โรคซึมเศร้า (major depressive disorder)

บทความ

โรคซึมเศร้า (major depressive disorder)

โรคซึมเศร้าเป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ ทางอารมณ์ความคิดและพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมีความบกพร่องในการทำหน้าที่ ทำให้สูญเสียโอกาสทั้งด้านอาชีพ การทำงานและการศึกษา อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย  โรคซึมเศร้านั้นก่อให้เกิดการสูญเสียด้านสุขภาพอย่างมีนัยสําคัญ และส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า มีประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 4 ของประชากรโลก  และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทําให้เกิดความบกพร่องทางสุขภาพในประชากรทั่วโลก (คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ) โรคซึมเศร้านั้นจัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของประเทศไทย โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 1.7 เท่า  และพบได้ในทุกช่วงอายุ จากการประเมินด้วย Mini International Neuropsychiatric Interview ในปี 2551 พบผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง (ร้อยละ 20.4) เมื่อเปรียบเทียบกับโรคจิตเวชประเภทอื่นๆ   กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลสถานการณ์ของประเทศไทยปี 2560 ว่ามีคนไทยถึง 1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสถิติที่สูงขึ้นถึง 400000 รายจากปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 ในรอบ 3 ปี

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

  1. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์  ผลการศึกษาพบว่าสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง
  2. ปัจจัยทางกายภาพ   เกิดจากความไม่สมดุลของสารชีวเคมีในสมองทำให้สมองทำงานไม่สมดุลฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ หรือผลกระทบจากการใช้ยาและแอลกอฮอล์ก็ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน
  3. ปัจจัยทางบุคลิกภาพ ผู้ที่วิตกจริตง่าย ไม่ยืดหยุ่น และผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าได้
  4. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสังคม สิ่งกระตุ้นความเครียด ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นปัญหาหนี้สินและอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

อาการของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า มีอาการหลักคือ

  1. อารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม ทั้งที่ตัวเองรู้สึกหรือคนอื่นก็สังเกตเห็น
  2. เบื่อ ไม่อยากทำอะไรหรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม

ร่วมกับมีอาการเหล่านี้รวมกันอย่างน้อย 5 อาการ ได้แก่

  1. เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
  2. หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือหลับมากไป
  3. คิดช้าพูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
  4. รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยใจ ไม่มีแรง
  5. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  6. สมาธิความคิดอ่านช้าลง
  7. คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือ อยากทำร้ายตนเอง

อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เกือบทั้งวัน โดยเป็นติดต่อกันนานถึง 2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน เข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม ทำหน้าที่การงานได้เหมือนเดิม

การดำเนินโรคของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง และมาก บางรายรุนแรงมากถึงขั้นโรคจิตหูแว่ว คิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย แม้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการดีขึ้นหลังจากรับการรักษาด้วยยา 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่มีอัตรากลับเป็นซ้ำได้อีกภายใน 3-12 เดือน โดยที่ผู้ป่วยครั้งแรกมีโอกาสป่วยอีกร้อยละ 50  ผู้ป่วยครั้งที่ 2 มีโอกาสป่วยอีกร้อยละ 70 ผู้ป่วยครั้งที่ 3 มีโอกาสป่วยอีกถึงร้อยละ 90 ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและสมาชิกในครอบครัวควรใส่ใจถึงสัญญาณของโรคที่กำเริบอีกครั้งเพื่อที่จะได้รับการรักษาทันท่วงที

การรักษาโรคซึมเศร้า

  1. การรักษาด้วยยา จะช่วยให้อาการซึมเศร้าลดลงภายในเวลา 3-4 อาทิตย์ และเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง ยาที่ใช้ได้แก่ a) ยาระงับอาการซึมเศร้าซึ่งจะช่วยควบคุมระดับของสารสื่อประสาท และ b) ยาระงับอาการวิตกกังวล ที่บรรเทาอาการวิตกจริตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า
  2. การบำบัดจิต การบำบัดความคิดและพฤติกรรมพบว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดในแง่ลบและรูปแบบพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับปัญหาของตนเองได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
  3. การรักษาด้วยไฟฟ้า พิจารณาใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือการบำบัดจิต

ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตเวชอื่นๆที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตเวชอื่นนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีแต่ผู้ที่เป็นยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน

พฤติกรรมและผลข้างเคียงของยาที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักละเลยการดูแลสุขภาพช่องปาก มักชอบรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน
เนื่องจากการรับรสของผู้ป่วยลดลง และมีภาวะน้ำลายน้อย เนื่องมาจากผลข้างเคียงของยา จึงพบว่าผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีฟันผุมาก (rampant caries) มีการอักเสบของเยื่อบุช่องปากลิ้น และต่อมน้ำลาย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการนอนกัดฟันและเค้นฟัน  ผู้ป่วยที่มีอาการเครียดอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณใบหน้า ข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเกิดจากมีการรบกวนการส่งกระแสประสาท นอกจากนี้ในผู้ป่วยรายที่สูบบุหรี่จัดจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคปริทันต์มากขึ้นอีกด้วย ในการรักษาทันตกรรมควรระมัดระวังการใช้ยาชาที่มีepinephrine เป็นส่วนผสม (1:100,000 สามารถใช้ได้ไม่เกิน 2 หลอด) และระวังการฉีดเข้าเส้นเลือด โดยแนะนำให้ใช้การฉีดยาชาแบบวิธีดูดกลับ

แนวทางการให้บริการทันตกรรมผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักไม่ค่อยสนใจการดูแลช่องปาก และไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษาทางทันตกรรมซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความกลัวหรือความกังวลในการรักษา

  • ควรเผื่อเวลาในการรักษาสําหรับการพูดคุย ปรับความเข้าใจกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการถามถึงอาการซึมเศร้าหรือปัญหาส่วนตัวของผู้ป่วยอันจะทําให้อาการซึมเศร้ากําเริบขึ้นได้
  • ควรพูดด้วยน้ำเสียงละมุนละม่อม พยายามกระตุ้นความเข้าใจและรอการตอบสนองของผู้ป่วย
  • ควรให้ญาติหรือผู้ดูแลที่ผู้ป่วยคุ้นเคยอยู่ด้วยในขณะตรวจรักษา จะช่วยไห้ผู้ป่วยรู้สึกคลายความวิตกกังวลและยอมรับการรักษาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมผู้ป่วยกรณีไม่ร่วมมือในการรักษา รวมถึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดและพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น
  • ควรมีการประเมินอาการทางจิต และประเมินความสามารถในการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยเพื่อพิจารณาวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • ควรรักษาทันตกรรมด้วยความนิ่มนวล ไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นานมาก จะช่วยให้ผู้ป่วยร่วมมือ ไม่กลัว และมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาทางทันตกรรมในครั้งต่อไป
  • ควรพิจารณาใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพื่อลดอันตรายอันอาจเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยารักษาโรคจิตกับยาที่ใช้ทางทันตกรรม (drug interaction) รวมทั้งผลข้างเคียงของยารักษาโรคจิตต่อระบบร่างกายด้วย
  • ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพในช่องปากมากยิ่งขึ้น โดยให้ความรู้ด้านทันตสุขภาพแบบต่อเนื่องและครอบคลุมคือมี Regular recall program ในความถี่ที่เหมาะสมโดยพิจารณาเป็นรายบุคคล และให้การดูแลเสริม เช่นการให้ฟลูออไรด์เฉพาะที่

เอกสารอ้างอิง

  1. American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders, fifth edition. Arlington, VA: American Psychiatric Association.
  2. Friedlander AH, West LJ. Dental management of the patient with major depression. Oral Surg Oral Med Oral Pathol. 1991May;71(5):573-8.
  3. Verma A. ,Yadav S. ,Sachdeva A. Dental Consequences and Management in Patients with Major Depressive Disorder. Journal of Innovative Dentistry, Vol 1, Issue 3, Sept-December 2011.
  4. World Health Organization. The world health report 2001 – Mental Health: New Understanding, New Hope; 2001 [cited 2008-10-19].
  5. World Health Day 2017, Depression: Let's talk
  6. คู่มือแนวทางการรักษาทันตกรรมผู้ป่วยจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
  7. มาโนช หล่อตระกูล. โรคซึมเศร้าโดยละเอียด
  8. โรคซึมเศร้า
  9. สถานการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปี2560. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 
  10. สื่อความรู้ สู่ประชาชนเรื่องโรคซึมเศร้า การดำเนินของโรค โรคซึมเศร้ารักษาหายหรือไม่ (HPMD DL 58-021) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.ทียารัชต์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

แบบทดสอบ