ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยเนื่องจากรังสีรักษา (Radiation-induced xerostomia)

บทความ

ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยเนื่องจากรังสีรักษา (Radiation-induced xerostomia)

          ต่อมน้ำลายเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อรังสี (radiosensitivity) ดังนั้นการรักษามะเร็งของศีรษะและลำคอด้วยรังสีรักษาที่มีต่อมน้ำลายอยู่ในบริเวณที่ได้รับรังสีจะทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำลายทำงานน้อยเกิน (salivary gland hypofunction; SGH) และเกิดภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (xerostomia)1-4  มีรายงานว่าปริมาณรังสีมากกว่า 52 เกรย์ (Gy) มีผลให้เกิดภาวะต่อมน้ำลายทำงานน้อยเกินแบบรุนแรง  และปริมาณรังสีที่ไม่เกินระดับกระตุ้น (threshold) จะส่งผลต่อการทำงานของต่อมน้ำลายแบบชั่วคราว5  อย่างไรก็ตามโดยปกติการรักษามะเร็งของศีรษะและลำคอนั้น ผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีทั้งหมด 50-70 เกรย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยแบบเรื้อรังในผู้ป่วยส่วนใหญ่5 

          โดยการหลั่งน้ำลายจะลดลงภายในสัปดาห์แรกของการได้รับรังสีรักษา และจะลดลงอย่างมากในช่วง 6 สัปดาห์แรกของการรักษา  นอกจากนี้การหลั่งของน้ำลายอาจลดลงต่อไปจนถึง 3 เดือนหลังจากการรักษาเสร็จสมบูรณ์3,5  ในขณะที่ต่อมน้ำลายที่เหลือจะเกิดการเจริญเกิน (hyperplasia) เพื่อชดเชยให้มีการหลั่งน้ำลาย1   เนื่องจากต่อมหลั่งน้ำใส (serous gland) มีความไวต่อรังสีมากกว่าต่อมหลั่งเมือก (mucous gland)1 ดังนั้นต่อมน้ำลายหน้าหู (parotid salivary gland) จะมีความไวต่อรังสีมากกว่าต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่าง (submandibular salivary gland)5    เมื่อมีการฉายรังสีในตำแหน่งต่อมน้ำลายหน้าหูจึงเกิดผลกระทบต่อต่อมน้ำลายอย่างมากและผันกลับไม่ได้  ในทางตรงกันข้ามต่อมหลั่งเมือกจะสามารถฟื้นกลับได้บางส่วน1 ซึ่งส่งผลต่อส่วนประกอบในน้ำลายและการหลั่งของน้ำลาย5  อย่างไรก็ตามต่อมน้ำลายอาจค่อย ๆ กลับมาทำงานได้ภายใน 1-2 ปี หากได้รับการฉายรังสีรักษาแบบแปรความเข้มรังสี (intensity-modulated radiation therapy; IMRT)1,3  หรือต่อมน้ำลายได้รับปริมาณรังสีไม่เกินระดับกระตุ้น  โดยระดับกระตุ้นของต่อมน้ำลายหน้าหูมีค่าประมาณ 26 เกรย์ และต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่างมีค่าประมาณ 39 เกรย์3   นอกจากนี้การใช้ยาเอมิฟอสทีน (amifostine) ก่อนได้รับรังสีรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามะเร็งของศีรษะและลำคอด้วยรังสีรักษา1

          ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามะเร็งของศีรษะและลำคอด้วยรังสีรักษา  เมื่อตรวจในช่องปากผู้ป่วยจะพบว่ามีปริมาณน้ำลายน้อย ไม่มีน้ำลายขังในบริเวณพื้นปาก น้ำลายเป็นฟอง เยื่อเมือกช่องปากแห้ง  บางครั้งพบว่ากระจกตรวจช่องปากติดเยื่อเมือกช่องปาก พบคราบหรือรอยลิปสติกและเศษอาหารติดบริเวณฟัน อาจพบเยื่อเมือกช่องปากแดงโดยทั่วไป และด้านบนของลิ้นมีลักษณะแบ่งเป็นกลีบย่อย (lobulated appearance)1-3,6   ในผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยมักจะเกิดโรคราแคนดิดาในช่องปาก (oral candidiasis) และมุมปากอักเสบ (angular cheilitis)ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งการทำงานของช่องปาก ได้แก่ การพูด การรับรส การเคี้ยวและการกลืน การใส่ฟันเทียม ส่งผลต่อภาวะทางโภชนาการและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม1-3 นอกจากนี้การเกิดภาวะต่อมน้ำลายทำงานน้อยเกิน ยังส่งผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุ (xerostomia-related caries) หรือฟันผุเนื่องจากรังสีรักษา (radiation-induced dental caries) โดยมักพบรอยผุที่บริเวณปลายฟันหรือคอฟัน  รวมทั้งพบการสึกเหตุบดเคี้ยว (attrition) การสึกเหตุขัดถู (abrasion) การสึกกร่อน (erosion) ลมหายใจเหม็นหรือปากเหม็น (halitosis) โรคราแคนดิดาในช่องปาก อาการแสบร้อนช่องปาก เพิ่มความไวของเยื่อเมือก (mucosal sensitivity) และความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเยื่อเมือกช่องปาก2,3,7  รวมทั้งเป็นปัจจัยชักนำให้เกิดโรคต่อมน้ำลายอักเสบ (sialadenitis) โดยเฉพาะต่อมน้ำลายหน้าหู2,6

          การวินิจฉัยแยกโรคควรคำนึงถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย ได้แก่ กลุ่มอาการโจเกร็น (SjÖgren’s syndrome) โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โรคซาร์คอยด์ (sarcoidosis) และโรคอัลซไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) รวมถึงการรับประทานยาที่ส่งผลให้ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ (medication-induced salivary gland dysfunction; MISGD)2,8    ภาวะน้ำลายน้อยเกิน (hyposalivation) เป็นการวินิจฉัยทางคลินิกซึ่งอาศัยข้อมูลจากการซักประวัติ การตรวจทางคลินิกและการวัดอัตราการไหลของน้ำลาย (salivary flow rate) หรือการตรวจเพื่อวัดปริมาตรของน้ำลายที่หลั่งออกจากต่อมน้ำลาย (sialometry)   โดยภาวะน้ำลายน้อยเกิน คือ อัตราการหลั่งของน้ำลายที่ถูกกระตุ้น (stimulated salivary flow rate) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.5-0.7 มิลลิลิตรต่อนาที และอัตราการหลั่งของน้ำลายที่ไม่ถูกกระตุ้น (unstimulated salivary flow rate) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.1 มิลลิลิตรต่อนาที9

          ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยควรได้รับคำแนะนำให้งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลลดการหลั่งของน้ำลาย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์  แนะนำให้มีการใช้เจลหรือสเปรย์เพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก การเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล  การใช้น้ำลายเทียม (artificial saliva) หรือการจิบน้ำตลอดทั้งวัน1,6  ผู้ป่วยควรได้รับฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่ (topical fluoride) ทุกวัน เช่น การทาเจลโซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluoride) ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 หรือ เจลสแตนนัสฟลูออไรด์ (stannous fluoride) ความเข้มข้นร้อยละ 0.4 หรือน้ำยาบ้วนปากโซเดียมฟลูออไรด์ความเข้มข้นร้อยละ 0.05 ร่วมกับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำเพื่อป้องกันและควบคุมโรคฟันผุ1,2,6   ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยแบบเรื้อรังอาจได้รับสารขับน้ำลาย (sialogogue; sialagogue) เช่น ไพโลคาร์พีน (pilocarpine) และเซวิเมลีน (cevimeline)1,6 อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้มีข้อห้ามใช้ (contraindication) ในผู้ป่วยโรคหืด (asthma) แผลในทางเดินอาหาร (gastrointestinal ulceration) ต้อหิน (glaucoma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease; COPD)  และโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease; CVD)  นอกจากนี้ยังพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reaction; ADR)  ได้แก่  ภาวะเหงื่อออกมาก เยื่อจมูกอักเสบ ปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาการท้องอืด และความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด (circulatory disorder)1


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  2. Scully C. Oral and maxillofacial medicine. The basis of diagnosis and treatment. 3rd ed. Edinburg: Churchill Livingstone; 2013.
  3. Peterson DE, Jensen SB. Oral complications of nonsurgical cancer therapies: diagnosis and treatment. In: Glick M editor, Burket’s oral medicine. 12th ed. Shelton: People’s Medical Publishing House; 2015. p. 201-218.
  4. Strojan P, Hutcheson KA, Eisbruch A, Beitler JJ, Langendijk JA, Lee AWM, et al. Treatment of late sequelae after radiotherapy for head and neck cancer. Cancer Treatment Review 2017; 59: 79-92.
  5. Pinna R, Campus G, Cumbo E, Mura I, Milia E. Xerostomia induced by radiotherapy: an overview of the physiopathology, clinical evidence, and management of the oral damage. Therapeutics and Clinical Risk Management 2015; 11: 171-188.
  6. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.
  7. Bruch JM, Treister NS. Clinical oral medicine and pathology. 2nd ed. Cham: Springer International Publishing AG; 2017.
  8. Villa A, Wolff A, Narayana N, Dawes C, Aframian DJ, Lynge Pedersen AM, et al. World Workshop on Oral Medicine VI: a systematic review of medication-induced salivary gland dysfunction. Oral Diseases 2016; 22(5): 365-382.
  9. Villa A, Connell CL, Abati S. Diagnosis and management of xerostomia and hyposalivation. Therapeutics and Clinical Risk Management 2014; 11: 45-51.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ