การประเมินอายุจากฟัน (Age estimation by using teeth)

บทความ

ทพญ.พรภัทรา จุฬามณี

Pornpattra.c@cmu.ac.th

 

ในปัจจุบันการประเมินอายุของบุคคลสามารถทำได้หลายวิธีและสามารถเลือกใช้อวัยวะในการประเมินได้หลากหลาย ซึ่งฟันในช่องปากนั้นเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สามารถนำมาใช้ประเมินอายุได้ การประเมินอายุจากฟันสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. การประเมินอายุจากการลำดับการขึ้นของฟัน (Tooth eruption) และพัฒนาการของฟัน (Mineralization stage of tooth)

การประเมินอายุจากการลำดับการขึ้นและการพัฒนาของฟัน1, 2, 3, 4, 5, 6, 7เป็นวิธีที่นิยมใช้ในเด็กและวัยรุ่นซึ่งสามารถดูได้จากการตรวจทางคลินิกร่วมกับการถ่ายภาพรังสี โดยการประเมินจะถูกแบ่งตามช่วงอายุ 4 ช่วง ได้แก่

       1.1 การประเมินอายุจากลำดับการขึ้นของฟันน้ำนม ในช่วงอายุ 0-3 ปี

การขึ้นของฟันน้ำนมในเด็กที่มีการเจริญเติบโตปกติจะมีช่วงเวลาให้การขึ้นของฟันที่ชัดเจนและชุดฟันน้ำนม (Primary dentition) มักจะอยู่ในช่วง 0 - 2.5 ปีแรก1 ดังแสดงในรูปที่ 1 หลังจากนั้นจะค่อยๆ มีการขึ้นของฟันแท้เข้ามาแทนที่

 
   


รูปที่ 1 แสดงช่วงเวลาการขึ้นของฟันน้ำนม1

 

  1.2  การประเมินโดยใช้แผนภูมิภาพพัฒนาการของฟันแท้ 14 ซี่ ในช่วงอายุ 3-7 ปี

หลังจากฟันน้ำนมขึ้นครบในช่องปาก หน่อฟันแท้ที่อยู่ในขากรรไกรรวมถึงฟันแท้ที่เริ่มขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมสามารถนำมาประเมินอายุได้เช่นกัน โดยเมื่อฟันแท้ซี่เริ่มขึ้นในช่องปากโดยที่ยังมีฟันน้ำนมอยู่จะถูกเรียกว่าฟันชุดผสม (Mix dentition) การใช้แผนภูมิภาพพัฒนาการของฟันแท้ในการประเมินอายุเป็นวิธีที่ค่อนข้างแม่นยำและแพร่หลาย3 ดังแสดงในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างแผนภูมิภาพของการพัฒนาของฟันแท้ อายุ 5.5 ปี3

  1.3  การประเมินอายุจากพัฒนาการของฟันแท้ล่างซ้าย 7 ซี่ ในช่วงอายุ 7-15 ปี

การพัฒนาของฟันล่างซ้ายนั้นสามารถดูได้จากภาพถ่ายรังสีพาโนรามิก4, 6 โดยแต่ละซี่จะถูกประเมินระยะการสร้างของฟันโดนอ้างอิงจาก Demirjian method ในช่วงวัยนี้จะพบได้ทั้งฟันชุดผสม(Mix dentition)และชุดฟันแท้ทั้งปาก(Permanent dentition)



รูปที่ 3 แสดงตัวอย่าง 7 ปี 1 เดือนโดยประเมินอายุจากพัฒนาการของฟันล่างซ้ายโดยใช้ Demirjian method ร่วมกับ dedicated software6

1.4  การประเมินอายุจากสมการทำนายอายุโดยดูจากพัฒนาการของฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 ในช่วงอายุ 15-23 ปี

ในกรณีที่ฟันแท้ซี่อื่นๆ ขึ้นและรากปิดสมบูรณ์แล้วการพัฒนาของฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 สามารถนำมาใช้ประเมินอายุได้5, 8โดยการให้คะแนนตามการพัฒนาของฟันแล้วนำไปเข้าสมการเพื่อให้ได้ช่วงอายุออกมา8

รูปที่ 4 หลักเกณฑ์การให้คะแนนการพัฒนาการของฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 โดยอ้างอิงจาก Demirjian method5

นอกจากนี้ในช่วงฟันชุดผสม (Mix dentition) และฟันแท้(Permanent dentition) สามารถประเมินช่วงอายุโดยคร่าวได้โดยการตรวจดูฟันแท้ที่ขึ้นในทางคลินิก2 ดังแสดงในรูปที่ 5



รูปที่ 5 แสดงช่วงเวลาการขึ้นของฟันแท้2

 

  1. การประเมินอายุจากอัตราส่วนเนื้อเยื่อโพรงประสาทต่อตัวฟัน (Pulp/tooth ratio)

เนื่องจากในวัยผู้ใหญ่ฟันแท้จะขึ้นครบในช่องปากและรากฟันปิดสมบูรณ์ การประเมินอายุโดยดูจากการพัฒนาของฟันจะนำมาใช้ในการประเมินได้ยากหรืออาจไม่สามารถใช้ได้เลย การประเมินอายุในผู้ใหญ่จึงต้องประเมินโดยดูจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อฟันทุติยภูมิ (secondary dentine)9, 10, 11 โดยเมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีเนื้อฟันที่หนาตัวขึ้นส่งผลให้ช่องว่างของเนื้อเยื่อโพรงประสาทแคบลง จากความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงสามารถนำอัตราส่วนระหว่างเนื้อเยื่อโพรงประสาทต่อตัวฟันมาประเมินช่วงอายุได้ โดยอาจวัดเป็นระยะ พื้นที่ หรือปริมาตร โดยวิธีการประเมินนี้ จำเป็นต้องมีภาพถ่ายรังสีของฟันซี่นั้นๆ

  1. การประเมินอายุจากการสึกของฟัน (Occlusal tooth wear)

การใช้การประเมินอายุจากการสึกของฟันสามารถทำได้โดยการสังเกตทางคลินิก11, 12, 13 โดยจะมีเกณฑ์การให้คะแนนการสึกของฟันแต่ละซี่ แล้วนำคะแนนที่ได้ไปคำนวณในสมการ ซึ่งเกณฑ์การให้คะแนนนั้นขึ้นอยู่กับสมการที่เลือกใช้และประเภทของซี่ฟันที่ใช้คำนวณ เช่น Modified Kim’s index ใช้ฟันกรามน้อยและฟันกราม Average stage of attrition chart ใช้เฉพาะในซี่ฟันกราม เป็นต้น

  1. การประเมินอายุจากสารชีวเคมีในฟัน (Biochemical methods)

L-aspartic acid เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่พบได้ในฟัน เมื่ออายุมากขึ้นสารดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและสะสมอยู่ในรูปของ D-aspartic acid มากขึ้น11, 14, 15, 16, 17 การใช้สารชีวเคมีในฟันในการประเมินอายุสามารถทำได้โดยใช้อัตราส่วนของ D/L enantiomer ของ aspartic acid ที่สะสมอยู่ในเคลือบฟันและเนื้อฟันโดยนำอัตราส่วนนี้ไปเข้าสมการ ln [(1+D/L)/(1-D/L)] = (rate constant of racemization x age) + constant number ซึ่งค่าrate constant of racemization และ constant number ได้มาจากความสัมพันธ์เชิงเส้นของ ln [(1+D/L)/(1-D/L)] และอายุ


เอกสารอ้างอิง

References

1.   Tooth eruption: The primary teeth. The Journal of the American Dental Association. 2005;136(11):1619.

2.   Tooth eruption: The permanent teeth. The Journal of the American Dental Association. 2006;137:127.

3.   AlQahtani SJ, Hector MP, Liversidge HM. Brief communication: The London atlas of human tooth development and eruption. Am J Phys Anthropol. 2010;142(3):481-90.

4.   Duangto P, Janhom A, Prasitwattanaseree S, Mahakkanukrauh P, Iamaroon A. New prediction models for dental age estimation in Thai children and adolescents. Forensic Sci Int. 2016;266:583 e1- e5.

5.   Lewis JM, Senn DR. Dental age estimation utilizing third molar development: A review of principles, methods, and population studies used in the United States. Forensic Sci Int. 2010;201(1-3):79-83.

6.   Ogodescu EB, Elisabeta & Tudor, Anca & Ogodescu, Alexandru. Estimation of child's biological age based on tooth development. Romanian Journal of Legal Medicine. 2011;19.

7.   Thevissen PW, Pittayapat P, Fieuws S, Willems G. Estimating age of majority on third molars developmental stages in young adults from Thailand using a modified scoring technique. J Forensic Sci. 2009;54(2):428-32.

8.   Duangto P, Iamaroon A, Prasitwattanaseree S, Mahakkanukrauh P, Janhom A. New models for age estimation and assessment of their accuracy using developing mandibular third molar teeth in a Thai population. Int J Legal Med. 2017;131(2):559-68.

9.   Li MJ, Chu G, Han MQ, Chen T, Zhou H, Guo YC. Application of the Kvaal method for age estimation using digital panoramic radiography of Chinese individuals. Forensic Sci Int. 2019;301:76-81.

10. Meng-jun Zhan X-gC, Lei Shi, Ting Lu, Fei Fan, Kui Zhang, Yi-jiu Chen & Zhen-hua Deng. Age estimation in Western Chinese adults by pulp–tooth volume ratios using cone-beam computed tomography. Australian Journal of Forensic Sciences. 2021(53:6): 681-92.

11. Verma M, Verma N, Sharma R, Sharma A. Dental age estimation methods in adult dentitions: An overview. J Forensic Dent Sci. 2019;11(2):57-63.

12. Kim YK KH, Lee KH. Age estimation by occlusal tooth wear. J Forensic Sci. 2000;45(2):303-9.

13. Yun JI, Lee JY, Chung JW, Kho HS, Kim YK. Age estimation of Korean adults by occlusal tooth wear. J Forensic Sci. 2007;52(3):678-83.

14. Yamamoto T, Ohtani S. Estimation of chronological age from the racemization rate of L- and D-aspartic acid: how to completely separate enantiomers from dentin. Methods Mol Biol. 2012;794:265-72.

15. Ohtani S. Estimation of age from dentin by using the racemization reaction of aspartic acid. Am J Forensic Med Pathol. 1995;16(2):158-61.

16. HELFMAN P, BADA, J. Aspartic acid racemisation in dentine as a measure of ageing. Nature. 1976;262:279-81.

17. Elfawal MA, Alqattan SI, Ghallab NA. Racemization of aspartic acid in root dentin as a tool for age estimation in a Kuwaiti population. Med Sci Law. 2015;55(1):22-9.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.พรภัทรา จุฬามณี

แบบทดสอบ