น้ำลายของผู้สูงอายุ (Salivary in the elderly)

บทความ

น้ำลายของผู้สูงอายุ (Salivary in the elderly)

          การศึกษาในปัจจุบันระบุว่าการไหลของน้ำลาย (salivary flow) ลดลงในผู้สูงอายุเป็นผลมาจากโรคหรือผลทางเภสัชวิทยา (pharmacologic effect) ของยาที่ผู้สูงอายุได้รับมากกว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนตามวัย1-3  เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าการไหลของน้ำลายที่ลดลงจะไม่พบในอาสาสมัครผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและไม่ได้รับประทานยา2   แต่มีรายงานวิจัยที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอายุที่เพิ่มขึ้นกับการทำงานของน้ำลาย4  ในผู้สูงอายุพบว่าน้ำลายมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี (physiochemical change) โดยเอนไซม์อะไมเลส (amylase enzyme) จะมีปริมาณลดลงและน้ำเมือก (mucous) มีปริมาณเพิ่มขึ้น  ซึ่งทำให้น้ำลายมีความหนืดมากขึ้น5  อย่างไรก็ตามอาการปากแห้ง (dry mouth) หรือภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (xerostomia) เป็นอาการหรือคำบ่นที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ  ประมาณ 1 คนใน 5 คนที่เป็นผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว6,7   ซึ่งอาจพบร่วมกับภาวะต่อมน้ำลายทำงานน้อยเกิน (salivary gland hypofunction; SGH)  การมีโรคทั่วกาย (systemic disease) ยาที่ผู้สูงอายุได้รับ และการได้รับรังสีรักษา (radiotherapy) ในบริเวณศีรษะและลำคอ ล้วนเป็นสาเหตุของอาการปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย   ในปัจจุบันมียาหลายร้อยชนิดที่ส่งผลให้ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ (medication-induced salivary gland dysfunction; MISGD)   โดยเฉพาะยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (tricyclic antidepressants) ยาระงับประสาท (sedative drugs)  และยากล่อมประสาทหรือยากลุ่ม ทรานควิไลเซอร์ (tranquilizers) ยาลดความดันเลือด (antihypertensive drugs) ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ยากลุ่มที่เป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxic drugs) และยาต้านพาร์กินสัน (anti-Parkinson drugs)3,8,9     นอกจากนี้กลุ่มอาการโจเกร็น (SjÖgren’s syndrome) โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โรคซาร์คอยด์ (sarcoidosis) และโรคอัลซไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) ยังเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติของการไหลของน้ำลายได้3  

          การทำงานน้อยลงของต่อมน้ำลายและการไหลของน้ำลายที่ลดลงเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในช่องปากและคอหอย (pharyngeal) ในผู้สูงอายุ ได้แก่ เยื่อเมือกช่องปากแห้ง การหล่อลื่นในช่องปากลดลง   อาจพบลักษณะเป็นรอยแตกที่ริมฝีปากและร่องที่ลิ้น หรือจุดเจ็บ (sore sport) ที่เยื่อเมือกช่องปากบริเวณใต้ฐานฟันเทียม5 ความสามารถในการต้านจุลชีพ (antimicrobial activity) ลดลง การเกิดฟันผุ การติดเชื้อรา กลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก (burning mouth syndrome) รวมทั้งทำให้เกิดความลำบากในการเคี้ยว การกลืน การรับรู้รส และลดการยึดอยู่ (retention) ของฟันเทียมชนิดถอดได้4,5,8  นอกจากนี้พบว่าอาการปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยมักพบร่วมกับภาวะกระเพาะอาหารไม่หลั่งกรด (achlorhydria) ซึ่งเป็นสาเหตุของกระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis)5   สามารถกล่าวโดยรวมได้ว่าอาการปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต (quality of life) ของผู้สูงอายุ3  

          ดังนั้นการวินิจฉัยและการจัดการอย่างเหมาะสมในระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งจำเป็นในการลดผลเสียที่จะเกิดตามมาภายหลังจากการไหลของน้ำลายลดลง   กระบวนการในการวินิจฉัยจะประกอบด้วยการทบทวนถึงประวัติและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยโดยละเอียดรอบคอบ และอาจใช้การตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจเพื่อวัดปริมาตรของน้ำลายที่หลั่งออกจากต่อมน้ำลาย (sialometry) การถ่ายภาพรังสีท่อน้ำลาย (sialography) การตรวจพยาธิสภาพของต่อมน้ำลายขนาดเล็กที่ริมฝีปากโดยการตัดเนื้อเยื่อออกตรวจ (labial salivary gland biopsy) และใช้เทคนิคการจับของสารกัมมันตรังสี เทคนีเซียม-99 เอ็ม ที่ต่อมน้ำลาย (Technitium-99m pertechnetate scintigraphy) รวมทั้งการปรึกษากับแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยเพื่อเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยา (drug dosage) ที่สัมพันธ์กับอาการปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย3

          ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยควรได้รับคำแนะนำให้งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลลดการหลั่งของน้ำลาย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์  แนะนำให้มีการใช้เจลหรือสเปรย์เพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก การเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล  การใช้น้ำลายเทียม (artificial saliva) หรือการจิบน้ำตลอดทั้งวัน  ผู้ป่วยควรได้รับฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่ (topical fluoride) ในระยะยาว เช่น การทาเจลโซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluoride) ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 หรือ เจลสแตนนัสฟลูออไรด์ (stannous fluoride) ความเข้มข้นร้อยละ 0.4 หรือน้ำยาบ้วนปากโซเดียมฟลูออไรด์ความเข้มข้นร้อยละ 0.05 ร่วมกับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำเพื่อป้องกันและควบคุมโรคฟันผุ10,11   ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อยแบบเรื้อรังอาจได้รับสารขับน้ำลาย (sialogogue; sialagogue) เช่น ไพโลคาร์พีน (pilocarpine) และเซวิเมลีน (cevimeline) อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้มีข้อห้ามใช้ (contraindication) ในผู้ป่วยโรคหืด (asthma) แผลในทางเดินอาหาร (gastrointestinal ulceration) ต้อหิน (glaucoma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease; COPD)  และโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease; CVD)  นอกจากนี้ยังพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reaction; ADR)  ได้แก่  ภาวะเหงื่อออกมาก เยื่อจมูกอักเสบ ปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาการท้องอืด และความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด (circulatory disorder)10


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Pugliese S, Kashi AR. Changes in the oral cavity with age. In: Rosenthal R, Zenilman M, Katlic M, editors. Principles and practice of geriatric surgery. 1st ed. New York: Springer; 2011. p. 501-512.
  2. Saunders MJ, Yeh Chih-Ko. Oral health in elderly people. In: Chernoff R, editor. Geriatric nutrition: the health professional’s handbook. 4th ed. Burlington: Jones and Bartlett Learning; 2014. p. 165-200.
  3. Hjertstedt J. Xerostomia. In: Friedman PK, editor. Geriatric dentistry: caring for our aging population. 1st ed. Wiley-Blackwell; 2014. p. 152-170.
  4. Al-Dress AM. Oral and perioral physiological changes with ageing. Pakistan Oral and Dental Journal 2010; 30(1): 26-30.
  5. Malik P, Rathee M, Bhoria M. Oral tissues - considerations in geriatric patients. International Journal of Applied Dental Sciences 2015; 1(3): 4-7.
  6. Thomson WM. Issues in the epidemiological investigation of dry mouth. Gerodontology 2005; 22(2): 65-76.
  7. Orellana MF, Lagravère MO, Boychuk DG, Major PW, Flores-Mir C. Prevalence of xerostomia in population-based samples: a systematic review. Journal of Public Health Dentistry 2006; 66(2): 152-158.
  8. Thomson WM, Ma S. An ageing population poses dental challenges. Singapore Dental Journal 2014; 35: 3-8.
  9. Villa A, Wolff A, Narayana N, Dawes C, Aframian DJ, Lynge Pedersen AM, et al. World Workshop on Oral Medicine VI: a systematic review of medication-induced salivary gland dysfunction. Oral Diseases 2016; 22(5): 365-382.
  10. Neville BW, Damm DD, Allen CM, Chi AC. Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier; 2016.
  11. Regezi JA, Sciubba JJ, Jordan RCK. Oral pathology: clinical pathologic correlations. 7th ed. St. Louis: Elsevier; 2017.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทพญ.ดร.รัชดาภรณ์ เค้ามงคลกิจ

แบบทดสอบ