การรบกวนการเจริญเติบโตของฟันในส่วนที่เกี่ยวกับรูปร่างของฟัน

บทความ

การรบกวนการเจริญเติบโตของฟันในส่วนที่เกี่ยวกับรูปร่างของฟัน Developmental Disturbances in Shape of Teeth

Gemination

จัดเป็น  anomaly  ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการที่หน่อฟัน (tooth bud) เดี่ยว ๆ พยายามที่จะแบ่งออกเป็นสองส่วนในระยะ morphodifferentiation  ผลก็คือเกิดเป็นฟันที่มีตัวฟัน 2 ซี่ที่แยกกันสมบูรณ์หรือไม่ก็ได้  แต่มีรากฟันและคลองรากฟันเดียวเท่านั้น gemination พบได้ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ และในบางรายงานพบว่าอาจเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์  gemination ควรแยกออกจาก fusion เช่นกัน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการนับจำนวนฟันในปาก gemination จะทำให้ฟันมีจำนวนมากกว่าปกติ  ส่วน fusion  ฟันจะมีจำนวนน้อยกว่าปกติ ยกเว้น  fusion  ของฟันปกติกับฟันเกิน  (supernumerary tooth) ใน gemination นี้มีคำว่า "twinning"  ซึ่งใช้เรียกฟันที่เกิดจากการแบ่งของ  หน่อฟันเดี่ยวออกเป็นฟันสองซี่โดยอาจเป็นฟันขนาดปกติ 2 ซี่หรือฟันปกติ 1 ซี่และฟันเกินอีก 1 ซี่ก็ได้

Fusion

เป็นการเชื่อมติดกันของหน่อฟันสองซี่โดยการเชื่อมกันนี้อาจเกิดอย่างสมบูรณ์หรือไม่ก็ได้  พบได้ทั้งในฟันแท้และฟันน้ำนม  สาเหตุของการเกิดสันนิษฐานว่าอาจมีแรงไปผลักดันให้เกิดการแตะติดกันของหน่อฟันที่กำลังเจริญ  แล้วเกิดการเชื่อมติดกันในเวลาต่อมา  ถ้าการแตะติดกันนี้เกิดก่อนเริ่มมี   calcification   ผลก็คือฟัน  2  ซี่มีการเชื่อมติดกันอย่างสมบูรณ์  ทำให้เกิดเป็นฟัน 1 ซี่ที่มีขนาดปกติหรือใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย แต่ถ้าการแตะติดกันเกิดหลังจากเริ่มมี  calcification แล้ว fused tooth อาจมีขนาดของฟันใหญ่เป็น 2 เท่าของฟันปกติ  หรือตัวฟันอาจมีการสร้างเสร็จแล้วเป็น  2 ซี่ แต่จะมีการเชื่อมติดกันเฉพาะส่วนของรากฟัน  โดย true fusion เป็นการเชื่อมติดกันของ dentin แต่ส่วนที่เป็นคลองรากฟันอาจแยกหรือรวมกันก็ได้ fusion อาจเกิดระหว่างฟันปกติ 2 ซี่หรือฟันปกติกับฟันเกินก็ได้  ปัญหาทางคลินิกที่เกิดจากการมี fusion คือ ขาดความสวยงามและทำให้ฟันห่าง

Concrescence

เป็นชนิดหนึ่งของ fusion ซึ่งเกิดหลังจากที่ฟันมีการสร้าง enamel  และ dentin แล้ว  ดังนั้นฟันเชื่อมติดกันเฉพาะส่วนของ cementum  เชื่อกันว่าความผิดปกตินี้เกิดจากการกระทบกระแทก หรือเกิดจากการที่ฟันเบียดชิดกันและกระดูกระหว่างรากฟันละลายไปทำให้รากฟันมาแตะติดกัน  แล้วมีการพอกพูนสะสมของ cementum รอบ ๆ รากฟันที่มาติดกันนั้น concrescence  อาจเกิดก่อนหรือหลังฟันขึ้นแล้วก็ได้และมักเกิดกับฟัน 2 ซี่ แต่มีรายงานว่าเกิดกับฟัน 3 ซี่ได้  การพิเคราะห์โรคอาจทำได้โดยการตรวจทางรังสี  ความผิดปกตินี้มีผลทางคลินิกคือถ้าถอนฟันซี่หนึ่งจะเป็นการถอนฟันอีกซี่หนึ่งด้วย ทันตแพทย์จะเป็นผู้พบเห็นความผิดปกตินี้และแจ้งให้ผู้ป่วยทราบด้วย

Dilaceration

หมายถึงการโค้งงอหรือหักมุมของรากหรือตัวฟันที่สร้างเสร็จแล้ว  สาเหตุของความผิดปกติอาจเกิดมาจากการกระทบกระแทก   หรือการบาดเจ็บของฟันขณะที่กำลังเจริญเติบโตการโค้งงอหรือหักมุมของฟันนี้    อาจเกิดที่ส่วนใดของฟันก็ได้ขึ้นกับระยะการเจริญเติบโตของฟันในขณะที่มีการบาดเจ็บ   dilaceration เป็นปัญหามากในการถอนฟันหากไม่ระมัดระวัง   ดังนั้นในการถอนฟันทุกครั้งควรมีภาพถ่ายรังสีเพื่อตรวจดูฟันก่อนการถอนด้วย

Talon cusp

เป็นความผิดปกติที่พบได้น้อย   ซึ่งหากพบมักเป็นกับฟัน  permanent  incisors ของขากรรไกรบนหรือล่าง  ลักษณะความผิดปกติคือมี cusp เพิ่มขึ้นมาทางด้าน lingual ของฟันหน้าที่บริเวณ cingulum Cusp นี้เรียกว่า "talon cusp"  การมี cusp เพิ่มมานี้ทำให้ฟันมีลักษณะคล้ายอุ้งเท้านกอินทรีย์ (eagle's talon) Talon cusp ประกอบด้วย enamel, dentin และ pulp tissue เหมือนใน cusp ของฟันปกติ

ปัญหาทางคลินิกที่เกิดจาก talon cusp คือ ไม่สวยงามและยังอาจทำให้เกิดฟันผุได้เนื่องจากการมีร่อง (groove) ทางด้าน  lingual ของ cusp ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการอุดฟันปิดร่องนั้น  นอกจากนี้ talon cusp ยังรบกวนการสบฟัน ทำให้ต้องกำจัด cusp นี้ออกไป แต่หากทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการตัดฟันทะลุโพรงประสาทฟันได้ จึงจำเป็นต้องรักษาคลองรากฟันหลังจากนั้นอีก

Dens in dente (Dens invaginatus, dilated composite odontoma)

เป็นความผิดปกติที่พบได้ค่อนข้างบ่อย  เกิดจากการม้วนตัวเข้า (invagination) ที่ผิวของตัวฟันก่อนที่ฟันจะมี calcification    อาจมีสาเหตุจากการมีแรงกดดันจากภายนอกหรือการเจริญเติบโตไม่เท่ากันในบางส่วนของหน่อฟัน  dens invaginatus พบได้บ่อยในฟัน  permanent  maxillary  incisors ลักษณะที่เห็นบนตัวฟันจะเป็นรอยบุ๋มทางด้าน  lingual (lingual pit) และมักพบเป็นแบบ bilateral   มีรายงานพบความผิดปกตินี้บ้างในฟันหลัง  dens invaginatus นี้จะพบเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสีซึ่งจะเห็นเป็นรอยม้วนตัวเข้าของ enamel และ dentin

คำว่า "dens in dente"  เป็นคำที่ใช้เรียกเนื่องจากการม้วนตัวอย่างมากของตัวฟันจนทำให้เกิดลักษณะที่ดูเหมือนมีฟัน 2 ซี่ซ้อนฟันกันอยู่   แต่ถ้าพิจารณาจากลักษณะการเกิดความผิดปกติแล้วชื่อนี้เป็นชื่อเรียกที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ยังคงนิยมใช้กันอยู่

ความสำคัญของ dens invaginatus คือมักพบว่ามีเศษอาหารมาสะสมที่ lingual pit อันเป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุและการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน ในฟันที่มีความผิดปกตินี้อย่างรุนแรงอาจพบว่ามีการม้วนตัวเข้าไปเกือบถึงปลายรากฟันได้ การตรวจพบความผิดปกตินี้ให้เร็วที่สุดและแนะนำให้ผู้ป่วยทำความสะอาดให้ดีที่สุดจะเป็นการป้องกันฟันผุและการสูญเสียฟันก่อนเวลาอันควร

Dens evaginatus (Occlusal tuberculated premolar, Leong's premolar, evaginated odontome, occlusal enamel pearl)

เป็นความผิดปกติที่มีลักษณะทางคลินิกคือมี cusp หรือ globule ของ enamel เกิดขึ้นที่กึ่งกลางด้าน occlusal ของฟัน premolar  อาจเกิดกับฟันข้างเดียวหรือสองข้างของขากรรไกรก็ได้  มีรายงานว่า dens evaginatus มักพบในพวก Mongoloid เช่น ชาวจีน  ญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์  เอสกิโมและอเมริกันอินเดียน พบได้บ้างในคนอังกฤษ การเกิดความผิดปกติแบบนี้คาดว่ามาจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ของ enamel epithelium  และ odontogenic  mesenchyme ในหน่อฟันที่กำลังเจริญ การเกิด dens evaginatus นี้จะตรงข้ามกับการเกิด dens invaginatus

ความสำคัญทางคลินิกของความผิดปกตินี้จะเหมือนกัน  talon  cusp คือ cusp ที่เกินมานี้จะรบกวนการขึ้นของฟันและการสบฟัน นอกจากนี้อาจเกิดการทะลุโพรงประสาทฟันได้หากมีการสึกหรือหักของ cusp นี้ ทั้งนี้เพราะ cusp ประกอบด้วย enamel, dentin และ pulp tissue เหมือน cusp ของฟันปกติ

Taurodontism

เป็นสภาวะที่ฟันมีขนาดใหญ่กว่าปกติโดยเฉพาะที่รากฟันคำว่า "taurodont" นี้มีความหมายว่า "bull-like teeth" ซึ่งหมายถึงฟันเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับฟันของสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง   taurodont  teeth แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ hypotaurodont, mesotaurodont, และ hypertaurodont   ชนิดสุดท้ายเป็นชนิดที่รุนแรงมากที่สุด คือ รากฟันจะมี furcation อยู่ที่ตำแหน่งใกล้ๆปลายราก  Hamner และผู้ร่วมงานสันนิษฐานว่า taurodont เกิดจากความล้มเหลวของ  Hertwig's epithelial sheath ในการม้วนตัว (invagination) อย่างถูกต้องขณะมีการสร้างรากฟัน ฟันชนิดนี้พบได้ในมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ทำให้เชื่อกันว่าเกิดเฉพาะในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันพบว่ามีในคนรุ่นใหม่เช่นกัน   Taurodont  พบได้ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ แต่พบในฟันแท้มากกว่า และมักพบเป็นกับฟันกรามซึ่งอาจเป็นกับฟันเพียงซี่เดียวหรือหลายซี่ในขากรรไกรข้างเดียวกันก็ได้ ในส่วนของตัวฟัน taurodont ไม่มีความผิดปกติใดๆ ฟันชนิดนี้มักตรวจพบได้จากการตรวจทางรังสี ซึ่งจะเห็นฟันมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมมากกว่าที่จะสอบเข้ามาเป็นรากฟัน โพรงประสาทฟันมีขนาดใหญ่ ที่คอฟันไม่มีรอยคอด   furcation ของรากฟันอาจมีเพียงไม่กี่มิลลิเมตรจาก ปลายรากฟัน

Supernumerary roots

เป็นลักษณะที่พบได้น้อยและอาจเกิดกับฟันซี่ใดก็ได้เช่น mandibular bicuspids หรือ cuspids ที่ปกติเป็นฟันรากเดี่ยวอาจพบเป็น 2 รากได้ supernumerary  roots  มีความสำคัญอย่างมากในการถอนฟัน เพราะรากฟันที่เกินมานั้นอาจหักระหว่างที่มีการถอนฟัน


เอกสารอ้างอิง

  1. Oral & Maxillofacial Pathology by Neville, Damm, Allen, Bouquot 2015
  2. Oral Pathology.  Clinical-Pathologic Correlations 2nd edition by Regezi & Sciubba 1993

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

Department of Oral Pathology
Faculty of Dentistry
Chulalongkorn University

แบบทดสอบ