การปรับพฤติกรรมสุขภาพช่องปาก

บทความ

โรคในช่องปากส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรม การสร้างพฤติกรรมสุขภาพ (Healthy behavior) จึงสามารถลดการเกิดโรคได้ ทั้งนี้เพราะงานทันตกรรมป้องกันมีประสิทธิภาพจำกัด หากผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยง (Risk behavior) ถึงแม้จะให้บริการทันตกรรมป้องกันอย่างเข้มข้นก็ยังไม่สามารถป้องกันโรคฟันผุได้มากนัก1

     วิธีการปรับพฤติกรรมที่ใช้กันโดยทั่วไปคือทันตสุขศึกษาที่อ้างอิงทฤษฎีความเชื่อสุขภาพ (Health belief model) โดยทันตแพทย์ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยถึงโรค ผลเสียที่ตามมาของโรค และการปฏิบัติตนเพื่อให้ไม่เป็นโรค แล้วคาดหวังว่าผู้ป่วยที่มีความรู้แล้ว จะนำไปสู่การมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีในที่สุด (Knowledge-Attitude-Behavior/Practice: KAB/KAP) ในทศวรรษ 1990 มีงานวิจัยระดับมลรัฐและระดับประเทศหลายเรื่องที่สรุปผลสอดคล้องกัน คือความไม่มีประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่าของงานทันตสุขศึกษา2-5 งานวิจัยทบทวนวรรณกรรมในระยะหลังยืนยันผลเช่นเดิม6-8 ทันตสุขศึกษาที่ให้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อาจจะมีประสิทธิภาพได้ในระยะเวลาสั้น มีโอกาสประสบความสำเร็จในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวในประชาชนทั่วไป ทั้งยังมีต้นทุนสูงด้านบุคลากรและเวลา เพราะถ้าจะได้ผล จะต้องให้ซ้ำ ๆ สอนตัวต่อตัวหรือสอนข้างเก้าอี้ 

            ทฤษฎีพฤติกรรมสุขภาพในระยะหลัง ได้ขยายกรอบแนวคิดกว้างขึ้นกว่าทฤษฎีความเชื่อสุขภาพ สาเหตุของพฤติกรรมไม่ได้มาจากปัจจัยภายในของตัวบุคคล เช่น ความรู้ ทัศนคติ เท่านั้น แต่หลายทฤษฎีได้รวมเอาปัจจัยภายนอกตัวบุคคลเข้าไว้ด้วย เช่น บุคคลอื่นในสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ของอุปโภคบริโภค กลุ่มปัจจัยภายนอกเหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญของพฤติกรรมและจึงเป็นเงื่อนไขของการปรับพฤติกรรม ภายหลังได้ถูกเรียกว่าตัวกำหนดสุขภาพทางสังคม (Social determinants of health) นั่นเอง9 เมื่อสาเหตุของพฤติกรรมไม่ได้มาจากภายในตัวบุคคลเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทันตสุขศึกษามักจะไม่ประสบความสำเร็จ 

            วิธีการปรับพฤติกรรมที่ครอบคลุมปัจจัยอื่นจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นหลายวิธี สำหรับพฤติกรรมสุขภาพช่องปากนั้น การสัมภาษณ์แบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interview: MI)10 เป็นวิธีที่มีแนวโน้มที่จะสำเร็จมากที่สุดและคุ้มค่า8   MI ใช้เทคนิคกระตุ้นด้วยคำถามเพื่อให้ผู้ป่วยคิดใคร่ครวญ ค้นหาความต้องการที่แท้จริง คลี่คลายจากความสับสนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง พิจารณาผลดีและผลเสีย จนเกิดแรงจูงใจจากตัวเอง ตัดสินใจเองที่จะเปลี่ยน เมื่อผู้ป่วยมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแล้ว การให้ข้อมูลจึงเป็นลำดับตามมา ให้ผู้ป่วยมีความรู้และทักษะในการปฏิบัติ จากนั้นจะเป็นกระบวนการสำคัญเพื่อทำให้ความรู้และทักษะที่ให้ไปแล้วนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงกับผู้ป่วยแต่ละคน คือการพิจารณาถึงตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง แล้วหาทางออกที่เป็นไปได้จริง หลายครั้งทางออกที่ได้คือต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมของผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ผู้ป่วยคือคนพิจารณา หน้าที่ของทันตบุคลากรจึงไม่ใช่เพียงให้ความรู้และฝึกทักษะเท่านั้น แต่รวมไปถึงการกระตุ้นด้วยคำถาม ที่สำคัญ บุคลากรจะต้องเป็นกัลยาณมิตรกับผู้ป่วย รับฟัง ไม่กดดัน เข้าใจอุปสรรคทางสังคมของผู้ป่วย แล้วร่วมคิดและร่วมหาทางออกด้วยกันกับผู้ป่วย (Shared decision making)11  

กระบวนการปรับพฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคลดังกล่าวมีต้นทุนสูงด้านบุคลากรและเวลา จึงไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติสำหรับงานในระดับประชากร  เพื่อพิจารณาว่าตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมมีอิทธิพลและเป็นเงื่อนไขต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับที่ตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น จึงเป็นมาตรการระดับประชากรที่เหมาะสมกว่า เมื่อตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมถูกปรับเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ย่อมเปลี่ยนแปลงตาม9


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

  1. Hausen H, Kärkkäinen S, Seppä L (2000): Application of the high-risk strategy to control dental caries. Community Dent Oral Epidemiol 28: 26-34.
  2. Brown LF (1994): Research in dental health education and health promotion: a review of the literature. Health Educ J 21: 83-102.
  3. Schou L, Locker D (1994): Oral health: A review of the effectiveness of health education and health promotion. Utrecht: Landelijk Centrum GVO.
  4. Sprod AJ, Anderson R, Treasure ET (1996): Effective oral health promotion: literature review. Cardiff: Health Promotion Wales. p. 1-67.
  5. Kay E, Locker D (1998): A systematic review of the effectiveness of health promotion aimed at improving oral health. Community Dent Health 15: 132-44.
  6. Harris R, Gamboa A, Dailey Y, Ashcroft A (2012): One-to-one dietary interventions undertaken in a dental setting to change dietary behaviour. Cochrane Database Syst Rev 3: CD006540.
  7. Cooper AM, O'Malley LA, Elison SN, Armstrong R, Burnside G, Adair P, et al. (2013): Primary school-based behavioural interventions for preventing caries. Cochrane Database Syst Rev 31: CD009378.
  8. Yevlahova D, Satur J (2009): Models for individual oral health promotion and their effectiveness: a systematic review. Aust Dent J 54:190-7.
  9. สุดาดวง กฤษฎาพงษ์. ตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมและการดำเนินงานกับประชากร: การนำไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2564.
  10. Miller W, Rollnick S (1991): Motivational interviewing: preparing people to change addictive behaviours. New York: Guilford Press.

Charles C, Gafni A, Whelan T (1997): Shared decision-making in the medical encounter: what does it mean? (or it takes at least two to tango). Soc Sci Med 44: 681-92.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ศ. ดร. ทพญ.สุดาดวง กฤษฎาพงษ์

แบบทดสอบ