การใช้ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ และการยอมรับของเด็กและผู้ปกครองต่อการรักษา

บทความ

ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (silver diamine fluoride: SDF)

เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับจัดการฟันผุลึกถึงชั้นเนื้อฟันโดยไม่จำเป็นต้องบูรณะ (non-restorative treatment) มีลักษณะเป็นของเหลว ใช้ทาเฉพาะที่ลงบนผิวฟัน โดยไม่ต้องกำจัดฟันผุออก (1) ความเข้มข้นของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ที่นิยมใช้คือ ร้อยละ 38 ซึ่งมีฟลูออไรด์ 44,800 ppm (2) แนะนำให้ทา 2 ครั้ง/ปี (3) มีประสิทธิภาพยับยั้งฟันผุร้อยละ 65.9-89.0 (4-6) กลไกของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในการยับยั้งฟันผุคือ เปลี่ยนไฮดรอกซีอะพาไทท์ (hydroxyapatite) เป็นฟลูออโรอะพาไทท์ (fluoroapatite) ทำให้ผิวฟันทนต่อสภาวะความเป็นกรดได้มากขึ้น (7) นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคฟันผุ (8) และยับยั้งโปรตีนที่ย่อยสลายเนื้อฟันที่เผยผึ่ง ได้แก่ แมททริกเมททัลโลโปรตีนเนส (matrix metalloproteinases) และคาร์เทปซีน (cathepsin) (9) ดังนั้นซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ จึงช่วยยับยั้งฟันผุ ชะลอการลุกลามของรอยโรคฟันผุ ลดโอกาสปวดจากฟันผุทะลุเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน (exposed pulp) ลดระยะเวลา และความยุ่งยาก รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาทางทันตกรรม (10) ทั้งนี้ข้อด้อยของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ คือ ทำให้ฟันติดสีดำ (11) จึงส่งผลกระทบต่อการยอมรับและการเลือกรับการรักษาโดยเฉพาะบริเวณฟันหน้า (12)

ข้อบ่งชี้ของซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (3)

  1. ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง (high caries risk) โดยมีฟันผุลุกลามไม่ถึงชั้นเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน
  2. ผู้ที่ไม่สามารถทำฟันตามปกติ เนื่องจากปัญหาด้านพัฒนาการ ปัญหาด้านสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต
  3. ผู้ที่มีฟันผุลุกลามหลายตำแหน่งซึ่งไม่สามารถรักษาได้หมดในครั้งเดียว
  4. ฟันผุในตำแหน่งที่ยากต่อการรักษา
  5. ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรม เช่น อาศัยในท้องถิ่นทุรกันดาร ปัญหาเศรษฐสถานะเป็นต้น

ข้อห้ามใช้ของซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (3)

ได้แก่ ผู้ที่แพ้ซิลเวอร์ หรือมีเหงือกอักเสบ (gingival ulceration) บริเวณที่ทา ผลข้างเคียงของซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (3) ได้แก่ ติดสีดำที่ผิวหนัง ระคายเคืองเยื่อเมือกช่องปาก ซึ่งสามารถหายได้เอง การศึกษาเรื่องผลข้างเคียงหลังการทาซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ Duangthip D และคณะในปี 2018 (11) ไม่พบอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันทางระบบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกไม่สบาย แต่พบผลข้างเคียงเฉพาะที่ ได้แก่ อาการปวดฟัน ปวดเหงือก เหงือกบวม ติดสีที่เหงือก และติดสีดำที่ฟันผุ ขณะที่การศึกษาของ Tanboon J และคณะปี 2022 (12) ไม่พบผู้เข้าร่วมวิจัยมีอาการแพ้ แต่พบอาการคลื่นไส้อาเจียน ร้อยละ 2.7-8 อาจเนื่องมาจากรสชาติขมคล้ายโลหะของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ ไปกระตุ้นให้คลื่นไส้อาเจียนได้ 2 ส่วนอาการข้างเคียงเฉพาะที่ ที่พบมากที่สุด คือ ฟันติดสีดำ รองลงมา คือแสบเหงือก และปวดฟัน ตามลำดับ โดยในทาครั้งที่ 2 มีแนวโน้มเกิดฟันติดสีดำเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 97.3 เป็น 100.0

การยอมรับต่อการรักษาด้วยซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์

ผู้ปกครองและเด็กส่วนมากยอมรับรสชาติ กลิ่น และการติดสี และพึงพอใจในแง่ขั้นตอนการรักษาที่ง่าย ใช้เวลาน้อย สะดวก และไม่เจ็บปวดขณะรักษา (12-14)

การยอมรับต่อการติดสีดำของฟัน

การยอมรับของผู้ปกครองต่อการติดสีดำของฟันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ อายุของบุตร (15) ตำแหน่งฟัน (ฟันหลัง/ฟันหน้า) (15-17) ชนิดของฟัน (ฟันน้ำนม/ฟันแท้) (15, 16) ความยากง่ายในการจัดการพฤติกรรมขณะรักษา (15, 16, 18) รายได้ การศึกษา (11, 15, 16, 18) และความกังวลเรื่องความสวยงามของผู้ปกครอง (15) กล่าวคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ยอมรับการติดสีดำของฟันในตำแหน่งฟันหลังมากกว่าฟันหน้า ยอมรับการติดสีในฟันน้ำนมมากกว่าฟันแท้ โดยยอมรับการติดสีดำในตำแหน่งฟันหน้ามากขึ้นเมื่อบุตรมีความจำเป็นต้องรักษาทางทันตกรรมร่วมกับกา รดมยาสลบหรือใช้ยาสงบประสาท และผู้ปกครองจัดอยู่ในกลุ่มระดับการศึกษาและเศรษฐานะต่ำ มีแนวโน้มยอมรับการติดสีดำของฟันในตำแหน่งฟันหน้ามากขึ้น (18) Tanboon J และคณะปี 2022 (12) ศึกษาการยอมรับเรื่องการติดสีดำของฟันหลังทาซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ ในผู้ปกครองและเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3-6 ปี ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการทางทันตกรรม ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปรียบเทียบ 2 ครั้ง คือหลังการทาซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ ครั้งที่ 1 และ 2 ที่ระยะเวลาห่างกัน 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่า เด็กยอมรับเรื่องการติดสีดำของฟันหลังการทาครั้งที่ 1 และ 2 คิดเป็น ร้อยละ 78.7 และ 52.0 ส่วนผู้ปกครองยอมรับเรื่องการติดสีดำของฟันหลังทาครั้งที่ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 77.3 และ 65.3 ซึ่งการยอมรับการติดสีฟันลดลงภายหลังการทาครั้งที่ 2 โดยร้อยละการยอมรับของผู้ปกครองต่อการติดสีดำของฟันในบุตรในการศึกษาดังกล่าว มีแนวโน้มสูงกว่าการศึกษาก่อนหน้าซึ่งศึกษาในประเทศพัฒนาแล้ว (16) นอกจากนั้นการศึกษาของ Tanboon J และคณะปี 2022 (12) ยังพบว่าจำนวนฟันผุมีผลต่อการยอมรับของเด็กและผู้ปกครองต่อการติดสีดำของฟัน หากมีเด็กมีจำนวนฟันหน้าผุหลายซี่ เด็กและผู้ปกครองมีแนวโน้มยอมรับการติดสีดำของฟันน้อยลง สำหรับขนาดของฟันผุมีผลต่อการยอมรับของผู้ปกครองเท่านั้น ผู้ปกครองมีแนวโน้มยอมรับการติดสีดำของฟันได้มากขึ้นหากรอยผุมีขนาดใหญ่

บทสรุป

3 ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์เป็นทางเลือกหนึ่งในการยับยั้งฟันผุลุกลาม ช่วยลดโอกาสปวดจากฟันผุทะลุเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน ลดระยะเวลา และความยุ่งยากของการรักษา รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงเหมาะสมกับเด็กที่ผู้ปกครองมีเศรษฐานะระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการทางทันตกรรม อีกทั้งควรพึงระวังการใช้ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในฟันหน้าสำหรับเด็กและผู้ปกครองที่กังวลเรื่องความ สวยงาม โดยเฉพาะหากมีฟันหน้าผุหลายซี่ และอาจพิจารณาใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างรอการบูรณะ เพื่อป้องกันการลุกลาม หรือใช้ในฟันน้ำนมระหว่างรอฟันแท้ขึ้นทดแทน ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีต่างๆ ไม่คุ้มค่าต่อการรักษา ทั้งนี้เนื่องจากการติดสีดำในฟันหน้า ส่งผลกระทบต่อความสวยงาม ทันตแพทย์จึงควรมีใบยินยอมรับการรักษาที่อธิบายการรักษา ข้อดี ข้อเสีย อย่างละเอียด พร้อมแนบรูปถ่ายจำลองการติดสีดำของฟันก่อนและหลังการรักษา เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองตัดสินใจร่วมกันในการรับการรักษา


เอกสารอ้างอิง

  1. Duangthip D, Chen KJ, Gao SS, Lo ECM, Chu CH. Managing Early Childhood Caries with Atraumatic Restorative Treatment and Topical Silver and Fluoride Agents. Int J Environ Res Public Health. 2017;14(10).
  2. Horst JA, Ellenikiotis H, Milgrom PL. UCSF Protocol for Caries Arrest Using Silver Diamine Fluoride: Rationale, Indications and Consent. J Calif Dent Assoc. 2016;44(1):16-28.
  3. American Academy of Pediatric Dentistry. Use of Silver Diamine Fluoride for Dental Caries Management in Children and Adolescents, Including Those with Special Health Care Needs. Pediatr Dent. 2017;39(6):146-55.
  4. Gao SS, Zhang S, Mei ML, Lo EC, Chu CH. Caries remineralisation and arresting effect in children by professionally applied fluoride treatment - a systematic review. BMC Oral Health. 2016;16:12.
  5. Gao SS, Zhao IS, Hiraishi N, Duangthip D, Mei ML, Lo ECM, et al. Clinical Trials of Silver Diamine Fluoride in Arresting Caries among Children: A Systematic Review. JDR Clin Trans Res. 2016;1(3):201-10.
  6. Chibinski AC, Wambier LM, Feltrin J, Loguercio AD, Wambier DS, Reis A. Silver Diamine Fluoride Has Efficacy in Controlling Caries Progression in Primary Teeth: A Systematic Review and Meta-Analysis. Caries Res. 2017;51(5):527-41.
  7. Lou YL, Botelho MG, Darvell BW. Reaction of silver diamine [corrected] fluoride with hydroxyapatite and protein. J Dent. 2011;39(9):612-8.
  8. Zhao IS, Gao SS, Hiraishi N, Burrow MF, Duangthip D, Mei ML, et al. Mechanisms of silver diamine fluoride on arresting caries: a literature review. Int Dent J. 2018;68(2):67-76.
  9. Mei ML, Ito L, Cao Y, Li QL, Chu CH, Lo EC. The inhibitory effects of silver diamine fluorides on cysteine cathepsins. J Dent. 2014;42(3):329-35.
  10. Horst JA, Ellenikiotis H, Milgrom PM. UCSF Protocol for Caries Arrest Using Silver Diamine Fluoride: Rationale, Indications and Consent. Pa Dent J (Harrisb). 2017;84(1):14, 6-26.
  11. Duangthip D, Wong MCM, Chu CH, Lo ECM. Caries arrest by topical fluorides in preschool children: 30-month results. J Dent. 2018;70:74-9.
  12. Tanboon J, Owittayakul D, Nirunsittirat A. Acceptance of Children and Parents, Adverse Effects and Caries Arresting Effect of Silver Diamine Fluoride Therapy on Upper Anterior Primary Teeth of Preschool Children with Limiting Access to Dental Service in Muang District, Chiang Mai Province. J DENT ASSOC THAI. 2022;72:183-95.
  13. Clemens J, Gold J, Chaffin J. Effect and acceptance of silver diamine fluoride treatment on dental caries in primary teeth. J Public Health Dent. 2018;78(1):63-8.
  14. Kittiprawong R, Kitsahawong K, Pitiphat W, Dasanayake A, Pungchanchaikul P, editors. Parent-Child Satisfaction and Safety of Silver Diamine Fluoride and Fluoride Varnish Treatment. Conference: The 13th International Conference of Asian Academy of Preventive Dentistry; 2018.
  15. Crystal YO, Kreider B, Raveis VH. Parental Expressed Concerns about Silver Diamine Fluoride (SDF) Treatment. J Clin Pediatr Dent. 2019;43(3):155-60.
  16. Bagher SM, Sabbagh HJ, AlJohani SM, Alharbi G, Aldajani M, Elkhodary H. Parental acceptance of the utilization of silver diamine fluoride on their child's primary and permanent teeth. Patient Prefer Adherence. 2019;13:829-35.
  17. Sabbagh H, Othman M, Khogeer L, Al-Harbi H, Al Harthi A, Abdulgader Yaseen Abdulgader A. Parental acceptance of silver Diamine fluoride application on primary dentition: a systematic review and meta-analysis. BMC Oral Health. 2020;20(1):227.
  18. Crystal YO, Janal MN, Hamilton DS, Niederman R. Parental perceptions and acceptance of silver diamine fluoride staining. J Am Dent Assoc. 2017;148(7):510-8.e4.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพญ. ดรุณี โอวิทยากุล
ทพญ. จารุวรรณ ตันบุญ

แบบทดสอบ