ระบบบริการสุขภาพช่องปาก: สวัสดิการภาครัฐ

บทความ

ระบบบริการสุขภาพช่องปาก: สวัสดิการภาครัฐ

ระบบบริการสุขภาพช่องปากมีหลักการพื้นฐาน 4 ประการคือ

  1. เป้าประสงค์ (goal) ของระบบบริการ  เป็นหลักการที่สำคัญที่สุด โดยทั่วไปเป็นการตอบสนองความคาดหวังของประชาชน  แก้ปัญหาหรือยกระดับสุขภาพของประชาชน และเพิ่มความเป็นธรรมในการรับภาระค่าใช้จ่าย    อาจมีหลายประการลำดับตามความสำคัญแต่ต้องไม่ขัดแย้งกัน (เช่น การเพิ่มความเป็นธรรม ขัดแย้งกับ การมุ่งกำไรสูงสุด)     
  2. กลุ่มเป้าหมาย  การกำหนดกลุ่มประชากรว่ามีคุณลักษณะ ความจำเป็น และความต้องการ อย่างไร ทำให้ออกแบบการบริการตอบสนองได้ตรงและบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้   
  3. สิทธิประโยชน์ เป็นเสมือนกุญแจไขให้บรรลุเป้าประสงค์ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการสองข้อแรก และเป็นโจทย์ขององค์ประกอบที่สาม เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด การจัดทำชุดสิทธิประโยชน์จึงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดบริการและมีเงื่อนไขในการใช้บริการ พร้อมกันด้วย
  4. รูปแบบบริการและหน่วยบริการ (บุคลากร ชนิดบริการ เทคโนโลยี ขั้นตอนการให้และใช้บริการ และสถานที่) และต้องมีศักยภาพในการบริการได้ตามสิทธิประโยชน์

ตาราง 1


สวัสดิการบริการสุขภาพช่องปากภาครัฐประเทศไทย ปีงบประมาณ 2559

แสดงบริการสุขภาพช่องปากภาครัฐของไทยที่เป็นสวัสดิการประชาชน 3 ระบบคือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (Civil Servant Medical Benefit Scheme: CSMBS) ประกันสังคม (Social Security Scheme: SSS) และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage Scheme: UCS) ซึ่งบริหารโดยกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกันในด้านสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการใช้บริการ และกลไกการจ่ายเงินให้สถานพยาบาล    

แม้ว่า สปสช. บริหารงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชากรทุกสิทธิ แต่การที่ข้าราชการสามารถใช้บริการจากสถานพยาบาลได้ทั่วราชอาณาจักร  ขณะที่การจัดสรรงบของ สปสช. อิงจำนวนประชากรในพื้นที่  ทำให้กลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กมีปัญหาในการเข้าถึงบริการป้องกันโรคภาครัฐ เมื่อเทียบกับกลุ่มสิทธิ UCS [1]

ด้านการรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพ CSMBS ครอบคลุมบริการมากที่สุด  ส่วนผู้ประกันตนใน SSS ใช้บริการได้เพียงขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด โดยเบิกคืนได้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี   และเบิกค่าใส่ฟันเทียม ได้ในอัตราที่กำหนด ส่วนการฝังรากเทียม (เฉพาะการสูญเสียฟันจากอุบัติเหตุ) ต้องทำในโรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดและ  สิทธิประโยชน์ด้านฟื้นฟูสภาพของ CSMBS จึงเหนือกว่า UCS และ SSS ตามลำดับ    นอกจากสิทธิประโยชน์เป็นกรอบการใช้บริการแล้ว กลไกการจ่ายเงินยังมีผลต่อการเข้าถึงบริการด้วย โดยกลุ่มสิทธิ CSMBS ใช้บริการมากที่สุดทั้งสัดส่วนต่อประชากรและจำนวนครั้งเฉลี่ยต่อคน รองลงมาคือ SSS และ UC [2]


เอกสารอ้างอิง

  1. เพ็ญแข  ลาภยิ่ง, วีระศักดิ์ พุทธาศรี. การใช้บริการสุขภาพช่องปากในเด็กอายุ 5-14 ปี: การวิเคราะห์ผลการสำรวจระดับชาติแบบภาคตัดขวาง. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2557; 8(2):187-196.
  2. เพ็ญแข  ลาภยิ่ง, วีระศักดิ์ พุทธาศรี. การใช้บริการสุขภาพช่องปากในช่วงทศวรรษแรกของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2556; 22(6):1080-90.
  3. กรมบัญชีกลาง.ประเภทและอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค. แนบท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด กค0431.2/ว246 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
  4. สำนักงานประกันสังคม. ข่าวประชาสัมพันธ์ ผู้ประกันตนรับสิทธิ์อีกแล้วจ้า ทำฟัน 600 บาท/ปีเป็น 900 บาท/ปี. http://www.sso.go.th/wpr/content.jsp?lang=th&cat=762&id=4643
  5. กระทรวงแรงงาน. ก.แรงงานเดินหน้าปฏิรูปกองทุนฯ สร้างเสถียรภาพบำนาญชราภาพ พร้อมแจงทันตกรรม 900 บาทต่อปี     ไร้เงื่อนไข.  http://www.mol.go.th/content/53297/1473849588
  6. สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า. คู่มือบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2559: การบริหาร งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว. ธนาเพลสจำกัด. 2558.
  7. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.  การบริหารงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2557 (หมวด 2 ส่วนที่ 3 บริการเฉพาะ) ใน คู่มือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557. กรุงเทพมหานคร; 2556. หน้า 98-102.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ดร.เพ็ญแข ลาภยิ่ง

แบบทดสอบ