ยาทางจิตเวช

บทความ

ยาทางจิตเวช

อุไรภรณ์ กล้าทำ (ท.8251)

โรงพยาบาล สวนปรุง

                                                                                      

ยาจิตเวชในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นต่อระบบสารส่งประสาทหรือตัวรับ(receptor) ที่มากขึ้นทำให้คุณภาพการรักษาดีขึ้นหรือผลไม่พึงประสงค์ของยาน้อยลง แม้ว่ายาทางจิตเวชจะมีจำนวนมาก ,กลไลการออกฤทธิ์แตกต่างกัน และมีความซับซ้อนพอสมควรในการใช้ยา แต่ยาเหล่านี้ก็มีหลักทั่วไปที่คล้ายคลึงกันบางประการ สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงหลักทั่วไปของการใช้ยาทางจิตเวช

การจำแนกยาทางจิตเวช (Classification of Psychotropic Drugs)

ในช่วงปี ค.ศ. 1960-1990 ยาทางจิตเวชส่วนใหญ่จำแนกได้ดังนี้ คือ

  1. ยารักษาโรคจิต(Antipsychotics)ซึ่งใช้รักษา psychotic disorders เป็นหลัก
  2. ยารักษาซึมเศร้า(Antidepressants)ซึ่งใช้รักษา depressive disorders เป็นหลัก
  3. ยาคงสภาพอารมณ์ (Mood stabilizers)ซึ่งใช้รักษา bipolar disorders เป็นหลัก
  4. ยาคลายวิตกกังวล(Antianxiety)และยานอนหลับซึ่งใช้รักษา anxiety disorders และ insomnia เป็นหลัก

เภสัชศาสตร์ของยาทางจิตเวช

เพื่อให้ยาที่ใช้มีประสิทธิผลสูงสุด ยาที่ให้ต้องมีปริมาณเพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลต่อเซลล์เป้าหมาย (target cell)หรือตัวรับ (receptor) ให้ผลสูงสุดในการรักษา,ก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด และมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาและตัวยาอย่างเหมาะสมเมื่อยาที่ให้มีปฎิกิริยาสัมพันธ์กัน ดังนั้นเภสัชจลนศาสตร์(pharmacokinetics) และเภสัชพลศาสตร์(phamacodynamics) ในการใช้ยาทางจิตเวช จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเสมอในการใช้ยาทางจิตเวช

เภสัชจลนศาสตร์

เภสัชจลนศาสตร์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายกระทำต่อยา ซึ่งโดยปกติมี 4ขั้นตอน คือ

1.การดูดซึม ยาจะถูกละลายในทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับความสามารถในการถูกละลายด้วยไขมัน ความเป็นกรด ด่างของทางเดินอาหาร การเคลื่อนไหว และผิวสัมผัสของทางเดินอาหาร ส่วนการให้ยาทางกล้ามเนื้อ มักทำให้ระดับยาในพลาสมาสูงขึ้นเร็วกว่าการรับประทาน ยกเว้นประเภท depot ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดทีละน้อย สำหรับการให้ยาทางหลอดเลือดดำจะทำให้ระดับยาในพลาสมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ก็อาจทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้

2.การกระจาย ยาจะกระจายไปสู่ของเหลวและเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย บางส่วนของยาที่เหลือในกระแสเลือดจะจับตัวกับโปรตีน บางส่วนของยาที่อยู่ในกระแสเลือดและไม่จับกับโปรตีนจะผ่าน blood-brain barrier และออกฤทธิ์ต่อสมองในที่สุด

3.การสลายยา วิธีการที่สำคัญในการสลายยา คือ oxidation,reduction,hydrolysis และ conjugation ผลของการสลายยาอาจทำให้ได้สารที่ออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ก็ได้ มียาทางจิตเวชจำนวนน้อยมากที่ถูกสลายจากสารไม่ออกฤทธิ์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ การสลายยาทางจิตเวชส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ตับโดยอาศัยเอนไซม์ cytochrome P-450ชึ่ง บรรดายาทางจิตเวชทั้งหมดดูเหมือนว่ายารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) และ carbamazepine จะมีผลต่อระบบเอนไซม์ดังกล่าวค่อนข้างมาก โดยยาเหล่านี้สามารถยับยั้งหรือกระตุ้นชนิดย่อยของเอนไซม์ cytochrome P-450 ได้หลายชนิด ทำให้ยาอื่นที่ให้ร่วมด้วยมักถูกสลายตัวช้าลงหรือเร็วขึ้น

4.การขับออก ยาทางจิตเวชส่วนใหญ่ถูกขับออกทางน้ำดี,อุจจาระและปัสสาวะเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้สามารถถุกขับออกจากเหงื่อ น้ำลาย น้ำตา และน้ำนมได้ด้วยเช่นกัน

เภสัชพลศาสตร์

คือสิ่งที่ยากระทำต่อร่างกาย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

1.กลไก (mechanisms) ที่กระทำต่อตัวรับ ส่วนใหญ่ยาทางจิตเวชออกทธิ์ต่อตัวรับของ neurotransmitters ภายในสมอง ยาอาจออกทธิ์ในลักษณะของ agonism (กระตุ้นการทำงานของตัวรับ),antagonism (ยับยั้งการทำงานของตัวรับ) หรือ partial agonism (กระตุ้นการทำงานของตัวรับเพียงเล็กน้อย)ก็ได้

2. โค้งของขนาดยาและการตอบสนอง(dose-response curve) ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดยาและการตอบสนองต่อยาทางจิตเวชมักเป็นเส้นตรง คือ การเพิ่มขนาดยามักเพิ่มการตอบสนองต่อยาไปด้วย แต่ยาบางตัวก็อาจมีความสัมพันธ์ในลักษณะโค้งแบบ sigmoid ได้เช่น nortriptyline ซึ่งมีประสิทธิผลในการรักษาลดลงเมื่อให้ยาในขนาดสูงเกินไป

3.ดัชนีการรักษา (therapeutic index) ค่าดัชนีนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงความปลอดภัยของยาเมื่อให้ในขนาดกึ่งกลางของขนาดที่มีประสิทธิผลในการรักษา(median effective dose) ยาที่มีค่าดัชนีการรักษาต่ำเช่น litium จะมีความปลอดภัยต่ำ

4.การทนต่อยา การถอนยา และการติดยา (tolerance,withdrawal,and dependence) การทนต่อยา หมายถึง การที่ประสิทธิผลของยาลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือการที่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อคงประสิทธิผลของยาไว้ ส่วนการถอนยา หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการลดหรือ หยุดยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับยาในขนาดสูงและมีการลดหรือหยุดยาอย่างรวดเร็ว สำหรับการติดยา หมายถึง การสูญเสียความสามารถในการควบคุมการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยที่ติดยามักมีการทนต่อยาหรือการถอนยาร่วมด้วย


เอกสารอ้างอิง

  1. มานิต ศรีสุรภานนท์. การใช้ยาทางจิตเวช. เชียงใหม่: ธนุชพริ้นติ้ง, 2545.
  2.  Sadock BJ, Sadock VA. Kaplan and Sadock’s pocket handbook of psychiatric drug treatment. Philadelphia: Lippincott Williams & Wikins, 2001.
  3.  Grebb JA. General principles of psychophamacology. In: Sadock BJ, Sadock VA, editors.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

อุไรภรณ์ กล้าทำ
โรงพยาบาล สวนปรุง

แบบทดสอบ