ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities/ Mental Retardation)

บทความ

ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
​(Intellectual Disabilities/ Mental Retardation)

ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่องทำให้มีข้อจำกัดด้านสติปัญญา การเรียนรู้ และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน เดิมเรียกภาวะดังกล่าวว่า “ภาวะปัญญาอ่อน” ปัจจุบันใช้คำว่า “บกพร่องทางสติปัญญา” แทน ตาม Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM – V) โดย American Psychiatric Association (APA) เมื่อปี ค.ศ. 2013 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง ภาวะที่ประกอบด้วย

  1. ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
  2. พฤติกรรมการปรับตัวบกพร่องตั้งแต่ 2 ด้านหรือมากกว่า จากทั้งหมด 10 ด้าน
  3. แสดงอาการในช่วงที่สมองยังมีการพัฒนา (developmental period)

ลักษณะทางคลินิก

พัฒนาการล่าช้า เป็นอาการที่สำคัญของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา  ภาวะบกพร่องทางสติปัญญายิ่งรุนแรงมากเท่าใดความล่าช้าของพัฒนาการก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเร็วขึ้นเท่านั้น

ความผิดปกติที่พบร่วม

พบความผิดปกติทางจิตเวชในบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาได้ถึงร้อยละ 45 ซึ่งสูงกว่าประชากรทั่วไป ความผิดปกติเหล่านี้จะพบบ่อยขึ้น เมื่อมีความรุนแรงของภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาพฤติกรรม ความผิดปกติที่พบ ได้แก่  ซน สมาธิสั้น พฤติกรรมทำร้ายตนเอง โรคอารมณ์สับสนแปรปรวน อาการชักพบได้บ่อยกว่าเด็กทั่วไปประมาณ 10 เท่า ภาวะประสาทสัมผัสบกพร่อง ได้แก่ การได้ยินบกพร่องหรือมีปัญหาในการมองเห็นโดยเฉพาะในกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของใบหน้าและศีรษะ  และมักพบความบกพร่องในด้านการเคลื่อนไหวซึ่งเข้าได้กับสมองพิการ (cerebral palsy)

เป้าหมายการดูแลรักษา

เมื่อเกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว จะไม่สามารถรักษาสมองส่วนที่เสียไปให้กลับคืนมาทำงานได้ตามปกติ จะคงสภาพหรือฟื้นฟูสภาพทางสมองส่วนที่คงเหลืออยู่ให้ทำงานได้เต็มที่ จึงเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและร่างกายมากกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว เป้าหมายของการรักษาภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจึงมิใช่มุ่งรักษาให้หายจากโรค  แต่เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ให้ช่วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมมากเกินไป  และสามารถประกอบอาชีพได้

การฟื้นฟูสมรรถภาพในบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่

  1. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical Rehabilitation) 
    การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในช่วงแรกเกิด – 6 ปี ได้แก่ การส่งเสริมป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมพัฒนาการ การดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ การส่งเสริมสุขภาพทำเช่นเดียวเด็กปกติแต่เพิ่มการบำบัดรักษาความผิดปกติที่อาจพบร่วมด้วย เช่น โรคลมชัก cerebral palsy, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ให้การส่งเสริมพัฒนาการเพื่อพัฒนาทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญา ภาษา  การเข้าสังคมและการช่วยเหลือตนเองเพื่อให้เด็กมีความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยทีมสหวิชาชีพ เช่น อรรถบำบัด กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด เป็นต้น
  2. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation)  
    ในช่วงอายุ 7 – 15 ปี มีการจัดการการศึกษาโดยมีแผนการศึกษาสำหรับแต่ละบุคคล (Individualized Educational Program : IEP)  ในโรงเรียนซึ่งอาจเป็นการเรียนในชั้นเรียนปกติ เรียนร่วม หรือมีการจัดการศึกษาพิเศษ ในประเทศไทยโรงเรียนที่รับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญามีอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด
  3. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation) 
    เมื่ออายุ 15-18 ปี ควรได้รับการฝึกวิชาชีพและลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงาน ซึ่งจำเป็นมากต่อการประกอบอาชีพในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ ฝึกการตรงต่อเวลา รู้จักรับคำสั่งและนำมาปฏิบัติเอง โดยไม่ต้องมีผู้เตือน การปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงานและมารยาทในสังคม เมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่ควรช่วยเหลือให้ได้มีอาชีพที่เหมาะสม  อาชีพที่บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาสามารถทำได้ดี เช่น งานบ้าน งานบริการ งานโรงงาน งานสำนักงาน เช่น การรับส่งหนังสือ ถ่ายเอกสาร เป็นต้น
  4. การรักษาโดยการใช้ยา การรักษาโดยการใช้ยานั้นเป็นการรักษาตามอาการ หรือรักษาโรคที่พบร่วม ดังนี้
    1. Psychostimulants เช่น Methylphenidate ใช้รักษาอาการซนสมาธิสั้น
    2. Antipsychotics เช่น Risperidone ใช้รักษาอาการซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity), หงุดหงิด (Irritability), พฤติกรรมรุนแรง (Aggressive behavior), พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง (Self injurious behavior) และ พฤติกรรมซ้ำ ๆ (Repetitive behavior)

ปัญหาสภาวะช่องปากในผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญา    

การได้รับยาเพื่อรักษาอาการที่ไม่พึงประสงค์ของผู้ป่วยยังส่งผลให้เกิดภาวะต่าง ๆ ภายในช่องปาก เช่น ภาวะน้ำลายน้อย  ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย เกิดปัญหาปริทันต์ เชื้อราในช่องปาก ลิ้นอักเสบ มุมปากอักเสบ ก่อให้เกิดปัญหาในการเคี้ยว การพูดหรือบาดเจ็บจากการใส่ฟันปลอมตามมาได้ ผลจากการรับประทานยาทางจิตเวชในระยะยาวจะก่อให้เกิดความแข็งตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ทำให้ลิ้น หรือกล้ามเนื้อใบหน้ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้ อาการเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหาในการรักษาทางทันตกรรม  ทันตแพทย์ควรมีส่วนร่วมในการวางแผนงานทันตกรรมป้องกันร่วมกับสหวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ควรมีบทบาทในเรื่องการแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ ข้อมูลการเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรม

การรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

ในการรักษาทางทันตกรรมแนะนำให้ใช้เครื่องมือช่วยอ้าปาก  ใส่แผ่นยางกันน้ำลายในการทำหัตถการเพื่อป้องกันน้ำ และเศษวัสดุไม่ให้เข้าคอ และป้องกันอันตรายต่อลิ้น และเนื้อเยื่อในช่องปากจากการถูกกรอ ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือของเด็ก

การเลือกใช้ยาชาที่เหมาะสมในผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลีกเลี่ยงการฉีดสะกดเส้นประสาท (nerve block) ซึ่งให้ผลการชาที่นาน ควรเลือกใช้ยาชาที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น (ultra short acting anesthetics) เพื่อป้องกันการอาการชาที่ยาวนานหลังการรักษาและอาจทำให้เด็กกัดเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากเนื่องจากอาการชาได้

ทันตแพทย์และบุคลากรทางทันตกรรมควรมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ไม่ปฏิเสธการรักษา ให้ความรักและเอื้ออาทรและใส่ใจ  ซักถามประวัติผู้ป่วย สภาพครอบครัว ความสามารถของ ผู้ป่วยในการเรียนรู้ การสื่อสาร การช่วยเหลือตนเอง เพื่อเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสม

การจัดการพฤติกรรมของผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับน้อย สามารถใช้วิธีการจัดการโดยวิธีการทางจิตวิทยา เช่น การบอก-แสดง-ทำ (Tell show do) การเบี่ยงเบนความสนใจ (Distraction) การเสริมแรง (Reinforcement) การลดความไวต่อความรู้สึก (Desensitization) เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีระดับบกพร่องทางสติปัญญารุนแรงถึงรุนแรงมาก ผู้ป่วยไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถสื่อสารได้ และไม่ร่วมมือในการรักษา อาจใช้เครื่องมือควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น  แพพพูสบอร์ด (papoose board) โดยมีผู้ช่วยทันตแพทย์ช่วยข้างเก้าอี้ 1 คนและผู้ช่วยทันตแพทย์หมุนเวียนอีก 1 คน ทำให้ รวดเร็ว และลดเวลาในการให้การรักษา

การรักษาทางทันตกรรมสำหรับกลุ่มที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญารุนแรงและมีปริมาณงานที่ต้องรักษามาก และมีความจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจจะต้องพิจารณาให้การรักษาภายใต้การให้ยาสลบ (general anesthesia) และควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเด็กก่อน หากผู้ป่วยมีความพิการซ้ำซ้อน หรือมีโรคทางระบบร่วมด้วย


เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา.Availablefrom  
  2. http://www.rajanukul.go.th/main/index.php?mode=academic&group=&submode=acaemic&idgroup=8&group=1
  3. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th edition Text rev. (DSM-IV-TR). Washington, DC: American Psychiatric Association; 2000.
  4. ชมรมวิชาชีพทันตกรรม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข .แนวทางการจัดการทางทันตกรรมสำหรับเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โตไกลพริ้นติ้งจำกัด; 2558.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.พิมพิไล ลิ้มสมวงศ์
สถาบันราชานุกูล

แบบทดสอบ