Antimicrobial photodynamic therapy นวัตกรรมที่ทันตแพทย์ควรรู้

บทความ

Antimicrobial photodynamic therapy: นวัตกรรมที่ทันตแพทย์ควรรู้

          เป็นที่ทราบกันดีว่า เชื้อจุลชีพก่อโรคที่อาศัยอยู่ในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย รา หรือไวรัส มีลักษณะทางฟีโนโทป์ และจีโนไทป์ที่แตกต่างจากลักษณะของเซลล์มนุษย์ปกติ ลักษณะที่สำคัญเช่น ไลโปพอลิแซคคาไรด์บนผิวเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียนแกรมลบ Porphylomonas gingivalis (Pg) ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ก่อให้การอักเสบ1 หรือกรดเทโคอิค (teichoic acid) ในแบคทีเรียแกรมบวก ก็สามารถต่อต้านฤทธิ์การฆ่าเชื้อจุลชีพของยาปฏิชีวนะ2 ดังนั้น แนวคิดการกำจัดเชื้อจุลชีพก่อโรคที่สำคัญในปัจจุบันจึงหันมาใช้สารที่สามารถเข้าไปในเซลล์หรือมีความจำเพาะต่อเชื้อจุลชีพก่อโรคได้ แต่ไม่มีความจำเพาะต่อเซลล์ของมนุษย์ แล้วใช้แสงที่มีพลังงานและความยาวคลื่นที่เฉพาะเจาะจงเพื่อกระตุ้นสารที่จำเพาะต่อเชื้อจุลชีพก่อโรคดังกล่าวให้กลายเป็นองค์ประกอบที่เป็นพิษ โดยเฉพาะองค์ประกอบจากออกซิเจนที่เรียกว่า Reactive oxygen species (ROS) ให้เกิดขึ้นเฉพาะภายในเซลล์ของเชื้อจุลชีพดังกล่าว เพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาจำเพาะในการการกำจัดเชื้อเหล่านั้น ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า โฟโตไดนามิกบำบัดต้านเชื้อหรือเอพีดีที (anti-microbial photodynamic therapy; aPDT)3

          มีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและ meta-analysis พบว่า วิธีการเอพีดีทีนี้ให้ผลดีเท่ากับการต้านเชื้อจุลชีพก่อโรคในทางปริทันต์ด้วยยาต้านเชื้อจุลชีพ4 แต่ไม่ก่อการดื้อต่อการรักษา เพราะเอพีดีทีใช้ปฏิกิริยาที่ทางกายภาพเป็นหลักในการต้านเชื้อ ข้อดีของวิธีโฟโตไดนามิกบำบัดคือ มีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์เป้าหมายโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ข้างเคียง สามารถทำซ้ำได้ ไม่มี่เจ็บปวด5

          ปัจจัยสำคัญที่สุดในความสำเร็จของการใช้โฟโตไดนามิกบำบัดต้านเชื้อคือ การเลือกสารที่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อจุลชีพในช่องปากและเป็นสารไวแสง (photosensitizer; PS)  ซึ่งมีการยอมรับกันในทางคลินิกว่า อีริโทรซิน (erythrosine) เป็นสารที่มีความจำเพาะต่อเชื้อจุลชีพที่ใช้ในการย้อมคราบจุลินทรีย์มาเป็นเวลานาน ที่น่าสนใจคือ อีริโทรซินมีสมบัติเป็นสารไวแสงที่ดีด้วย โดยอีริโทรซินสามารถดูดซับพลังงานแสงสีเขียวได้ดี โดยเฉพาะที่ความยาวคลื่น 526 นาโนเมตร6 ข้อดีที่เป็นประโยชน์ในทางทันตกรรมคือ สารชนิดนี้สามารถดูดซับพลังงานจากแสงสีฟ้าทางทันตกรรมได้ดีในระดับหนึ่ง6 (รูปที่ 1)

          ดังนั้น จึงมีการศึกษาที่พยายามนำแสงสีฟ้าที่ใช้ในทางทันตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับอีริโทรซิน โดย Teerakapong และคณะในปี ค.ศ. 2017 พบว่า การใช้อีริโทรซินความเข้มข้น 440 ไมโครโมลาร์ร่วมกับไทเทเนียมไดออกไซด์ (Nano TiO2) ความเข้มข้นร้อยละ 1 โดยมวลของอีริโทรซิน เมื่อฉายแสงสีฟ้าพลังงาน 15 จูลต่อตารางเซนติเมตร (250 mW/cm2) ฉายนาน 1 นาที ที่ระยะห่างจากเชื้อราแคนดิดาส์ชนิดไบโอฟิล์มในห้องปฏิบัติการ 2 เซนติเมตร สามารถยับยั้งเชื้อราแคนดาส์ในรูปแบบไบโอฟิล์มได้ประมาณ 2log10 CFU/ml7 ซึ่งกลไกหลัก ๆ ในการต้านเชื้อ ได้จากผลผลิตที่ชื่อว่า ซิงเกล็ตออกซิเจน (singlet oxygen; 1O2) ส่วนไทเทเนียมไดออกไซด์ ที่ใส่ไปทำหน้าที่เป็นตัวเพิ่มปฏิกิริยาจากแสง เนื่องจากพบว่า กลุ่มที่มีอีริโทรซินที่ใส่นาโนไทเทเนียมไดออกไซด์จะทำให้เกิดซิงเกล็ตออกซิเจนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใส่7 โดยซิงเกล็ตออกซิเจนที่มากจะทำให้เกิดการต้านเชื้อจุลชีพได้ย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น8 อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นที่มากของอีริโทรซินมีผลต่อเซลล์ปกติของมนุษย์ได้

 

 
   

                                                  ความยาวคลื่น (นาโนเมตร)

รูปที่ 1 กราฟความสามารถในการดูดกลืนแสงของอีริโทรซิน  ลูกศรแสดง ความยาวคลื่นมาตรฐานของแสงสีฟ้าทาง ทันตกรรม (ดัดแปลงจาก  Costa et al, 20116)

          ปฏิกิริยาการรับพลังงานจากแสงแล้วทำให้เกิดสารพิษตระกูลออกซิเจน ไม่ได้มีเฉพาะการสร้างซิงเกล็ตออกซิเจนเท่านั้น มีการค้นพบว่า สารสกัดจากขมิ้นชัน ที่ชื่อว่า สารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) ก็สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้างสารอีกกลุ่มคือ อนุมูลอิสระไฮดรอกซิล (hydroxyl radical; OH-) ซึ่งถือเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยาหลักอีกปฏิกิริยาของโฟไตไดนามิกบำบัด ข้อดีที่สำคัญอีกประการของสารเคอร์คิวมินอยด์คือ สามารถเกาะติดกับโครงสร้างชั้นนอกของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี9,10 ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการนำสารสองชนิด คือ สารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ผสมกับอีริโทรซิน เพื่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่มากพอในการต้านเชื้อ พบว่า การใช้อีริโทรซินเพียง 220 ไมโครโมลาร์ร่วมกับอนุพันธ์ที่มีความสามารถในการสร้างอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลได้ดีที่ชื่อว่า บิสดีเมท็อกซีเคอร์คิวมิน (bisdemethoxy curcumin; BDMC) ปริมาณ 20 ไมโครโมลาร์และนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 10 โดยมวลของสารผสมทั้งสอง เมื่อได้รับแสงสีฟ้าในทางทันตกรรมกำลัง 3,200 mW/cm2 ฉายเป็นเวลา 21 วินาทีเพียงครั้งเดียว สามารถลดเชื้อราแคนดิดาในรูปแบบไบโอฟิล์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีอันตรายต่อเซลล์ปกติได้แก่ เซลล์เหงือกของมนุษย์ แต่อย่างใด10 อย่างไรก็ตาม การต้านเชื้อราด้วยวิธีโฟโตไดนามิกบำบัด ด้วยอีริโทรซินร่วมกับเคอร์คิวมินอยด์ยังมีฤทธิ์การต้านเชื้อราที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบยาต้านเชื้อรามาตรฐาน ได้แก่ นิสแททิน จึงต้องมีการพัฒนาต่อไป แต่ด้วยความสามารถของวิธีโฟโตไดนามิกบำบัดที่มีความจำเพาะกับเชื้อจุลชีพ แต่ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาหรือการต้านต่อการรักษาได้ โฟโตไดนามิกบำบัดต้านเชื้อ จึงถือเป็นวิธีการรักษาที่น่าจะใช้เป็นหลักในการจัดการการติดเชื้อในช่องปากต่อไป


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

1. Xu W, Zhou W, Wang H, Liang S. Roles of Porphyromonas gingivalis and its virulence factors in periodontitis. Adv Protein Chem Struct Biol. 2020;120:45-84. doi: 10.1016/bs.apcsb.2019.12.001.

2. Rajagopal M, Walker S. Envelope Structures of Gram-Positive Bacteria. Curr Top Microbiol Immunol. 2017;404:1-44. doi: 10.1007/82_2015_5021.

3. Mahmoudi H, Bahador A, Pourhajibagher M, Alikhani MY. Antimicrobial Photodynamic Therapy: An Effective Alternative Approach to Control Bacterial Infections. J Lasers Med Sci. 2018 Summer;9(3):154-160. doi: 10.15171/jlms.2018.29.

4. Zhao Y, Pu R, Qian Y, Shi J, Si M. Antimicrobial photodynamic therapy versus antibiotics as an adjunct in the treatment of periodontitis and peri-implantitis: A systematic review and meta-analysis. Photodiagnosis Photodyn Ther. 2021 Jun;34:102231. doi: 10.1016/j.pdpdt.2021.102231.

5. Dougherty TJ, Marcus SL. Photodynamic therapy. Eur J Cancer. 1992;28A(10):1734-42. doi: 10.1016/0959-8049(92)90080-l

6. Costa AC, de Campos Rasteiro VM, Pereira CA, da Silva Hashimoto ES, Beltrame M Jr, Junqueira JC, Jorge AO. Susceptibility of Candida albicans and Candida dubliniensis to erythrosine- and LED-mediated photodynamic therapy. Arch Oral Biol. 2011 Nov;56(11):1299-305. doi: 10.1016/j.archoralbio.2011.05.013.

7. Teerakapong A*, Damrongrungruang T*, Sattayut S, Morales NP, Sangpanya A, Tanapoomchai M. Fungicidal effect of combined nano TiO2 with erythrosine for mediated photodynamic therapy on Candida albicans: an in vitro study. Laser Dent Sci 2017;1(2-4):101-106.

8. Kamanli AF, Çetinel G. Comparison of pulse and super pulse radiation modes' singlet oxygen production effect in antimicrobial photodynamic therapy (AmPDT). Photodiagnosis Photodyn Ther. 2020 Jun;30:101706. doi: 10.1016/j.pdpdt.2020.101706.

9. Walker, J. Carbohydrates. Available online: http://thebiologyprimer.com/carbohydrates  (accessed on 1 Decemebr 2021)

10. Kanpittaya K, Teerakapong A, Morales NP, Hormdee D, Priprem A, Weera-Archakul W, Damrongrungruang T. Inhibitory Effects of Erythrosine/Curcumin Derivatives/Nano-Titanium Dioxide-Mediated Photodynamic Therapy on Candida albicans. Molecules. 2021 Apr 21;26(9):2405. doi: 10.3390/molecules26092405. PMID: 33919066.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ศ.ทพ.ดร.ธีระศักดิ์ ดำรงรุ่งเรือง

แบบทดสอบ