การดูแลผู้สูงอายุ Geriatric Care

บทความ

การดูแลผู้สูงอายุ Geriatric Care

ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุปี พ.ศ.2546 หมายถึง บุคคลที่มีอายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพ สภาพร่างกาย รวมไปถึงอวัยวะภายในช่องปากมีความเสื่อมถอย ร่วมกับปัจจัยจากการดูแลความสะอาดช่องปากที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุให้คงอยู่ในสภาพที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิคความผิดปกติต่างๆ

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุขึ้นกับศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุ ผู้ที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้จะมึความสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย หรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือมีภาวะป่วยทางจิต จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือคอยดูแลสุขภาพช่องปากให้

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกิดกับผู้สูงอายุ

  • ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง การหลั่งฮอร์โมนบางชนิดน้อยลง เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ และมีผลต่ออารมณ์
  • มีการเปลี่ยนแปลงของและสูญเสียเซลล์ เนื่องจากการสร้างเซลล์ใหม่มาแทนที่เซลล์เก่าที่ตายไปมีลดลง ทำให้อัตราการหายของแผลช้าลง
  • การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) และ คอลลาเจน (collagen) ที่มีความยืดหยุ่น ยืดหดได้น้อยลง แสดงเป็นรอยเหี่ยวย่น และประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง มวลกระดูกลดลง
  • ไขมันชั้นบนของผิวหนังลดลงทำให้ผิวแห้ง หยาบกร้าน
  • เมตาโบลิซึมในร่างกายลดลง เนื่องจาก ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง ส่งผลให้มีการสร้างกล้ามเนื้อน้อยลง การเผาผลาญอาหารลดลง
  • การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหาร เช่น การสูญเสียฟันหรือการสึกของฟันทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด  ปุ่มรับรสที่ลิ้นทำงานได้น้อยลง ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง และ กระเพาะมีการหลั่งน้ำย่อยน้อยลง
  • ผมขาว จากการเปลี่ยนแปลงของ follicular melanocytes และความหนาแน่นของผมลดลง สาเหตุจากที่ระยะเวลาช่วง anagen (ช่วงการเจริญของเส้นผม) สั้นลง ขณะที่ช่วง telogen (ช่วงพัก) ยาวขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในช่องปากและฟัน ทั้งเนื้อเยื่ออ่อนและแข็ง ดังนี้
    • เคลือบฟันบางลง เกิดการสึกกร่อนจากการใช้งานตามอายุที่มากขึ้น
    • เนื้อฟัน หนามากขึ้นตามอายุ ทำให้ความทึบแสงของเนื้อฟันมากขึ้น ฟันสีเข้มขึ้น
    • โพรงประสาทฟัน จะมีขนาดเล็กแคบลง จำนวนเซลล์ในเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันลดลง การรับความรู้สึกของฟันลดลง
    • เนื้อเยื่อบุช่องปาก มีความยืดหยุ่นลดลง
    • ตุ่มรับรสที่ลิ้นฝ่อ ลดจำนวนลง เป็นแผลและแสบลิ้นได้ง่าย
    • ถ้ามีอาการขาดวิตามินบีหรือธาตุเหล็กจะเกิดอาการเหงือกซีด ลิ้นและปากเป็นแผล
    • กระดูกเบ้าฟัน ตอบสนองต่อการบาดเจ็บของกระดูกช้าลง การสร้างเซลล์กระดูกช้าลง
    • เอ็นยึดปริทันต์จะมีจำนวนเส้นใยน้อยลง และมีการสร้างเส้นใยทดแทนช้า
    • ต่อมน้ำลาย ในผู้สูงอายุต่อมน้ำลายจะมีการฝ่อลีบ น้ำลายถูกขับออกมาน้อยลง ทำให้ปากแห้ง ขาดน้ำลายหล่อลื่นในปาก ปากแห้ง ฟันผุง่าย
    • การสูญเสียฟัน ทำให้ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปยังระบบย่อยอาหาร และทำให้โครงสร้างกระดูกขากรรไกรเปลี่ยนไป โครงสร้างหน้าเปลี่ยน คางมักดูยื่น (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 รูปทรงของกระดูกขากรรไกรเปลี่ยนไปเมื่อมีการสูญเสียฟัน

โรคที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

ฟันสึก-กร่อน

ฟันสึก-กร่อน เกิดขึ้นจากการใช้บดเคี้ยวอาหารที่ค่อนข้างแข็ง หรือใช้เฉพาะบางบริเวณเคี้ยวอาหารทำให้ฟันสึกหรอไปตามการใช้งาน (รูปที่ 2) ร่วมกับกรดจากอาหาร การรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีความเป็นกรดสูง ถ้าฟันสึกกร่อนเล็กน้อย ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าสึกกร่อนมากจนเกิดอาการเสียวฟัน กระทบการบดเคี้ยว ก็จำเป็นต้องรับการบูรณะด้วยการอุดฟัน หรือทำครอบฟัน

โรคฟันผุ

ในผู้สูงอายุมักเกิดฟันผุบริเวณคอฟัน ซอกฟัน และรากฟัน ต่างจากเด็กและวัยรุ่นที่มักพบการผุบริเวณด้านบดเคี้ยว เนื่องจากวัยผู้สูงอายุมีภาวะเหงือกร่นจนเห็นรากฟัน การยื่นยาวของฟัน ฟันล้มเอียง ทำให้พบการผุบริเวณรากฟันได้มาก และจะลุกลามรวดเร็วกว่าตัวฟัน จึงต้องหมั่นสังเกตเพื่อป้องกันรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักมีน้ำลายน้อย ทำให้ปรับสภาวะความเป็นกรดในช่องปากให้เป็นกลางได้ช้า ร่วมกับการทานอาหารหวาน จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้น

โรคปริทันต์อักเสบ

สาเหตุหลักมาจากคราบจุลินทรีย์สะสมที่บริเวณคอฟันทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก เหงือกจะบวมแดง มีเลือดออกง่าย และเมื่อเอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟันถูกทำลายทำให้ฟันโยก การสูญเสียฟันส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุลดลง

เชื้อราในช่องปาก

สังเกตุเห็นเป็นแผ่นสีขาวหรือเหลืองอ่อน ตุ่มขาวเล็กๆ ที่ล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อสีแดงจัด หรือเป็นแผ่นสีแดง มักจะขูดออกได้ (รูปที่ 3) พบได้ทั่วไปในปาก มักมีอาการเจ็บ สัมพันธ์กับผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคทางระบบ เช่น เบาหวาน ได้รับยาปฎิชีวนะรักษาโรคบางชนิด หรือ ผู้ที่ใช้ยาพวกสเตียรอยด์ เป็นเวลานานทำให้สภาวะในช่องปากเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในช่องปากที่ถูกต้อง เปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค ร่วมกับการดูแลโรคทางระบบ


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ. ดร. ทพญ. ฑัณฑริรา พรทวีทัศน์

แบบทดสอบ