Basic Life Support

บทความ

Basic Life Support

Cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR คือ การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพโดยช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่มีชีพจรและไม่หายใจ ซึ่งการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือ Basic Life Support (BLS) จัดเป็นกระบวนการหนึ่งของ CPR ที่บุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไปควรรู้เบื้องต้น โดย BLS ประกอบด้วยขั้นตอนเรียงตามลำดับดังนี้

P= Position

C= Circulation

A= Airway

B= Breathing

Position หมายถึง ตำแหน่งที่ผู้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพต้องปลอดภัย (safe scene) และผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายราบกับพื้น กรณีผู้ป่วยอยู่บนเก้าอี้ทำฟันให้ปรับเก้าอี้นอนราบเท้าสูง และอาจจะต้องหาแผ่นแข็งรองหลังลำตัวผู้ป่วย

Circulation หมายถึง การทำให้เกิดการไหลเวียนเลือดของผู้ป่วยโดยการกดหน้าอกด้านนอก (external chest compression) ซึ่งตำแหน่งในการกดหน้าอกจะอยู่บริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก (lower half of sternum)

Airway หมายถึง การช่วยเปิดทางเดินหายใจเนื่องจากผู้ป่วยที่หมดสติจะทำให้ตำแหน่งของลิ้นตกไปทางด้านหลังคอ เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น (airway obstruction) ได้ ซึ่งวิธีการเปิดทางเดินหายใจแบบมือเปล่ามี 2 วิธีคือ การทำ head tilt-chin lift และการทำ jaw thrust ส่วนการเปิดทางเดินหายใจโดยใช้อุปกรณ์ช่วยจะใช้อุปกรณ์ที่เปิดทางเดินหายใจโดยสอดผ่านปากหรือจมูก (oropharyngeal or nasopharyngeal airway)

Breathing หมายถึง การช่วยหายใจโดยอาจใช้ลมหายใจออกของผู้ช่วยฟื้นคืนชีพ (exhaled air ventilation) โดยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) หรือเป่าผ่านหน้ากาก (mouth to mask) หรือใช้อากาศภายนอก (atmospheric air ventilation) เช่น การใช้ ambu bag หรือการใช้ face mask ที่สามารถเติมออกซิเจนเข้าไปได้

โดยปัจจุบันแนวทางการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพหลักใหญ่ๆจะดำเนินการตาม CPR guideline ปี 2015 ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติต่างจาก CPR guideline ปี 2010 สรุปได้ดังนี้

  1. เปลี่ยนลำดับขั้นตอนจาก ABC (Airway-Breathing-Circulation) เป็น C-A-B เนื่องจากพบว่าการเริ่มกดหน้าอกยิ่งเร็วโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับสู่สภาพที่มีการไหลเวียนเลือดปกติจะเร็วขึ้น
  2. ไม่ต้องทำการดู ฟัง สัมผัส (look, listen and feel) สำหรับการตรวจสอบการมีลมหายใจหรือขั้นตอน B เนื่องจากเสียเวลาในการประเมิน โดยถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่มีชีพจร ไม่หายใจหรือหายใจไม่ปกติ ให้เริ่มทำ CPR ได้เลย
  3. เน้นเรื่องการทำ high quality CPR โดย
    • อัตราการกดหน้าอกให้ได้ในช่วง 100-120 ครั้งต่อนาทีสำหรับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ
    • กดหน้าอกลึกอย่างน้อย 2 นิ้วในผู้ใหญ่และปล่อยให้มีการคืนตัวกลับ (recoil) หลังการกดแต่ละครั้ง
    • ไม่รบกวนการทำ CPR ยกเว้นต้องการใช้เครื่อง AED (Automatic electrical defibrillator) และไม่ควรรบกวนการทำ CPR เกินครั้งละ 10 วินาที
    • การคลำชีพจรไม่ควรเกิน 10 วินาที ถ้าไม่รู้สึกว่ามีชีพจรหรือไม่แน่ใจให้เริ่ม CPR ได้ทันที
แผนผังแสดงลำดับขั้นตอนการทำ BLS ตาม CPR guideline ปี 2015

ตารางสรุปองค์ประกอบขั้นตอน BLS ตาม CPR guideline ปี 2015


เอกสารอ้างอิง

สรุปแนวทางปฏิบัติการช่วยชีวิต ปีค.ศ.2015 Highlights of the 2015 American Heart Association Guidelines for CPR and ECC คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์

แบบทดสอบ