Update from the 5th Edition of the World Health Organization Classification of Head and Neck Tumors

บทความ

Tumours of the Oral Cavity and Mobile Tongue

ปกติแล้วทุกๆ 5 ปี ทาง World Health Organization (WHO) จะมีการปรับปรุงในส่วนของการจำแนกประเภทเนื้องอกที่บริเวณศีรษะและลำคอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมชนิดรอยโรคตามความรู้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของพฤติกรรมทางคลินิก ความก้าวหน้าทาง immunohistochemistry และความรู้ที่ได้จากการศึกษาระดับโมเลกุล โดยบทที่ 5 ของหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญอย่างมากกับทันตแพทย์ เนื่องจากเป็นบทที่เกี่ยวข้องกับเนื้องอกที่เกิดขึ้นในช่องปากและลิ้น ซึ่งความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรอยโรคเหล่านี้จะส่งผลให้ทันตแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยรอยโรคได้อย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถส่งตัวผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปได้

ในปีค.ศ.2022 นี้ WHO ได้มีการปรับปรุงการจำแนกรอยโรคในบทที่ 5 จากฉบับล่าสุดในปีค.ศ.2017 โดยมีการเพิ่มเติมหมวดหมู่ใหม่เข้ามาคือ non-neoplastic lesion มีการจัดเรียงลำดับของข้อมูลใหม่ ที่จะเรียงลำดับตามพฤติกรรมรอยโรค จากที่ไม่มีความรุนแรงไปยังรอยรอยโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุด รวมถึงมีการแบ่งแยกหัวข้อย่อยของรอยโรค โดยเฉพาะรอยโรคที่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นจากการศึกษาวิจัยในช่วงที่ผ่านมา1

Non-neoplastic lesion เป็นหมวดหมู่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่
ซึ่งประกอบด้วยรอยโรค 3 ชนิดคือ

  1. Necrotizing sialometaplasia ที่เป็นรอยโรคชนิด reactive ที่มีสาเหตุมาจากการได้รับอันตรายจากสิ่งกระทำภายนอก ส่งผลให้เกิดแผลขึ้นมาในช่องปากที่สามารถหายไปได้เอง ซึ่งความสำคัญของรอยโรคนี้คือลักษณะทางคลินิกอาจมีความคล้ายคลึงกับ squamous cell carcinoma หรือเนื้องอกของต่อมน้ำลายได้ ทำให้การซักประวัติมีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยแยกรอยโรคนี้ ออกจากรอยโรคชนิดอื่นๆ แต่ถ้าหากไม่แน่ใจในประวัติ การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาก็สามารถเป็นส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
  2. Multifocal epithelial hyperplasia เป็นรอยโรคที่เดิมถูกจัดอยู่รวมกับเนื้องอกกลุ่ม squamous papilloma แต่ในฉบับใหม่นี้ได้ถูกแยกออกมา เนื่องจากรอยโรคนี้มีพฤติกรรมทางคลินิกที่แตกต่างและสามารถหายไปได้เอง โดยเฉพาะรอยโรคที่เกิดในเด็กจะสามารถหายไปได้เองเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
  3. Melanoacanthoma เป็นรอยโรคที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ตระหนักถึงลักษณะทางคลินิก ที่เป็นรอยโรคชนิดมีสีและสามารถเจริญขยายขนาดได้เร็ว คล้ายคลึงกับรอยโรคชนิด melanoma โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาจะสามารถใช้วินิจฉัยแยกโรคออกจาก melanoma ได้

Epithelial tumors เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการปรับปรุงการเรียงลำดับของข้อมูลตามพฤติกรรมของรอยโรค โดยจะเริ่มจากรอยโรคที่มีพฤติกรรมรุนแรงน้อยที่สุดซึ่งก็คือ squamous papilloma ไปยังรอยโรคที่มีพฤติกรรมรุนแรงมากที่สุดซึ่งก็คือ squamous cell carcinoma1,2

Oral potentially malignant disorders (OMPD) เป็นหมวดหมู่ที่มีการเพิ่มเติมข้อมูลจากความรู้ที่มากขึ้นทั้งในแง่ของลักษณะทางคลินิก พยาธิวิทยา และความรู้ทางด้านโมเลกุล โดยรอยโรคชนิด oral lichenoid lesions ซึ่งเป็นรอยโรคที่มีลักษณะทางคลินิกและพยาธิวิทยาบางส่วนคล้ายคลึงกับ lichen planus ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในกลุ่มของ OMPD และรอยโรคชนิด chronic candidiasis, syphilitic glossitis และ actinic keratosis ได้ถูกนำออกไปจากรอยโรคในกลุ่ม OMPD1,2

Oral epithelial dysplasia เป็นรอยโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ของชั้นเยื่อบุผิว ซึ่งการ grading รอยโรคนี้จะอาศัยลักษณะทาง architectural features และ cytological features ประกอบกัน ซึ่งในฉบับที่ 5 นี้ได้มีเพิ่มและปรับปรุง features ทั้ง 2 ชนิดเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ grading ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวถึงส่วนสำคัญอีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ การพบลักษณะของ lichenoid host response ใต้ต่อรอยโรคเมื่อตรวจดูทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำให้สับสนกับการวินิจฉัยแยกจาก lichen planus ดังนั้นการพบลักษณะของ epithelial dysplasia ร่วมกับ lymphohistiocytic band-like infiltrate จึงเป็นข้อห้ามในการวินิจฉัยรอยโรคชนิด lichen planus และควรวินิจฉัยร่วมกับ grading ส่วนของ epithelial dysplasia แทน1,2

Proliferative verrucous leukoplakia เป็นรอยโรคที่มีการเพิ่มเติมข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตั้งค.ศ.2017 เป็นต้นมา โดยรอยโรคนี้ในระยะเริ่มต้นจะมีความคล้ายคลึงกับลักษณะทางพยาธิวิทยาของ oral epithelial dysplasia ไม่ว่าจะเป็น premature keratinization, sharp lateral margins, skip keratoses และการหนาตัวขึ้นของชั้น keratin รวมถึงอาจจะพบ lymphohistiocytic band-like infiltrate ที่อาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นกลุ่มของ lichen planus แทนได้ 1,2

Oral submucous fibrosis เป็นรอยโรคหนึ่งที่ถูกแยกออกมาจากหัวข้อ oral potentially malignant disorders ซึ่งโรคนี้มีลักษณะสำคัญคือการเกิด fibrosis ที่บริเวณ submucosa ของช่องปากหรือ oropharynx และมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งในกลุ่ม squamous cell carcinoma1,2

HPV-associated dysplasia เป็นรอยโรคที่ถูกแยกออกมาจากกลุ่ม oral epithelial dysplasia เนื่องจากลักษณะหลายประการที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบได้บ่อยที่บริเวณ ventral หรือ lateral tongue และ floor of mouth มีสาเหตุหลักคือการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะ high risk subtypes เช่น HPV 16 รวมถึงมีลักษณะทางพยาธิวิทยาที่แตกต่างจาก oral epithelial dysplasia1,2 

Oral squamous cell carcinoma (OSCC) เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในช่องปากและมีความรุนแรงในหลายๆด้าน โดยฉบับล่าสุดในปีค.ศ.2022 นี้ WHO ได้มีการเพิ่มข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเพื่อทำการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทาง epidemiology, pathogenesis และ histological prognostic factors ที่ใช้ประกอบการให้ prognosis ของรอยโรค ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ prognosis แย่ลงนั้นประกอบด้วย depth of invasion > 5 mm, tumor budding, perineural invasion, lymphovascular invasion, bone invasion, worst pattern of invasion , stroma-tumor ratio > 50% ในรอยโรคที่มี deep invasion และการมี lymph nodes metastasis นอกจากนี้การจำแนก subtypes ของ OSCC ยังคงเพิ่มแต่มีการแยก carcinoma cuniculatum และ verrucous carcinoma ออกมาเป็นหัวข้อย่อยของตัวเอง เนื่องจากรอยโรคทั้ง 2 ชนิดนี้พบในช่องปากมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆของใบหน้าและลำคอ รวมถึงมีลักษณะทางคลินิกและพยาธิวิทยาที่แตกต่าง conventional OSCC อีกด้วย1,2 

Tumors of uncertain histogenesis เป็นกลุ่มรอยโรคที่ประกอบด้วย congenital granular cell epulis, granular cell tumor, ectomesenchymal chondromyxoid tumor และ melanotic neuroectodermal tumor of infancy ซึ่งในฉบับล่าสุดนี้ก็ได้มีการปรับปรุงข้อมูลตามความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยเช่นเดียวกัน1,2

นอกจากการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ในฉบับนี้ยังได้มีการแยกเนื้องอกที่พบได้ในตำแหน่งอื่นๆของร่างกายนอกจากช่องปากและลิ้นไปไว้รวมกันในแต่ละบท เช่น rhabdomyoma, lymphangioma, hemangioma, neural tumors และ Kaposi sarcoma จะถูกนำไปอธิบายในบท Soft Tissue Tumor เป็นต้น1,2 


เอกสารอ้างอิง

  1. Muller S, Tilakaratne WM. Update from the 5th Edition of the World Health Organization Classification of Head and Neck Tumors: Tumours of the Oral Cavity and Mobile Tongue. Head Neck Pathol. 2022;16(1):54-62.
  2. Board WCoTE. WHO Classification of Head and Neck Tumours Lyon, France: International Agency for Research on Cancer 2022.

แบบทดสอบ