สมุนไพรไทย: ศักยภาพในการประยุกต์ใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์

บทความ

สมุนไพรไทย: ศักยภาพในการประยุกต์ใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์ Thai Herbs: The Potential Application in Adjunctive Periodontal Therapy

บทคัดย่อ

โรคปริทันต์เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพช่องปากที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางระบบอื่น ๆ ในปัจจุบันมีการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารต้านการเกิดคราบจุลินทรีย์รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมไปกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน อย่างไรก็ตามการใช้สารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการดื้อยาและผลข้างเคียงต่าง ๆ สมุนไพรถือเป็นแหล่งทางเลือกที่สำคัญในการพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ สมุนไพรบางชนิดมีการใช้ในแพทย์แผนดั้งเดิมมาอย่างยาวนานเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ บทความนี้ได้รวบรวมงานวิจัยของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่มีฤทธิ์ลดการเกิดคราบจุลินทรีย์และโรคปริทันต์ในอนาคต

คำสำคัญ: สมุนไพรไทย, โรคปริทันต์, การต้านแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์, การลดการอักเสบ

Abstract

Periodontal disease is one of the major health problem impacted the quality of human life and associated with systemic diseases. A number of antiplaque agents and antibiotics have been used as an adjunctive treatment for periodontal therapy. However, the use of these agents might increase bacterial resistance and unwanted side effects. Herbs are important sources of new drug development. Some herbs have been used for century in traditional medicine. This literature will provide the research information about Thai medicinal plants that have potential to be the candidates for development of anti-plaque and anti-periodontal agents in the future.

Keywords: Thai herbs, Periodontal disease, Anti-periodontal pathogen, Anti-inflammation

บทนำ

โรคปริทันต์ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยพบได้ถึงร้อยละ 30 ในประชากรชาวสหรัฐอเมริกา1 ในประเทศไทยมีการสำรวจสุขภาพช่องปากของพระที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 998 รูป พบว่ากว่าร้อยละ 40 เป็นโรคปริทันต์2 นอกจากโรคปริทันต์จะก่อให้เกิดปัญหาในช่องปาก เช่น การบดเคี้ยวอาหาร กลิ่นปาก และความสวยงาม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมต่อจิตใจและการเข้าสังคม เช่น การเกิดความกังวล ความรู้สึกไม่มั่นใจในขณะพูดเนื่องจากการมีกลิ่นปาก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคปริทันต์กับโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะคลอดก่อนกำหนดในหญิงมีครรภ์และโรคอัลไซเมอร์3-5 โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าโรคปริทันต์ถือเป็นหนึ่งในปัญหาทางทันตสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้ถึงร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในทางสาธารณสุขทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนา6

สาเหตุหลักของโรคปริทันต์เกิดจากการแบคทีเรียที่สะสมอยู่บนคราบจุลินทรีย์บริเวณคอฟัน แบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคปริทันต์ ได้แก่ พอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส (Porphyromonas gingivalis) แอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ (Aggregatibacter actinomycetemcomitans) พรีโวเทลลา อินเตอมีเดีย (Prevotella intermedia) และ ทาเนเรลลา ฟอร์ไซเทีย(Tannerella forsythia) ซึ่งเป็นแอนแอโรบิคแบคทีเรีย (anaerobic bacteria) ชนิดแกรมลบ7 การติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีการหลั่งไซโตไคน์ที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory cytokines) เช่น อินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า (interleukin-1 β ; IL-1β) และ ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์แอลฟ่า (tumor necrosis factora α ; TNF α) กระตุ้นการสร้างเอนไซม์จำพวกคอลลาจีเนส (collagenases) และโปรตีเอส (protease)8 การอักเสบในระยะเริ่มแรกของโรค เรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ (gingivitis) โดยมีอาการอักเสบบวมแดงของเหงือกและมีเลือดออก ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) ซึ่งมีการทำลายของอวัยวะปริทันต์ มีการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยกและสูญเสียฟันในที่สุด9

การรักษามาตรฐานสำหรับโรคปริทันต์คือการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมไปกับการส่งเสริมการรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย10 โดยอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเพื่อควบคุมการเกิดไบโอฟิล์ม (biofilm) น้ำยาบ้วนปากที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมทันตแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Dental Association) ว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์ คือ น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน (chlorhexidine) ความเข้มข้นร้อยละ 0.1211 อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนมีข้อเสียหลายประการ เช่น การเกิดคราบติดสีบริเวณผิวฟัน การรับรสที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มขึ้นของหินปูนเหนือเหงือก (supragingival calculus formation)12 ผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ดอกซีไซคลิน (doxycycline) หรือเมโทรนิดาโซล (metronidazole) ซึ่งการรับประทานยาเหล่านี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญหลายประการ อาทิ เช่น การแพ้ยา ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น13 เมื่อพิจารณาถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่กำลังเกิดขึ้น การค้นหาพืชสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงต่ำ จึงถือแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ 

พืชสมุนไพรที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนามาใช้ป้องกันและรักษาโรคปริทันต์นั้นควรจะมีความสามารถในการฆ่าหรือต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ ทั้งนี้เนื่องจากการทำลายของเนื้อเยื่อปริทันต์เกิดจากกระบวนการอักเสบ8 ดังนั้นหากสมุนไพรมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการอักเสบก็น่าจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น ในอดีตมีสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีการนำมาใช้ในการแพทย์แผนไทยเพื่อรักษาโรคในช่องปาก ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการศึกษาสารสกัดและสารประกอบบริสุทธิ์ของสมุนไพรเป็นจำนวนมาก บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมงานวิจัยของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคปริทันต์ได้ในอนาคต โดยเลือกสมุนไพรตัวอย่าง 7 ชนิด ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ข่อย กานพลู ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น ชะพลู กะเพรา และ ชาเขียว ซึ่งข่อยและกานพลูนั้นถือเป็นสมุนไพรที่มีประวัติการนำมาใช้อย่างยาวนานในทางทันตกรรม ส่วนฟ้าทะลายโจรถือเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างถึงสรรพคุณต่าง ๆ ในการรักษาโรคและจัดเป็นหนึ่งในยาสามัญประจำบ้าน สำหรับ ขมิ้น ชะพลู กะเพรา ชาเขียว นั้น เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน

ข่อย

ข่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สเตรบลัส แอสเปอร์ (Streblus asper) เป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้ในทางทันตกรรมมาแต่โบราณ กิ่งข่อยสามารถนำมาใช้ในการแปรงฟันแทนแปรงสีฟันเพราะเชื่อว่าจะทำให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ แก้เหงือกบวม เปลือกข่อยสามารถนำมาใช้รักษาโรคปริทันต์ ในการแพทย์แผนไทยมีการนำข่อยมาใช้รักษาอาการปวดฟัน ส่วนเมล็ดใช้บรรเทาอาการท้องเสีย ฆ่าเชื้อโรคในช่องปากและทางเดินอาหาร สารเคมีสำคัญที่พบมากในข่อย ได้แก่ สารจำพวกคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ (cardiac glycoside) เช่น แคมโลไซด์ (kamloside) แอสเปอโรไซด์ (asperoside) สเตรโบลไซด์ (strebloside) และอินโดรไซด์ (indroside) เป็นต้น โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ14 นอกจากนี้ ยังพบสารจำพวกลูปานอล-3-โอ-บี-ดี-กลูโคไพราโนซิล-[1-5]-โอ-บี-ดี-ไซโลฟูราโนไซด์ (lupanol-3-O-b-d-glucopyranosyl-[1-5]-O-b-d-xylofuranoside) เทอปีน (terpene) และลิกแนน (lignin)15

การศึกษาฤทธิ์ทางชีววิทยาช่องปากพบว่าสารสกัดเอธานอลจากใบข่อยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคไค (Streptococci) โดยเฉพาะเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus mutans) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีบทบาทสำคัญในการก่อโรคฟันผุ ค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเจริญเติบโต (minimum inhibitory concentration; MIC) ของสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ ในหลอดทดลองคือ 2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร16 นอกจากนี้สารสกัดจากใบข่อยที่ความเข้มข้นสูงยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการยึดติดของเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) การใส่สารสกัดเอธานอลจากใบข่อยที่ความเข้มข้น 62.5 และ 125 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เป็นระยะเวลาเพียง 1 นาที สามารถยับยั้งการยึดติดกับพื้นผิวอะคริลิกของฟันปลอมและเซลล์เยื่อบุผิวแก้มของคน (human buccal epithelial cells) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ17,18 นอกจากนั้นยังพบว่าสารสกัดเอธานอลจากใบข่อยมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส แอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ แอคติโนมัยเซส แนสลันดีไอ (Actinomyces naeslundii) และ เป็ปโตสเตรปโตคอคคัส ไมครอส (Peptostreptococcus micros) ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ได้19 การศึกษาน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดใบข่อยพบว่าสามารถลดค่าระดับความอักเสบของเหงือก (gingival index) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ20 ผลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการทดสอบสารสกัดจากใบข่อยด้วยวิธีการฉีดใต้เหงือกร่วมกับการขูดหินปูนและเกลารากฟันในผู้ป่วยปริทันต์เรื้อรัง ซึ่งพบว่าสามารถลดการอักเสบของเหงือกได้แต่ไม่มีผลลดร่องลึกปริทันต์ (probing depth) การยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ (attachment level) รวมถึง จำนวนของเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส และแอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ21 อย่างไรก็ตาม การศึกษาคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโรคปริทันต์จำนวน 5 ราย ในห้องทดลอง พบว่า สารสกัดใบข่อยสามารถยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์ม และ ลดจำนวนของเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส และแอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ในไบโอฟิล์มได้22

นอกจากสารสกัดใบข่อยจะสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปริทันต์แล้ว ยังมีการศึกษาในด้านฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่า สารสกัดเอธานอลของใบข่อยลดอาการบวมบริเวณฝ่าเท้าของหนูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วยคาราจีแนน การศึกษาเพิ่มเติมในระดับยีนในเซลล์แมคโครฟาจที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยไลโปโพลีแซคคาไลด์ (lipopolysaccharide) พบว่าฤทธิ์ต้านการอักเสบของใบข่อยน่าจะเกิดผ่านการยับยั้งการแสดงออกของยีนไซโคลออกซิจิเนส-2 (cyclooxygenase-2) และยีนอินดิวซิเบิลไนตริกออกไซด์ซินเตส (inducible nitric oxide synthase)23 จากการศึกษาต่าง ๆ ข้างต้นแสดงให้เห็นผลของสารสกัดจากใบข่อยในการยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์และยับยั้งการอักเสบ ปัจจุบันมีการนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเจลข่อยสำหรับใส่ในร่องลึกปริทันต์ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2141 พ.ศ.254824

กานพลู

กานพลูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิซซิเจียม อโรมาทิคัม (Syzyqium aromaticum) ในการแพทย์แผนไทยนั้น กานพลูเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน โดยนำน้ำมันจากดอกกานพลูมาทาในบริเวณเหงือกที่ปวดจะบรรเทาอาการปวดและใช้รักษาโรคปริทันต์ได้ หรืออาจจะใช้โดยการเคี้ยวดอกแล้วอมไว้บริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกานพลู ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยจำพวกยูจีนอล (eugenol) และสารประกอบฟีโนลิก (phenolic compound) เช่น ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และกรดไฮดรอกซิเบนโซอิก (hydroxybenzoic acids) เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และฤทธิ์ต้านมะเร็ง25

การศึกษาผลของสารสกัดเมธานอลของดอกกานพลูต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุก่อโรคในช่องปาก 4 ชนิด ได้แก่ พอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส, พรีโวเทลลา อินเตอมีเดีย, สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ และแอคติโนมัยเซส วิสโคซัส (Actinomyces viscosus) พบว่าสารสกัดเมธานอลของดอกกานพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อพรีโวเทลลา อินเตอมีเดีย และพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปริทันต์ได้ดี โดยมีค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเจริญของแบคทีเรียเท่ากับ 156 และ 625 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคฟันผุต่ำ (ค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเจริญของแบคทีเรีย มากกว่า 2.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) โดยสารบริสุทธิ์จากกานพลูที่มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคปริทันต์ คือ เคมเฟอรอล (kaempferol) และไมริเซทิน (myricetin) ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟลาวานอยด์ (ค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเจริญของแบคทีเรียเท่ากับ 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร)26 อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวขัดแย้งกับการศึกษาของโรซาส-พิโนน (Rosas-Pinon) และคณะฯ27 ซึ่งพบว่าสารสกัดของผลกานพลูมีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ โดยสารสกัดน้ำมีฤทธิ์สูงกว่าสารสกัดเอธานอลและมีค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเจริญของแบคทีเรียเท่ากับ 25 และ 62.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ

ในส่วนของฤทธิ์ต้านอักเสบนั้นมีการศึกษาในเซลล์แมคโครฟาจของหนูพบว่า ทั้งสารสกัดเมธานอลของดอกกานพลูและยูจีนอลสามารถยั้งยั้งผลของไลโปโพลีแซคคาไลด์ในการกระตุ้นการหลั่งไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้ โดยสารสกัดเมธานอลของกานพลูสามารถยับยั้งการหลั่งอินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า อินเตอร์ลิวคิน-6 (interleukin-6; IL-6) และ อินเตอร์ลิวคิน-10 (interleukin-10; IL-10) ได้ ในขณะที่ยูจีนอลไม่มีผลต่อการหลั่งอินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า แต่สามารถยับยั้งการหลั่งอินเตอร์ลิวคิน-6 และอินเตอร์ลิวคิน-1028 อย่างไรก็ตาม การศึกษาในเซลล์แมคโครฟาจของมนุษย์ที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโปโพลีแซคคาไลด์พบว่า ยูจีนอลสามารถยับยั้งการหลั่งสารสื่ออักเสบที่เกี่ยวข้องกับการละลายกระดูก เช่น อินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า และ พรอสตาแกลนดินอี-2 (prostaglandinE-2; PGE-2) ได้29 โดยฤทธิ์ต้านอักเสบยังพบในเซลล์เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันมนุษย์ (human dental pulp cells) ซึ่งยูจินอลสามารถยับยั้งการหลั่งอินเตอร์ลิวคิน-8 ในเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยอินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า หรือไลโปโพลีแซคคาไลด์ ได้แต่ผลดังกล่าวไม่พบในเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ (human gingival fibroblast)30

ถึงแม้จะมีการใช้น้ำมันกานพลูอย่างแพร่หลายในยับยั้งอาการปวด แต่การศึกษาในระดับเซลล์พบว่า น้ำมันกานพลู และยูจีนอลซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันกานพลู มีความเป็นพิษต่อเซลล์ไฟโบบลาสและเซลล์เยื่อบุผิวหลอดเลือดค่อนข้างสูง ในขณะที่เบต้า-คาริโอฟิวลีน (β-caryophyllene) ซึ่งเป็นองค์ประกอบเพียงส่วนน้อยของน้ำมันกานพลู ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์31 นอกจากนี้ยังมีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้วัสดุอุดฟันที่มีส่วนผสมของยูจีนอลในการก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวช่องปากและการเกิดผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis)32 ดังนั้น ในการวิจัยเพื่อพัฒนากานพลูสำหรับใช้รักษาโรคปริทันต์ต่อไปในอนาคต ผู้วิจัยจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นพิษของสารทดสอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอนโดรกราฟิส พานิคูลาตา (Andrographis paniculata) ฟ้าทะลายโจรเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในการใช้เป็นสมุนไพรไทยมายาวนาน ปัจจุบันนี้ฟ้าทะลายโจรได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดและเสริมภูมิต้านทานดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะและยังสามารถป้องกันภาวะตับเป็นพิษจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดหรือจากการดื่มแอลกอฮอลล์เรื้อรัง สารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรมีหลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide) 14-ดีออกซิแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxyandrographolide) และ 14-ดีออกซิ-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ฤทธิ์ต้านอักเสบ ฤทธิ์ป้องกันตับเป็นพิษ ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน รวมถึง ฤทธิ์ต้านมะเร็ง33

การศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของฟ้าทะลายโจรพบว่า แอนโดรกราโฟไลด์ และ 14-ดีออกซิ-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารประกอบที่สกัดได้จากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยมีค่าความเข้มข้นที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 50 (median effective concentration; EC50) เท่ากับ 49 และ 57 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ34 นอกจากนี้สารประกอบที่สกัดได้จากฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช1เอ็น1 (H1N1) เอช9เอ็น2 (H9N2) และ เอช5เอ็น1 (H5N1)35 ในส่วนของฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในช่องปากนั้น พบว่าสารสกัดเอธานอลจากใบฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส36 สารสกัดน้ำจากใบฟ้าทะลายโจรและแอนโรกราโฟไลด์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์37 การศึกษาถึงฤทธิ์ต้านอักเสบพบว่า แอนโดรกราโฟไลด์สามารถยับยั้งการจับกันระหว่างนิวเคลียร์แฟคเตอร์แคปปาบี (nuclear factor kappa B; NF-κB) กับดีเอ็นเอและส่งผลลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น ไซโคลออกซิจิเนส-238 นีโอแอนโดรกราโฟไลด์สามารถยับยั้งการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ในเซลล์แมคโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยบาซิลลัส แคลแมต-เกแรง (bacillus Calmette-Guéin; BCG) และไลโปโพลีแซคคาไลด์39 ผลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาสารสกัดเมธานอลจากใบฟ้าทะลายโจรซึ่งพบว่าสามารถยับยั้งการแสดงออกของไนตริกออกไซด์ อินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า อินเตอร์ลิวคิน-6 และ พรอสตาแกลนดินอี-240

การศึกษาถึงการประยุกต์ใช้เจลฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง และทำการวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่เวลา 1 และ 3 เดือน ภายหลังได้รับการรักษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมกับการใส่เจลฟ้าทะลายโจรมีค่าระดับความอักเสบของเหงือก ร่องลึกปริทันต์ การยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ และการมีเลือดออกของเหงือก (bleeding on probing) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมกับการใส่เจลเบส และกลุ่มที่ได้รับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันเพียงอย่างเดียว41 การศึกษาที่คล้ายคลึงกันโดยวัดค่าพารามิเตอร์ที่เวลา 6 เดือน พบว่า การใส่เจลฟ้าทะลายโจรสามารถลดร่องลึกปริทันต์ได้ดีกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ42 การศึกษาในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส พบว่าแอนโดรกราโฟไลด์สามารถลดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟัน และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยสามารถรักษาระดับของเฮกซาโนอิล-ไลซีน (Hexanoyl-Lysine) และอัตราส่วนของกลูตาไธโอนต่อออกซิไดซ์กลูตาไธโอนในซีรัมให้อยู่ใกล้เคียงค่าปกติ43 นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดไขมันในเลือดโดยไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ทางพิษวิทยาในหนู44 ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคปริทันต์ ซึ่งรองศาสตราจารย์ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ และคณะฯ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรให้อยู่ในรูปของเจลสำหรับฉีดเข้าสู่ร่องเหงือกของผู้ป่วยโรคปริทันต์ ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้นาน และสามารถย่อยสลายได้เองโดยไม่มีสารตกค้างเหลืออยู่ เจลฟ้าทะลายโจรได้รับการจดสิทธิบัตรเลขที่ US7135164B2 ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งถือเป็นสมุนไพรไทยตำรับแรกที่ได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา45

ขมิ้น

ขมิ้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คูมา ลองก้า (Curcuma Longa) เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้มาแต่โบราณเพราะมีสรรพคุณที่หลากหลาย เช่น ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย มีการใช้ขมิ้นในการแพทย์อายุรเวท (ayurvedic medicine) มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีเนื่องจากเป็นสารที่ไม่เป็นพิษ และมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์แก้อักเสบ ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ และฤทธิ์ต้านมะเร็ง องค์ประกอบสำคัญในขมิ้นที่พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือ เคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองที่นำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร นอกจากนั้นยังพบสารที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ดีเมทอกซีเคอร์คูมิน (demethoxycurcumin) และบิสดีเมทอกซีเคอร์คูมิน (bisdemethoxycurcumin)46

มีการศึกษาอย่างแพร่หลายถึงผลของเคอร์คูมินในการต้านอักเสบ การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เคอร์คูมินสามารถยับยั้งการสร้างอินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า อินเตอร์ลิวคิน-8 ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า และโมโนไซต์เคโมแอคแทรคแทนท์โปรตีน-1 (monocyte chemoattractant protein-1; MCP-1) ในโมโนไซต์ และแมคโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโปโพลีแซคคาไลด์47 ผลที่คล้ายกันยังพบในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีการอักเสบของตับอ่อนแบบเฉียบพลัน โดยพบว่าหนูที่ได้รับเคอร์คูมินมีระดับของอินเตอร์ลิวคิน-6 และทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า ในซีรัมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม เคอร์คูมินไม่สามารถป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อตับอ่อนได้48 โดยฤทธิ์ต้านอักเสบของเคอร์คูมินนั้นน่าจะเกิดจากการยับยั้งกลไกของนิวเคลียร์แฟคเตอร์แคปปาบี และไมโทเจน–แอคทิเวเตดโปรตีนไคเนส (mitogen-activated protein kinase; MAPK)49 นอกจากฤทธิ์ต้านการอักเสบแล้ว เคอร์คูมินยังมีฤทธิ์ในการรักษาบาดแผล โดยสามารถช่วยเร่งการหายของบาดแผลในหนูที่ได้รับรังสี เพิ่มการสะสมคอลลาเจน เพิ่มจำนวนเซลล์ไฟโบรบลาสต์ในบริเวณที่เกิดแผล50 เพิ่มจำนวนเซลล์แมคโครฟาจ และการสร้างหลอดเลือดใหม่ในบริเวณที่เกิดแผลได้อีกด้วย51 ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเคอร์คูมินในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาโรคปริทันต์

การศึกษาในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคปริทันต์โดยการผูกเส้นด้ายฝ้าย (cotton threads) ระหว่างฟันกรามล่างซี่ที่1 ทั้งสองด้าน พบว่าการให้เคอร์คูมินเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) สามารถยับยั้งการแสดงออกของพรอสตาแกลนดินอี2-ซินเตส (PGE2-synthase) อินเตอร์ลิวคิน-6 และทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า นอกจากนั้นยังลดการแทรกซึมของเซลล์อักเสบ (inflammatory cell infiltrate) และเพิ่มปริมาณคอลลาเจนในเนื้อเยื่อเหงือก แต่ไม่สามารถป้องกันการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันได้52 การศึกษาทางคลินิกโดยใช้เคอร์คูมินเจลร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันในผู้ป่วยโรคปริทันต์พบว่าเคอร์คูมินสามารถลดค่าดัชนีแผ่นคราบจุลินทรีย์ (plaque index) ระดับความอักเสบของเหงือก ร่องลึกปริทันต์ การยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ รวมถึงจำนวนของเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส ทาเนเรลลา ฟอร์ไซเทีย และ ทรีโพเนมา เดนทิโคลา (Treponema denticola) ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ได้53 ผลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของ เบฮอล และคณะ54 ซึ่งทำศึกษาด้วยเจลขมิ้นร้อยละ 2 การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของขมิ้นและคลอเฮกซิดีนกลูโคเนตในการป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์และเหงือกอักเสบพบว่า น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของขมิ้นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนกลูโคเนตในการลดระดับความอักเสบของเหงือก และจำนวนของเชื้อแบคทีเรียทั้งหมด (total microbial count) แต่น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนกลูโคเนตมีประสิทธิภาพในการควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์สูงกว่า55 การศึกษาโดยใช้สารละลายเคอร์คูมินร้อยละ 1 ฉีดใต้เหงือก พบว่า คูเคอร์มินมีประสิทธิภาพสูงในการลดการอักเสบ โดยสามารถลดการมีเลือดออกของเหงือก ความแดงของเหงือก และร่องลึกปริทันต์ได้สูงกว่ากลุ่มที่ฉีดใต้เหงือกด้วยเกลือร้อยละ 0.9 หรือ คลอเฮกซิดีนร้อยละ 0.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ56

ชะพลู

ชะพลูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไปเปอร์ ซาเมนโตซั่ม (Piper sarmentosum) เป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกือบตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจจึงได้มีการนำใบชะพลูไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งในรูปของสมุนไพร ใช้ประกอบอาหารและยังมีคุณสมบัติทางยาด้วย ตามภูมิปัญญาไทยโบราณมีการนำชะพลูมาใช้รักษาอาการต่าง ๆ เช่น ขับเสมหะ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและ ช่วยให้เจริญอาหาร การศึกษาในหนูพบว่าสารสกัดใบชะพลูสามารถลดความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอล57 และป้องกันการเสื่อมถอยของเนื้อเยื่อหัวใจซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้58

หนึ่งในฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลายในใบชะพลู คือ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยพบว่าสารสกัดเฮกเซนหรือเมธานอลของใบชะพลูมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง มีค่าความเข้มข้นที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 50 เท่ากับ 29.63 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร59 องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของสารสกัดใบชะพลูที่ทำให้เกิดฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ได้แก่ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) วิตามินอี แคโรทีน (carotene) แซนโทฟิวล์ (xanthophylls) แทนนิน (tannin) และสารประกอบฟีนอลิก60 การศึกษาของแอซลินา (Azlina) และคณะ61พบว่าใบชะพลูมีฤทธิ์ในการปกป้องปอดของหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดออกซิเดทีฟสเตรส (oxidative stress) โดยสามารถลดลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น (lipid peroxidation) และรักษาระดับเอนไซม์กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase) ให้อยู่ในระดับปกติ การศึกษาในเซลล์บุผนังหลอดเลือดดำสายสะดือของมนุษย์ (human umbilical vein endothelial cells) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดออกซิเดทีฟสเตรสด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์พบว่า สารสกัดน้ำ เมธานอล หรือ เฮกเซน ของใบชะพลูสามารถเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการตายของเซลล์แบบอะพอพโทสิสได้62

การศึกษาในหนูพบว่าสารสกัดน้ำของใบชะพลูยังมีฤทธิ์แก้ปวดและบรรเทาอาการอักเสบอีกด้วย โดยฤทธิ์แก้ปวดนั้นน่าจะเกิดผ่านโอปิออยด์รีเซปเตอร์ (opioid receptor)63 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงชนิดของสารออกฤทธิ์แก้ปวดและบรรเทาอาการอักเสบในชะพลู สำหรับการศึกษาชะพลูในโรคปริทันต์นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด ทวีชัยสุภาพงศ์ และคณะ พบว่าสารสกัดเอธานอลของใบชะพลูมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ได้ โดยค่าความเข้มข้นของสารซึ่งสามารถฆ่าแบคทีเรียได้นั้นอยู่ในช่วง 2.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร64 เมื่อพิจารณาถึงฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของใบชะพลูแล้ว ชะพลูน่าจะเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่นำมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคปริทันต์ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

กะเพรา

กะเพรามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออกซิมุ่ม แซงตุ้ม (Ocimum santum) ในทางการแพทย์แผนเดิม (traditional medicine) นั้นมีการใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นกะเพรา เช่น ใบ ลำต้น ดอก ราก และเมล็ด เพื่อรักษาอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย ข้ออักเสบ โรคผิวหนัง และแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญของกะเพรา คือ ยูจีนอล นอกจากนี้ยังพบสารจำพวกฟีนอลิก เช่น กรดโรสมารินิค (rosmarinic acid) อะพิเจนิน (apigenin) และโอเรียนทิน (orientin) ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบ65

กะเพราถือเป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยที่มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งการเจริญเติบโตต่อจุลชีพก่อโรคในช่องปาก การศึกษาผลของสารสกัดเอธานอลของใบกะเพราต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุด้วยวิธีดิสก์ดิฟฟิวชั่น (disk diffusion) พบว่าสารสกัดใบกะเพราสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ สเตรปโตคอคคัส ไมทิส (Streptococcus mitis) สเตรปโตคอคคัส แซนกวินิส (Streptococcus sanguinis) และแลคโตบาซิลัส อะซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) ได้ โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อเชื้อ สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์66 นอกจากนี้ยังสามารถลดจำนวนของเชื้อเอนเทอโรคอคคัส ฟีคอลิส (Enterococcus faecalis) ในคลองรากฟัน67 และมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดา อีก 6 ชนิด ได้แก่ แคนดิดา อัลบิแคนส์ แคนดิดา ครูเซ (Candida krusei) แคนดิดา ทรอปิคอลลิส (Candida tropicalis) แคนดิดา พาราพซิโลซิส (Candida parapsilosis) แคนดิดา กลาบราต้า (Candida glabrata) และ แคนดิดา ดูบลินิเอนซิส (Candida dubliniensis)68 การศึกษาผลของสารสกัดเอธานอลของใบกะเพราต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ พบว่า สารสกัดใบกะเพราที่ความเข้มข้นร้อยละ 6 มีขนาดโซนใส (inhibition zone) กว้างถึง 22 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับคลอเฮกซิดีนซึ่งก่อให้เกิดโซนใสขนาด 25 มิลลิเมตร69 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบกะเพราสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อพรีโวเทลลา อินเตอมีเดีย และพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส ได้ด้วย แต่ประสิทธิภาพในการยับยั้งไม่ดีเท่าการยับยั้งเชื้อแอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์70

มีผลงานวิจัยในการใช้กะเพราในรูปแบบนำส่งยาเฉพาะที่ (local drug delivery system) ซึ่งเป็นการเตรียมยาในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถปลดปล่อยยาในอัตราและปริมาณที่กำหนดในเนื้อเยื่อเป้าหมายของร่างกายได้ตามต้องการเพื่อให้เกิดผลสูงสุดในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยทำการศึกษาในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคปริทันต์ด้วยการผูกเส้นไหมบริเวณฟันกรามบนซี่ที่ 2 พบว่า การใส่เจลกะเพราร้อยละ 2 สามารถลดระดับการอักเสบของเหงือก และร่องลึกปริทันต์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ71 นอกจากนี้ยังลดอาการบวมบริเวณฝ่าเท้าของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วยคาโรจีแนน ซึ่งการใช้กะเพรามีความปลอดภัยสูง โดยไม่ก่อให้เกิดพิษใด ๆ ในหนูที่รับประทานกะเพราปริมาณ 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม71 การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled clinical trial) ในอาสาสมัครจำนวน 108 คน พบว่า การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของกะเพรามีประสิทธิภาพในการลดคราบจุลินทรีย์และเหงือกอักเสบเทียบเท่ากับคลอเฮกซิดีน72

ชาเขียว

ชาเขียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าคาเมลเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) เป็นชาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนที่นำมาใช้ได้จาก ใบ ลำต้น ดอกตูมหรือยอด ใบชาเขียวที่ใช้ดื่มนั้นจะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอลิกหลงเหลืออยู่มากกว่าชาดำและชาอูหลง ชาเขียวจึงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาชนิดอื่น สารออกฤทธิ์สำคัญในชาเขียวคือแคเทชิน (catechin) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ แทนนิน ซึ่งเป็นสารประกอบฟีนอลิกที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากผลการศึกษาคุณสมบัติของชาเขียวพบว่าชาเขียวสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รวมถึง ฆ่าเซลล์มะเร็ง73 

การศึกษาทางชีววิทยาช่องปากพบว่า สารสกัดน้ำของใบชาเขียวมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุและโรคปริทันต์ซึ่งได้แก่ สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ แอกกริเกทิแบกเทอร์ แอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ พอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส และพรีโวเทลลา อินเตอมีเดีย74 การศึกษาในระดับเซลล์โดยใช้เซลล์เยื่อบุผิวเหงือก (gingival epithelial cells) พบว่าสารสกัดชาเขียว และ อีพิแกลโลแคเทชิน-3-แกลเลท (epigallocatechin-3-gallate; EGCG) ซึ่งเป็นสารแคเทชินที่พบมากในชาเขียว สามารถเพิ่มการแสดงออกของเบต้า-ดีเฟนซิน (beta-defensins) ซึ่งเป็นเปปไทด์ต้านจุลชีพ (antimicrobial peptide) ผ่าน เอ็กซ์ตร้าเซลลูลาร์ ซิกแนล-เรกูเลทเท็ดไคเนส (extracellular signal-regulated kinase 1/2; ERK1/2) และ พี38 ไมโทเจน–แอคทิเวเตดโปรตีนไคเนส (p38 MAPK) นอกจากนั้น อีจีซีจี (EGCG) และสารสกัดชาเขียวยังสามารถป้องกันการย่อยสลายของเบต้า-ดีเฟนซินในเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยพอร์ไฟโรโมแนส จินจิวาลิส ได้อีกด้วย75 นอกจากชาเชียวจะมีคุณสมบัติต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแล้วยังมีความสามารถในการต้านอักเสบด้วย โดยทั้งอีจีซีจี (EGCG) และสารสกัดเมธานอลของใบชาเขียวสามารถยับยั้งการหลั่งแมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส-9 (matrix metalloproteinase-9) ในเซลล์นิวโทรฟิล76

การศึกษาในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคปริทันต์ด้วยไลโปโพลีแซคคาไลด์ พบว่า การทาสารสกัดชาเขียวบริเวณร่องเหงือกสามารถลดการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ การละลายกระดูกรอบเบ้าฟัน การแทรกตัวของเซลล์อักเสบ รวมถึงลดการแสดงออกของรีเซ็ปเตอร์แอคทิเวเตอร์ออฟนิวเคลียร์แคปป้าบีลิแกนด์ (Receptor activator of nuclear factor kappa-B ligand; RANKL) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของออสติโอคลาสต์ (osteoclast) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ77 การศึกษาทางคลินิกแบบอำพรางฝ่ายเดียวและมีกลุ่มควบคุม (single blinded placebo controlled clinical trial) ในผู้หญิงที่เป็นโรคเหงือกอักเสบจำนวน 25 คน พบว่า กลุ่มทดลองที่บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเชียวร้อยละ5 ครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง สามารถลดค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ ค่าดัชนีเหงือกอักเสบ และการเลือดออกของเหงือกได้ แต่ผลดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ78 การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในผู้ชายจำนวน 110 คน พบว่ากลุ่มทดลองที่บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเชียวร้อยละ 2 ครั้งละ 10 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง สามารถลดค่าดัชนีแผ่นคราบจุลินทรีย์ และค่าดัชนีเหงือกอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ79 ผลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของชาเชียวในการควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์และป้องกันการเกิดโรคปริทันต์

บทสรุป

สมุนไพรมีการใช้มาอย่างยาวนานในการแพทย์แผนดั้งเดิมเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ การสำรวจการใช้สมุนไพรในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2007 พบว่าร้อยละ 40 ของประชากรมีการใช้สมุนไพรในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา80 นอกจากนี้สมุนไพรยังถือเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของยาต่างๆ กว่าร้อยละ 50 ของยาที่ใช้ในปัจจุบันถูกพัฒนามาจากพืชสมุนไพร81 บทความนี้ได้รวบรวมงานวิจัยของตัวอย่างสมุนไพรที่พบว่ามีศักยภาพในการใช้รักษาโรคปริทันต์ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ข่อย กานพลู ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น ชะพลู กะเพรา และชาเขียว ซึ่งถือเป็นกลุ่มตัวอย่างเล็กๆที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการนำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี มีสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ เปลือกมังคุด ที่มีการศึกษาถึงคุณสมบัติรักษาโรคปริทันต์เช่นกัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้

จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าสมุนไพรทั้ง 7 ชนิด ที่รวบรวมในบทความนี้ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์และฤทธิ์ต้านอักเสบซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับใช้รักษาโรคปริทันต์ นอกจากฤทธิ์ดังกล่าวแล้ว สมุนไพรบางชนิดมีคุณสมบัติอื่นๆเสริม เช่น ฟ้าทะลายโจรสามารถลดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันและต้านอนุมูลอิสระ43 เคอร์คูมินช่วยเร่งการหายของบาดแผลและเพิ่มการสะสมคอลลาเจน53 คุณสมบัติเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมุนไพรที่สามารถลดการทำลาย และ ส่งเสริมการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อในอวัยวะปริทันต์ โดยสมุนไพรเหล่านี้ มิได้มีฤทธิ์จำกัดเพียงการรักษาโรคปริทันต์เท่านั้น สมุนไพรบางชนิดเช่น ข่อย กานพลู กะเพรา และ ชาเขียว มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคฟันผุได้อีกด้วย16,27,66,74 ในปัจจุบันสมุนไพรหลายชนิดได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรม เช่น เคอร์คูมินถูกพัฒนาในรูปเจล53,54 น้ำยาบ้วนปาก55 และ สารละลาย56 เพื่อใช้ร่วมกับการขูดหินปูนและเกลารากฟันในผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง สำหรับ ข่อย และฟ้าทะลายโจร นั้นมีการพัฒนาในรูปของเจลสำหรับฉีดเข้าสู่ร่องลึกปริทันต์และได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว24,45 ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศไทยในการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาถึงประสิทธิภาพของ ขมิ้น กะเพรา และ ชาเขียว ในระยะยาว พบว่าค่าพารามิเตอร์ต่างๆทางคลินิก เช่น ระดับความอักเสบของเหงือก และ ร่องลึกปริทันต์ ยังคงดีขึ้นหลังจากใช้สมุนไพรเหล่านี้เป็นเวลา 4-5 สัปดาห์53,54,72,78,79 ในส่วนของข่อยและฟ้าทะลายโจรนั้น มีการศึกษาทางคลินิกในระยะเวลาที่นานขึ้น โดยพบว่าภายหลังการใช้สมุนไพรเป็นเวลา 3-6 เดือน ผู้ป่วยมีค่าพารามิเตอร์ทางคลินิกดีกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก21,42 

ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการใช้สมุนไพรนั้นค่อนข้างปลอดภัยเนื่องจากเป็นสารจากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรจำเป็นต้องระวังถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพ้สารในสมุนไพร และ อันตรกิริยา (interaction) ระหว่างสมุนไพรกับยาที่ผู้ป่วยรับประทาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นมีอันตกิริยากับยาหลายชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin) และ ยาไซโคลสปอริน (cyclosporin) เป็นต้น82 สำหรับสมุนไพรที่รวบรวมในบทความนี้ ถือเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย มีการใช้ หรือ รับประทานอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าทะลายโจรนั้น มีรายงานว่าปลอดภัยมากถึงแม้จะใช้ในความเข้มข้นสูง83 การศึกษาถึงความเป็นพิษของของแอนโดรกราโฟไลด์ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในฟ้าทะลายโจร พบว่าขนาดยาที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 (lethal dose 50; LD50) คือ 11.46 กรัมต่อกิโลกรัม84 การศึกษาสารสกัดเมธานอลจากเปลือกข่อยในตัวอ่อนของม้าน้ำพบว่าความเข้มข้นที่ต่ำกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ถือเป็นความเข้มข้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวอ่อน85 โดยในปัจจุบันยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรเหล่านี้ใช้ในทางทันตกรรม ยกเว้น กานพลู ซึ่งพบการเกิดผื่นแพ้สัมผัสหลังจากการใช้วัสดุอุดฟันที่มีส่วนผสมของยูจีนอลซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในกานพลู32 กล่าวโดยสรุป สมุนไพรไทยถือว่ามีศักยภาพที่จะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์ได้ อย่างไรก็ดี การศึกษาในอนาคตถึงสารออกฤทธิ์ในสมุนไพร กลไลการออกฤทธิ์ในระดับเซลล์ ผลข้างเคียง รวมถึง ต้นทุนและผลประโยชน์ (cost benefit) จากการใช้สมุนไพร ถือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาและประยุกต์ใช้สมุนไพรในทางคลินิกได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการทางทันตกรรม

ตารางที่ 1 ตารางสรุปฤทธิ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคปริทันต์ของสมุนไพรจำนวน 7 ชนิด
Table 1 Antiperiodontal activity of 7 Thai medicinal plants

ติดต่อเกี่ยวกับบทความ:

สิรีรัตน์ สูอำพัน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ. อังรีดูนังต์ กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย โทรศัพท์: 02-218-8882 โทรสาร 02-218-8882 อีเมล์: pl_sireerat@yahoo.com

Correspondence to:

Sireerat Sooampon. Department of Pharmacology, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University, Henri Dunant Road, Bangkok 10330 Thailand Tel: 02-218-8882 Fax: 02-218-8882 E-mail: pl_sireerat@yahoo.com


เอกสารอ้างอิง

  1. Oliver RC, Brown LJ, Loe H. Periodontal diseases in the United States population. J Periodontol 1998;69:269-78.
  2. Chaisupamongkollarp S, Jaturanon S, Subhakorn S, Ploysangngam P. Caries and Periodontal experience among 998 priests and novices in Bangkok. J Med Assoc Thai 2008;91 Suppl 1:S130-8.
  3. Rautemaa R, Lauhio A, Cullinan MP, Seymour GJ. Oral infections and Systemic disease-an emerging problem in medicine. Clin Microbiol Infect 2007;13:1041-7.
  4. Yeo BK, Lim LP, Paquette DW, Williams RC. Periodontal disease - the emergence of a risk for systemic conditions: pre-term low birth weight. Ann Acad Med Singapore 2005;34:111-6.
  5. Ide M, Harris M, Stevens A, Sussams R, Hopkins V, Culliford D, et al. Periodontitis and Cognitive Decline in Alzheimer's Disease. PLoS One 2016;11:e0151081.
  6. Petersen PE, Bourgeois D, Ogawa H, Estupinan-Day S, Ndiaye C. The global burden of oral diseases and risks to oral health. Bull World Health Organ 2005;83:661-9.
  7.  Lovegrove JM. Dental plaque revisited: bacteria associated with periodontal disease. J N Z Soc Periodontol 2004;7-21.
  8.  Graves DT, Cochran D. The contribution of interleukin-1 and tumor necrosis factor to periodontal tissue destruction. J Periodontol 2003;74:391-401.
  9.  Loesche W. Dental caries and Periodontitis: contrasting two infections that have medical implications. Infect Dis Clin North Am 2007;21:471-502.
  10. Cobb CM. Clinical significance of non-surgical periodontal therapy: an evidence-based perspective of scaling and root planing. J Clin Periodontol 2002;29 Suppl 2:6-16.
  11. Council on Dental Therapeutics accepts Peridex. J Am Dent Assoc 1988;117:516-7.
  12. Ciancio SG. Antiseptics and Antibiotics as chemotherapeutic agents for periodontitis management. Compend Contin Educ Dent 2000;21:59-62.
  13. Kapoor A, Malhotra R, Grover V, Grover D. Systemic antibiotic therapy in periodontics. Dent Res J (Isfahan) 2012;9:505-15.
  14. Fozzard HA, Sheets MF. Cellular mechanism of action of cardiac glycosides. J Am Coll Cardiol 1985;5:10A-15A.
  15. Rastogi S, Kulshreshtha DK, Rawat AK. Streblus asper Lour. (Shakhotaka): a review of its chemical, pharmacological and ethnomedicinal properties. Evid Based Complement Alternat Med 2006;3:217-22.
  16. Wongkham S, Laupattarakasaem P, Pienthaweechai K, Areejitranusorn P, Wongkham C, Techanitiswad T. Antimicrobial activity of Streblus asper leaf extract. Phytother Res 2001;15:119-21.
  17. Taweechaisupapong S, Klanrit P, Singhara S, Pitiphat W, Wongkham S. Inhibitory effect of Streblus asper leaf-extract on adhesion of Candida albicans to denture acrylic. J Ethnopharmacol 2006;106:414-7.
  18. Taweechaisupapong S, Choopan T, Singhara S, Chatrchaiwiwatana S, Wongkham S. In vitro inhibitory effect of Streblus asper leaf-extract on adhesion of Candida albicans to human buccal epithelial cells. J Ethnopharmacol 2005;96:221-6.
  19. Taweechaisupapong S, Singhara S, Choopan T. Antimicrobial effect of Streblus asper leaf extract on selected anaerobic bacteria. J Dent Assoc Thail 2002;52:227-234.
  20. Taweechaisupapong S, Wongkham S, Rattanathogkom A, Singhara S, Choopan T, Suparee S. Effect of mouthrinse containing Streblus asper leaf extract on gingivitis and plaque formation. J Dent Assoc Thail 2002;52:383-391.
  21. Taweechaisupapong S, Intaranongpai K, Suwannarong W, Pitiphat W, Chatrchaiwiwatana S,Wara-aswapati N. Clinical and Microbiological effects of subgingival irrigation with Streblus asper leaf extract in chronic periodontitis. J Clin Dent 2006;17:67-71.
  22. Taweechaisupapong S, Pinsuwan W, Suwannarong W, Kukhetpitakwong R, Luengpailin S. Effects of Streblus asper leaf extract on the biofilm formation of subgingival pathogens. South African Journal of Botany 2014;94:1-5.
  23. Sripanidkulchai B, Junlatat J, Wara-aswapati N, Hormdee D. Anti-inflammatory effect of Streblus asper leaf extract in rats and its modulation on inflammation-associated genes expression in RAW 264.7 macrophage cells. J Ethnopharmacol 2009;124:566-70.
  24. Taweechaisupapong S, Wara-Aswapati N, Lunporm A, Khunkitti W, Sripanidkulchai B, inventor, Center for Research and Development of Herbal Health Products. Gel containing Streblus asper leaf extract as an adjunct to scaling and root planing in chronic periodontitis patients, Thailand petty patent TH2141 2005 Nov 15.
  25. Cortes-Rojas DF, de Souza CR, Oliveira WP. Clove (Syzygium aromaticum): a precious spice. Asian Pac J Trop Biomed 2014;4:90-6.
  26. Cai L, Wu CD. Compounds from Syzygium aromaticum possessing growth inhibitory activity against oral pathogens. J Nat Prod 1996;59:987-90.
  27. Rosas-Pinon Y, Mejia A, Diaz-Ruiz G, Aguilar MI, Sanchez-Nieto S, Rivero-Cruz JF. Ethnobotanical survey and antibacterial activity of plants used in the altiplane region of Mexico for the treatment of oral cavity infections. J Ethnopharmacol 2012;141:860-5.
  28. Bachiega TF, de Sousa JP, Bastos JK, Sforcin JM. Clove and Eugenol in noncytotoxic concentrations exert immunomodulatory/anti-inflammatory action on cytokine production by murine macrophages. J Pharm Pharmacol 2012;64:610-6.
  29. Lee YY, Hung SL, Pai SF, Lee YH, Yang SF. Eugenol suppressed the expression of lipopolysaccharide-induced proinflammatory mediators in human macrophages. J Endod 2007;33:698-702.
  30. Koh T, Murakami Y, Tanaka S, Machino M, Sakagami H. Re-evaluation of anti-inflammatory potential of eugenol in IL-1beta-stimulated gingival fibroblast and pulp cells. In Vivo 2013;27:269-73.
  31. Prashar A, Locke IC, Evans CS. Cytotoxicity of clove (Syzygium aromaticum) oil and its major components to human skin cells. Cell Prolif 2006;39:241-8.
  32. Sarrami N, Pemberton MN, Thornhill MH, Theaker ED. Adverse reactions associated with the use of eugenol in dentistry. Br Dent J 2002;193:257-9.
  33. Chao WW, Lin BF. Isolation and Identification of bioactive compounds in Andrographis paniculata (Chuanxinlian). Chin Med 2010;5:17.
  34. Reddy VL, Reddy SM, Ravikanth V, Krishnaiah P, Goud TV, Rao TP, et al. A new bis-andrographolide ether from Andrographis paniculata nees and evaluation of anti-HIV activity. Nat Prod Res 2005;19:223-30.
  35. Chen JX, Xue HJ, Ye WC, Fang BH, Liu YH, Yuan SH, et al. Activity of andrographolide and its derivatives against influenza virus in vivo and in vitro. Biol Pharm Bull 2009;32:1385-91.
  36. Amornchat C, Kraivaphan P, Kraivaphan V, Triratana T. The antibacterial activity of Andrographis paniculata crude extracts on oral bacteria. J Dent Assoc Thail 1991;41:178-85.
  37. Singha PK, Roy S, Dey S. Antimicrobial activity of Andrographis paniculata. Fitoterapia 2003;74:692-4.
  38. Hidalgo MA, Romero A, Figueroa J, Cortes P, Concha, II, Hancke JL, et al. Andrographolide interferes with binding of nuclear factor-kappaB to DNA in HL-60-derived neutrophilic cells. Br J Pharmacol 2005;144:680-6.
  39. Batkhuu J, Hattori K, Takano F, Fushiya S, Oshiman K, Fujimiya Y. Suppression of NO production in activated macrophages in vitro and ex vivo by neoandrographolide isolated from Andrographis paniculata. Biol Pharm Bull 2002;25:1169-74.
  40. Chandrasekaran CV, Gupta A, Agarwal A. Effect of an extract of Andrographis paniculata leaves on inflammatory and allergic mediators in vitro. J Ethnopharmacol 2010;129:203-7.
  41. Thawornrungroj S, Kuphasuk Y, Petmitr S, Srisatjaluk R, Kitkumthorn N. The application of Andrographis Paniculata gel as an adjunct in the treatment of chronic periodontitis: clinical and microbiologica effects. Naresuan U J 2011;19:38-49.
  42. Teparat-Burana T, Samarnsotthiwong C, Kasetsuwan J, Sirirat M, Rojanapanthu P. The efficacy of subgingivally delivered Andrographis paniculata gel to treat patients with periodontitis. J Res Pract Dent 2015;1-14.
  43. Al Batran R, Al-Bayaty FH, Al-Obaidi MM. In-vivo effect of andrographolide on alveolar bone resorption induced by Porphyromonas gingivalis and its relation with antioxidant enzymes. Biomed Res Int 2013;2013:276329.
  44. Al Batran R, Al-Bayaty F, Al-Obaidi MM, Abdulla MA. Acute toxicity and the effect of andrographolide on Porphyromonas gingivalis-induced hyperlipidemia in rats. Biomed Res Int 2013;2013:594012.
  45. Rojanapanthu P, Gritsanapan W, Sirirat M, Amornchat C, inventor, Mahidol University, Andrographis paniculata gel as an adjunct in the treatment of periodontitis. United States patent US7135164B2. 2006 Nove 14.
  46. Amalraj A, Pius A, Gopi S, Gopi S. Biological activities of curcuminoids, other biomolecules from turmeric and their derivatives – A review. J Tradit Complement Med 2016, http://dx.doi.org/10.1016/j.jtcme.2016.05.005.
  47. Abe Y, Hashimoto S, Horie T. Curcumin inhibition of inflammatory cytokine production by human peripheral blood monocytes and alveolar macrophages. Pharmacol Res 1999;39:41-7.
  48. Gulcubuk A, Altunatmaz K, Sonmez K, Haktanir-Yatkin D, Uzun H, Gurel A, et al. Effects of curcumin on tumour necrosis factor-alpha and interleukin-6 in the late phase of experimental acute pancreatitis. J Vet Med A Physiol Pathol Clin Med 2006;53:49-54.
  49. Kim GY, Kim KH, Lee SH, Yoon MS, Lee HJ, Moon DO, et al. Curcumin inhibits immunostimulatory function of dendritic cells: MAPKs and translocation of NF-kappa B as potential targets. J Immunol 2005;174:8116-24.
  50. Jagetia GC, Rajanikant GK. Curcumin treatment enhances the repair and regeneration of wounds in mice exposed to hemibody gamma-irradiation. Plast Reconstr Surg 2005;115:515-28.
  51. Sidhu GS, Singh AK, Thaloor D, Banaudha KK, Patnaik GK, Srimal RC, et al. Enhancement of wound healing by curcumin in animals. Wound Repair Regen 1998;6:167-77.
  52. Guimaraes MR, Coimbra LS, de Aquino SG, Spolidorio LC, Kirkwood KL, Rossa Jr C. Potent anti-inflammatory effects of systemically administered curcumin modulate periodontal disease in vivo. J Periodontal Res 2011;46:269-79.
  53. Nagasri M, Madhulatha M, Musalaiah SV, Kumar PA, Krishna CH, Kumar PM. Efficacy of curcumin as an adjunct to scaling and root planning in chronic periodontitis patients: a clinical and microbiological study. J Pharm Bioallied Sci 2015;7:S554-8.
  54. Behal R, Mali AM, Gilda SS, Paradkar AR. Evaluation of local drug-delivery system containing 2% whole turmeric gel used as an adjunct to scaling and root planing in chronic periodontitis: a clinical and microbiological study. .J Indian Soc Periodontol 2011;15:35-8.
  55. Waghmare PF, Chaudhari AU, Karhadkar VM, Jamkhande AS. Comparative evaluation of turmeric and chlorhexidine gluconate mouthwash in prevention of plaque formation and gingivitis: a clinical and microbiological study. J Contemp Dent Pract 2011;12:221-4.
  56. Suhag A, Dixit J, Dhan P. Role of curcumin as a subgingival irrigant: a pilot study. PERIO: Periodontal Pract Today 2007;2:115-21.
  57. Zainudin MM, Zakaria Z, Megat Mohd Nordin NA. The use of Piper sarmentosum leaves aqueous extract (Kadukmy) as antihypertensive agent in spontaneous hypertensive rats. BMC Complement Altern Med 2015;15:54.
  58. Thent ZC, Lin TS, Das S, Zakaria Z. Histological changes in the heart and the proximal aorta in experimental diabetic rats fed with Piper sarmentsoum. Afr J Tradit Complement Altern Med 2012;9:396-404.
  59. Boonla P, Phadungkit M, Mahaweerawat U, Sombee T. Antioxidant and antimutagenic activities of Piper sarmentosum Roxb. leaf extracts. IJPS 2014;10:283-94.
  60. Chanwitheesuk A, Teerawutgulrag A, Rakariyatham N. Screening of antioxidant activity and antioxidant compounds of some edible plants of Thailand. Food Chem 2005;92:491-497.
  61. Azlina M, Kamisah Y, Rahman R, Faizah O. Piper sarmentosum Roxb protects lung against oxidative stress induced by carbon tetrachloride in rats. JMPR 2011;5:6128-35.
  62. Hafizah AH, Zaiton Z, Zulkhairi A, Mohd Ilham A, Nor Anita MM, Zaleha AM. Piper sarmentosum as an antioxidant on oxidative stress in human umbilical vein endothelial cells induced by hydrogen peroxide. J Zhejiang Univ Sci B 2010;11:357-65.
  63. Zakaria ZA, Patahuddin H, Mohamad AS, Israf DA, Sulaiman MR. In vivo anti-nociceptive and Anti-inflammatory activities of the aqueous extract of the leaves of Piper sarmentosum. J Ethnopharmacol 2010;128:42-8.
  64. Taweechaisupapong S, Singhara S, Lertsatitthanakorn P, Khunkitti W. Antimicrobial effects of Boesenbergia pandurata and Piper sarmentosum leaf extracts on planktonic cells and biofilm of oral pathogens. Pak J Pharm Sci 2010;23:224-31.
  65. Pattanayak P, Behera P, Das D, Panda SK. Ocimum sanctum Linn. A reservoir plant for therapeutic applications: an overview. Pharmacogn Rev 2010;4:95-105.
  66. Kochikar Pai R, Bhat SS, Salman A, Chandra J. Use of an extract of Indian sacred plant Ocimum sanctum as an anticariogenic agent: an in vitro Study. Int J Clin Pediatr Dent 2015;8:99-101.
  67. Gupta-Wadhwa A, Wadhwa J, Duhan J. Comparative evaluation of antimicrobial efficacy of three herbal irrigants in reducing intracanal E. faecalis populations: an in vitro study. J Clin Exp Dent 2016;8:e230-5.
  68. Gopalkrishna A, Seshagiri M, Muddaiah S, Shashidara R. In vitro antifungal activity of different components of Centratherum anthelminticum and Ocimum sanctum seed oils and their synergism against oral pathogenic fungi. J Dent Res Dent Clin Dent Prospects 2016;10:92-8.
  69. Eswar P, Devaraj CG, Agarwal P. Anti-microbial activity of Tulsi {Ocimum Sanctum (Linn.) extract on a periodontal pathogen in human dental plaque: an in vitro study. J Clin Diagn Res 2016;10:ZC53-6.
  70. Mallikarjun S, Rao A, Rajesh G, Shenoy R, Pai M. Antimicrobial efficacy of Tulsi leaf (Ocimum sanctum) extract on periodontal pathogens: an in vitro study. J Indian Soc Periodontol 2016;20:145-50.
  71. Hosadurga RR, Rao SN, Edavanputhalath R, Jose J, Rompicharla NC, Shakil M, et al. Evaluation of the efficacy of 2% Ocimum sanctum gel in the treatment of experimental periodontitis. Int J Pharm Investig 2015;5:35-42.
  72. Gupta D, Bhaskar DJ, Gupta RK, Karim B, Jain A, Singh R, et al. A randomized controlled clinical trial of Ocimum sanctum and Chlorhexidine mouthwash on dental plaque and gingival inflammation. J Ayurveda Integr Med 2014;5:109-16.
  73. Khurshid Z, Zafar MS, Zohaib S, Najeeb S, Naseem M. Green Tea (Camellia sinensis) Chemistry and Oral Health. Open Dent J 2016;10:166-73.
  74. Araghizadeh A, Kohanteb J, Fani MM. Inhibitory activity of green tea (Camellia sinensis) extract on some clinically isolated cariogenic and periodontopathic bacteria. Med Princ Pract 2013;22:368-72.
  75. Lombardo Bedran TB, Feghali K, Zhao L, Palomari Spolidorio DM, Grenier D. Green tea extract and its major constituent, epigallocatechin-3-gallate, induce epithelial beta-defensin secretion and prevent beta-defensin degradation by Porphyromonas gingivalis. J Periodontal Res 2014;49:615-23.
  76. Kim-Park WK, Allam ES, Palasuk J, Kowolik M, Park KK, Windsor LJ. Green tea catechin inhibits the activity and neutrophil release of Matrix Metalloproteinase-9. J Tradit Complement Med 2016;6:343-346.
  77. Yoshinaga Y, Ukai T, Nakatsu S, Kuramoto A, Nagano F, Yoshinaga M, et al. Green tea extract inhibits the onset of periodontal destruction in rat experimental periodontitis. J Periodontal Res 2014;49:652-9.
  78. Jenabian N, Moghadamnia AA, Karami E, Mir AP. The effect of Camellia sinensis (green tea) mouthwash on plaque-induced gingivitis: a single-blinded randomized controlled clinical trial. Daru 2012;20:39.
  79. Sarin S, Marya C, Nagpal R, Oberoi SS, Rekhi A. Preliminary clinical evidence of the antiplaque, antigingivitis efficacy of a mouthwash containing 2 % green tea - a randomised clinical trial. Oral Health Prev Dent 2015;13:197-203.
  80. Barnes PM, Bloom B, Nahin RL. Complementary and alternative medicine use among adults and children: United States, 2007. Natl Health Stat Report 2008;1-23.
  81. Gurib-Fakim A. Medicinal plants: traditions of yesterday and drugs of tomorrow. Mol Aspects Med 2006;27:1-93.
  82. Henderson L, Yue QY, Bergquist C, Gerden B, Arlett P. St John's wort (Hypericum perforatum): drug interactions and clinical outcomes. Br J Clin Pharmacol 2002;54:349-56.
  83.  Jayakumar T, Hsieh CY, Lee JJ, Sheu JR. Experimental and Clinical pharmacology of Andrographis paniculata and its major bioactive phytoconstituent Andrographolide. Evid Based Complement Alternat Med 2013;846740.
  84.  Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide from Andrographis paniculata against carbontetrachloride. Indian J Med Res 1990;92:276-283.
  85. Kumar R, Kar B, Dolai N, Haldar P. Study on developmental toxicity and behavioural safety of Streblus asper Lour. bark on Zebrafish embryos. Indian J Nat Prod Resour 2013;4:255-59.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

วิธัณยา มธุราสัย
สิรีรัตน์ สูอำพัน
ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วรัญญู พูลเจริญ
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบบทดสอบ