ทันตกรรมป้องกันในผู้ป่วยจิตเวช

บทความ

ทันตกรรมป้องกันในผู้ป่วยจิตเวช

ผู้ป่วยจิตเวชมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้สภาวะสุขภาพช่องปากไม่ดี มีฟันผุ เป็นโรคปริทันต์และมีการสูญ เสียฟันมากกว่าคนปกติ  มักไม่สนใจในการดูแลและรักษาอนามัยสุขภาพช่องปาก ชอบดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และชอบรับประทาน ขนมกรุบกรอบ เนื่องจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคจิต ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำลายน้อย ปากแห้งและการรับรสอาหาร ลดลง  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ในผู้ป่วยได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เพศชาย อายุที่มากขึ้น ช่วงเวลาของการป่วยทางจิต น้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์ปกติ  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะสมองพิการหรือ สมองเสื่อมร่วมด้วย ยิ่งจำต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังพบรอยโรคหรือแผลในช่องปาก ได้บ่อยๆ เนื่องจากอาการปากแห้งและมีภาวะทุโภชนาการร่วมด้วย  และที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟันสึกเนื่องจากการนอนกัดฟัน การใช้ฟันผิดหน้าที่ แปรงฟันรุนแรงเกินไป และ ฟันสึกแบบ chemical erosion เนื่องจากการอาเจียน

ช่วงแรกของการรักษาทางทันตกรรมตามแผนการรักษาที่วางไว้ผู้ป่วยควรได้รับการกำจัดโรคในช่องปากที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด รวมทั้งสิ่งที่รบกวนการทำความสะอาดช่องปาก ได้แก่ การบำบัดฉุกเฉิน (emergency treatment) ในกรณีที่ปวดฟันโดยการรักษารากฟันเบื้องต้น ถอนฟันซี่ที่โยกมาก อุดฟันซี่ที่มีอาการเสียวทำให้แปรงฟันหรือบดเคี้ยวอาหารไม่ได้ ขูดหินน้ำลายที่เกาะอยู่บริเวณขอบเหงือกซึ่งทำให้แปรงฟันบริเวณนั้นไม่ได้ อุดฟันชั่วคราวเพื่อช่วยควบคุมโรคฟันผุไม่ให้ลุกลาม การแก้ไขขอบวัสดุที่อุดเกิน (overhanged margin) เป็นต้น ต่อจากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของงานทันตกรรมป้องกันที่ควรพิจารณาทำไปควบคู่กับการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยตนเอง หรือผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้เอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

แนวทางการจัดการทันตกรรมป้องกันในผู้ป่วยจิตเวช แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. การดูแลโดยทันตแพทย์ (professional care) 
    ได้แก่ การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโดยการตรวจช่องปากเพื่อจัดประเภทผู้ป่วยตามความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ให้คำปรึกษาเรื่องอาหาร การเลือกใช้อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดฟัน การใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ น้ำยาบ้วนปาก การผนึกหลุมร่องฟัน การใช้น้ำลายเทียมในผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้ง ตลอดจนการจัดบริการที่ช่วยส่งเสริมทันตสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  2. การดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยตนเองหรือผู้ดูแล (individual oral self care) 
    ได้แก่ การดูแล สุขภาพช่องปาก วิธีทำความสะอาดช่องปาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร  ตลอดจนการสอนให้ผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้ความสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

หลักการดำเนินงานทันตกรรมป้องกันในผู้ป่วยจิตเวช

  • วางแผนการดำเนินงานทันตกรรมป้องกันให้แก่ผู้ป่วยเป็นแบบรายบุคคล
  • การให้ทันตสุขศึกษา ควรเลือกใช้สื่อการสอนที่ดึงดูดความสนใจ สามารถสื่อความหมายได้ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย ใช้คำพูดที่อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะทำเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆที่มีปัญหาโรคในช่องปากและมีระดับความเสี่ยงต่อโรคเช่นเดียวกันก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาให้ผู้ดูแลหลักมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย
  • ให้การรักษาทันทีเมื่อตรวจพบโรคระยะเริ่มแรก ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและความยุ่งยากในการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเองและมาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • มีระบบการนัด และการติดตามผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ

เอกสารอ้างอิง

  1. Gurbuz O, Alatas G, Kurt E, Dogan F, Issever H. Periodontal health and treatment needs among hospitalized chronic psychiatric patients in Istanbul, Turkey. Community Dent Health. 2011;28: 69-74.
  2. Ramon T, Grinshpoon A, Zusman SP, Weizman A. Oral health and treatment needs of institutionalized chronic psychiatric patients in Israel. Eur Psychiatry. 2003;18:101-5.
  3. Su N, Marek CL, Ching V, Grushka M. Caries prevention for patients with dry mouth. J Can Dent Assoc. 2011;77:b85. 
  4. Gutkowski S1, Gerger D, Creasey J, Nelson A, Young DA. The role of dental hygienists, assistants, and office staff in CAMBRA. J Calif Dent Assoc. 2007;35:786-9,792-3.
  5. Weyant RJ, Tracy SL, Anselmo TT, Beltrán-Aguilar ED, Donly KJ, Frese WA, et al. Topical fluoride for caries prevention: executive summary of the updated clinical recommendations and supporting systematic review. J Am Dent Assoc. 2013;144:1279-91.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ทพญ.วชิราพร ปิ่นสุวรรณ
รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

แบบทดสอบ