Common medical emergencies in dental office

บทความ

Common medical emergencies in dental office

ภาวะฉุกเฉินที่พบได้บ่อยในคลินิกทันตกรรม สามารถแยกได้เป็นลักษณะกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยเรียงตามลำดับดังนี้

  1. การไม่รู้สึกตัว (Unconsciousness)
  2. การหายใจลำบาก (Respiratory distress)
  3. การเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว (Altered consciousness)
  4. ลมชัก (Seizures)
  5. ภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา (Drug-related emergencies)
  6. อาการเจ็บหน้าอก (Chest pain)
  7. อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac arrest)

การไม่รู้สึกตัว

คือ การที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น (sensory stimulation) สูญเสีย protective reflexes และไม่สามารถคงสภาพทางเดินหายใจให้โล่งได้เนื่องจากตำแหน่งของลิ้นตกไปปิดคอด้านหลัง ซึ่งมีสาเหตุส่งเสริม (predisposing factors) คือ ความเครียด ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่างอยู่แล้ว หรือ การได้รับยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง โดยภาวะการไม่รู้สึกตัวของผู้ป่วยในคลินิกทันตกรรมที่พบได้บ่อยได้แก่

  • Vasodepressor syncope หรือ Faint คือ ภาวะที่ผู้ป่วยเป็นลมหมดสติชั่วระยะเวลาหนึ่งและสามารถฟื้นเองได้ มักเกิดจากความเครียดจากการกลัวการรักษาฟัน หรือเกิดจากสภาพร่างกายผู้ป่วยไม่พร้อมในการรักษาเช่น หิว เหนื่อยเพลีย เป็นต้น
  • Orthostatic hypotension เป็นภาวะที่ผู้ป่วยหมดสติขณะเปลี่ยนท่าจากท่านอนเป็นท่านั่ง เนื่องจากกลไกการปรับตัวให้เลือดไปเลี้ยงสมองขณะเปลี่ยนท่าของร่างกายเสียไป
  • Acute adrenal insufficiency เป็นภาวะที่ผู้ป่วยหมดสติเนื่องจากร่างกายขาด steroid hormone อย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เป็น primary หรือ secondary adrenal insufficiency โดยมีความเครียดเป็นสาเหตุส่งเสริมหลัก

การหายใจลำบาก

คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติโดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะยังคงมีความรู้สึกตัวดีอยู่ ในคลินิกทันตกรรมที่พบบ่อยได้แก่

  • ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ (airway obstruction) จากสิ่งแปลกปลอมที่ใช้ในการรักษาฟัน ซึ่งถ้าพบภาวะนี้สามารถช่วยขั้นต้นได้โดยการนำสิ่งแปลกปลอมออกด้วยวิธี
  • back blow
  • manual thrust: abdominal thrust (Heimlich maneuver) หรือ chest thrust
  • finger sweep
  • Hyperventilation เป็นภาวะที่ผู้ป่วยหายใจถี่เร็วทำให้เกิดความไม่สมดุลของปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เกิดภาวะ respiratory alkalosis โดยมีความเครียดเป็นสาเหตุส่งเสริมหลัก
  • Asthma (bronchospasm) หรือ ภาวะหอบหืด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการอุดกั้นทางเดินหายใจแบบผันกลับได้ (reversible obstruction of airways) เมื่อมีอาการผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก มีเสียงวี๊ด (wheeze)
  • Heart failure and acute pulmonary edema  ผู้ป่วยโรคหัวใจวายจะมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ คือ สูญเสียความสามารถในการบีบตัวของหัวใจห้องล่างเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอทำให้มีอาการหายใจลำบากและเหนื่อยง่าย เมื่อมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกตินานๆจะส่งผลให้มีของเหลวคั่งใน alveolar spaces หรือ interstitial tissue ของปอดเกิดภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลันได้ซึ่งผู้ป่วยจะยิ่งมีภาวะหายใจลำบากรุนแรงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว

คือ ผู้ป่วยที่ยังคงรู้สึกตัวแต่มีลักษณะแปลกไปจากเดิม โดยมีสาเหตุส่งเสริมได้แก่ ยาที่ผู้ป่วยใช้ หรือโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นเช่น โรคเบาหวาน โรคธัยรอยด์ หรือโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น โดย hyperventilation เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัวที่ไม่ได้มีสาเหตุจากยาที่พบบ่อยในคลินิกทันตกรรม

ลมชัก

คือ ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานในสมองชั่วคราวโดยผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึก การเคลื่อนไหว และจิตใจอย่างทันทีทันใด ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกตัวที่เปลี่ยนแปลงไป การรับความรู้สึกด้านรูป รส กลิ่น เสียงและมีพฤติกรรมแปลกไป รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติร่วมด้วย

ภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา

ได้แก่ การใช้ยาเกินขนาด (drug overdose) และการแพ้ยา (drug allergy) โดยการรักษาทางทันตกรรมจะมีการใช้ยาชาเฉพาะทีเป็นประจำซึ่งอาจพบว่ามีการใช้เกินขนาดทั้งในส่วนตัวยาชาเองหรือยาบีบหลอดเลือดที่ผสมอยู่ด้วย ดังนั้นในกรณีที่มีการใช้ยาชาเฉพาะที่ปริมาณมากควรมีการคำนวณปริมาณที่เหมาะสมเพื่อใช้ในแต่ละคนด้วยทุกครั้ง

อาการเจ็บหน้าอก

อาจมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก็ได้ โดย hyperventilation เป็นสาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) พบเป็นสาเหตุหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจโดยอาการเจ็บหน้าอกที่พบได้บ่อยได้แก่ ภาวะ angina pectoris และ acute myocardial infarction

อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

จะพบว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่มีการหายใจ และไม่มีชีพจรซึ่งเกิดจากอาการแทรกซ้อนอย่างเฉียบพลันของภาวะหัวใจขาดเลือดของผู้ป่วย

ทั้งนี้ภาวะฉุกเฉินทางทันตกรรมที่กล่าวมามีสาเหตุหลักจากความเครียดที่เกิดจากการกลัวการรักษาฟัน รวมทั้งโรคประจำตัวและยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ดังนั้นการซักประวัติผู้ป่วยก่อนให้การรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ขึ้น ทันตแพทย์ควรมีการจัดการเบื้องต้นตามลำดับดังนี้

  1. ตรวจสอบระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย โดยเรียกหรือเขย่าตัวผู้ป่วย
  2. หยุดการรักษาฟันทันที เอาอุปกรณ์รักษาทุกอย่างในช่องปากออกให้หมด กรณีที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจจากสิ่งแปลกปลอม ถ้าเห็นชัดเจนสามารถเอาออกได้โดยวิธี finger sweep
  3. รีบตามทีมช่วยเหลือโดยไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้โดยลำพัง
  4. กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ให้เริ่มทำ CPR ได้เลย
  5. กรณีที่ทราบสาเหตุหรือวินิจฉัยโรคได้ให้รักษาตามโรคที่เป็นนั้นเบื้องต้น เช่น อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อาจให้ยา nitroglycerine อมใต้ลิ้น  หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการ hypoglycemia อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวาน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Medical emergencies in the dental office 6th ed; Stanley F.Malamed 2007.
  2. Dental management of the medically compromised patient: James W.Little, Donald A. Falace, Craig S.Miller and Nelson L.Rhodus; 8th ed , 2013

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.เสาวลักษณ์ ลิ้มมณฑล
ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากฯ
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แบบทดสอบ