การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ

บทความ

​การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ

การรักษาโรคปริทันต์สามารถจำแนกได้ตามระยะที่ให้การรักษาได้เป็น 4 phase คือ systemic phase, initial phase, corrective phase, maintenance phase (หรือ supportive periodontal therapy) หรืออาจแบ่งการรักษาได้ 2 รูปแบบ คือ  non-surgical และ surgical  therapy

การรักษาแบ่งตามระยะ คือ

  1. Systemic phase

    คือ การให้การรักษาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางระบบที่มีผลต่อโรค รวมทั้งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการให้การรักษาโรคปริทันต์ เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน การกระตุ้นและการแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ โดยขั้นตอนนี้อาจต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม  เป็นต้น

  2. Initial phase

    คือ การรักษาที่มีวัตถุประสงค์ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยการกำจัดคราบจุลินทรีย์  หินน้ำลาย  และคราบสีที่สะสมบนผิวฟันและผิวรากฟัน ด้วยการขูดหินน้ำลาย และการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ร่วมกับการควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์ โดย

    การขูดหินน้ำลาย (Scaling)

    หมายถึง การใช้เครื่องมือในการกำจัดหินน้ำลายและคราบ จุลินทรีย์เหนือเหงือกออก

    การเกลารากฟัน (Root planing)

    หมายถึง การใช้เครื่องมือเพื่อกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกและคราบจุลินทรีย์บนผิวรากฟันรวมทั้งการกำจัดผิวรากฟันและเนื้อฟันที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย

    การควบคุมคราบจุลินทรีย์ (Plaque control)

    หมายถึง ขบวนการควบคุมและกำจัดการเกิดคราบจุลินทรีย์ทั้งโดยทันตแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น

    Mechanical plaque control

    หมายถึง การควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์ทางกล โดยการแปรงฟัน การใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

    Chemical plaque control

    หมายถึง การนำสารเคมีมาช่วยเสริมในการควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์ แบ่งออกเป็น
    • การควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์เหนือเหงือก (Supragingival plaque control)
    • การควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือก (Subgingival plaque control)

การใช้สารเคมีรักษามาใช้ร่วมกับการรักษาโรคปริทันต์

สารเคมีรักษา(chemotherapeutic agents) คือ สารเคมีที่นำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดผลในการรักษา

วัตถุประสงค์หลักในการใช้สารเคมีรักษา

  1. เพื่อทำลายหรือยับยั้งเชื้อจุลชีพ (destroy or inhibited microorganism) ได้แก่ การใช้ยาต้าน  จุลชีพในรูปแบบต่างๆ
  2. เพื่อส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย (host modulation) ได้แก่ การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่  สเตียรอยด์ (non-steroidal inflammatory drugs ; NSAIDs) และการใช้ยาด๊อกซีซัยคลีน ปริมาณต่ำ (low dose doxycycline ; LDD)

การใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อทำลายหรือยับยั้งเชื้อจุลชีพก่อโรคปริทันต์

มีการนำยาต้านจุลชีพมาเสริมการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ เนื่องจากการรักษาโดยวิธีทางกล (mechanical debridement) ได้แก่ การขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน หรือการทำศัลยกรรมปริทันต์ ไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ตกค้างในเนื้อเยื่อปริทันต์ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Aggregatibacter actinomycetemcomitans, Porphyromonas gingivalis, Prevotella intermedia, Tannerella forsythensis สามารถแทรกตัวเข้าไปในเยื่อบุผิวร่องเหงือก เนื้อเยื่อยึดต่อ ท่อเนื้อฟัน และอาจมีเชื้อแบคทีเรียบางส่วนตกค้างอยู่บนลิ้น ทอนซิล และเยื่อบุกระพุ้งแก้ม (buccal mucosa) จึงมีการนำยาต้านจุลชีพมาเสริมการรักษาเพื่อที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ตกค้างเหล่านี้

ขั้นตอนในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ

  1. การให้ยาปฏิชีวนะควรให้หลังจากการรักษาโดยวิธีทางกล โดยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันและศัลยกรรมปริทันต์ (หรืออาจให้พร้อมการรักษาโดยวิธีทางกลในผู้ป่วยกลุ่มที่ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคปริทันต์อักเสบแบบรุกราน)
  2. ประเมินผลการรักษา หากพบว่าโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยพบว่ามีการอักเสบและมีการสูญเสียการยึดเกาะปริทันต์เพิ่มขึ้น ควรทำการตรวจทางจุลชีววิทยาเพื่อหาเชื้อจุลชีพที่ก่อโรค โดยการเพาะเชื้อร่วมกับการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา
  3. เลือกชนิดของยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยนอกจากจะต้องทราบชนิดของเชื้อแล้ว ควรคำนึงถึงลักษณะทางเภสัชวิทยา  พิษวิทยาของยา และสภาพของผู้ป่วย เช่น อายุ โรคประจำตัว และการแพ้ยา
  4. ประเมินผลการรักษาหลังจากที่ให้ยาปฏิชีวนะไป 1-3 เดือน โดยดูการตอบสนองทางคลินิก และทำการตรวจเชื้อจุลชีพซ้ำ เพื่อจะทราบว่าได้กำจัดเชื้อก่อโรคหรือยัง และประเมินว่ามีการติดเชื้อฉวยโอกาสด้วยหรือไม่ ซึ่งโดยปกติหากตรวจพบปริมาณเชื้อกลุ่มสเต็ปโตค็อกคัส และเชื้อกลุ่มแอกติโนไมซิส มีปริมาณมากขึ้น แสดงถึงการมีสภาวะปริทันต์ที่ดีขึ้น
  5. หลังจากอาการของโรคปริทันต์ดีขึ้น ควรนัดผู้ป่วยมารักษาขั้นคงสภาพ โดยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน กำจัดคราบจุลินทรีย์ และเน้นย้ำการทำความสะอาดช่องปาก แต่หากพบว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำใหม่ของโรคควรจะทำการตรวจหาเชื้อก่อโรคที่หลงเหลืออยู่และทำการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา  เพื่อจะได้ให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อไป

การใช้ยาเพื่อส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย (host modulation)

เนื่องจากโรคปริทันต์เป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียโดยเชื้อแบคทีเรียและสารพิษของเชื้อสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้มีการหลั่งสารอักเสบต่างๆ ซึ่งสารอักเสบเหล่านี้ก่อให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ตามมา ดังนั้นจึงมีการนำวิธีการส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย (host modulation) มาใช้ร่วมกับการรักษาโรคปริทันต์ โดยการส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถแบ่งออกเป็น

  1. การยับยั้งการสร้างเอนไซม์เมทริกซ์เมทอลโลโพรทีเนส (Matrix Metalloproteinases ; MMP) ที่ทำหน้าที่ในการทำลายเส้นใยคอลลาเจน ด้วยการใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว
  2. การยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบ เช่น โพสตาแกรนดิน (prostaglandins) ด้วยการใช้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ 
  3. การยับยั้งการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก (osteoclast) โดยการใช้สารโบนสแพร์ริง (bone–sparing agents)

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ. ทพญ. วราภรณ์ สุวรรณรงค์

แบบทดสอบ