การสบฟันในฟันเทียมทั้งปาก

บทความ

การสบฟันในฟันเทียมทั้งปาก

การสบฟันในงานฟันเทียมทั้งปากสามารถแบ่งย่อยออกเป็น  3 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  1. Balanced articulation : the bilateral, simultaneous, anterior  and posterior occlusal contact of teeth in centric and eccentric positions.1 นั่นคือ สบพร้อมกันทั้งสองข้าง ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง ทั้งการสบในศูนย์ และนอกศูนย์
  2. Monoplane articulation : the arrangement of teeth by which they are positionedin a single plane. นั่นคือ การเรียงฟันบนระนาบเดี่ยว 
  3. Lingualized articulation : the form of denture occlusion articulates the maxillary lingual cusps with the mandibular occlusal surfaces in centric, working, and nonworking mandibular positions1 หรือ  the occlusal contacts of the maxillary lingual cusps of the posterior teeth initially with the occlusal surfaces and marginal ridges of the mandibular teeth in maximum intercuspation, and the continuous contacts of the lingual cusps with the mandibular teeth during various movements of the mandible. during various movements of the mandible.2  นั่นคือปุ่มฟันด้านลิ้นของฟันหลังบนจะสัมผัสกับด้านสบฟันของฟันหลังล่างทั้งการสบในศูนย์และนอกศูนย์

ปฏิกิริยาของกระดูกต่อแรงที่มากระทำ

ในฟันธรรมชาติ เมื่อมีแรงมากระทำตามแนวแกนจะก่อให้เกิดการเสริมสร้าง แต่ถ้าแรงที่มากระทำเอียงหรือตั้งฉากกับแนวแกนฟันจะมีผลทำให้เกิดการละลายของกระดูก ฟันเคลื่อน และโยกได้ โดยปกติ แรงในช่องปากที่มากระทำต่อกระดูกขากรรไกรจะถูกส่งผ่านทาง ฟัน ข้อต่อขากรรไกร (joint) และแผ่นรองข้อต่อ (disc) อวัยวะพวกนี้จะถูกปกป้องโดย specialized fibrous tissue, fibroartilage, หรือ hyaline cartilage. เมื่อมีแรงมากระทำที่กระดกขากรรไกร จะเกิดได้ทั้งการเสริมสร้างและทำลาย การเสริมสร้างมาจากแรงดึง(tension) การทำลายมักมาจากแรงกด (pressure) เมื่อฟันถูกถอนออกไป จะไม่สามารถทำให้เกิดแรงดึงขึ้นได้ จะเกิดก็แต่เพียงแรงกด ซึ่งถ้าแรงกดไปกดทับเสืนเลือด เช่นบริเวณ periosteum จะทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูกบริเวณนั้น

กระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันเทียมได้รับเลือดมาเลี้ยง จาก 2 แหล่ง คือ

  1. periosteum
  2. เส้นเลือดภายในกระดูกขากรรไกรเอง

จะเห็นได้ว่าแรงจากฟันเทียมจะทำอันตรายต่อกระดูกขากรรไกรได้โดย สามารถกดทับเส้นเลือดที่มาจาก periosteum network ส่วนเส้นเลือดภายในกระดูกขากรรไกรนั้น แรงจากฟันเทียมคงไม่ค่อยมีผล ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทันตแพทย์โดยตรงที่จะควบคุมแรงกดจากฟันเทียมที่ลงบนกระดูกขากรรไกร ไม่ให้มีมากจนเกินไป จนทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูกอย่างกว้างขวาง

ข้อแตกต่างของการสบฟันของฟันธรรมชาติและฟันเทียม

  1. Periodontal tissue :
    ฟันธรรมชาติอยู่ในเบ้าของเนื่อเยื่อปริทันต์ ซึ่งมี proprioceptive  sensation  แต่เมื่อสูญเสียฟันไป  กลไกที่ควบคุมโดย  periodontium  ก็สูญหายไปด้วย  ดังนั้นการสบฟันของฟันเทียมทั้งปากจึงวางอยู่บนพื้นฐาน(denture base) ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
  2. Individual or group migration :
    ในฟันธรรมชาติ ฟันแต่ละซี่จะมีการเคลื่อนไหวที่แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด   ซึ่งฟันแต่ละซี่สามารถเคลื่อนไหวหรือปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับแรงได้  แต่ในฟันเทียมทั้งปากนั้นฟันทุกซี่จะถูกยึดอยู่บนฐานฟันเทียมเดียวกัน  ดังนั้นจึงไม่สามารถปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับแรงได้
  3. Effect from malocclusion :
    คนไข้ที่มีการสบฟันที่ผิดปกติของฟันธรรมชาติ  สามารถจะทนสภาพอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยไม่มีอาการใดๆ  แต่หากฟันเทียมมีการสบฟันที่ผิดปกติจะมีผลตอบสนองทันที  ซึ่งจะมีผลต่อฟันเทียมทั้งอัน  เนื่องจากฟันแต่ละซี่วางอยู่บนฐานฟันเทียมเดียวกัน
  4. Tolerance to lateral forces :
    ฟันธรรมชาติจะมีฟันเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีหน้าที่รับแรงนอกเหนือไปจากแรงในแนวดิ่ง เช่น ฟันเขี้ยว  หรือฟันกรามน้อย  ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อฟันธรรมชาติ  แต่ในฟันเทียมทั้งปากหากมีแรงเช่นนี้เกิดขึ้น จะมีอิทธิพลต่อฟันเทียมทุกซี่  และจะมีผลเสียต่อโครงสร้างที่รองรับอยู่
  5. Incising with anterior teeth :
    ในฟันธรรมชาติ การใช้ฟันหน้าในการกัดหรือตัดจะไม่มีผลต่อฟันหลัง christensen’s phenomena  แต่การใช้ฟันเทียมหน้าในการกัดหรือตัดจะมีผลต่อฟันทั้งหมดและฐานฟันปลอม
  6. Balancing side contact :
    ฟันธรรมชาติจะพบการสบฟันได้ดุลทั้งสองข้าง(bilateral balance) น้อยมาก  และจะถือว่าเป็นการสบฟันที่ผิดปกติถ้าหากมีการสบดุล (balancing  side  contact)  ซึ่งจะแตกต่างจากฟันเทียมทั้งปากซึ่งต้องการคุณสมบัติข้อนี้เพื่อความสมดุลย์ของฟันเทียม
  7. Proprioception :
    ในฟันธรรมชาติจะมี  proprioception  ซึ่งเป็น  neuromuscular  system  ควบคุมการทำงาน ซึ่งจะมีผลทำให้สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจุดสูงหรือจุดขัดขวางให้เกิดการสบที่สมดุลย์ ในขณะที่ฟันเทียมไม่มีคุณสมบัตินี้   ดังนั้นถ้ามีจุดสูงหรือจุดขัดขวางการสบฟัน  จะก่อให้เกิดการเคลื่อนของฐานฟัน  ปลอมซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อไป
  8. Preferable area of mastication :
    ในฟันธรรมชาติ ฟันกรามใหญ่ซี่ที่สองจะเป็นตำแหน่งที่ให้แรงบดเคี้ยวได้หนักที่สุดเพราะอยู่ในตำแหน่งใกล้กับกล้ามเนื้อ masseter ผู้ป่วยที่มีฟันธรรมชาติส่วนใหญ่จะชอบเคี้ยวในตำแหน่งนี้ แต่ในผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากอาจต้องหลีกเลี่ยงการเคี้ยวตำแหน่งนี้ หรืออาจต้องไม่เรียงฟันในตำแหน่งนี้ถ้าพื้นที่รองรับเอียง ไม่ขนานกับระนาบการสบฟัน ซึ่งถ้ามีแรงลงในตำแหน่งนี้ จะทำให้ฟันเทียมไถลไปทางด้านหน้าได้

คุณสมบัติของการสบฟันเทียมทั้งปาก

ความแตกต่างระหว่างฟันธรรมชาติ และฟันเทียมดังกล่าว  ทำให้ทันตแพทย์ต้องตระหนักถึงปัญหาระหว่างการทำฟันเทียมทั้งปากให้ผู้ป่วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบการสบฟันซึ่งต้องนำมาใช้ในสภาพที่มีการเคลื่อนไหวของฐานฟันเทียมอยู่ตลอดเวลา ต้องออกแบบให้เหมาะกับขากรรไกรล่าง ซึ่งมีรูปร่างเป็นรูปเกือกม้าจะมีความเสถียรน้อยกว่าขากรรไกรบน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติต่างๆ เพื่อที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการทำฟันเทียมทั้งปาก  อันอาจจะกล่าวได้ ดังต่อไปนี้คือ:

  1. การสบฟันควรจะมีความเสถียร (stability) ในตำแหน่งการสบฟันในศูนย์ และบริเวณรอบๆ ใกล้ เคียง  คือด้านหน้า และด้านข้าง (long centric)
  2. การสบฟันได้ดุล ทั้ง 2 ข้าง ขณะทำการเยื้องคาง
  3. ต้องไม่มีการจำกัดการเคลื่อนที่ ของปุ่มฟันในแนวหน้าหลัง (mesio-distal)  เพื่อหลีกเลี่ยงการกระดกของฐานฟันเทียมขณะใช้เคี้ยวอาหาร
  4. ควบคุมแรงในแนวระนาบ (horizontal force)ด้วยการกำหนดความสูงของปุ่มฟัน  ตามลักษณะของสันกระดูกที่เหลือ (residual  ridge)  และระยะห่างระหว่างสันเหงือกบนและล่าง (interridge space)
  5. วางตำแหน่งฟันบนสันเหงือกเพื่อทำให้แนวแรงลงสู่สันเหงือกได้ดี  โดยไม่ก่อให้เกิดลักษณะของคานดีดคานงัด
  6. ด้านสบฟันควรจะมีความสามารถในการบดอาหารให้ขาดได้
  7. ไม่มีการสัมผัสกันของฟันหน้าขณะที่ฟันหลังทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร
  8. พื้นที่สัมผัสด้านสบฟันให้น้อยที่สุดเพื่อลดแรง ที่เกิดจากการบดเคี้ยวอาหาร
  9. ฟันเทียมมีร่อง (sluice  way) สันนูน หรือ ปุ่มฟันที่คม เพื่อกัดหรือตัดอาหารให้ขาด

แรงบดเคี้ยว

ในฟันธรรมชาติ พบว่าแรงจากการบดเคี้ยวจะอยู่ในระหว่าง 5 ถึง 175 ปอนด์ ซึ่งขึ้นกับอาหารที่รับประทาน สภาพของอวัยวะปริทันต์ ความแข็งแรงของตัวฟัน รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่เกี่ยวข้อง แรงที่ได้จากการเคี้ยวอาหารบริเวณฟันกรามใหญ่และกรามน้อย โดยใช้ฟันเทียมทั้งปากจะอยู่ในค่าเฉลี่ยระหว่าง 22 ถึง 24 ปอนด์[i],[ii] ส่วนแรงกัดบริเวณฟันหน้าจะลดลงเหลือประมาณ 9 ปอนด์ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบแรงบดเคี้ยวที่ได้จากฟันธรรมชาติและฟันเทียมทั้งปากจะพบว่า ผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากสามารถเคี้ยวโดยใช้แรงได้เพียง 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของแรงบดเคี้ยวที่เกิดจากฟันธรรมชาติ ในผู้ป่วยฟันเทียมทั้งปาก แรงบดเคี้ยวจะลงมากที่สุดบริเวณฟันกรามน้อยซี่ที่สอง และจะตามด้วยฟันกรามใหญ่ซี่แรกและฟันกรามน้อยซี่แรก4,5 ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยฟันเทียมทั้งปากพยายามหาตำแหน่งที่เป็นกลางระหว่างแนวหน้าหลังเพื่อให้เกิดความเสถียรของตัวฐานฟันเทียมขณะบดเคี้ยว ความกว้างของฟันหลังก็มีส่วนในการลดหรือเพิ่มแรงบดเคี้ยว[iii] นั่นคือยิ่งความกว้างของฟันหลังลดลงแรงบดเคี้ยวที่ส่งผ่านไปยังฐานฟันเทียมก็ลดลง

การสบฟันได้ดุล(balanced occlusion)

ข้อดี  ของการใช้ฟันมีปุ่ม และสบฟันแบบ balanced  occlusion

  1. ให้ความสวยงามที่ดี  เนื่องจากการใช้ฟันที่มียอดฟันในตำแหน่งฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 และ  ซึ่งทำให้ฟันเทียมทั้งปากมีความสวยงาม
  2. การที่ฟันเทียมมีปุ่มฟัน จะทำให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น เพราะจะใช้แรงในการบดเคี้ยวน้อยลง  ซึ่งจะทำให้แรงกระทำต่อสันเหงือกลดน้อยลงด้วย  แต่อย่างไรก็ตามข้อได้เปรียบนี้ก็มีการศึกษาซึ่งพบว่าไม่มีความแตกต่างในแง่ของความพอใจของผู้ป่วยต่อฟันเทียมที่มีปุ่มฟันหรือไม่มีปุ่มฟัน

ข้อเสียของการใช้ฟันมีปุ่ม 

  1.  การบันทึกการสบฟันในทุกตำแหน่งจะต้องมีความแน่นอนสูงมากและสามารถย้อนกลับหรือสบได้เหมือนกันทุกครั้ง  ซึ่งปัญหานี้จะเกิดได้น้อยในคนไข้ที่มีสภาพของสันเหงือกดีและเนื่อเยื่อใต้ฟันเทียมที่แน่น แต่จะเกิดปัญหาในคนไข้ที่มีสันเหงือกแบนราบ  และเนื้อเยื่อใต้ฟันเทียมมีการขยับตัวมาก
  2. การสบฟันซึ่งสบลงบนระนาบจะก่อให้เกิดแรงทางด้านข้างต่อสันเหงือกข้างใต้ ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่าแรงทางด้านข้างจะก่อให้เกิดการละลายตัวของสันกระดูกมากกว่าแรงในแนวดิ่ง  Swoope  และ  Kydd  ในปี 1966   ก็ได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อดังกล่าวมีมูลความจริงและต่อมาจากการศึกษาของ  Lopuck  และคณะในปี 1978  ซึ่งทำการทดลองใน photoelastic  model  ก็สนับสนุนความเชื่อข้างต้น
  3. เมื่อเกิดการละลายตัวของกระดูกรองรับฟันเทียมการสบฟันที่สมดุลย์ก็จะสูญเสียไปซึ่งณ จุดนี้การแก้ไขฟันเทียมจะทำได้ยาก
  4. ในกรณีที่จะต้องการเรียงฟันให้เป็นการสบฟันแบบไขว้ ( cross bite occlusion)  จะเป็นการยากที่จะเรียงฟันให้สบกันได้ดี
  5. ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับการใช้เครื่องมือสบฟันซึ่งไม่สามารถจำลองการเคลื่อนไหวของขากรรไกรล่าง ได้เหมือนสภาพในปาก  ดังนั้นจุดสบต่างๆ  ที่มีในเครื่องมือสบฟันอาจจะไม่ปรากฏในปากของผู้ป่วยได้

การสบฟันแบบ Lingualized occlusion

เป็นการสบฟันที่คิดขึ้นโดย  Dr. Edison J. Farmer  ซึ่งต่อมา  Dr.  Howard  Payne   เป็นคนแรกที่นำเอาการสบฟันชนิดนี้มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก การสบฟันชนิดนี้เป็นการรวบรวมข้อดีของการสบฟันแบบมีปุ่ม (anatomic)และฟันไร้ปุ่ม (nonanatomic)  เข้าด้วยกันคือ  ยังคงซึ่งความสวยงามและความมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวของฟันมีปุ่ม และมีความเป็นอิสระในแง่เชิงกลของฟันไร้ปุ่ม  แนวความคิดของการสบฟันชนิดนี้ใช้ฟันมีปุ่ม (anatomic)  ในฟันบน และฟันไร้ปุ่ม (nonanatomic)  หรือ  semi-anatomic ในฟันล่าง   bilateral  balanced  occlusion  ของ  lingualized  occlusion  นี้ควรจะมีอยู่ภายในระยะ  2-3  มม.  ออกจากตำแหน่ง  centric  relation ข้อบ่งชี้ของรูปแบบการสบฟันแบบ  lingualized  นี้สามารถใช้ได้ในฟันเทียมเกือบทุกกรณี  แต่จะเห็นชัดเจนในรายที่คนไข้ต้องการความสวยงาม  ในขณะที่ควรจะต้องใช้การสบฟันแบบฟันไร้ปุ่ม ( nonanatomic)  เช่น  ในกรณีที่มีการละลายตัวของกระดูกเหงือกมาก และในการสบฟันแบบ  Class  II  หรือ  พื้นที่รองรับฟันเทียมสามารถขยับตัวได้มาก

ข้อดีของการสบฟันแบบ  Lingualized  occlusion

  1. ข้อดีทั้งของ  anatomic  และ  nonanatomic  มารวมเป็นข้อดีของการสบฟันชนิดนี้
  2. ความสวยงามได้จากฟันมีปุ่ม  ในฟันบน
  3. การบดขยี้อาหารได้ดีกว่า
  4. สามารถเรียงฟันให้ได้  Bilateral  balanced  occlusion  ได้ง่าย
  5. แรงในแนวดิ่งลงสู่บริเวณกึ่งกลางของฟันล่าง
  6. ง่ายต่อการกรอแต่งแก้ไขปรับปรุงด้านสบฟัน
  7. พื้นที่รองรับปุ่มฟันในฟันล่างเป็นบริเวณไม่ได้เป็นจุด  จึงทำให้ง่ายต่อการปรับตัวของผู้ใส่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของบริเวณรองรับฟันเทียม
  8. การสบฟันชนิดนี้สามารถใช้ได้ในความสัมพันธ์ของขากรรไกร  Class  II, III  และ  cross  bite  ได้  แต่อาจจะไม่สะดวกเท่า  nonanatomic

Neutrocentric occlusion

เป็นการสบฟันซึ่ง  De  Van  เป็นผู้นำเสนอเป็นคนแรก โดยมีแนวคิดพื้นฐานว่าอวัยวะการรองรับของฟันเทียมนั้นแตกต่างจากอวัยวะรองรับของฟันธรรมชาติ (ซึ่งก็ยังไม่มีการทดลองที่มีการสนับสนุนให้ใช้ฟันแบบมีปุ่มฟันกับการสบฟันได้ดุลอย่างเดียว)  และเขาก็ยังมีความเชื่อว่าการใช้ฟันมีปุ่มและการสบฟันได้ดุล  โดยไม่ได้ทำให้แรงสบฟันต่างๆ  สมดุลกันก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อเหงือก และกระดูกได้  De  Van  ใช้คำว่า neutrocentric  เพื่ออธิบายถึงวัตถุประสงค์ 2  ประการในลักษณะการสบฟันคือ  ความสมดุลของแนวระนาบ   และการกระจายแรงให้อยู่ตรงกลาง  เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ประการนี้  จำต้องคำนึงถึงปัจจัย 5 ประการในการสบฟันชนิดนี้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  1. ตำแหน่ง (position)  De  Van  แนะนำตำแหน่งของฟันหลังให้อยู่บนสันเหงือกโดยค่อนไปทางลิ้นให้มากที่สุดเท่าที่ลิ้นจะสามารถทนได้และได้ความสวยงาม  เพื่อที่จะให้แรงตั้งฉากกับอวัยวะรองรับฟันเทียมซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็ได้พบว่าตำแหน่งที่ดีที่สุดในแนว buccolingual  ก็คือเหนือสันเหงือก  ตำแหน่งนอกเหนือจากนี้ก็จะก่อให้เกิดแรงซึ่งเป็นอันตรายต่อการบดเคี้ยว7
  2. อัตราส่วน (proportion)  De van  ได้แนะนำลดขนาดความกว้าง(Breadth)ของฟันลง  40%  เพื่อให้ได้อัตราส่วนหรือขนาดที่พอเหมาะสำหรับฟันเทียม  ซึ่งการลดขนาดให้เล็กลงก็เหมือนการลดแรงถ่ายทอดลงสู่สันเหงือกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงในแนวราบ  เพราะขนาดของแรงเสียดทานจะลดลงตามบริเวณพื้นที่ของด้านสบฟัน  (แรงที่จะถูกกระจายลงสู่ตรงกลางสันเหงือกโดยที่ไม่เข้าไปขัดขวางพื้นที่ของลิ้น)
  3. Pitch  ระนาบการวางตัวของฟัน โดยจะวางให้ระนาบของด้านสบฟันขนานกันสันเหงือกด้านล่างและอยู่กึ่งกลางของสันเหงือก  ซึ่งจะทำให้แรงกระจายลงสู่กระดูกซึ่งจะตั้งฉากกับแนวของกระดูกที่อยู่ใต้สันเหงือก  โดยไม่มี  compensating  curve  และ  incisal  guidance  ซึ่งผู้ป่วยจะถูกแนะนำไม่ให้ใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหารหรือยื่นฟันล่างออกมาด้านหน้า และลด  inclination  ลงให้น้อยกว่าฟันธรรมชาติ  ดังนั้นการสบฟันของฟันหลังในลักษณะนี้จึงดูเหมือนการสบฟันบนระนาบมากกว่าบนแอ่ง
  4. ลักษณะรูปร่าง (form)  รูปร่างฟันจะเป็นรูปร่างที่มีด้านสบเป็นฟันราบที่ไม่มียอดฟัน  ซึ่งจุดสบจะอยู่บนระนาบเดียวกันหมด  ไม่ให้มีจุดสบสูงหรือต่ำกว่าระนาบ  ซึ่งการมีจุดสบฟันชนิดนี้จะลดแรงทางด้านข้างและกำหนดให้แรงตั้งฉากกับอวัยวะรองรับ
  5. จำนวน  (Number)  ลดจำนวนฟันหลังจากแปดซี่เหลือเพียงหกซี่  ซึ่งจะเป็นการลดแรงและทำให้แรงลงสู่บริเวณกลางสันเหงือกที่ตำแหน่งรองรับฟันกรามน้อยที่ 2  และกรามใหญ่ซี่แรก

ข้อดีของการสบฟันแบบ Neutrocentric

  1. เป็นเทคนิคที่ไม่ยุ่งยากและไม่ต้องการความแม่นยำหรือความเที่ยงของการหาความสัมพันธ์ระหว่างขากรรไกรทั้งสองมากนัก  ซึ่งจะทำให้การสบฟันชนิดนี้เหมาะสมกับคนไข้ที่มีอายุมากๆ  ซึ่งจะหาความสัมพันธ์ของขากรรไกรบนและล่างได้ยาก
  2. การที่กำจัดแรงในแนวระนาบ  ก็เป็นการลดแรงทางด้านข้างออก  แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถกำจัดแรงชนิดนี้ให้หมดไปได้
  3. ง่ายต่อการกรอแต่งแก้ไข  ใช้แผ่นกระดาษทรายในการแก้ไข
  4. เนื่องจากใช้ระนาบพื้นราบสบกัน  ดังนั้นจะไม่มีการสบยึด( lock occlusion) กันของขากรรไกร  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคนไข้สูงอายุที่มีการบกพร่องของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณช่องปาก 
  5. การสบฟันชนิดนี้ใช้ได้ดีกับคนไข้ที่มีความสัมพันธ์ของขากรรไกรแบบขากรรไกรล่างยื่นกว่าขกรรไกรบน   และขากรรไกรบนยื่นกว่าขากรรไกรล่าง  หรือ กรณีการสบไขว้ (cross  bite)  ได้
  6. ใช้ได้ดีในคนไข้ที่มีสันเหงือกไม่ดี  เช่น แบนราบ

ข้อเสียของการสบฟันแบบ Neutrocentric

  1. ขาดความสวยงาม  เนื่องจากการที่ไม่มีการเหลื่อมล้ำของฟันหน้า และการที่ไม่มียอดฟันในฟันหลัง
  2. หากไม่มีการลดขนาดความกว้างของฟันออกแล้ว  การเรียงฟันแบบนี้จะทำให้เกิดความรำคาญ  เพราะขัดขวางการเคลื่อนไหวของลิ้น,  ริมฝีปากและแก้ม
  3. ขาดความคมซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารลดน้อยลง
  4. ในกรณีที่ความสัมพันธ์ขากรรไกรเป็นแบบ  severe  class  II  จะเห็นได้ว่าการไม่มี  incisal  guidance  และใช้ฟันหลังแบนราบ  ทำให้ค่าของ  condylar  guidance  สามารถปรับเป็นศูนย์ได้   ดังนั้นเมื่อนำเอาฟันเทียมไปใช้  คนไข้ซึ่งปกติจะมีการยื่นคางมาข้างหน้าอยู่แล้วจะไม่มีการสบกันของฟันด้านหลัง  เกิดปรากฏการณ์   Christensen’s  phenomena  ขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Howell AH and Brudevold F. Vertical forces used during chewing of food. J Dent Res 1950;29:133-36
  2. Brudevold F. A basic study of the chewing forces of a denture wearer. JADA 1951;43:45-51
  3. Bearn EM. A preliminary report on a hydraulic measuring device for the study of forces transmitted by dentures. Dent Pract 1973;22:17-20
  4. Swoope CC and Kydd WL. The effect of cusp form and occlusal surface on denture base deformation. J Prosthet Dent 1966;16:34
  5. Lopuck S, Smith J and Caputo A. Photoelastic comparison of posterior denture occlusions. J Prosthet Dent 1978;40(1):18-22
  6. Payne SH. A posterior set-up to meet individual requirements. Dent Digest 1941;47:20-22
  7. DeVan MM. The concept of neutrocentricv occlusion as related to denture stability JADA 1954;48:165-9

แบบทดสอบ