การวัดปริมาณรังสี

บทความ

การวัดปริมาณรังสี

โดยปกติมนุษย์ได้รับรังสีจากธรรมชาติและจากที่มนุษย์ผลิตขึ้น แหล่งกำเนิดรังสีจากธรรมชาติมาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ได้แก่ สารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ในโลก ได้แก่ ธาตุกัมมันตรังสีที่สลายตัวช้า เช่น ยูเรเนียม, เรเดียม, ธอเรียม ซึ่งอยู่ตามพื้นดิน หินในปริมาณแตกต่างกันไป, รังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์รวมทั้งดาวดวงอื่นๆ ซึ่งมีปฏิกิริยานิวเคลียร์ปล่อยรังสีผ่านชั้นบรรยากาศมายังโลก เช่น อนุภาคแอลฟา, รังสีแกมมา เป็นต้น นอกจากนี้มนุษย์ยังรับรังสีจาก radioactive nuclides ซึ่งมาจากอาหาร การสูดดม เช่น potassium 40 (40P), carbon 14 (14C), hydrogen 3 (3H),  strontium 90 (90Sr) เป็นต้น ส่วนแหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น ได้แก่รังสีวินิจฉัยทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภค บริโภคตลอดจนอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น จากโทรทัศน์, การเผาไหม้เชื้อเพลิง เป็นต้น ทั้งนี้ปริมาณรังสีส่วนมาก (ร้อยละ 96) ที่มนุษย์ได้รับมาจากสิ่งแวดล้อม โดยปริมาณรังสีเฉลี่ยที่มนุษย์ได้รับต่อคนต่อปี คือ 2.4 mSv หรือคิดเป็นประมาณ 6.58 µSv ต่อวัน1  

เมื่อรังสีเอกซ์ผ่านวัตถุหรือสสารใดก็ตาม จะถูกดูดซึมทำให้ความเข้มจะลดลงซึ่งการดูดซึมรังสีเอกซ์ขึ้นกับความหนา, ความหนาแน่น, เลขอะตอมของวัตถุและพลังงานของรังสีเอกซ์เป็นหลัก โดยวัตถุที่มีความหนามาก, ความหนาแน่นสูงและเลขอะตอมสูงจะดูดกลืนรังสีมากกว่าวัตถุที่บางกว่า, ความหนาแน่นน้อยกว่าและเลขอะตอมน้อยกว่า สำหรับพลังงานของรังสีเอกซ์  สามารถวัดได้โดยค่าความต่างศักย์ของหลอดรังสี ค่าความต่างศักย์มากจะให้รังสีเอกซ์ซึ่งมีความยาวคลื่นสั้น มีพลังงานมาก สามารถทะลุทะลวงได้ดีทำให้ถูกดูดซึมน้อยกว่า

วิธีวัดปริมาณรังสี

การวัดปริมาณรังสีเป็นการวัดปริมาณพลังงานที่ถูกดูดซึมต่อหนึ่งหน่วยของบริเวณที่ต้องการศึกษา ซึ่งการวัดปริมาณรังสีนี้ทำได้หลายแบบ วิธีวัดปริมาณรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยที่นิยมในปัจจุบันได้แก่

  1. Absorbed dose เป็นการวัดปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ถูกดูดซึมต่อหนึ่งหน่วยของสสาร ซึ่งแตกต่างไปขึ้นกับชนิดและพลังงานของรังสีและชนิดของสสารที่ดูดซึมพลังงานนั้น หน่วยที่ใช้ตามระบบ SI unit คือ Gray (Gy)
  2. Equivalent dose (HT) เป็นค่าที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบผลทางชีววิทยาของรังสีชนิดต่างๆ ต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดๆ โดยคำนวณจากสมการดังนี้
    • HT = WR x DT
    • WR คือ radiation-weighting factor หมายถึงค่าสัมพัทธ์ของผลทางชีววิทยาของรังสีแต่ละชนิด ซึ่งแตกต่างกันไป โดยค่า WR ของรังสีเอกซ์มีค่าเท่ากับ 1 ค่า WR ของโปรตอนเท่ากับ 5 หมายถึงปริมาณที่เท่ากันโปรตอนจะทำลายเนื้อเยื่อได้มากกว่ารังสีเอกซ์ 5 เท่า จึงมีค่า WR เท่ากับ 5 และอนุภาคแอลฟาซึ่งก่อให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อได้มากกว่ารังสีเอกซ์ 20 เท่า จึงมีค่า WR เท่ากับ 20 หน่วยที่ใช้ตามระบบ SI unit คือ sievert (Sv) จะเห็นได้ว่า WR ของรังสีเอกซ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยมีค่าเท่ากับ 1 ดังนั้น 1 Sv จึงเท่ากับ 1 Gy
    • DT คือ absorbed dose
  3. Effective dose (E) เป็นค่าที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบผลทางชีววิทยาของรังสีชนิดต่างๆ และเปรียบเทียบปริมาณรังสีที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งได้รับเทียบกับบริเวณอื่นของร่างกายทั้งหมด เนื่องจากเนื้อเยื่อแต่ละชนิดตอบสนองต่อรังสีแตกต่างกัน International Commission on Radiological Protection (ICRP)  จึงกำหนดค่าที่แสดงความไวต่อรังสีของอวัยวะนั้นๆ เรียกว่า tissue-weighting factor (WT) ดังแสดงในตารางที่ 1 การหาค่า effective dose จะคำนวณจาก WT ของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดตามสมการดังนี้
    • E = ΣWT x HT
    • หน่วยของ effective dose คือ Sv
ตาราง 1 Tissue-weighting factor (WT) ของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ตามที่ International Commission on Radiological Protection (ICRP) กำหนดในปี 20072 เพื่อใช้คำนวณ effective dose

Organ

Tissue-weighting factor

Bone marrow

0.12

Breast

0.12

Colon

0.12

Lung

0.12

Stomach

0.12

Gonads

0.08

Bladder

0.04

Oesophagus

0.04

Liver

0.04

Thyroid

0.04

Bone surface

0.01

Salivary glands

0.01

Skin

0.01

Remainder tissues*

0.12

* adrenals, extrathoracic region, small intestine, kidney, muscle, pancreas, spleen, thymus, gall bladder, heart, lymphatic nodes, oral mucosa, uterus/cervix (female), prostate (male)

การถ่ายภาพรังสีทางทันตกรรมมีหลายวิธีตั้งแต่การถ่ายภาพรังสีในปากทั้งชนิดรอบปลายรากและชนิดกัดสบ การถ่ายภาพรังสีนอกปากเช่น การถ่ายภาพรังสีแพโนรามิก ตลอดจนในปัจจุบันการถ่ายภาพรังสีด้วย computed tomography ทั้งชนิด cone-beam computed tomography (CBCT) ทำให้สามารถเห็นฟัน กระดูกขากรรไกรและอวัยวะใกล้เคียงได้ในสามมิติ ซึ่งส่งเสริมการวินิจฉัยตลอดจนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพรังสีด้วยวิธีต่างๆ ไม่เท่ากัน และแม้แต่ในการถ่ายภาพรังสีด้วยวิธีเดียวกันปริมาณรังสีก็อาจแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การปรับค่าตัวแปรของเครื่องถ่ายภาพ ได้แก่ เวลาที่ใช้, ค่าความต่างศักย์และกระแสไฟฟ้า
  2. ชนิดของ collimator (สำหรับเครื่องถ่ายภาพรังสีในปาก) ซึ่งเป็นตัวกำหนดขนาดของลำรังสีที่ออกมาจากเครื่อง มี 2 ชนิด คือ ชนิดกลมและสี่เหลี่ยม ชนิดสี่เหลี่ยมจะลดปริมาณรังสีที่ออกมาสู่ผู้ป่วยได้มากกว่า แต่วิธีการถ่ายค่อนข้างยุ่งยากกว่า เนื่องจากมักเกิด cone cut ได้ง่ายจึงไม่เป็นที่นิยม
  3. ขนาดของขอบเขตของบริเวณที่ถ่ายภาพรังสี (filed of view; FOV) โดยเฉพาะการถ่ายภาพรังสี CT เนื่องจากขนาด FOV ต่างกันในแต่ละเครื่อง ถ้า FOV ขนาดใหญ่ ผู้ป่วยได้รับรังสีในบริเวณกว้างกว่า จึงรับปริมาณรังสีมากกว่า FOV ขนาดเล็ก

ตัวอย่างการถ่ายภาพรังสีรอบปลายรากโดยใช้ imaging plate หรือ F-speed film 1 ภาพ ผู้ป่วยจะได้รับรังสีประมาณ 10 µSv3 การถ่ายภาพรังสีแพโนรามิก 1 ภาพด้วยระบบดิจิทัล จะได้รับปริมาณรังสีประมาณ 14-24 µSv3 และการถ่ายภาพ lateral cephalometric 1 ภาพด้วยระบบดิจิทัล จะได้รับปริมาณรังสีประมาณ 5.6 µSv3


เอกสารอ้างอิง

  1. White SC, Pharoah MJ. Oral Radiology Principles and Interpretation. 6th ed. St. Louis:Mosby;2009:32-43, 251.
  2. International Commission on Radiological Protection. Recommendations of the International Commission on Radiological Protection, ICRP Publication 103.  Ann ICRP 2008;37:2-4.
  3. Ludlow JB, Davies-Ludlow LE, White SC. Patient risk related to common dental radiographic examinations: the impact of 2007 International Commission on Radiological Protection recommendations regarding dose calculation. J Am Dent Assoc 2008;139:1237-43.

แบบทดสอบ