Autism Spectrum Disorder (ASD)

บทความ

Autism Spectrum Disorder (ASD)

เป็นกลุ่มโรคที่ประกอบด้วยความบกพร่องของพัฒนาการทางสังคม การสื่อสาร และมีพฤติกรรมหรือความสนใจซ้ำๆ อย่างไม่เหมาะสม จัดเป็นโรคในกลุ่ม neurodevelopmental disorder (1)

ลักษณะอาการ (2)

  1. ความบกพร่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการไม่สบตา ไม่มี social smile ในวัยทารก หรือไม่กางแขนให้อุ้มเวลาผู้ใหญ่เข้าหา การไม่ทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่หันตามเวลาเรียกชื่อ ไม่กลัวคนแปลกหน้า ไม่ติดคนเลี้ยง เล่นคนเดียว แยกตัวไม่ชอบคบใคร ในวัยเรียนไม่มีความสนใจร่วม และไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกคนอื่น ไม่สามารถยืดหยุ่นในกฎระเบียบที่วางได้ และในช่วงวัยรุ่นยังแยกตัวอยู่ในโลกส่วนตัว
  2. ความบกพร่องทางภาษาและการสื่อสาร พบตั้งแต่ไม่มีภาษาพูดเลยหรือมีภาษาแปลกๆ ของตนเองที่ผู้อื่นไม่เข้าใจความหมาย พูดสลับตำแหน่งของคำในประโยคจนผู้อื่นไม่เข้าใจ ใช้คำศัพท์ไม่เหมาะสม และพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
  3. พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เขย่ามือ เขย่งขา กินอะไรแบบเดิมๆ พูดแต่เรื่องเดิมๆ ดูภาพยนตร์ตอนเดิมๆ มีความคิดซ้ำๆ ความสนใจอะไรซ้ำๆ ซึ่งมักไม่เหมาะสม เช่น สนใจแต่ใบพัดพัดลมที่หมุนๆ มองแต่พัดลม พูดแต่เรื่องพัดลมหมุนๆ

เด็กกลุ่มนี้มักแสดงอาการทางอารมณ์อย่างไม่เหมาะสม และควบคุมไม่ได้ เช่น บางครั้งจะร้องไห้โดยผู้ใหญ่ไม่สามารถหาสาเหตุได้นานๆเป็นชั่วโมงๆ นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้จะมีการรับรู้สิ่งเร้าที่แตกต่างจากเด็กปกติ เช่น เด็กบางคนจะไวต่อเสียงดัง บางคนไวต่อเสียงที่มีความถี่สูง บางคนรับรู้การสั่นสะเทือนได้น้อย บางคนไวต่อการสัมผัส ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาจะเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างไม่เหมาะสมกับบริบทที่คนทั่วไปตอบสนองกัน เช่น ในเด็กที่ไวต่อเสียงดัง อาจแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมเวลาผู้ใหญ่พูดด้วยเสียงดัง เด็กอาจแสดงทีท่าตื่นเต้นหรือนิ่งเฉยเหมือนไม่รับรู้ หรือในเด็กที่รับรู้ต่อกลิ่นได้น้อยอาจจะชอบดมสิ่งของก่อนหยิบขึ้นมาเล่น (3)

ร้อยละ 70 ของเด็ก ASD จะมีภาวะสติปัญญาบกพร่องร่วมด้วย โดยร้อยละ 30 จะมีสติปัญญาบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง ร้อยละ 45-50 จะมีระดับสติปัญญาบกพร่องแบบรุนแรงขึ้นไป พบว่าระดับสติปัญญาที่บกพร่องรุนแรงสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้พบว่ามีเด็ก ASD จำนวนหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษ เช่น การคำนวณ ความจำ ดนตรี ซึ่งสูงกว่าเด็กปกติทั่วๆไปและอาจพบปัญหาพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง หยุกหยิก ก้าวร้าว ทำร้ายร่างกายตนเอง ปัญหาการกิน และการนอนได้ (3)

การรักษา(4)

  1. การบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่นำมาใช้บ่อย ได้แก่ Language intervention, Social competency intervention, Intervention for unwanted behavior และ Education intervention
  2. การใช้ยา ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาอาการหลักของโรคได้ จะใช้ยาเพียงเพื่อรักษาอาการที่เกิดร่วม ซึ่งยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงในช่องปาก หรือมีผลต่อการรักษาทางทันตกรรมได้   ยกตัวอย่างเช่น
    1.  Antipsychotic medication
      1. conventional antipsychotic medication เช่น Chlorpromazine, Haloperidol, Trifluoperazine, Fluphenazine, Thioridazine มีผลข้างเคียงในช่องปาก เช่น อาจทำให้เกิดอาการลิ้นแข็ง กลืนลำบาก เกร็งตามกล้ามเนื้อใบหน้า ลำคอ มีปากสั่นเหมือนปากกระต่าย (rabbit syndrome) น้ำลายไหล กลืนน้ำลายไม่ลง ดูดหรือขมุบขมิบปากและมีลิ้นม้วนไปมาในปากหรือเอาลิ้นดุนแก้มผู้ป่วยทำโดยไม่รู้ตัวหากเป็นมาระยะหนึ่งถึงแม้หยุดยาอาการจะยังไม่หาย ทำให้มีผลต่อการทำฟัน รวมถึงการใส่ฟัน เป็นต้น
      2. Atypical antipsychotic medication เข่น Clozapine, Risperidone, Olanzapine, quetiapine มีผลข้างเคียงในช่องปาก คือ น้ำลายไหลมาก (siaorrhea) ปากสั่นเหมือนปากกระต่าย (rabbit syndrome)หน้าสั่น สะบัดไปมา
    2. Antidepressant  กลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors : SSRIs เช่น Fluoxetine, Citalopram, Fluvoxamine, Paroxetine มีผลข้างเคียงในช่องปาก คือ น้ำลายแห้ง การรับรสเปลี่ยนแปลง (dysgeusia) มีการอักเสบของเยื่อบุช่องปาก (stomatitis) ลิ้น (glossitis) และต่อมน้ำลาย เหงือกบวม มักมีการกัดเน้นฟันหรือนอนกัดฟัน (clenching or bruxism) โดยยากลุ่มนี้ Drug interaction ต่อยาที่ใช้ในทางทันตกรรม เช่น codeine, Erythromycin, Carbamazepine, benzodiazepine
    3. Mood stabilizers กลุ่ม valproate sodium  โดยอาจมีภาวะเลือดหยุดช้าหรือเลือดออกง่ายกว่าปกติภายหลังการรักษาทางทันตกรรม กลุ่ม carbamazepine มีผลข้างเคียงในช่องปาก คือน้ำลายแห้ง ลิ้นอักเสบ และมี Drug interaction ต่อยาที่ใช้ในทางทันตกรรม เช่น Erythromycin, Clarithromycin เป็นต้น

การรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยออทิสติก

ผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะบกพร่องในแต่ละด้าน หรือสิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว  ดังนั้นจึงควรมีการซักประวัติทั้งข้อมูลประวัติทางการแพทย์ ประวัติทางทันตกรรม พัฒนาการทั้งทางด้านสังคม การสื่อสาร ภาษาของผู้ป่วย สิ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยก้าวร้าว ต่อต้าน หรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ รวมถึงสิ่งที่กลัวหรือสิ่งที่ชอบ  เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย (5-6)

การจัดสิ่งแวดล้อม และระยะเวลาในการนัดแต่ละครั้ง ในผู้ป่วย ASD ควรจัดสภาพแวดล้อมให้มีสิ่งกระตุ้นน้อยที่สุด เช่นหากพบว่าผู้ป่วยถูกกระตุ้นได้ด้วยแสงสะท้อนของผิวเครื่องมือที่เป็นโลหะ อาจใช้ผ้าช่วยหุ้มอุปกรณ์ได้ เป็นต้น (6) รวมถึงระยะเวลาในการรอคอยก่อนทำการรักษาแต่ละครั้ง ไม่ควรนานเกิน 10-15 นาที (7)

การปรับพฤติกรรมในขณะรับการรักษาทางทันตกรรม ในการปรับพฤติกรรม สามารถใช้วิธีการปรับพฤติกรรมแบบพื้นฐาน เช่น วิธีการบอก-แสดง-ทำ โดยเน้นการพูดให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย การเสริมแรงเชิงบวก (positive reinforcement) การเบี่ยงเบนความสนใจ ได้ในผู้ป่วยที่มีทักษะด้านการสื่อสารที่ดีพอ แต่อาจจำเป็นต้องใช้เวลามากพอสมควร (7-10)

การปรับพฤติกรรมด้วยวิธีเฉพาะ มีการแนะนำให้ใช้ Applied Behaviour Analysis (ABA) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยา มุ่งเน้นที่การวิเคราะห์และปรับแก้ไขพฤติกรรมของผู้ป่วย(7,11) โดยศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย นำข้อมูลนั้นมาใช้ร่วมกับการปรับพฤติกรรม โดยวิธีการนี้อาจใช้ร่วมกับการปรับพฤติกรรมแบบพื้นฐาน เช่น การเสริมแรงเชิงบวก การเบี่ยงเบนความสนใจ เป็นต้น (7,9-10) หรือการที่ผู้ป่วย ASD มักจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ การให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรม ซักซ้อมวิธีการรักษาที่บ้าน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย จึงมีความสำคัญมาก เช่น การฝึกสอนทำความรู้จักอุปกรณ์/ขั้นตอนการทำฟันที่บ้าน (6) การสร้างความคุ้นเคย โดยฝึกให้ยอมรับสถานการณ์จริง (Desensitization)  เป็นวิธีการในการค่อยๆให้ผู้ป่วยได้เผชิญสิ่งที่กลัว หรือสถานการณ์ที่กลัว  โดยอาจใช้สื่อเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือพาผู้ป่วยมาที่คลินิกจริงๆ (10) ใน AAPD best practices ปี 2017 ได้มีการกล่าวถึงโปรแกรม D-Termined ซึ่งเป็นการจัดการพฤติกรรมแบบไม่ใช้ยา โดยโปรแกรมนี้จะสร้างความคุ้นเคย และฝึกพฤติกรรมที่ยอมรับได้ในการทำการรักษาทางทันตกรรม ผ่านการฝึกทักษะอย่างซ้ำๆ (11)

สำหรับการจัดการพฤติกรรมโดยใช้การผูกยึด ทันตแพทย์ควรตัดสินใจเลือกวิธีการอื่นที่ไม่ใช่เพียงการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวก่อน โดยจะพิจารณาใช้ เมื่อการควบคุมการเคลื่อนไหวนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งผู้ป่วย และบุคลากร หรือทำให้ลดการเกิดการรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ (11)

การใช้ก๊าซไนตรัสออกไซด์ร่วมกับออกซิเจนในการทำให้สงบได้ผลค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตาม ควรมีการแนะนำให้ผู้ป่วย คุ้นเคยและยอมรับการวางหน้ากากครอบจมูกที่จะสัมผัสใบหน้าของผู้ป่วยขณะให้การรักษา (6) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีฟันผุรุนแรง อายุน้อย หรือมีพฤติกรรมต่อต้านเป็นอย่างมาก อาจจะต้องพิจารณาให้การรักษาภายใต้การให้ยาสลบ (general anesthesia) (5-6,13)


เอกสารอ้างอิง

  1. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorder. 5th ed. Arlington, VA: American Psychiatric Association; 2013.p. 50-8.
  2. Sadock BJ, Sandock VA, Ruiz P. Kaplan & Sadock’s synopsis of psychiatry: Behavioral sciences/clinical psychiatry. 11th ed. Philadelphia: Lipiincott Williams & Wilkins; 2015. P.1152-68.
  3. มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์: จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4; 2558. หน้า 553-9.
  4. แนวทางการรักษาทางทันตกรรมผู้ป่วยจิตเวช: ฉบับที่ 2; 2557. หน้า 43-9.
  5. ชมรมวิชาชีพทันตกรรม กรมสุขภาพจิต. แนวทางการจัดการทางทันตกรรมสำหรับเด็กพิเศษ.[อินเตอร์เน็ต]; 2559 [เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2561].เข้าถึงได้จาก http://rajanukul.go.th/new/_admin/download/5-4614-1450157545.pdf
  6. มาลี อรุณากูร. การจัดการพฤติกรรมของเด็กเพื่อการรักษาทางทันตกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2กรุงเทพมหานคร: บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง; 2555:303- 430.
  7. Iosif-Grigorios AM., Ioannis F., Lampros Z. Dental Management of Patients with Autism Spectrum Disorders. Balk J Dent Med. 2015; 19:124-127
  8. Sarnat, H., Arad, P., Hanauer, D., and Shohami, E. (2001). Communication strategies used during pediatric dental treatment: A pilot study. Pediatric Dentistry, 23(4), 337-342.
  9. Kamen S, Skier J. Dental management of the autistic child. Spec Care Dentist. 1985 Jan-Feb;5(1):20-3.
  10. Fred K. Alternatives: A review of non-pharmacologic approaches to increasing the coorperation of patients with special needs to inherently unpleasant dental procedures. Behav Anal Today. 2005:6(2):88-108.
  11. Klein U., Nowak AJ. Characteristics of patients with autistic disorder (AD) presenting for dental treatment: a survey and chart review. Spec Care Dentist. 1999 Sep-Oct;19(5):200-7
  12. American Academy of Pediatric Dentistry. Best practices on protective stabilization for the Pediatric Dental Patients. Pediatr Dent 2017-18;39(6):260-5.
  13. Cheen Y. Loo, Richard M. Graham, Christopher V. Hughes Behaviour guidance in dental treatment of patients with autism spectrum disorder. Int J Paediatr Dent. 2009 Nov;19(6):390-398.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ. รตนอร จูห้อง
​โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์

แบบทดสอบ