เรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเอง

บทความ

เรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเอง
(Self-adhering flowable resin composite)

ในช่วงประมาณปีค.ศ. 1990 ได้มีการพัฒนาเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ ซึ่งเป็นเรซินคอมโพสิตที่มีความหนืดต่ำ เนื่องจากมีปริมาณวัสดุอัดแทรกน้อย สามารถใช้งานโดยการฉีดจากหลอดเข้าสู่โพรงฟันได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือนำวัสดุเข้าสู่โพรงฟัน แต่จากการที่มีปริมาณวัสดุอัดแทรกต่ำกว่าเรซินคอมโพสิตแบบดั้งเดิม ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพและทางกลบางประการด้อยลง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในบริเวณที่ต้องรับแรงมาก และยังพบว่าเนื่องจากมีปริมาณวัสดุอัดแทรกน้อย และมีส่วนของเรซินเมทริกซ์มากทำให้เรซินคอมโพสิตชนิดนี้ในยุคแรกๆ มีการหดตัวเมื่อเกิดพอลิเมอไรเซชั่นสูง จึงมีการพัฒนาจนในปัจจุบันมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เนื่องจากเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้นี้ สามารถไหลแผ่ไปบนฟันได้ดี ร่วมกับมีค่ามอดูลัสของสภาพยืดหยุ่น (elastic modulus) ต่ำ ทำให้ช่วยเพิ่มความแนบสนิทบริเวณขอบของวัสดุบูรณะ และสามารถประพฤติตนเป็นชั้นที่ดูดซับแรง (stress absorbing layer)ให้แก่เรซินคอมโพสิตชนิดดั้งเดิมได้ (1) ร่วมกับการใช้งานที่สะดวก จึงมีการพัฒนาเรซินคอมโพสิตชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันได้มีการรวมเอาเทคโนโลยีของสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์เข้าไว้กับเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ เกิดเป็นเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถยึดติดกับฟันได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับสารยึดติด (2)

องค์ประกอบของเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองเหมือนกับเมทาไครเลตเรซินคอมโพสิตชนิดดั้งเดิม คือพอลิเมอร์เมทริกซ์อินทรีย์ (organic polymer matrix) วัสดุอัดแทรกอนินทรีย์ (inorganic filler particles) และสารเชื่อมติด (coupling agent) แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ชนิดของวัสดุอัดแทรกและมอนอเมอร์ที่ใช้โดยเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองจะนำวัสดุอัดแทรกที่ได้รับการดัดแปลงมาใช้ร่วมกับมอนอเมอร์ที่มีความเป็นกรด (acidic monomer) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในสารยึดติด (1) และยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของวัสดุอัดแทรกและเมทริกซ์ ทั้งปริมาณวัสดุอัดแทรก การกระจายตัวและองค์ประกอบ (3)

กลไกลหลักในการยึดติดของเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองคือการที่ส่วนของมอนอเมอร์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดช่วยปรับสภาพผิวฟัน โดยก่อให้เกิดการละลายแร่ธาตุ (demineralization) ของฟัน ส่งผลให้เรซินคอมโพสิตเกิดการแทรกซึมเข้าไปในโครงสร้างของฟันส่วนที่ถูกละลายแร่ธาตุ ก่อให้เกิดการยึดติดเชิงกลระดับจุลภาค (micromechanical retention) ของฟันและเรซินคอมโพสิต ร่วมกับความสามารถในการเกิดปฏิกริยาเคมีระหว่างฟังก์ชันนัลมอนอเมอร์กับแคลเซียมของฟัน (4)  โดยจะมีความแตกต่างกับสารยึดติดระบบโททอลเอทช์คึอจะไม่มีการสลายของไฮดรอกซีอะพาไทต์และเหลือเป็นร่างแหคอลลาเจนที่ไม่มีไฮดรอกซีอะพาไทต์ปกคลุม แต่จะพบลักษณะของคอลลาเจนที่ยังคงมีผลึกของไฮดรอกซีอะพาไทต์ล้อมรอบอยู่ ซึ่งการที่ยังมีไฮดรอกซีอะพาไทต์หลงเหลืออยู่จะเกิดผลดีคือส่งเสริมให้ฟังก์ชันนัลมอนอเมอร์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคาร์บอกซีลิกหรือกลุ่มฟอสฟอริกสามารถเกิดปฎิกิริยาเคมีกับแคลเซียมในไฮดรอกซีอะพาไทต์ของฟันได้

เริ่มแรกเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้บูรณะโพรงฟันคลาสไฟว์ แต่ในปัจจุบันมีการนำมาใช้งานหลากหลาย เช่นใช้บูรณะรอยโรคฟันผุขนาดเล็ก เคลือบหลุมร่องฟัน ใช้เป็นวัสดุรองพื้น (liner) เป็นต้น ถึงแม้ว่าเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้จะสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายแต่ก็มีข้อควรระวังในการนำมาใช้บูรณะในบริเวณที่รับแรงมาก เนี่องจากคุณสมบัติทางกลของเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ยังคงด้อยกว่าเรซินคอมโพสิตแบบดั้งเดิม การนำเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองมาใช้ในงานทางคลินิคมีความคล้ายคลึงกับการใช้งานของเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้แบบดั้งเดิม โดยทางบริษัทผู้ผลิตแนะนำให้ใช้ในการบูรณะโพรงฟันคลาสวัน คลาสทูและคลาสไฟว์ที่มีขนาดเล็ก ใช้เป็นวัสดุรองพื้นในการบูรณะโพรงฟันคลาสวัน คลาสทูขนาดใหญ่ และใช้เคลือบหลุมร่องฟัน นอกจากนี้บริษัทยังแนะนำว่าสามารถใช้ซ่อมแซมการแตกหักของเรซินคอมโพสิตและเดนทัลพอร์ซเลนได้


เอกสารอ้างอิง

  1. Ferracane JL. Resin composite-state of the art. Dent Mater. 2011;27(1):29-38.
  2. Rengo C, Goracci C, Juloski J, Chieffi N, Giovannetti A, Vichi A, et al. Influence of phosphoric acid etching on microleakage of a self-etch adhesive and a self-adhering composite  . Aust Dent J. 2012;57(2):220-6.
  3. Hanabusa M, Mine A, Kuboki T, Momoi Y, van Landuyt KL, van Meerbeek B, et al. TEM interfacial characterization of an experimental self-adhesive filling material bonded to enamel/dentin. Dent Mater. 2011;27(8):818-24.
  4. Fu J, Kakuda S, Pan F, Hoshika S, Ting S, Fukuoka A, et al. Bonding performance of a newly developed step-less all-in-one system on dentin. Dent Mater J. 2013;32(2):203-11.