การอุดคลองรากฟัน และวัสดุอุดคลองรากฟัน

บทความ

การอุดคลองรากฟัน และวัสดุอุดคลองรากฟัน

การอุดคลองรากฟัน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการรักษาคลองรากฟันแบบไม่ทำศัลยกรรม (Non surgical root canal treatment) การอุดคลองรากฟันมีวัตถุประสงค์เพื่ออุดปิดช่องว่างในระบบคลองรากฟันให้แนบสนิทที่สุด เพื่อไม่ให้เชื้อจุลชีพรวมถึงสารที่เชื้อผลิตซึ่งอาจหลงเหลืออยู่ในระบบคลองรากฟันภายหลังทำความสะอาดคลองรากฟันแล้ว รั่วออกสู่นอกรากฟันแล้วก่อให้เกิดโรคของเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันตามมาได้(1) ดังนั้นคุณภาพของการอุดคลองรากฟันจึงส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาคลองรากฟันด้วย และเพื่อให้ได้การอุดคลองรากฟันที่ดี จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการอุดและวัสดุอุดคลองรากฟันที่ทำให้เกิดความแนบสนิทเต็มระบบคลองรากฟัน วิธีการอุดคลองรากฟันในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี (2) แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีที่นิยมใช้ในประเทศไทย อันได้แก่

1. Lateral compaction (condensation) เป็นการอุดคลองรากฟันโดยใช้วัสดุแท่งเอก (main cone) ที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดคลองรากฟันส่วนปลาย และเบียดเติมวัสดุแท่งรอง (Lateral cone) เข้าไปข้างๆจนเต็มคลองรากฟัน เป็นวิธีที่ง่าย สามารถควบคุมความยาวของวัสดุอุดได้ เครื่องมือไม่ยุ่งยาก เหมาะกับคลองรากที่มีรูปร่างทรงกรวย

2. Continuous wave technique เป็นการอุดคลองรากฟันโดยเมื่อใส่วัสดุแท่งเอกในคลองรากแล้ว จะตัดวัสดุลงไปให้คลองรากให้ถึงส่วนปลายรากด้วยเครื่องตัดความร้อนไฟฟ้า (heating device) จะทำให้วัสดุหลอมละลายและแผ่เต็มบริเวณคลองรากฟันส่วนปลายราก วิธีนี้ให้ความแนบสนิทที่ดีแต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากจะควบคุมการไหลของวัสดุได้ยาก อาจทำให้วัสดุเกินออกนอกปลายรากได้โดยเฉพาะกรณีรูเปิดปลายรากใหญ่

3.Thermoplasticized injection เป็นการหลอมวัสดุอุดคลองรากฟันให้เหลวแล้วฉีดใส่เข้าไปในคลองรากฟันให้ไหลแผ่เต็ม  นิยมใช้ร่วมกับวิธี Continuous wave

4. Carrier based thermoplasticized technique  เป็นแท่งวัสดุอุดคลองรากฟันที่มีแกนเป็นพลาสติกและมีด้ามจับ เวลาใช้วัสดุจะถูกหลอมด้วยเครื่องมือพิเศษ แล้วนำแท่งไปเสียบในคลองรากฟัน วัสดุอุดคลองรากฟันที่ใช้วิธีนี้ เช่น ThermaFil®, Soft CoreTM, GuttaCoreTMเป็นต้น  

วัสดุอุดคลองรากฟันแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแกน (Core material) และส่วนซีเมนต์ (Sealer) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนควรมีคุณสมบัติ ใส่เข้าไปในคลองรากฟันได้ง่าย ไม่หดตัวภายหลังอุดเสร็จแล้ว แนบสนิทดีกับผนังคลองรากฟัน ทนต่อความชื้น ทึบรังสี ไม่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน สามารถฆ่าเชื้อได้ง่ายและเร็ว สามารถรื้อออกได้ง่าย และอาจมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลชีพ(3)

1. Core material คือวัสดุส่วนใหญ่ที่อุดในคลองรากฟัน วัสดุที่ใช้เป็นส่วนแกนมีดังนี้

  • Gutta percha มีองค์ประกอบคือ zinc oxide, heavy metal salt, resin or wax และ gutta percha เมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีลักษณะเป็นของแข็ง เป็น beta plase แล้วเมื่อโดนความร้อนถึงอุณหภูมิ 115°F จะกลายเป็น alpha phase และที่ 147°F จะหลอมจนไหลแผ่ได้(4) Gutta percha เป็นวัสดุที่นิยมใช้อุดคลองรากมาเป็นเวลานาน เนื่องจากใช้ง่าย รื้อออกง่าย และสามารถหลอมละลายได้ด้วยความร้อน ทำให้อุดได้หลายวิธี อย่างไรก็ตามเมื่อเย็นตัวลง  Gutta percha จะมีการหดตัวเล็กน้อย ในปัจจุบัน Gutta percha มีหลายรูปแบบ เช่น แบบแท่ง (point) ขนาดตาม ISO หรือมีความผายหลายระดับ สามารถใช้อุดด้วยวิธี Lateral compaction หรือ Continuous wave หรือ แบบแท่งก้อนเล็ก (pellet) เพื่อใช้ใส่ในเครื่องฉีด เพื่ออุดด้วยวิธี Thermoplasticized injection หรือเป็นแบบแท่งมีด้ามจับ เพื่อใช้อุดด้วยวิธี  Carrier based thermoplasticized technique  
  • Resilon เป็น Thermoplastic synthetic polymer based material ประกอบด้วย methacrylate resin, bioactive glass, barium sulphate and bismuth oxychloride เป็นแท่งใช้งานได้เหมือน Gutta percha โดยต้องใช้ร่วมกับ Epiphany/Realseal ซึ่งเป็น dual cured resin based sealer  Resilon ถูกนำมาใช้อุดคลองรากฟันในปี ค.ศ. 2004  ซึ่งมีหลักการว่าจะยึดวัสดุ Core sealer และเนื้อฟันเป็นชิ้นเดียวกัน เรียกว่า Monoblock เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับรากฟัน ลดการแตกของรากฟัน แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าหลักการ Monoblock ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากระบบการยึดติดในคลองรากฟันที่สมบูรณ์เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งในแง่การเกิดช่องว่างระหว่างวัสดุและเนื้อฟัน และการยึดติดระหว่าง sealer กับเนื้อฟัน(5)
  • Bioceramic material เป็นวัสดุ ceramic ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยมีองค์ประกอบ  alumina, zirconia, bioactive glass, glass ceramics, hydroxyapatite, and calcium phosphates Bioceramic ที่ใช้ในการอุดคลองรากฟัน ได้แก่ mineral trioxide aggregate (MTA) ซึ่งมักใช้อุดในคลองรากฟันที่มีรอยทะลุหรือรากฟันละลาย เนื่องจากวัสดุเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อนอกปลายราก มีการกันรั่วซึมได้ดี และกระตุ้นให้สร้างเนื้อเยื่อแข็งได้ แต่มีข้อเสียคือ อุดยาก และรื้อออกได้ยากมาก จึงไม่ควรใช้ในคลองรากฟันที่จะกรอวัสดุอุดออกเพื่อทำเดือยฟัน

2. Sealer คือซีเมนต์ที่ใช้ฉาบผนังคลองรากฟัน ทำหน้าที่เชื่อมวัสดุ Core material กับผนังคลองรากฟัน แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามองค์ประกอบหลักได้ดังนี้

  • Zinc oxide eugenol based sealer เป็น Sealer ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย สามารถให้ความแนบสนิทที่ดี มีการเปลี่ยนแปลงปริมาตรน้อยหลังจากการแข็งตัว มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลชีพ  ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อรอบปลายรากน้อยสามารถรื้อออกได้ด้วยสารละลาย Chloroform, Xylol หรือ Eucalyptol oil แต่มีข้อเสียคือ ระยะเวลาในการแข็งตัวนาน และถูกทำให้ละลายตัวได้ด้วยน้ำซึ่งจะทำให้ Eugenol ระเหยไปส่งผลให้ความแข็งแรงลดลง นอกจากนี้  Sealer ชนิดนี้มี Eugenol เป็นส่วนประกอบซึ่งจะส่งผลต่อการบูรณะฟันด้วย resin composite จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
  • Calcium hydroxide based sealer มีองค์ประกอบหลักเป็น Calcium hydroxide ซึ่งมีคุณสมบัติเมื่อแตกตัวจะมีความเป็นด่างสูง จึงสามารถฆ่าเชื้อจุลชีพและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อแข็งได้ แต่การละลายของ Calcium hydroxide จะทำให้เกิดช่องว่างภายในคลองรากฟันซึ่งส่งผลต่อการรั่วซึมที่มากขึ้นได้ ตัวอย่าง Sealer ชนิดนี้ได้แก่ Apexit SealApex CRCS เป็นต้น
  • Resin based sealer เป็น Sealer ที่มีองค์ประกอบเป็นเรซิน ทำให้ได้การยึดติดกับผนังคลองรากฟันดี Resin sealer ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เป็น epoxy resin เช่น AH26 และ AH plus ซึ่งเป็น Sealer ที่มีการไหลแผ่ดี และแนบสนิทกับคลองรากฟัน อย่างไรก็ตาม AH26 ไม่นิยมใช้เนื่องจากมีความเป็นพิษต่อเซลสูงจากการปล่อย Formaldehyde (6) Resin sealer บางชนิดจะใช้ร่วมกับ self etch primer เช่น Realseal และ Epiphany สามารถยึดติดกับเนื้อฟันโดย self-etching และเป็น hydrophilic dual-cured sealer 
  • Glass ionomer based sealer เป็น Glass ionomer cement ซึ่งมีการยึดติดกับเนื้อฟันด้วยพันธะทางเคมี ทำให้ป้องกันการรั่วได้ดี แข็งตัวค่อนข้างเร็ว ประมาณ 30 นาที(7) จึงมักใช้ในการอุดร่วมกับ Gutta percha แท่งเดียว (single cone technique) ตัวอย่าง Sealer ชนิดนี้ได้แก่ Ketac-Endo
  • Silicone based sealer ได้แก่ RoekoSeal มีส่วนประกอบหลักเป็น polydimethylsiloxane  มีคุณสมบัติการไหลแผ่ที่ดี ไม่ยึดติดกับเนื้อฟัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงมิติน้อย ไม่ละลายตัวในน้ำ มีการขยายตัวเล็กน้อยจึงทำให้เกิดความแนบสนิทกับผนังคลองราก(8)
  • Bioceramic based sealer ในปัจจุบันมีการนำวัสดุ Bioceramic มาเป็น sealer เกิดจากข้อดีของ bioceramic ที่ว่า เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อและมีส่วนประกอบของ Calcium phosphate ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างผลึกที่คล้ายคลึงกับฟันและกระดูก(9) อย่างไรก็ตามเมื่อวัสดุแข็งตัวแล้วจะรื้อออกได้ยาก ตัวอย่าง sealer ชนิดนี้ได้แก่ iRootSP EndoSequence BC MTA-Fillapex เป็นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่ม sealer ประเภทใหม่ ทำให้ในปัจจุบันยังมีการศึกษาคุณสมบัติเกี่ยวกับ sealer ประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลจะพบว่า ในปัจจุบันการอุดคลองรากฟันสามารถทำได้หลากหลายวิธี และมีวัสดุในท้องตลาดให้เลือกใช้หลายชนิด การเลือกใช้วิธีหรือวัสดุใดในการอุดคลองรากฟัน ทันตแพทย์ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละซี่ฟัน ได้แก่รูปร่างคลองรากฟัน การบูรณะภายหลังรักษาคลองรากฟัน ข้อดีข้อด้อยของวัสดุ เวลาทำงานและแข็งตัวของวัสดุ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ต้องใช้และความชำนาญของทันตแพทย์


เอกสารอ้างอิง

  1. Delivanis PD, Mattison GD, Mendel RW. The survivability of F43 strain of Streptococcus sanguis in root canals filled with gutta-percha and Procosol cement. Journal of endodontics. 1983;9(10):407-10.
  2. AAE. Obturation of Root Canal Systems 2009. Available from: https://www.aae.org/uploadedfiles/publications_and_research/endodontics_colleagues_for_excellence_newsletter/fall09ecfe.pdf.
  3. Grossman L. Endodontic Practice. Philadelphia: Lea & Febiger 1981. 279 p.
  4. Goodman A, Schilder H, Aldrich W. The thermomechanical properties of gutta-percha. Part IV. A thermal profile of the warm gutta-percha packing procedure. Oral surgery, oral medicine, and oral pathology. 1981;51(5):544-51.
  5. Shanahan DJ, Duncan HF. Root canal filling using Resilon: a review. British dental journal. 2011;211(2):81-8.
  6. Koch MJ, Wunstel E, Stein G. Formaldehyde release from ground root canal sealer in vitro. Journal of endodontics. 2001;27(6):396-7.
  7. Nielsen BA, Beeler WJ, Vy C, Baumgartner JC. Setting times of Resilon and other sealers in aerobic and anaerobic environments. Journal of endodontics. 2006;32(2):130-2
  8. Gencoglu N, Turkmen C, Ahiskali R. A new silicon-based root canal sealer (Roekoseal-Automix). Journal of oral rehabilitation. 2003;30(7):753-7.
  9. Al-Haddad A, Che Ab Aziz ZA. Bioceramic-Based Root Canal Sealers: A Review. International journal of biomaterials. 2016;2016:9753210.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

อ.ทพญ.ถนอมศุก เจียรนัยไพศาล
ภาควิชาทันตกรรมหัตถการ
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบบทดสอบ