การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มความรุนแรง

บทความ

การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มความรุนแรง

สุลัดดา พงษ์อุทธา

น้ำตาล[1]เป็นส่วนประกอบของอาหารที่หากบริโภคมากไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น องค์การอนามัยโลกจึงได้มีคำแนะนำว่าบุคคลไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน ๕๐ กรัม/วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากน้ำตาลเช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือควรบริโภคในปริมาณไม่เกิน ๒๕ กรัม/วัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง[๑]จากข้อมูลใน พ.ศ.๒๕๕๔ พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาล ๑๐๐ กรัม/คน/วัน[๒]

เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (Sugar sweetened beverages: SSBs) ถูกจัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว ให้พลังงานแก่ร่างกายจำนวนมากแต่ไม่ให้สารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ หรือให้น้อยมาก ในแง่ของการก่อโรคนั้นมีหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ชัดว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอื่นๆ เช่น เบาหวาน และหัวใจและหลอดเลือด[๒]ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น การห้ามการจำหน่ายในโรงเรียน การควบคุมการโฆษณาที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก และการจัดเก็บภาษี[๓, ๔, ๕]

คนไทยนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลพบว่าภายในเวลา ๕ ปี จาก พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๕๒ มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง ๓๑.๖% ซึ่งคาดประมาณว่าใน พ.ศ. ๒๕๕๒ ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของคนไทยจัดอยู่ในอันดับ ๙ จาก ๕๒ ประเทศที่ทำการสำรวจ รองจากสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ตุรกี จีน เยอรมัน บราซิล อิตาลี และสเปน[๖]จากความนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลมากเกินจำเป็น โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก โดยอยู่ในช่วง ๙-๑๙ กรัม/๑๐๐มล.[๗] ในขณะที่ค่าที่เหมาะสมคือเครื่องดื่มไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า ๖ กรัม/๑๐๐ มล. เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว[๘]ซึ่งคนไทยได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลคิดเป็น ๔๕.๙% ของน้ำตาลที่ได้รับจากการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมทั้งหมด[๙]ความนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาทางด้านสุขภาพที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งได้แก่โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดโดยจากข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานบริการสุขภาพของรัฐ พบว่าใน พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๖ อัตราผู้มารับบริการต่อประชากรแสนคนของโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจาก ๑๖๕.๗ เป็น ๔๓๕.๑  โรคหลอดเลือดสมอง ๑๕๑.๕ เป็น ๓๖๖.๘ และโรคหัวใจขาดเลือด ๓๘๐.๘ เป็น ๑,๐๘๑.๒[๑๐,๑๑]จึงอาจเป็นไปได้ว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมีส่วนในการเพิ่มการเกิดโรคดังกล่าวในคนไทยทั้งนี้ได้มีการศึกษาที่ยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของคนไทยมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มดังกล่าวทุกวันมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าผู้ที่บริโภคเพียงเดือนละครั้งถึง ๐.๕ กิโลกรัม ต่อปี[๑๒]


[1]ในที่นี้หมายถึง น้ำตาลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวหรือเชิงคู่ทั้งที่เติมลงไปและที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

ปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases; NCDs) โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นโรคเหล่านี้ก็คือโรคอ้วนและการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ[๑๓,๑๔]ในประเทศไทย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล[๑๑,๑๕]

มาตรการราคาและภาษีเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าได้ผลดีในการในการจัดการปัญหายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความคุ้นทุนประสิทธิผล มีต้นทุนต่ำ และสามารถขยายผลได้ [๑๓] ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งผลจากการรวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่าการจัดเก็บภาษีอาหารส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมการบริโภคซึ่งคาดว่าจะส่งผลลดการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้[๑๖,๑๗]วิธีการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการจัดเก็บภาษีอาหาร คือการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เนื่องจากมีเหตุผลทางโภชนาการที่เพียงพอสำหรับจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีและง่ายต่อการจัดเก็บ และในขณะนี้มีหลายประเทศที่จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฟิจิ เม็กซิโก เฟรนช์โพลีนีเซีย กัวเตมาลา ฮังการี นอร์เวย์ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกาโดยการเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ พ่วงด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ซึ่งมีบางส่วนใช้ปริมาณน้ำตาลเป็นเกณฑ์การจัดเก็บ[๑๗]

ดังนั้นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจึงอาจเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ควรมีการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะมีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมหากมีการจัดสรรสำหรับการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนต่อไป

[๑๙] พบว่าเนื่องจากราคาน้ำอัดลมซึ่งเป็นตัวแทนของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมีราคาถูก และถูกลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ทำให้กำลังซื้อของน้ำอัดลมมีค่าสูงที่สุดและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กำลังซื้อของอาหารที่ดีต่อสุขภาพบางประเภท เช่น ผลไม้ มีค่าต่ำแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งราคาอาหารมีผลต่อการบริโภคอาหาร โดยผู้มีกำลังซื้อน้อยมีแนวโน้มจะเลือกบริโภคอาหารที่มีราคาถูกกว่าโดยไม่ได้สนใจผลต่อสุขภาพ[๒๐]ดังนั้นการที่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลราคาถูกและถูกลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงอาจมีส่วนทำให้มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมากและมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวทางการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน ก่อให้เกิดข้อกังขาจากหลายฝ่าย โดยในภาคธุรกิจเห็นว่าการเลือกจัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มเพียงบางชนิดก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม[๒๑]ในขณะที่หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขเห็นว่ารูปแบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่เป็นไปเพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยตามเจตนารมณ์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ระบุว่าต้องมีการจัดเก็บสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่กลับมีการจัดเก็บเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ไม่เติม และมีการยกเว้นการจัดเก็บเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหลายชนิดที่อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรค[๒๒]

จากเหตุต่างๆ ดังกล่าว จึงควรมีการทบทวนพิกัดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันปัจจุบันได้มีการเคลื่อนไหวจากกระทรวงการคลัง โดยได้จัดทำร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการบูรณาการกฎหมายภาษีสรรพสามิต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสและเป็นสากล ในส่วนของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลนั้น ได้ระบุให้เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บจากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามราคาหน้าโรงงานเป็นจัดเก็บภาษีตามราคาขายปลีก[๒๑]โดยในขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากสามารถผ่านกฎหมายดังกล่าวได้ จะเป็นการวางรากฐานเพื่อให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเอื้อต่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

๑.    World Health Organization. Guideline: Sugars intake for adults and children. Geneva. ๒๐๑๕. 
๒.    Hfocus. คนไทยกินน้ำตาลเพิ่มเกือบ ๓ เท่า สูงสุดในอาเซียน. [หนังสือพิมพ์ออนไลน์]. ๑๘มกราคม ๒๕๕๗. [สืบค้น ๕ กันยายน ๒๕๕๗] เข้าถึงได้จาก: http://www.hfocus.org/content/๒๐๑๔/๐๑/๖๑๕๓.
๓.    Hu F B. Resolved: there is sufficient scientific evidence that decreasing sugar-sweetened beverage consumption will reduce the prevalence of obesity and obesity-related diseases. Obesity Review. ๒๐๑๓; ๑๔: ๖๐๖-๖๑๙.   
๔.    Hawkes C. The worldwide battle against soft drinks in school. American Journal of Preventive Medicine. ๒๐๑๐; ๓๘: ๔๕๗-๔๖๑.
๕.    Sacks G, Rayner M, Stockley L, Scarborough P, Snowdon W, and Swinburn B. Applications of nutrient profiling: potential role in diet-related chronic disease prevention and the feasibility of a core nutrient-profiling system. European Journal of Clinical Nutrition. ๒๐๑๑; ๖๕: ๒๙๘–๓๐๖.
๖.    Euromonitor International. Who drinks what: Identifying international drinks consumption trends. Euromonitor International Ltd; London. ๒๐๑๑. p๕๔. 
๗.    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. หวานแค่ไหน ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม? [Internet].๒๕๕๘ [ค้นเมื่อ๕พฤษภาคม, ๒๕๕๘]. ค้นหาได้จาก http://www.thaihealth.or.th/
๘.    แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และคณะทำงานพัฒนาหลักเกณฑ์การจำแนกอาหาร. โครงการพัฒนาหลักเกณฑ์ในการจำแนกอาหารเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; ๒๕๕๗.
๙.    จันทนา อึ้งชูศักดิ์. การใช้มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารเพื่อลดปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน. สัมมนาเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย เพื่อการจัดการภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน”; ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔; โรงแรมริชมอนด์.นนทบุรี.
๑๐.    กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักโรคไม่ติดต่อ. รายงานประจำปี ๒๕๕๗. นนทบุรี: สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค; ๒๕๕๗.
๑๑.    คณะทำงานศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. ๒๕๕๒. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. ๒๕๕๒. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; ๒๕๕๒.
๑๒.    Lim L, Banwell C, Bain C, Banks E, Seubsman S, Kelly M, Yiengprugsawan V, Sleigh A. Sugar sweetened beverages and weight gain over ๔ years in a Thai national cohort-A prospective analysis. PLoS ONE. ๒๐๑๔;  ๙(๕):e๙๕๓๐๙. doi:๑๐.๑๓๗๑/journal.pone.๐๐๙๕๓๐๙
๑๓.    World Health Organization and World Economic Forum. From burden to “best buys”: Reducing the economic impact of non-communicable diseases in low- and middle-income countries [Internet]. ๒๐๑๑ [cited ๕ September, ๒๐๑๕]. Available from: http://www.who.int/nmh/publications/best_buys_summary.pdf.
๑๔.    National Heart Forum. What is the role of health-related food duties?: A report of a National Heart Forum meeting[Internet], ๒๙ June ๒๐๑๒ [Internet]. ๒๐๑๒ [cited ๕ September, ๒๐๑๔]. Available from:http://www.worldobesity.org/site_media/uploads/UKHF_duties.pdf.
๑๕.    Pitayatienanan P, Butchon R, YothasamutJ, Aekplakorn W, Teerawattananon Y, Suksomboon N,Thavorncharoensap M. Economic costs of obesity in Thailand: a retrospective cost-of-illness study.BMC Health Services Research๒๐๑๔, ๑๔:๑๔๖ 
๑๖.    Thow M A, Downs S. The effect of fiscal policy options with potential for improving diets for the prevention of non-communicable diseases (NCDs). Bulletin of the World Health Organization.๒๐๑๐;๘๘:๖๐๙-๖๑๔. doi:๑๐.๒๔๗๑/BLT.๐๙.๐๗๐๙๘๗. 
๑๗.    Chriqui JF๑, Chaloupka FJ, Powell LM, Eidson SS. A typology of beverage taxation: multiple approaches for obesity prevention and obesity prevention-related revenue generation. J Public Health Policy.๒๐๑๓; ๓๔(๓):๔๐๓-๒๓.
๑๘.    พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗. ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๗
๑๙.    สุลัดดา พงษ์อุทธา, พเยาว์ ผ่อนสุข, กิติพร ทัพศาสตร์. การบริโภคอาหารของไทยในรอบหนึ่งทศวรรษ: เวลาเปลี่ยนไป พฤติกรรมการกินใช้เปลี่ยนแปลง?. ใน: สิรินทร์ยา พูลเกิด, พเยาว์ ผ่อนสุข. รายงานประจำปี ๒๕๕๖ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ. นนทบุรี: มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; ๒๕๕๖. หน้า ๑๐๑-๑๑๔.
๒๐.    Cornelsen L, Green R, Turner R, Dangour D A, Shankar B, Mazzocchi M, Smith D R. What happens to patterns of food consumption when food price change? Evidence from a systematic review and meta-analysis of food price elasticities globally. Health economics. ๒๐๑๔; DOI: ๑๐.๑๐๐๒/hec.๓๑๐๗
๒๑.    กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. คลังจ่อเก็บภาษี ชาเขียว-กาแฟ. [หนังสือพิมพ์ออนไลน์]๑ สิงหาคม ๒๕๕๗. [สืบค้น ๕ กันยายน ๒๕๕๗] เข้าถึงได้จาก :http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/๕๙๖๓๙๐

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

สุลัดดา พงษ์อุทธา

แบบทดสอบ