การวิเคราะห์ภาพรังสีของ odontogenic keratocyst และ ameloblastoma

บทความ

บทคัดย่อ 

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะทางภาพรังสีของ odontogenic keratocyst (OKC) และ ameloblastoma โดยเป็นการศึกษาย้อนหลัง ถึงรายละเอียดต่าง ๆ จากภาพรังสี ได้แก่ ตำแหน่ง ขอบ รูปร่างของรอยโรค ความสัมพันธ์กับฟันคุด การเบียดดันฟัน การละลายของรากฟันข้างเคียง และการขยายขนาดของกระดูก วิเคราะห์ทางสถิติด้วย Chi-squared หรือ Fisher’s exact ค่า p น้อยกว่า 0.05 ถือว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิจัยคือจากภาพรังสีของ OKC จำนวน 100 รอยโรค และ ameloblastoma 101 รอยโรค พบว่าสัดส่วนที่พบในขากรรไกรบนต่อล่างใน OKC คือ 1:1.4 และใน ameloblastoma คือ 1:9.1 รายละเอียดต่าง ๆ จากภาพรังสีของทั้งสองรอยโรคแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ OKC ส่วนใหญ่แสดงขอบแบบเรียบ (60%) และพบเป็น unilocular (82%) ในขณะที่ ameloblastoma ส่วนใหญ่แสดงขอบแบบหยัก (77.2%) และพบเป็น multilocular (68.3%) ร้อยละ 47 ของ OKC และร้อยละ 18.8 ของ ameloblastoma พบร่วมกับฟันคุด ร้อยละ 33.7 ของ OKC และร้อยละ 55.8 ของ ameloblastoma เบียดฟันข้างเคียง การละลายของรากฟันข้างเคียงพบในร้อยละ 66.7 ของ ameloblastoma และร้อยละ 7 ของ OKC การขยายขนาดของกระดูกพบในร้อยละ 96.3 ของ ameloblastoma และร้อยละ 63.6 ของ OKC

Keywords: Ameloblastoma, Differential diagnosis, Odontogenic keratocyst

บทนำ

Odontogenic keratocyst (OKC) และ ameloblastoma เป็นรอยโรคที่พบได้บ่อยในกระดูกขากรรไกร โดย OKC พบประมาณร้อยละ 7-20 ของถุงน้ำที่พบในกระดูกขากรรไกร1, 2 และ ameloblastoma พบประมาณร้อยละ 13-54 ของเนื้องอกที่พบในกระดูกขากรรไกร3, 4  และเป็นเนื้องอกโอดอนโตเจนิกที่พบได้บ่อยที่สุดในขากรรไกร5 ทั้งสองรอยโรคแสดงลักษณะทางคลินิกและภาพรังสีที่คล้ายกัน ได้แก่มักพบในช่วงอายุใกล้กัน และพบบ่อยในขากรรไกรล่างส่วนหลัง โดยอาจพบเป็นเงาดำแบบ unilocular หรือ multilocular ที่มีขอบเขตชัดเจน อาจพบฟันคุดร่วมด้วย อย่างไรก็ตามทั้งสองรอยโรคมีพฤติกรรมต่างกัน ดังนั้นการรักษาจึงแตกต่างกันไปด้วย การวินิจฉัยต้องอาศัยลักษณะทางพยาธิวิทยา บางครั้งเป็นการวินิจฉัยจาก incisional biopsy จากรอยโรคขนาดใหญ่หรือมีการอักเสบร่วมด้วย ดังนั้นลักษณะที่แตกต่างกันทางภาพรังสีของรอยโรคทั้งสองชนิดนี้ อาจมีส่วนสำคัญในการช่วยประกอบการวินิจฉัยแยกโรคได้ 

จากการศึกษาก่อนหน้าพบว่ามีลักษณะทางภาพรังสีบางอย่างที่มีความแตกต่างกันของสองรอยโรคนี้และสามารถช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคได้6-8 OKC มีแนวโน้มจะโตตามแนวยาวของขากรรไกรล่าง ทำให้มีการขยายขนาดของกระดูกเล็กน้อย6 และไม่ค่อยทำให้รากละลายเทียบกับ ameloblastoma7,8 การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะทางภาพรังสีของ OKC และ ameloblastoma ในกลุ่มรอยโรคจำนวนมาก

วัสดุและวิธีวิจัย

เป็นการศึกษาย้อนหลัง โดยสืบค้นจากผลการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาของ OKC และ ameloblastoma ในช่วงปีพ.ศ. 2546 – 2559 ไม่นับกรณีที่เป็นรอยโรคที่เกิดซ้ำ จากนั้นทำการศึกษาภาพรังสีของรอยโรคเหล่านี้ที่มีอยู่ทุกเทคนิค รายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ 1) ตำแหน่ง (ขากรรไกรบน/ ขากรรไกรล่าง) 2) ขอบ (เรียบ/หยัก) 3) รูปร่างของรอยโรค (unilocular/multilocular) 4) ความสัมพันธ์กับฟันคุด (พบ/ไม่พบ) 5) การเบียดดันฟัน (พบ/ไม่พบ) 6) การละลายของรากฟันข้างเคียง (พบ/ไม่พบ) 7) การขยายขนาดของกระดูกในแนวด้านแก้ม-ลิ้น (พบ/ไม่พบ) และทำการวิเคราะห์ทางสถิติด้วย Chi-squared หรือ Fisher’s exact โดยค่า p < 0.05 ถือว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการวิจัย

พบ OKC จำนวน 100 รอยโรคในผู้ป่วย 89 ราย (อายุ 10 – 87 ปี, เฉลี่ย 31.4 ปี) เป็นผู้ป่วยหญิง 46 รายและชาย 43 ราย และ ameloblastoma 101 รอยโรค (อายุ 3 – 87 ปี, เฉลี่ย 34.9 ปี) เป็นผู้ป่วยหญิง 53 รายและชาย 48 ราย โดย OKC พบในขากรรไกรบน 41 รอยโรค (ส่วนหน้า 4 รอยโรค, ส่วนหลัง 27 รอยโรค, ทั้งหน้าและหลัง 10 รอยโรค) ขากรรไกรล่าง 59 รอยโรค (ส่วนหลัง 51 รอยโรค, ทั้งหน้าและหลัง 8 รอยโรค) และ ameloblastoma พบในขากรรไกรบนเพียง 10 รอยโรค (ส่วนหน้า 1 รอยโรค, ส่วนหลัง 1 รอยโรค, ทั้งหน้าและหลัง 8 รอยโรค) ขากรรไกรล่าง 91 รอยโรค (ส่วนหน้า 3 รอยโรค, ส่วนหลัง 52 รอยโรค, ทั้งหน้าและหลัง 36 รอยโรค) ผลของลักษณะทางภาพรังสีที่ศึกษาของทั้งสองรอยโรคแสดงในตารางที่ 1 จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าทุกลักษณะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p ≤ 0.001)

บทวิจารณ์และสรุปผล

OKC และ ameloblastoma แสดงลักษณะทางคลินิกและภาพรังสีที่คล้ายกัน บางรายงานพบว่าทั้งสองรอยโรคมีแนวโน้มจะพบในเพศชายมากกว่า6, 9-10 แต่จากการศึกษานี้ไม่พบความแตกต่างของเพศในทั้งสองรอยโรค ตำแหน่งที่พบมากของทั้ง OKC และ ameloblastoma คือขากรรไกรล่างส่วนหลัง นอกจากนี้ OKC ที่พบในขากรรไกรบนก็มักพบที่ส่วนหลังด้วย ซึ่งตรงกับที่มีรายงานไว้11 

การศึกษาก่อนหน้าเกี่ยวกับการเบียดดันฟันของ OKC มีรายงานว่าพบได้ร้อยละ 17-10010-14 แต่มักไม่พบการศึกษาลักษณะนี้ใน ameloblastoma โดยจากการศึกษาก่อนหน้า มีเพียง 1 รายงานที่ศึกษาลักษณะนี้ใน ameloblastoma และพบว่าร้อยละ 73 ของรอยโรค ameloblastoma ที่ศึกษาทั้งหมด แสดงการเบียดฟันข้างเคียง15  ผลจากการศึกษานี้พบว่า ameloblastoma เบียดดันฟันมากกว่า OKC ส่วนในด้านการละลายรากฟันพบว่า OKC ทำให้รากละลายน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่มีรายงานไว้9,16 ส่วนการขยายขนาดของกระดูกพบว่า ameloblastoma ทำให้เกิดการขยายขนาดของกระดูกได้ร้อยละ 89 และ 1009,15 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษานี้ที่พบร้อยละ 96.3 ในขณะที่ OKC พบเพียงร้อยละ 33.3 Ariji และคณะ16 แนะนำว่าการขยายขนาดของกระดูกในแนวด้านแก้ม-ลิ้นนี้เป็นลักษณะสำคัญในการวินิจฉัยแยกโรค OKC จาก ameloblastoma

โดยสรุป OKC พบในขากรรไกรบนเกือบครึ่งหนึ่งของรอยโรคทั้งหมด มักแสดงขอบเรียบ รูปร่าง unilocular พบสัมพันธ์กับฟันคุดมากกว่า และพบการเบียดดันรากฟัน การละลายของราก ตลอดจนการขยายขนาดของกระดูกในแนวด้านแก้ม-ลิ้นน้อยกว่า ในขณะที่ ameloblastoma มักพบในขากรรไกรล่าง ขอบแบบหยัก รูปร่าง multilocular ลักษณะเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์รายละเอียดจากภาพรังสี อาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคทั้งสองได้ 


เอกสารอ้างอิง

  1. El-Nagger AK, Chan John KC, Grandis JR, et al. (2017). World Health Organization classification of head and neck tumours. Lyon: IARC Press.
  2. Tamiolakis P, Thermos G, Tosios KI, et al. Demographic and clinical cahracteristics of 5294 jaw cysts: a retrospective study of 38 years. Head Neck Pathol. 2019;13: 587-596.
  3. Siriwardena BSMS, Crane H, O’Neill N, et al. Odontogenic tumors and lesions treated in a single specialist oral and maxillofacial pathology unit in the United Kingdom in 1992-2016. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol. 2019;127: 151-166.
  4. Ahire MS, Tupkari JV, Chettiankandy TJ, et al. Odontogenic tumors: a 35-year retrospective study of 250 cases in an Indian (Maharashtra). Indian J Cancer. 2018;55: 265-72.
  5. Worawongwasu R, Tiensuwan M. Odontogenic tumors in Thailand: a study of 590 Thai patients. J Oral Maxillofac Surg Med Pathol. 2015;27: 567-576.
  6. Lam EWN. Cysts. In: Mallya SM, Lam EWN, editors. (2019) White and Pharoah’s oral radiology: principles and interpretation. 8th ed. St.Louis: Elsivere; pp. 391-5.
  7. Ariji Y, Morita M, Katsumata A, et al. Imaging features contributing to the diagnosis of ameloblastomas and keratocystic odontogenic tumours: logistic regression analysis. Dentomaxillofac Radiol. 2011;40: 133-140.
  8. Wakoh M, Okawa Y, Otonari-Yamamoto M, et al. Reliance on diagnostic elements in panoramic imaging with focus on ameloblastoma and keratocystic odontogenic tumor: psychometric study. Bull Tokyo Dent Coll. 2011;52: 1-12.
  9. Alves DBM, Tuji FM, Alves FA, et al. Evaluation of mandibular odontogenic keratocyst and ameloblastoma by panoramic radiograph and computed tomography. Dentomaxillofac Radiol. 2018;47: 20170288.
  10. Macdonald-Jankowski DS, Li TK. Keratocystic odontogenic tumour in a Hong Kong community: the clinical and radiological features. Dentomaxillofac Radiol. 2010;39: 167-75.
  11. Neville BW, Damm DD, Allen CM, et al. (2016). Oral and maxillofacial pathology. 4th ed. St. Louis: Elsevier.
  12. Apajalahti S, Hagstrom J, Lindqvist C, et al. Computerized tomography findings and recurrence of keratocystic odontogenic tumor of the mandible and maxillofacial region in a series of 46 patients. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol Endod. 2011;111: e29-37.
  13. Buckley PC, Seldin EB, Dodson TB, et al. Multilocularity as a radiographic marker of the keratocystic odontogenic tumor. J Oral Maxillofac Surg. 2012;70: 320-324.
  14. Gumusok M, Toraman Alkurt M, Museyibov F, et al. Evaluation of keratocystic odontogenic tumors using cone beam computed tomography. J Istanb Univ Fac Dent. 2016;50: 32-7.
  15. MacDonald-Jankowski DS, Yeung R, Lee KM, et al. Ameloblastoma in the Hong Kong Chinese. Part 2: systematic review and radiological presentation. Dentomaxillofac Radiol. 2004;33: 141-151.
  16. Ariji Y, Morita M, Katsumata A, et al. Imaging features contributing to the diagnosis of ameloblastomas and keratocystic odontogenic tumours: logistic regression analysis. Dentomaxillofac Radiol. 2011;40: 133-140.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ดร.ทพญ. จิรา กิติทรัพย์กาญจนา
ภาควิชารังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แบบทดสอบ