การรักษาเนื้อเยื่อในแบบคงความมีชีวิต (Vital pulp therapy)

บทความ

Vital pulp therapy (VPT) คือ การรักษาความมีชีวิตและการทำงานของ dental pulp tissue ภายหลังได้รับภยันตรายจาก การบาดเจ็บ ฟันผุ หรือการบูรณะ การรักษาแบบ VPT ได้แก่ indirect/direct pulp capping, partial pulpotomy และ complete pulpotomy ในอดีต VPT จะทำในฟัน Vital pulp ที่ยังสร้างรากไม่สมบูรณ์ (Immature tooth) เพื่อหวังผลให้เกิดการสร้างรากที่สมบูรณ์ต่อไป แต่ในปัจจุบันการทำ VPT สามารถทำได้แม้ในฟันปลายรากปิดที่มีสภาวะ irreversibly inflamed pulp ทันตแพทย์สามารถทำ VPT ได้ หากมีความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์พร้อมที่จะทำ และเลือกกรณีผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการรักษาแบบ VPT

(เนื้อหาบทความนี้เรียบเรียงจาก AAE Position Statement on Vital Pulp Therapy ปี 2021)

1.) การวินิจฉัยเพื่อทำ VPT

โดยทั่วไปการวินิจฉัยโรคของ dental pulp จะได้มาจากประวัติการปวด การทดสอบทางคลินิกเพื่อประเมินสภาวะความชีวิตของ dental pulp เช่น การทดสอบด้วยไฟฟ้า (EPT) หรือความเย็น อย่างไรก็ตามการทดสอบเหล่านี้เป็นการทดสอบความสามารถในการตอบสนองของเส้นประสาท (Sensibility) ไม่ได้บอกความมีชีวิตของ dental pulp โดยตรง การมี lingering pain ภายหลังกระตุ้นด้วยความเย็น หรือการเคาะฟันแล้วเจ็บ เป็นการบ่งบอกถึง irreversibly inflamed pulp ถ่ายภาพรังสีในช่องปากที่มีคุณภาพต้องมีเพื่อใช้ประเมินการสร้างรากและการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อแข็งโดยรอบ อย่างไรก็ตามสภาวะของ dental pulp จากการประเมินทางคลินิกอาจไม่สัมพันธ์กับสภาวะที่แท้จริง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีงานวิจัยที่กำลังศึกษาบทบาทของ mediator ต่างๆ ใน dental pulp เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะของ dental pulp ในทางคลินิกยังไม่มี molecular biologic test ดังนั้นทันตแพทย์จำเป็นต้องใช้การสังเกต dental pulp โดยตรง (แนะนำมองผ่าน microscope) เพื่อประเมินความเหมาะสมของฟันในการทำ VPT

2.) การกำจัดฟันผุ

การกำจัดฟันผุออกให้หมดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้กำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ และมองเห็นสภาพของ dental pulp เมื่อเกิดจุดทะลุได้ ไม่ว่าจะเป็น Arrested lesion หรือ white spot enamel lesion ก็ติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นควรกำจัดออกให้หมด เพราะการหลงเหลือแบคทีเรียในเนื้อฟันส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของ dental pulp และการยึดติดของเรซินลดลง ทันตแพทย์ควรเน้นที่การกำจัด demineralized infected dentin ให้หมดมากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงการทะลุ dental pulp เพื่อเพิ่มโอกาสการหายของ dental pulp

3.) การใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์

โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เป็นสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ โดยสามารถห้ามเลือด ทำความสะอาดเนื้อฟัน กำจัดไบไอฟิล์ม กำจัดก้อนเลือดและไฟบริน ล้างเศษเนื้อฟันและเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณจุดทะลุ dental pulp โดยสารชนิดนี้มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัส dental pulp โดยตรง การตรวจสอบสภาพของ dental pulp ด้วยกำลังขยายเป็นสิ่งสำคัญ การห้ามเลือดต้องทำเพื่อจะได้ประเมินระดับการอักเสบ และมองเห็น dental pulp ที่ตายได้ดีขึ้น และจะได้กำจัดออกก่อนใส่วัสดุ การห้ามเลือดทำได้โดยหลังจากตัด dental pulp เพียงพอแล้ว ให้อาบน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรท์ทิ้งไว้ 5-10 นาที

4.) การใช้วัสดุร่วมสมัยในการทำ VPT

Calcium Silicate cement (CSC) ถูกนำมาใช้ใน VPT และให้ผลการรักษาที่ดี โดย MTA เป็นวัสดุที่นิยมใช้แพร่หลายและมีการศึกษามากมาย ความสำเร็จที่ 1-2 ปี หลังทำ VPT ในฟันแท้ด้วย MTA และ CSC อื่นๆ อยู่ในช่วง 85-100% ซึ่งวัสดุ CSC นั้นเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อ อีกทั้งช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อแข็งได้ และสร้าง mineralized barrier ที่มีคุณภาพดีกว่าจากแคลเซียมไฮดรอกไซด์ วัสดุ CSC แบบใหม่ถูกปรับปรุง setting time ให้เร็วขึ้นและลดการเปลี่ยนสีฟัน ทั้งนี้การใช้ calcium hydroxide, glass ionomer cements และ resin based material ก็ให้ผลความสำเร็จทางคลินิกได้ แต่อยู่ในช่วง 43-92% การเลือกใช้วัสดุใดควรพิจารณาจาก ผลต่อผู้ป่วย การสร้างเนื้อเยื่อแข็งที่ดี และการรักษาความมีชีวิตของ dental pulp ต่อไป

5.) การบูรณะทันทีด้วยวัสดุบูรณะถาวร

การบูรณะทันทีด้วยวัสดุบูรณะถาวร ภายหลังทำ VPT เป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา ประโยชน์ของการบูรณะทันที ได้แก่ ป้องกันการรั่วซึม ปกป้องชั้นวัสดุที่ปิดทับเนื้อเยื่อใน ลดการเสียวหลังรักษา และเป็นการสร้างแกนไว้สำหรับการบูรณะแบบคลุมปุ่มฟัน เมื่อไรถึงจะทำการบูรณะแบบคลุมปุ่มฟันต่อได้ ทันตแพทย์ควรพิจารณาจากการไม่มีอาการและอาการแสดง ร่วมกับความเสี่ยงที่จะเกิดฟันแตก เพื่อประเมินว่าควรเริ่มทำการบูรณะถาวรเมื่อไร

สรุป

เป้าหมายของการทำ VPT คือการสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้ dental pulp เกิดการซ่อมแซมและคงสภาพอยู่ เมื่อวินิจฉัยเป็น irreversible pulpitis ไม่จำเป็นต้องกำจัด dental pulp ออกทั้งหมด แต่ควรพิจารณาถึงการรักษาแบบ VPT ด้วย โดยการตัดสินใจเอาออกหรือเก็บเนื้อเยื่อในไว้เท่าไร ขึ้นอยู่กับการประเมินความมีชีวิตของเนื้อเยื่อซึ่งประเมินจากการห้ามเลือด และลักษณะของเนื้อเยื่อที่เห็นโดยผู้ทำการรักษา รวมถึงแผนการรักษาโดยรวม และสุขภาพช่องปากและร่างกายของผู้ป่วย


เอกสารอ้างอิง

AAE Position Statement on Vital Pulp Therapy. (2021). Journal of endodontics, 47(9), 1340–1344. https://doi.org/10.1016/j.joen.2021.07.015


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทญ. ถนอมศุก เจียรนัยไพศาล

แบบทดสอบ