ทันตกรรมป้องกันในเด็กพิเศษ

บทความ

ทันตกรรมป้องกันในเด็กพิเศษ

เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” (Children with Special Health Care Needs) ตามคำจำกัดความของสมาคมทันตแพทย์สำหรับเด็กแห่งสหรัฐอเมริกา AAPD (American Academy of Pediatric Dentistry) ได้แก่ กลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ส่งเสริมทางด้านกายภาพ พัฒนาการ การรับสัมผัส การรับรู้ พฤติกรรม อารมณ์ ต้องการโปรแกรมหรือ บริการส่งเสริมทางการแพทย์ เนื่องจากมีภาวะบกพร่องทางด้านต่างๆ ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน(1)

ในการป้องกันการเกิดโรคในช่องปากสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษมีเป้าหมายเช่นเดียวกับประชากรกลุ่มทั่วไป แต่การไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายทางทันตกรรมป้องกันในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีความบกพร่องในการรับรู้ ทำให้ไม่เข้าใจเรื่องการมีทันตสุขภาพที่ดี, มีข้อจำกัดทางร่างกายไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้, ต่อต้านการดูแลในช่องปาก ต้องอาศัยการดูแลจากบุคคลอื่น,มีปัญหาสุขภาพทางกายซึ่งส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก, มีภาวะพึ่งพิงผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันรวมถึงการดูแลทำความสะอาดช่องปากดังนั้นผู้ดูแลเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยในการดูแลเด็กพิเศษ(2)

โรคฟันผุเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันได้แก่ปัจจัยภายในของตัวบุคคลเองได้แก่ฟัน น้ำลาย, แผ่นคราบน้ำลาย,อาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดสลายตัวได้ และคราบจุลินทรีย์นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมได้แก่ ปัจจัยทางชีววิทยา สังคม พฤติกรรม จิตวิทยา สุขอนามัยช่องปาก อายุ ทัศนคติของผู้ป่วย/ผู้ดูแลต่อสุขภาพ สถานะเศรษฐกิจและสังคมและโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดังนั้นการป้องกันฟันผุจึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่

อาหารและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

ในช่วงต้นอาหารหลักของทารกจะเป็นนมมารดาหรือนมวัวพบว่านมมารดาไม่ทำให้ฟันผุอย่างไรก็ตามนมทั้ง 2 ชนิดจะสามารถทาให้เกิดฟันผุได้หากทารกดูดด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่มีการทำความสะอาดช่องปากทารกในช่วงการสร้างฟันอาหารมีผลต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของฟันจากผลทางระบบซึ่งเกิดจากอาหารถูกย่อยและดูดซึมเป็นสารอาหารเพื่อใช้ในการสร้างฟัน นอกจากนั้นภาวะทุพโภชนาการยังทำให้การสร้างต่อมน้ำลายผิดปกติเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณและส่วนประกอบของน้ำลายทำให้มีผลต่อความสามารถในการชะล้างและการช่วยลดความเป็นกรดในช่องปาก ส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ

เมื่อฟันสร้างเสร็จและขึ้นสู่ช่องปากอาหารที่รับประทานไม่มีผลทางระบบแต่มีผลเป็นแบบเฉพาะที่โดยแป้งและน้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุอาหารที่มีลักษณะที่ต้องการการขบเคี้ยวทำให้ความเสี่ยงในการเกิดฟันผุลดลงเพราะจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลายทำให้เกิดการชะล้างและลดสภาวะความเป็นกรดอาหาร   แป้งและน้ำตาลที่ต้องใช้เวลาอยู่ในช่องปากนานเช่นลูกกวาดลูกอมเป็นต้นหรือมีลักษณะเหนียวหรือคงอยู่ที่ฟันหลังรับ-ประทาน เช่น คุกกี้ ขนมปัง ขนมเค้ก ขนมแป้งกรอบ จะทำให้เกิดกรดทำลายฟันนานเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ อาหารที่มีเส้นใยเช่นผักและผลไม้จะกระตุ้นให้มีการหลั่งของน้ำลายมากขึ้นในระหว่างบดเคี้ยวซึ่งจะมีผลในการป้องกันฟันผุ พฤติกรรมการรับประทานอาหารแป้งและน้ำตาลและพฤติกรรมชอบรับประทานจุบจิบระหว่างมื้อเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ

การทำความสะอาดช่องปาก

แนะนำให้ผู้ปกครองเริ่มทำความสะอาดช่องปากของเด็กตั้งแต่แรกเกิดวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็นในช่วงอาบน้ำให้เด็กโดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดกระพุ้งแก้ม เพดาน สันเหงือก ลิ้น เพื่อให้ช่องปากสะอาดและคุ้นเคยกับการทำความสะอาดในช่องปาก เมื่อมีฟันเริ่มขึ้นผู้ปกครองเริ่มแปรงฟันให้เด็กโดยใช้ท่าแปรงฟันที่จะเห็นบริเวณที่แปรงได้ง่ายและเด็กอยู่ในท่าที่สบายคือให้เด็กนอนตักผู้ปกครองใช้วิธีขยับแปรงไปมาสั้นๆในแนวนอนวันละ 2 ครั้งเช้าและก่อนนอนเมื่อมีฟันประชิดกันจะใช้เส้นใยขัดฟันวันละ 1 ครั้งก่อนนอนสำหรับยาสีฟันนั้นในเด็กที่ยังควบคุมการกลืนไม่ได้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ 1 ½ - 2 ½ ปีซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดฟันตกกระ ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีผู้ปกครองควรบีบยาสีฟันให้แตะปลายขนแปรงเป็นจุดเล็กๆ 1 จุดและเช็ดฟองออกด้วยผ้าชุบน้ำ การทำความสะอาดฟันนี้ทำที่สถานที่ใดก็ได้ในบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นห้องน้ำซึ่งอาจจะคับแคบเกินไปในการให้เด็กนอนแปรงและทุกครั้งที่แปรงฟันให้จบด้วยการแปรงลิ้นจากโคนไปยังปลายลิ้นหลายๆครั้ง สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองต้องจัดเวลาประจำในการแปรงฟันให้ลูกและยืนหยัดในการแปรงฟันให้ลูกแม้เด็กจะไม่อยู่นิ่งและยังไม่ยอมรับการแปรงฟันดีนัก อาจจะใช้วิธีเล่านิทานร้องเพลงเล่นด้วยในขณะแปรงฟันเพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและให้ความร่วมมือในการแปรงฟัน

การไปพบทันตแพทย์ การใช้ฟลูออไรด์และการเคลือบหลุมร่องฟัน

เด็กพิเศษจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุจึงควรส่งต่อเด็กเหล่านี้ไปยังทันตแพทย์เร็วที่สุดเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนและไม่เกิน 6 เดือนหลังจากฟันซี่แรกขึ้นมาในช่องปากเพื่อได้รับการตรวจ รักษาและให้ทันตกรรมป้องกัน

ฟลูออไรด์สามารถป้องกันโรคฟันผุโดยยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุส่งเสริมการคืนแร่ธาตุโดยสร้างฟลูออร์อะพาไทต์ที่ผิวฟันต้านทานต่อการละลายของกรดและยับยั้งเมแทบอลิซึมของเชื้อจุลินทรีย์เด็กพิเศษจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงที่ควรจะได้รับฟลูออไรด์เฉพาะที่ที่ทันตแพทย์เป็นผู้ทำให้และพิจารณาสั่งจ่ายฟลูออไรด์เสริมไปใช้ที่บ้าน

ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพด้านผิวเรียบในขณะที่ด้านบดเคี้ยวซึ่งมีหลุมและร่องซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดด้วยขนแปรงสีฟันได้จึงต้องเสริมด้วยการผนึกหลุมและร่องเพื่อเป็นสิ่งขวางกั้นฟันกับสิ่งแวดล้อมที่ทำอันตรายต่อฟันได้


เอกสารอ้างอิง

  1. กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข, บรรณาธิการ. แนวทางการจัดการพฤติกรรมสำหรับเด็กพิเศษ.โตไกลพริ้นติ้งจำกัด; 2558.
  2. การจัดการทางทันตกรรมสำหรับเด็กออทิสติก [อินเทอร์เน็ต]. Available at: www.tddf.or.th/uploadedfiles/2013-03-18__52__library-2013-01-04-1454.doc
  3. ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล, บรรณาธิการ. ทันตกรรมป้องกันในเด็กและวัยรุ่น. พิมพ์ครั้งที่4. บริษัทเบสท์บุ๊คออนไลน์จำกัด; 2554.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.ฐสรรพร เติมทอง
สถาบันราชานุกูล

แบบทดสอบ