ความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดจากการใช้แอลกอฮอล์ (Alcohol-related disorder)

บทความ

ความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดจากการใช้แอลกอฮอล์ (Alcohol-related disorder)

เป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ เป็นต้น แล้วเกิดอาการผิดปกติส่งผลกระทบต่อตัวผู้ดื่มและสังคม จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุข

แอลกอฮอล์ (Alcohol) เป็นสารเคมีกึ่งธรรมชาติกึ่งสังเคราะห์ ได้จากการหมักพืช เมล็ดพืชต่าง ๆ มีชื่อเรียกต่างกันตามวัตถุดิบที่นำมาผลิต มีชื่อทางเคมีว่า ethanol ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีจากกระเพาะและลำไส้ จากนั้นจะถูกทำลายที่ตับ ดังนั้นในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้มานานจะเสี่ยงต่อภาวะตับโต ตับอักเสบ หรือตับแข็งได้สูงกว่าคนปกติ ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบปัญหาทางสุขภาพกายอื่นๆ ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรังอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ตับอ่อนมีปัญหาทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจฝ่อ ซึ่งหากกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงานจะทำให้ผู้ป่วยหัวใจวายเสียชีวิตได้ ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดสุรา จะส่งผลทำให้เกิดการผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้

ลักษณะภายในช่องปาก พบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายกว่าคนปกติ ยิ่งในผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งร่วมด้วยจะมีความรุนแรงของโรคปริทันต์มากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคตับแข็งร่วม ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดฟันสึกเนื่องจากการนอนกัดฟัน รวมทั้งกลไกที่แอลกอฮอล์ไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการอาเจียนบ่อยๆ ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในช่องปากมีผลทำให้มีโอกาสเกิดฟันสึกแบบ chemical erosion  นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะทุโภชนาการ ซึ่งเป็นผลมาจากขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จะพบรอยโรคที่บริเวณลิ้นและริมฝีปาก เช่น ลิ้นมีลักษณะเลี่ยนแดง แผลที่มุมปาก (angular cheilitis) เป็นต้น และมักจะพบมีแผลในช่องปาก

ความผิดปกติทางจิตเวชที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ได้แก่

1.1 Alcohol intoxication : ภาวะเมาเหล้า

การดื่มสุราก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม แสดงอาการ เช่น พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เดินเซ จับหยิบของตกหล่น ตักข้าวไม่ตรงปาก ไม่มีสมาธิ ทำอะไรไม่รู้ตัว จำเหตุการณ์ต่างๆไม่ได้ บางคนดื่มมากจนหมดสติ เป็นต้น

แนวทางการรักษา

  • รักษาตามอาการ เน้นให้นอนหลับพักผ่อน
  • ให้สารอาหารกลูโคส และวิตามินบี 1
  • ในรายที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อันตราย อาจให้ยาเพื่อระงับอาการก้าวร้าว

1.2 Alcohol withdrawal : ภาวะถอนเหล้า

เป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง เกิดขึ้นในผู้ที่หยุดดื่มหรือลดการดื่มสุราลงกระทันหัน หลังจากที่ดื่มติดต่อกันมานานอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้หลังจากดื่มวิสกี้ปริมาณ 16 ออนซ์ หรือ 2/3 ขวดต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานาน 14-21 วัน

ลักษณะอาการทางคลินิก แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความรุนแรงและช่วงเวลาที่เกิดอาการ

  1. Uncomplicated alcohol withdrawal อาการที่พบช่วงแรกสุด และบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการตัวสั่น มือสั่น ร่วมกับ มีอารมณ์หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดหลังจากหยุดดื่มได้ไม่กี่ชั่วโมง พบบ่อย ๆ ว่า จะเป็น ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น อาการสั่นเป็นอาการที่เห็นได้ชัด สั่นเร็ว 5-7 ครั้งต่อวินาที การสั่นจะมากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือมีความเครียด ถ้าให้เหยียดแขนหรือแลบลิ้น จะยิ่งเห็นชัด อาการอื่น ๆ ที่พบในระยะนี้ได้แก่ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ วิตกกังวล อารมณ์ซึมหดหู่ หรือหงุดหงิด นอนหลับๆ ตื่นๆ มี autonomic hyperactivity เช่น ชีพจรเร็ว เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตขึ้นสูง บางคนอาจมีประสาทหลอน อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากสุดในช่วง 24-48 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ ลดลงจนปกติภายใน 5-7 วัน แต่อาจมี อารมณ์หงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับได้ถึง 10 วันหรือนานกว่านั้น
  2. Alcohol withdrawal seizure พบว่าร้อยละ 90 เกิดอาการชักในช่วง 7-48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา ลักษณะการชัก โดยมากจะเป็นการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (generalized seizure) เกิด 2-6 ครั้ง
  3. Alcohol hallucinosis มักเริ่มมีอาการภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่ม ลักษณะอาการประสาทหลอน ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงแว่ว เช่น เสียงนาฬิกา เสียงรถยนต์ เสียงระฆัง เสียงคนพูดกัน หรือพูดข่มขู่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัว ตื่นตระหนก กระสับกระส่าย โดยทั่วไปจะมีอาการอยู่ไม่นาน เป็นเพียงชั่วโมงถึงหลายวัน ซึ่งผู้ป่วยจะค่อยๆ รู้ตัวว่าเสียงที่ได้ยินนั้นไม่มีจริง มีอยู่ส่วนน้อยที่อาการไม่หายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน
  4. Alcohol withdrawal delirium (Delirium Tremens) อาการมักเกิดขึ้นหลังจากหยุดสุราได้ 2-3 วัน และจะรุนแรงมากที่สุดในวันที่ 4-5 มักเกิดในผู้ที่ดื่มสุราหนักติดต่อกันมานาน 5-15 ปี และมีความเจ็บป่วยทางร่างกายร่วม เช่น อุบัติเหตุ โรคตับ โรคติดเชื้อ พบได้ร้อยละ 5-6 ลักษณะอาการ delirium คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเพ้อ งุนงง สับสน หรือหลงลืม มักเริ่มเป็นตอนเย็นหรือกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ประสาทหลอนเห็นคนจะมาทำร้าย เห็นตำรวจจะมาจับ หรืออาจเห็นเป็นสัตว์ต่าง ๆ รู้สึกว่ามีอะไรมาไต่ตามตัว บางครั้งหูแว่ว เสียงคนพูด เสียงคนข่มขู่ มีท่าทางหวาดกลัว บางครั้งพูดฟังไม่เข้าใจ ร้องตะโกน หรือหลบซ่อนตัว อาการเป็นตลอดทั้งคืน ช่วงเช้าส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลง ตอนบ่ายอาการปกติดี ซึ่งเป็นการแกว่งไกวของอาการ (fluctuation) ญาติมักจะคิดว่าหายดีแล้ว แต่พอตกเย็น ผู้ป่วยก็เริ่มกลับมามีอาการอีก อาการ delirium นี้เป็นไม่นาน ส่วนใหญ่จะมีอาการมากอยู่ ประมาณ 3 วันแล้วค่อย ๆ ทุเลาลง

แนวทางการรักษา

  • ลดอาการถอนเหล้า โดยการให้ยาทดแทนเหล้า ได้แก่ยากลุ่ม benzodiazepine ร่วมกับการให้วิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามินบี 1 (thiamine) และดูแลรักษาโรคร่วมทางกาย
  • การป้องกันการกลับไปดื่มเหล้าซ้ำ โดยใช้กระบวนการทางจิตสังคม เช่น จิตบำบัด กลุ่มบำบัด ครอบครัวบำบัด เป็นต้น

1.3 Alcohol dependence : โรคติดสุรา

ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ติดต่อกันนาน หรือดื่มมากจนมีผลกระทบต่อชีวิต เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต มีการใช้เวลาในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราจนกระทั่งขาดงาน ทำงานไม่ไหวเพราะเกิดอาการถอนสุรา เสียเวลาไปกับการฟื้นจากฤทธิ์ของ alcohol เกิดภาวะ tolerance ต้องมีการเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดอาการ withdrawal เมื่อลดปริมาณการดื่มหรือหยุดดื่ม

แนวทางการรักษา

  • รักษาเช่นเดียวกับ alcohol withdrawal

เอกสารอ้างอิง

  1. คู่มือแนวทางการรักษาทันตกรรมผูปวยจิตเวช. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. http://www.srithanya.go.th/srithanya/images/file/hrfile/clinical_dental_practice_guideline_ for_psychiatric_patients.pdf
  2. Friedlander AH, Norman DC. Late-life depression: Psychopathology, medical interventions, and dental implications. Oral Surg Oral Med Oral Pathol. 2002;94:404-12.
  3. American Dental Association Councils on Scientific. Guideline on Caries-risk Assessment and Management for Infants, Children, and Adolescents. American Dental Association: Chicago, Ill; 2013. Retrieved from http://www.aapd.org/media/Policies_Guidelines/G_CariesRiskAssessment.pdf [30 March 2014].65
  4. Cho MA, Ko JY, Kim YK, Kho HS. Salivary flow rate and clinical characteristics of patients with xerostomia according to its aetiology. J Oral Rehabil. 2010;37:185-93.
  5. Su N, Marek CL, Ching V, Grushka M. Caries prevention for patients with dry mouth. J Can Dent Assoc. 2011;77:b85.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.สุจิมนต์ พรหมประดิษฐ์
โรงพยาบาลศรีธัญญา

แบบทดสอบ