Periodontal Probing and PSR

บทความ

การหยั่งร่องเหงือก (periodontal probing) เป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจสภาวะปริทันต์ทางคลินิก ทำโดยใช้เครื่องมือตรวจปริทันต์ (periodontal probe) การหยั่งร่องเหงือกมีจุดประสงค์เพื่อ ตรวจหาว่าร่องเหงือกมีความลึกมากขึ้น หรือมีร่องลึกปริทันต์ (periodontal pocket) เกิดขึ้นหรือไม่ และถ้ามีร่องลึกปริทันต์เกิดขึ้น ร่องลึกปริทันต์นั้นเกิดจากการสูญเสียการยึด (loss of attachment) หรือไม่ มีความลึกและระดับของการยึด (level of attachment) เท่าใด มีการกระจายบนแต่ละด้านของฟันอย่างไร และร่องลึกปริทันต์เป็นชนิดใด (suprabony หรือ intrabony pocket) มีเค้าโครงอย่างไร นอกจากนี้การหยั่งร่องเหงือกยังช่วยประเมินว่า มีอาการเลือดออก (bleeding on probing) หรือไม่ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการแสดงที่สำคัญที่สุดของการอักเสบ

ในปัจจุบันการหยั่งร่องเหงือกด้วยเครื่องมือตรวจปริทันต์ยังคงเป็นวิธีการที่ถูกต้องเชื่อถือได้ (reliable) วิธีเดียว ในการตรวจหาและวัดร่องลึกปริทันต์ แม้ว่าการตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีจะแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่มีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน (ซึ่งเป็นบริเวณที่ชวนสงสัยว่าอาจจะมีร่องลึกปริทันต์) แต่ภาพรังสีไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า บริเวณดังกล่าวมีร่องลึกปริทันต์หรือไม่ มีความลึกเท่าไร ทั้งนี้เพราะร่องลึกปริทันต์เป็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออ่อน ดังนั้นการตรวจด้วยภาพรังสีจึงไม่สามารถแสดงความแตกต่างของรอยโรคในตำแหน่งต่างๆ ก่อนและหลังการทำการรักษา ถ้าวิธีการที่ใช้ในการรักษานั้นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามอาจใช้ gutta percha points หรือ calibrated silver point ร่วมกับการถ่ายภาพรังสีเป็นบางตำแหน่ง เพื่อประเมินระดับของการยึดของร่องลึกปริทันต์ แต่การใช้วิธีการนี้กับฟันทั้งปากมีความยุ่งยากจึงไม่แนะนำสำหรับการใช้ทางคลินิกตามปกติ แต่เป็นวิธีที่อาจจะนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลในบางตำแหน่งสำหรับการทำวิจัย

ร่องลึกปริทันต์และระดับของการยึด

ความลึกของร่องเหงือกหรือร่องลึกปริทันต์ หมายถึง ระยะจากขอบเหงือกจนถึงก้นของร่องลึกปริทันต์    

ระดับของการยึด (attachment level) หรือระดับของการยึดทางคลินิก (clinical attachment level: CAL) เป็นระยะที่วัดจากก้นของร่องลึกปริทันต์ (base of pocket) ถึง cement-enamel junction (CEJ) การเปลี่ยนแปลงของ CAL เป็นตัวบ่งชี้ของของการทำลายอวัยวะปริทันต์ได้ดี โดยระดับการยึดที่เพิ่มขึ้นเรียกว่า attachment gain/clinical attachment gain และการสูญเสียระดับการยึดเรียกว่า attachment loss/clinical attachment loss

สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการวัดร่องเหงือกหรือร่องลึกปริทันต์ คือ การประเมินว่าในตำแหน่งดังกล่าวมีระดับของการยึดเท่าไร มีการสูญเสียระดับการยึดหรือไม่ เพื่อช่วยแปลความหมายของร่องเหงือกหรือร่องลึกปริทันต์ที่วัดได้ เช่น ในฟันที่ร่องลึกปริทันต์ตื้น ๆ แต่มีระดับการยึดอยู่ที่ปลายรากฟัน แสดงว่าฟันซี่นี้มีการทำลายอวัยวะปริทันต์ไปมากกว่าในฟันที่มีร่องลึกปริทันต์ลึก ๆ แต่ไม่มีการสูญเสียระดับการยึดเลย

  

หมายเหตุ ขอบเหงือก (gingival margin: GM), cemento-enamel junction (CEJ), ความลึกของร่องลึกปริทันต์ (pocket depth: PD)

 

เครื่องมือตรวจปริทันต์ (periodontal probes)

ลักษณะของเครื่องมือตรวจปริทันต์มีลักษณะเป็นแท่งปลายสอบ (tapered) มีขีดบอกระยะเป็นมิลลิเมตร ปลายของเครื่องมือมีลักษณะปลายทู่มน (blunt & round tip) ปลายของเครื่องมือมีขนาดอยู่ระหว่าง 0.35-0.55 มม. เครื่องมือตรวจปริทันต์มีการออกแบบในลักษณะต่าง ๆ กัน ได้แก่

 

UNC-15 probe เป็นเครื่องมือที่วัดความลึกได้ถึง 15 มม. โดยมีขีดทำเครื่องหมายไว้ทุก ๆ 1 มม. พร้อมทั้งมี black color-coded ที่ระหว่าง 4-5, 9-10 และ 14-15 มม. เหมาะสำหรับในกรณีที่ต้องการประเมินและบันทึกค่าความลึกโดยละเอียด

  

World Health Organization (WHO) probe จะมีลูกบอลเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 มม. อยู่ที่ส่วนปลายสุด และมีขีดทำเครื่องหมายไว้ที่ 3.5, 5.5, 8.5 และ 11.5 มม. พร้อมทั้งมี black color-coded ที่ระหว่าง 3.5-5.5 มม.ทำให้สะดวกต่อการประเมินค่าความลึกตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการตรวจคัดกรองโรคปริทันต์

Nabers probe ใช้ตรวจวัดระดับของ furcation involvement โดยเฉพาะ มีลักษณะโค้ง ปลายมน มีแถบสีบอกระยะ โดยแต่ละแถบสีมีความกว้าง 3 มม.

Periodontal Screening and Recording (PSR)

Periodontal Screening and Recording (PSR) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองโรคปริทันต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของ The American Dental Association (ADA) และ The American Academy of Periodontology (AAP) ทำโดยการตรวจฟันทุกซี่ ด้วยเครื่องมือตรวจปริทันต์ชนิด WHO probe ซึ่งส่วนปลายของเครื่องมือมีลักษณะเป็นลูกบอลเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 มม. และมีแถบดำอยู่ที่ระยะ 3.5-5.5 มม. ดังนั้นเมื่อสอดเครื่องมือลงในร่องเหงือกถ้าขอบเหงือกอยู่ที่ขอบล่างของแถบดำ หมายถึงร่องเหงือกมีความลึก 3.5 มม.

วิธีการทำ PSR มีขั้นตอนดังนี้

1.   แบ่งฟันทั้งปากเป็น 6 sextant

2.   สอดเครื่องมือลงใต้ขอบเหงือกด้วยแรงน้อยที่สุดแล้วค่อย ๆ เคลื่อนเครื่องมือลงไปยังบริเวณก้น sulcus/pocket ซึ่งจะรู้สึกว่ามีแรงต้าน เดินเครื่องมือไปรอบ ๆ ตัวฟันแต่ละซี่ใน sextant อ่านความลึกของร่องเหงือกหรือร่องลึกปริทันต์ที่ลึกที่สุดของฟันแต่ละซี่โดยเทียบเคียงกับแถบสีบนเครื่องมือ และให้คะแนนดังนี้

Code

ความหมาย

การรักษาที่แนะนำ

 0

สามารถมองเห็นแถบดำของเครื่องมือได้หมด ตรวจไม่พบหินน้ำลายหรือขอบวัสดุที่ไม่ดี สภาพเหงือกแข็งแรงไม่มีเลือดออกหลังการหยั่งร่องเหงือก

Oral hygiene instruction (OHI) (if need)

 1

สามารถมองเห็นแถบดำของเครื่องมือได้หมด ตรวจไม่พบหินน้ำลาย หรือขอบวัสดุที่ไม่ดี มีเลือดออกหลังการหยั่งร่องเหงือก

OHI

 2

สามารถมองเห็นแถบดำของเครื่องมือได้หมด ตรวจพบหินน้ำลายเหนือและใต้เหงือก และ/หรือขอบวัสดุที่ไม่ดี

OHI, scaling, remove overhang restoration

 3

ยังคงเห็นแถบดำได้บางส่วน

Charting in sextant with PSR score > 3

 4

ไม่สามารถมองเห็นแถบดำได้ หมายถึงร่องลึกปริทันต์มากกว่า 5.5 มม.

Full mouth charting

หมายเหตุ ในการตรวจหากพบว่าฟันซี่ใดซี่หนึ่งใน sextant มีคะแนน 4 ให้ข้ามไปตรวจ sextant อื่นได้เลย

 

3.   บันทึกคะแนน PSR ของ sextant โดยใช้คะแนน PSR สูงสุดของฟันใน sextant นั้น และให้ใส่สัญญลักษณ์ * ที่คะแนน PSR ของ sextant หากพบว่าฟันใน sextant นั้นมี furcation involvement, mobility, mucogingival problems, gingival recession > 3.5 มม.

ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีคะแนน PSR เท่ากับ 4 ใน 1 sextant หรือมีคะแนน PSR เท่ากับ 3 ใน 2 sextant ให้ทำการตรวจสภาวะปริทันต์อย่างละเอียดทั้งปาก ส่วนในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีคะแนน PSR เท่ากับ 3 ใน 1 sextant ให้ทำการตรวจสภาวะปริทันต์อย่างละเอียดเฉพาะใน sextant นั้น


เอกสารอ้างอิง

Do JH, Takei HH, Carranza FA.  Periodontal examination and diagnosis.  In: Newman MG, Takei HH, Klokkevold PR, Carranza FA, eds.  Carranza’s Clinical Periodontology.  13th ed.  Philadelphia: W.B. Saunders, 2019;378-96.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ.กันยวัชร์ รัตนสุวรรณ
ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แบบทดสอบ