การจัดการรอยโรคฟันผุลึกในฟันน้ำนม (Management of deep carious lesions in primary teeth)

บทความ

การจัดการรอยโรคฟันผุลึกในฟันน้ำนม (Management of deep carious lesions in primary teeth)

อ.ดร.ทพญ. ศิวาพร หอโสภณพงษ์ และ รศ.ทพญ. ภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ

ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

  โรคฟันผุเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เกาะอยู่บนผิวฟันย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแล้วสร้างกรดไปสลายแร่ธาตุในฟัน เมื่อถึงชั้นเนื้อฟัน ร่างกายจึงตอบสนองโดย dentine-pulp complex มีกลไกการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือภยันอันตรายต่างๆ ที่มากระทำต่อฟัน (เช่น การลุกลามของรอยโรคฟันผุ, แรงกระแทก หรือการกรอแต่งฟัน) โดยการส่งสัญญาณไปกระตุ้นการสร้าง เนื้อฟันตติยภูมิ ( tertiary dentin ) เพื่อซ่อมแซมและป้องกันภยันตรายต่างๆที่จะเข้าสู่เนื้อเยื่อในฟัน (dental pulp) โดยการศึกษาพบว่ารอยโรคฟันผุที่ตื้น หรือลุกลามไปอย่างช้าๆ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในปริมาณที่น้อย จะส่งผลให้เกิดการอักเสบเพียงเล็กน้อย เพียงพอที่ร่างกายสามารถต้านทาน ซึ่งส่งผลดีต่อขบวนการกระตุ้นให้ dentine-pulp complex ตอบสนอง1

  รอยโรคฟันผุลึก คือ ฟันผุลุกลามลึกเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟันด้านในส่วนใกล้เนื้อเยื่อใน (inner 1/3 dentin เมื่อแบ่งชั้นเนื้อฟันออกเป็น 3 ส่วน) เมื่อประเมินจากภาพรังสี และมีโอกาสที่จะเกิดการเผยผึ่งของเนื้อเยื่อในฟัน (pulp exposure) ขึ้นได้เมื่อมีความพยายามกำจัดเนื้อฟันที่ผุออก2 การจัดการฟันผุลึกในเด็กจัดเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายเนื่องจากผู้ป่วยเด็กมีความสามารถในการให้ความร่วมมือที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ การรักษารอยโรคฟันผุในเด็กจึงมุ่งเน้นให้ใช้เวลาในการรักษาสั้น ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงงานที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมีชีวิตของฟันที่ผุลึกไว้ ให้สามารถบูรณะซ่อมแซมเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานทำหน้าที่ทั้งในการบดเคี้ยวและเป็นเครื่องมือกันช่องว่างโดยธรรมชาติ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความกังวลของผู้ป่วยเด็กในการทำฟัน รวมทั้งสร้างทัศนะคติที่ดีต่อการรักษาทางทันตกรรมให้เกิดขึ้นทั้งแก่เด็กและผู้ปกครอง

  ปัจจุบันการคงความมีชีวิตของฟัน หรือการคงสภาพเนื้อเยื่อในฟันไว้ให้เกิดการสร้างเนื้อฟันตติยภูมิขึ้นมาซ่อมแซมและเสริมสร้างความแข็งแรงป้องกันภยันตรายที่มุ่งตรงต่อเนื้อเยื่อในฟัน ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ โอกาสสำเร็จสูงถึงร้อยละ 903,4 ตราบเท่าที่มีการผนึกที่ดีของวัสดุบูรณะตัวฟัน (coronal tight seal) ช่วยลดโอกาสเกิดเนื้อเยื่อในเผยผึ่งได้ถึงร้อยละ 775 จึงลดความจำเป็นในการรักษาพัลพ์โพโตมี (pulpotomy) และพัลพ์เพคโตมี (pulpectomy) ลง

  การจัดการรอยโรคฟันผุลึกนั้น ปัจจัยสำคัญเบื้องต้นคือการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแม่นยำ ทันตแพทย์ควรที่จะทำการวินิจฉัยโรคของฟันซี่นั้นๆเสียก่อน โดยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะสามารถใช้รักษาได้เฉพาะฟันที่มีการวินิจฉัยได้เป็นรอยโรคฟันผุ หรือ เนื้อเยื่อในโพรงฟันอักเสบชั่วคราว (reversible pulpitis) โดยไม่มีและไม่เคยมีอาการของการอักเสบถาวรของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน (irreversible pulpitis) เหงือกบวมหนอง รูเปิดระบายหนอง (fistula opening) หรือพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อบริเวณรอบรากฟัน

วิธีจัดการรอยโรคฟันผุลึกสามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธีดังนี้

  1. การไม่กำจัดเนื้อฟันผุออก (No carious tissue removal)
  2. การเลือกกำจัดเนื้อฟันผุออกบางส่วน (Selective carious tissue removal)
  3. การกำจัดเนื้อฟันผุออกทั้งหมด (Complete carious tissue removal)

 

  1. การไม่กำจัดเนื้อฟันผุออก (No carious tissue removal)

  ในฟันน้ำนมที่ผุลึก วิธีการรักษาโดยไม่กำจัดเนื้อฟันที่ผุออกและยังสามารถบูรณะฟันให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปคือวิธีการรักษาของ Hall (Hall technique)6 วิธีของ Hall เป็นการใช้ครอบฟัน stainless steel crown (SSC) ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวฟันเล็กน้อย ครอบยึดลงไปบนตัวฟันที่ผุโดยตรง โดยไม่มีการกำจัดเอาเนื้อฟันที่ฟันผุออก ไม่มีการกรอแต่งฟันใดๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยช่วงแรกหลังใส่ครอบฟัน การสบฟันของผู้ป่วยจะสูงเล็กน้อย แต่การศึกษาติดตามระยะยาวพบว่าเด็กสามารถปรับตัวได้ดี ไม่มีปัญหาการบดเคี้ยว และการสบฟันจะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์หลังการรักษา7 หรืออาจเป็นระยะเวลาเป็นเดือน หลักการของ Hall technique คือการผนึกแนบสนิทกับผิวฟัน (peripheral seal) ด้วยซีเมนต์ยึดครอบฟันปิดกั้นไม่ให้คราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียเข้ามาสะสมในบริเวณรอยโรคฟันผุ เมื่อเชื้อแบคทีเรียขาดสารอาหารจึงหยุดการเจริญเติบโตและลดจำนวนลงในที่สุด การลุกลามของรอยโรคจึงไม่เกิดขึ้น3                                                       

โดยผลสำเร็จของการรักษาด้วยวิธีของ Hall นั้นพบว่าสูงกว่าร้อยละ 90 และพบว่าผลสำเร็จไม่แตกต่างจากการรักษาโดยการกำจัดเอาส่วนที่ผุออกก่อนการกรอแต่งฟันและบูรณะด้วยครอบฟันด้วยวิธีดั้งเดิม3,8

  1. การเลือกกำจัดเนื้อฟันผุออกบางส่วน (Selective carious tissue removal)

  วิธีนี้เป็นการกำจัดเอาเนื้อฟันที่ผุออกบางส่วนเท่านั้น โดยเหลือเนื้อฟันผุบริเวณที่อยู่ใกล้กับเนื้อเยื่อในทิ้งไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผยผึ่งของเนื้อเยื่อใน วิธีรักษานี้จะเน้นการกำจัดฟันผุบริเวณรอบนอกของโพรงฟันผุ ส่วนเคลือบฟันและเนื้อฟันใกล้รอยต่อกับเคลือบฟันให้สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอยต่อระหว่างตัวฟันและวัสดุบูรณะ เนื้อฟันและผิวฟันบริเวณดังกล่าวควรเป็นลักษณะสะอาดแข็งไม่มีรอยผุ (sound dentine & sound enamel) มีความหนาเพียงพอเพื่อให้เกิดการยึดที่ดี แข็งแรง และแนบสนิทของวัสดุบูรณะและผิวฟัน ป้องกันการรั่วซึมและความล้มเหลวของวัสดุบูรณะฟัน ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อและเกิดรอยโรคฟันผุซ้ำ ส่วนการกำจัดฟันผุบริเวณที่อยู่ใกล้กับเนื้อเยื่อในนั้น สามารถเลือกกำจัดรอยผุออกได้หลายระดับขึ้นอยู่กับความลึกของรอยโรคถึงระยะห่างจากเนื้อเยื่อใน โดยควรกำจัดให้มากที่สุดโดยที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเนื้อเยื่อในเผยผึ่ง อาจกำจัดจนเหลือเนื้อฟันที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง (firm dentine) หรือเนื้อฟันที่มีลักษณะนิ่ม (soft dentine) ก็ได้ หากการกำจัดมากกว่านั้นจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อในเผยผึ่ง วิธีนี้อาจพิจารณาทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการอุดฟันทั่วไป หลังจากนั้นจึงทำการบูรณะด้วยวัสดุอุดฟันที่มีคุณสมบัติยึดติดแน่นกับเคลือบฟันและเนื้อฟันและผนึกได้ดีไม่รั่วซึม หรือทำครอบฟัน2 การรักษาโดยวิธีดังกล่าวพบว่ามีผลสำเร็จของการรักษาที่สูงโดยความสำเร็จเฉลี่ยของการรักษาด้วยวิธีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80-904,9

  1. การกำจัดเนื้อฟันผุออกทั้งหมด (Complete carious tissue removal)

  วิธีนี้เป็นการกำจัดเอาเนื้อฟันผุทั้งบริเวณรอบนอกโพรงฟันผุและบริเวณที่ใกล้กับเนื้อเยื่อในออกทั้งหมด โดยกำจัดเนื้อฟันที่ผุออกจนเหลือเนื้อฟันที่มีลักษณะแข็ง (hard dentine) โดยจากการศึกษาพบว่าวิธีกำจัดเอาเนื้อฟันที่ผุออกทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการเผยผึ่งของเนื้อเยื่อในได้สูงกว่าวิธีการเลือกกำจัดเอาเนื้อฟันที่ผุออกบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญ5 วิธีนี้จึงไม่เหมาะสมและมักไม่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในการรักษาฟันที่มีรอยโรคผุลึก2 อย่างไรก็ตามหากการกำจัดเอาเนื้อฟันที่ผุออกจนหมดก่อให้เกิดการเผยผึ่งของเนื้อเยื่อในขนาดเล็กๆ (pin point exposure, ขนาด < 1มิลลิเมตร) การศึกษาพบว่าการปิดทับเนื้อเยื่อในโดยตรง (direct pulp capping) ด้วยวัสดุชนิดมิเนอรัลไตรออกไซด์แอกกรีเกตหรือเอ็มทีเอ (Mineral Trioxide Aggregate: MTA) ให้ผลสำเร็จของการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 90-100 ในขณะที่วัสดุชนิดแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcium hydroxide) จะให้ผลการรักษาที่ไม่แน่นนอนและมีโอกาสเกิดการละลายตัวภายใน (internal resorption) ของเนื้อเยื่อในฟันได้สูงกว่า10,11

  จากวิธีการจัดการรอยโรคฟันผุที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาศัยหลักการสำคัญที่ส่งผลให้การรักษารอยโรคฟันผุลึกประสบความสำเร็จคือการที่รอยต่อของวัสดุบูรณะหรือรอยต่อบริเวณขอบของครอบฟันมีความแข็งแรงแนบสนิทกับผิวฟันเพื่อป้องกันการรั่วซึมและความล้มเหลวของวัสดุบูรณะฟัน หลังจากจำกัดปริมาณเชื้อแบคทีเรียลงจนเหลือเชื้อในปริมาณที่น้อยแล้วนั้น จะทำให้การอักเสบลดลงอยู่ในระดับต่ำเพียงพอที่ร่างกายสามารถต้านทานได้ และส่งผลไปช่วยกระตุ้นกลไกการสร้างเนื้อฟันตติยภูมิขึ้นเพื่อซ่อมแซมและป้องกันเชื้อโรคที่จะมาทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในฟันต่อไป


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

1.          Cooper PR, Holder MJ, Smith AJ. Inflammation and regeneration in the dentin-pulp complex: a

double-edged sword. J Endod. 2014;40:S46-51.

2.          Innes NP, Frencken JE, Bjørndal L, Maltz M, Manton DJ, Ricketts D, et al. Managing carious

lesions: consensus recommendations on terminology. Adv Dent Res. 2016;28:49-57.

3.          Badar SB, Tabassum S, Khan FR, Ghafoor R. Effectiveness of Hall technique for primary carious

molars: a systematic review and meta-analysis. Int J Clin Pediatr Dent. 2019;12:445-52.

4.          Nair M, Gurunathan D. Clinical and Radiographic Outcomes of calcium hydroxide vs other agents in

indirect pulp capping of primary teeth: a systematic review. Int J Clin Pediatr Dent. 2019;12:437-44.

5.          Schwendicke F, Walsh T, Lamont T, Al-Yaseen W, Bjørndal L, Clarkson JE, et al. Interventions for

treating cavitated or dentine carious lesions. Cochrane Database Syst Rev. 2021;7:Cd013039.

6.          Clark W, Geneser M, Owais A, Kanellis M, Qian F. Success rates of Hall technique crowns in

primary molars: a retrospective pilot study. Gen Dent. 2017;65:32-5.

7.          Innes N, Evans D, Hall N. The Hall Technique for managing carious primary molars. Dent Update.

2009;36:472-4, 477-8.

8.          Ludwig KH, Fontana M, Vinson LA, Platt JA, Dean JA. The success of stainless steel crowns placed

with the Hall technique: a retrospective study. J Am Dent Assoc. 2014;145:1248-53.

9.          Casagrande L, Falster CA, Di Hipolito V, De Góes MF, Straffon LH, Nör JE, et al. Effect of adhesive

restorations over incomplete dentin caries removal: 5-year follow-up study in primary teeth. J Dent Child

(Chic). 2009;76:117-22.

10.        Garrocho-Rangel A, Esparza-Villalpando V, Pozos-Guillen A. Outcomes of direct pulp capping in

vital primary teeth with cariously and non-cariously exposed pulp: a systematic review. Int J Paediatr Dent.

2020;30:536-46.

11.        Canoğlu E, Güngör CH, Uysal S. Direct pulp capping of primary molars with calcium hydroxide or

MTA following hemorrhage control with different medicaments: randomized clinical trial. Pediatr Dent.

             2022;44:167-73.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

อ.ดร.ทพญ.ศิวาพร หอโสภณพงษ์, รศ.ทพญ. ภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ

แบบทดสอบ