โรคจิตเภท (Schizophrenia)

บทความ

โรคจิตเภท (Schizophrenia)

เป็นโรคที่มีความผิดปกติของความคิด อารมณ์ การรับรู้และพฤติกรรม โดยผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ ได้แก่ การดูแลตนเอง การประกอบอาชีพ การเรียน และการเข้า สังคม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นตั้งแต่ระยะวัยรุ่นตอนปลายถึงผู้ใหญ่ตอนต้น โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร พบในเพศชายเท่าๆ กับเพศหญิง

สาเหตุ

  1. ปัจจัยทางด้านชีวภาพ
    1. พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่าญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเปนโรคจิตเภทสูงกว่าประชากรทั่วไป ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสสูง
    2. สารชีวเคมีในสมอง เชื่อว่าโรคนี้เกิดจากสารเคมีในสมองที่ชื่อโดปามีน (dopamine) ในบางบริเวณของสมองมีการทํางานมากเกินไป และพบว่าการที่ยารักษาโรคนี้ได้เนื่องจากไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของโดปามีน
    3. ความผิดปกติในส่วนอื่นๆ ของสมอง พบผู้ป่วยจํานวนหนึ่งมีช่องในสมอง (ventricle) โตกว่าปกติและบางการศึกษาพบว่า cerebral blood flow และ glucose metabolism ลดลงในบริเวณ frontal lobe
  2. ปัจจัยทางด้านครอบครัวและสังคม
    1. สภาพครอบครัว ในครอบครัวของผู้ที่มีอาการกําเริบบ่อยๆ พบว่ามีการใช้อารมณ์ต่อกันสูง ได้แก้การตําหนิวิพากษ์วิจารณ์ มีท่าทีไม่เป็นมิตร หรือจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป
    2. สภาพสังคม ผู้ป่วยโรคนี้พบมากในสังคมที่มีเศรษฐานะต่ำ ซึ่งอาจเป็นจากการที่ผู้ป่วยมีอาการโรค จิตอยู่เรื่อยๆ ทําให้การดํารงชีพไม่สามารถคงอยู่ได้ในสถานภาพเดิม (downward drift hypothesis) หรือการที่สภาพสังคมบีบคั้นทําให้คนเป็นจิตเภทมากขึ้น (social causation hypothesis)

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แนวคิดที่ยอมรับกันคือ stress-diathesis model ซึ่งเชื่อว่า ผู้ป่วยนั้นมีแนวโน้มหรือจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้ว เมื่อพบกับสภาพกดดันบางประการทําให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมา โดยแนวโน้มหรือสภาพกดดันนี้อาจเป็นปัจจัยด้านชีวภาพ จิตสังคม หรือหลายปัจจัยร่วมกัน

อาการแสดงของโรค แบ่งได้เป็น ดังนี้

  1. กลุ่มอาการด้านบวก (positive symptoms) หมายถึงอาการที่เกินกว่าปกติ หรือเพี้ยนไปจากปกติ
    ได้แก่ อาการหลงผิด ประสาทหลอน ความผิดปกติด้านคําพูด และความผิดปกติด้านพฤติกรรม ผู้ป่วยที่มีอาการด้านบวกจะตอบสนองดีต่อการรักษา
  2. กลุ่มอาการด้านลบ (negative symptoms)
    เป็นภาวะที่ขาดในสิ่งที่คนทั่วๆ ไปควรมี เช่น พูดน้อย เก็บตัว การแสดงออกทางอารมณ์ลดลง ผู้ป่วยที่มีอาการด้านลบมักไม่ค่อยตอบสนอง่อการรักษาด้วยยาการดําเนินของโรค แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
    1. ระยะเริ่มมีอาการ (prodromal phase) ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการที่เกิดขึ้นมี หลากหลายไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ อารมณ์เปลี่ยนแปลง วิตกกังวล ซึมเศร้า เริ่มแยกตัวออกจากสังคม ลังเลตัดสินใจไม่ค่อยได้ ไม่มีสมาธิ เริ่มไม่สนใจกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทํา เฉื่อยชา บางคนหมกมุ่นในเรื่องศาสนา ปรัชญาระยะเวลาช่วงนี้ไม่แน่นอน มักบอกได้ยากว่าเริ่มผิดปกติตั้งแตเมื่อใด โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ปีก่อนอาการกําเริบ
    2. ระยะอาการกําเริบ (active phase) เป็นระยะที่มีอาการทางจิตชัดเจน ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มอาการ  ด้านบวก อาจเกิดอาการหลังประสบกับภาวะกดดันในชีวิต หรือบางคนมีอาการหลังจากใช้สุราหรือสารเสพติด
    3. ระยะอาการหลงเหลือ (residual phase) ส่วนใหญ่แล้วอาการต่างๆ ที่กําเริบจะเป็นอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อ รักษาก็จะทุเลาลง อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนจะหายไป หรืออาจมีแต่ก็น้อยหรือเป็นนานๆ ครั้ง พูดจาฟัง รู้เรื่องขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมักยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น มีความคิดแปลกๆ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์หรือ โชคลาง อาการด้านลบมักพบบ่อยในระยะนี้

การวินิจฉัยโรค 

ตาม The diagnostic and statistical manual of mental disorder (DSM) ผ้ที่เป็นโรค จิตเภทจะต้องมีอาการที่เข้าเกณฑ์ ดังนี้ มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือน้อยกว่าถ้าได้รับการรักษา

  • อาการหลงผิด
  • ประสาทหลอน
  • การพูดแบบไม่มีระเบียบแบบแผน พูดจาสับสนมาก มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ
  • พฤติกรรมที่ไม่มีระเบียบแบบแผน วุ่นวาย หรือมีท่าทีแปลกๆ
  • อาการด้านลบ ได้แก่ อารมณ์เฉยเมย พูดน้อย เฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น
  • มีความเสื่อมหรือปัญหาในหน้าที่ทางสังคม หรือการประกอบอาชีพ
  • มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน โดยต้องมีระยะอาการกําเริบ ตามข้อ 1 นานอย่างน้อย 1 เดือน และระยะที่เหลืออาจเป็นระยะเริ่มมีอาการ หรือระยะอาการหลงเหลือ
  • ไม่มีลักษณะอาการของกลุ่มโรคจิตที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ (schizoaffective disorder และmood disorder)
  • ไม่มีสาเหตุจากสารเสพติด หรือภาวะความเจ็บป่วยทางกายทั่วไป

แนวทางการรักษา

  1. การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาที่สําคัญที่สุด นอกจากเพื่อควบคุมอาการแล้ว ยังสามารถลดการกําเริบ ซ้ำของโรคได้ โดยระยะเวลาในการรับประทานยาขึ้นอยู่กับระยะเวลาการป่วย คือ
    • ถ้าป่วยครั้งแรก แนะนําให้รับประทานยา 6 เดือนถึง 1 ปี
    • ถ้าป่วยครั้งที่สอง ให้รับประทานยาถึง 5 ปี
    • ถ้าป่วยตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ให้รับประทานยาไปเรื่อยๆ ไม่มีกําหนด บางรายอาจต้องรับยาตลอดชีวิต
  2. การรักษาทางจิตสังคม ได้แก่
    • Psychoeducation เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติ
    • จิตบําบัดชนิดต่างๆ ได้แก่ จิตบําบัดรายบุคคลเพื่อประคับประคองให้กําลังใจผู้ป่วย จิตบําบัดกลุ่มพฤติกรรมบําบัดและครอบครัวบําบัด
    • กิจกรรมบําบัด เป็นการใช้กิจกรรมกลุ่มช่วยฟื้นฟูทักษะต่างๆ
    • สิ่งแวดล้อมบําบัด หรือนิเวศนบําบัด เป็นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยในการรักษา
  3. การรักษาด้วยไฟฟ้า มักใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือมีลักษณะซึมเศร้ามากๆ ร่วมด้วย

พฤติกรรมและผลข้างเคียงของยาที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคจิตเภท

ผู้ป่วยจิตเภทมักไม่สนใจในการดูแลรักษาอนามัยสุขภาพช่องปาก ร่วมกับผลข้างเคียงจากยาที่ได้รับ ทำ ให้เกิดภาวะน้ำลายน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุทําให้เกิดโรคปริทันต์และเกิดฟันผุที่รุนแรงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยาบาง

ตัวทําให้น้ำลายไหลมากกว่าปกติและมี extrapyramidal side effects ทําให้เกิดอาการกรามแข็ง เคี้ยวอาหารไม่ได้ ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรือเกิดอาการเคลื่อนไหวของปากและลิ้นที่ผิดปกติ เรียกว่า oro-facial dyskinesia

แนวทางการรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยโรคจิตเภท

ควรมีการปรึกษาจิตแพทย์ก่อนเริ่มรักษา เพื่อประเมินอาการทางจิตและทราบถึงยาต่างๆ ที่ได้รับ

  • ผู้ป่วยที่ได้รับยา clozapine ควรได้รับการตรวจเม็ดเลือดขาว ถ้าพบว่ามีภาวะการกดไขกระดูก(bone marrow suppression) คือมี total WBC น้อยกว่า 3,000 เซลล์/มม3 หรือจํานวน granulocyte น้อย กว่า 1,500 เซลล์/มม3 จะไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมได้
  • ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง ควรใช้ mouth gag เพื่อช่วยให้อ้าปาก และทันตแพทย์ทํางานได้เร็วขึ้น
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหารีเฟล็กขย้อน (gag reflex) บกพร่อง อาจพิจารณาใช้แผนยางกันน้ำลายในงานที่มีความเสี่ยงต่อเครื่องมือหล่นลงคอได้ง่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและช่วยให้ทํางานได้ง่ายขึ้น
  • ควรนัดผู้ป่วยทุก 3 เดือน เพื่อตรวจฟันร่วมกับให้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ รวมถึงให้ทันตสุขศึกษาทั้งแก่ตัวผู้ป่วยเอง ญาติหรือผ้ดูแลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. แนวทางการรักษาทางทันตกรรมผู้ป่วยจิตเวช. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข;2557.
  2. Arthur HF, Stephen RM. The psychopathology, medical management and dental implications of schizophreniaJADA2002;133603610
  3. Arthur HF, Robert PL. Oral health care for the patient with schizophrenia. Special Care in Dentistry1991;115179182
  4. มาโนช หล่อตระกูล. โรคจิตเภท. สืบค้นจาก https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/
  5. มธุรดา สุวรรณโพธิ์. โรคจิตเภท (Schizophrenia). เพื่อนรักษ์สุขภาพจิต. 2558:15(60) สืบค้นจาก

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.อาทิตยา ส่งศิริประดับบุญ

แบบทดสอบ