วัณโรค (Tuberculosis;TB)

บทความ

เกิดจากการติดเชื้อ Mycobacterium tuberculosis เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infectious disease) ที่ก่อให้เกิดโรคได้ทุกอวัยวะ แต่ประมาณ 80% ก่อโรคที่ปอด และแพร่กระจายผ่านการสัมผัสเชื้อจากละอองฝอย (air-borne droplet) 1,2

ระยะในการติดเชื้อวัณโรคสามารถแบ่งได้เป็นดังนี้

  1. วัณโรคระยะแฝง (latent TB) การติดเชื้อครั้งแรกจากการสัมผัสกับเชื้อที่ปอด (primary tuberculosis) ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใดๆ (asymptomatic) เนื่องจากอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถที่จะควบคุมเชื้อได้ ทำให้เชื้อสามารถแฝงอยู่ในร่างกายได้นานเป็นปี โดยเมื่อตรวจด้วย skin test จะพบผลเป็นบวกเนื่องจากมีเชื้อแฝงตัวอยู่ แต่จะไม่มีการแพร่กระจายให้กับบุคคลอื่น และผู้ป่วยในระยะนี้ 5-10% สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นวัณโรคในระยะแสดงอาการได้ 
  2. วัณโรคระยะแสดงอาการ (active TB) เป็นระยะที่ผู้ป่วยแสดงอาการออก โดยผู้ป่วยอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง (secondary tuberculosis) หรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง เป็นเบาหวาน คนสูงอายุ อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมชนแออัดและสุขอนามัยไม่ดี และนอกจากนี้ยังพบว่าโรคเอดส์เป็นปัจจัยที่สำคัญและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้ มีการแพร่กระจายของเชื้อผ่านระบบไหลเวียนเลือดและต่อมน้ำเหลือง และกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

ลักษณะทางคลินิก

ผู้ป่วยในระยะแสดงอาการ (active disease) จะพบว่ามีก้อนแคลเซียมอยู่บริเวณที่มุมขอบของปอด และมีเชื้อกระจายไปยังอวัยวะต่างๆผ่านทางระบบไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัว น้ำหนักลด เหงื่อออกมากตอนกลางคืน ไอแห้งเป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับมีอาการเจ็บหน้าอกและไอออกมาเป็นเลือดหรือมีเลือดปนในเสมหะ (hemoptysis)

การติดเชื้อวัณโรคนอกปอด (extrapulmonary TB) พบได้มากถึง 50% ในผู้ป่วยที่มีโรคเอดส์ร่วมด้วย3 อาจเกิดขึ้นในอวัยวะใดก็ได้ เช่น ผิวหนัง กระดูก ระบบประสาทส่วนกลาง ไต และระบบทางเดินอาหาร 1,3

รอยโรควัณโรคในช่องปากจะพบได้น้อย ประมาณ 0.5-5.0% ของเคสผู้ป่วย1 โดยมักจะแสดงลักษณะเป็นแผลเรื้อรังไม่หาย  (chronic ulceration) รอยโรคที่ลิ้นพบได้มากที่สุด ตามด้วยมีการบวมของขากรรไกรล่างซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อในกระดูก วัณโรคในช่องปากมักจะพบร่วมกับการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ (ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการเกิดมะเร็งชนิด squamous cell carcinoma ในช่องปากที่มักพบว่ามีการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย) การเกิด primary oral TB เกิดขึ้นได้ยาก แต่อาจพบได้ในผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่น1

ลักษณะทางจุลพยาธิ

    พบการอักเสบแบบ granulomatous inflammation1 มีกลุ่มก้อนเซลล์อักเสบที่ประกอบไปด้วยเซลล์ lymphocytes กระจายอยู่รอบนอก เซลล์ histiocytes ที่มีลักษณะคล้าย epithelium เรียกว่า epithelioid histiocytes และเซลล์ขนาดใหญ่หลายนิวเคลียส (multinucleated giant cells) ที่มีนิวเคลียสหลายอันเรียงตัวกันเป็นรูปเกือกม้าอยู่ตรงขอบเซลล์ เรียกว่า Langhans giant cells และพบการตายของเซลล์แบบ caseous necrosis3

การย้อมพิเศษเพื่อหาตัวเชื้อ TB นั้นสามารถทำได้โยการส่งย้อมพิเศษ Ziehl-Neelsen หรือการย้อม acid-fast staining เพื่อแสดงตัวเชื้อ mycobacteria1

การให้การวินิจฉัยแยกโรค

ลักษณะทางคลินิก อาการ และอาการแสดงของวัณโรคในช่องปากนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆได้ เช่น มะเร็ง squamous cell carcinoma การติดเชื้อราประเภท deep fungal infection มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin’s lymphoma แกรนูโลมาโตซิสช่องปากใบหน้า (orofacial granulomatosis) โรคซาร์คอยโดซิส (sarcoidosis) ดังนั้นจึงควรตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปตรวจทางจุลพยาธิ ร่วมกับการเพาะเชื้อต่อไป1,3

ข้อคำนึงในการให้การรักษาทางทันตกรรม

    สำหรับการรักษาทางทันตกรรม ถ้าผู้ป่วยยังอยู่ในระยะติดต่อ (active TB) ไม่ควรให้การรักษาทางทันตกรรม ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน โดยปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ทันตแพทย์และผู้ช่วยควรแต่งตัวป้องกันให้มิดชิดและสวมหน้ากากชนิด N95 นัดหมายผู้ป่วยเป็นรายสุดท้าย ให้การรักษาในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ขณะทำการรักษาไม่ควรทำให้เกิดละอองฟุ้งกระจาย ควรใช้เครื่องดูดเสมหะเฉพาะที่ ในกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน ควรวางแผนการรักษาทางทันตกรรมหลังจากผู้ป่วยได้รับยาตามสูตรมาตรฐานแล้วอย่างน้อย 2 เดือน โดยแพทย์ผู้ให้การรักษายืนยันว่าผู้ป่วยไม่อยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว4


เอกสารอ้างอิง

  1. Neville B.W, Damm D.D, Allen C.M, et al. (2016). Oral and maxillofacial pathology.
  2. สิริจตุภัทร ร, พุ่มพวง ภ, วังจินดา ว. (2564). Handbook of infectious disease.
  3. Hupp J.R, Ferneini E.M. (2016). Head, Neck, and Orofacial Infections: A Multidisciplinary Approach. St. Louis.
  4. กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. (2554). แนวทางเวชปฏิบัติทางทันตกรรมสำหรับคลินิกทันตกรรม สำนักอนามัย

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

อ.ทพญ.ดร. วรวลัญช์ หิรัญวิชญารัตน์
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แบบทดสอบ