
    • ผู้สูงอายุสามารถดูแลช่องปากได้ง่ายด้วยตนเองหรือผู้ดูแล

ความสำเร็จในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้สูงอายุต้องอาศัย 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ

  1. การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพช่องปากโดยผู้สูงอายุและผู้ดูแล
  2. ความสม่ำเสมอของผู้สูงอายุในการกลับมารับการ motivate oral hygiene และทำความสะอาดโดยทันตแพทย์

เอกสารอ้างอิง

Reference: Needleman I.  Aging and the periodontium.  In: Newman MG, Takei HH, Klokkevold PR, Carranza FA, eds.  Carranza’s Clinical Periodontology.  13th ed.  Philadelphia: W.B. Saunders, 2019; 50-54.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ.กันยวัชร์ รัตนสุวรรณ

แบบทดสอบ