แปรงสีฟันกับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

บทความ

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเป็นกระบวนการสำคัญในงานนิติวิทยาศาสตร์ โดยประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ตลอดจนวิทยาศาสตร์แขนงอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าบุคคลทั้งที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิต เช่น ในกรณีบุคคลวิกลจริตหรือหมดสติว่าเป็นผู้ใด รวมถึงชิ้นส่วนของร่างกายหรือกระดูกมนุษย์ แม้กระทั่งเลือดและคราบอันเกิดจากสารคัดหลั่งของมนุษย์ ที่ตรวจพบในบริเวณเกิดเหตุเป็นของผู้ใด การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจึงมีคุณค่าอย่างมากในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อยืนยันตัวบุคคลทั้งในกรณีพบบุ คคลนิรนามหรือยืนยันตัวผู้กระทำผิดกฎหมาย แม้ว่าการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจะมีหลายวิธีการ เช่น ตรวจรูปลักษณ์ รอยตำหนิ หรือรอยสัก ภายนอกร่างกาย หรือจากวัตถุที่ติดมากับร่างกาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ แม้กระทั่งอาศัยความจำจากของญาติหรือผู้ที่รู้จักบุคคลนั้น วิธีการเหล่านี้จึงมักเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายและนำไปสู่การระบุตัวบุคคลผิดซึ่งส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการสืบสว นสอบสวน ปัจจุบันจึงนิยมใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้มีความจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้นเพื่อเพิ่มความแม่นยำในกา รพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ได้แก่ เอกลักษณ์ของฟัน ลายพิมพ์ลายนิ้วมือ และลายพิมพ์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA fingerprint) ดีเอ็นเอหรือกรดดีออกซีไรโบนิวคลิอิก (Deoxyribonucleic acid) เป็นสารพันธุกรรมที่พบในเซลล์เกือบทุกชนิดของมนุษย์ โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่งหนึ่ง เป็นเหตุให้ดีเอ็นเอของมนุษย์แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่เหมือนกัน แม้ในระหว่างพี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน ยกเว้นในกรณีของแฝดแท้ซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวกัน (monozygotic twins) ทำให้มีดีเอ็นเอเหมือนกันทุกประการ ด้วยเหตุนี้ ดีเอ็นเอจึงมีความจำเพาะบุคคลสูงในการนำมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล แต่การตรวจพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอนอกจากต้องตรวจดีเอ็นเอจากบุคคลหรือศพที่พบได้แล้ว จำเป็นต้องสืบหาข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลนั้นเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของบุคคล หรือศพที่พบ ซึ่งส่วนใหญ่มักสืบหาได้ยากเนื่องจากบุคคลทั่วไปมักไม่เคยมีการเก็บข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอไว้

จึงต้องตรวจจากพ่อแม่ หรือพี่น้อง ทำให้ความถูกต้องของการตรวจลดลง และในบางครั้งไม่สามารถตามหาญาติได้จึงไม่สามารถเปรียบเทียบลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้< ส่งผลให้มีการศึกษาเพื่อพยายามหาวิธีสกัดดีเอ็นเอจากวัตถุอื่นที่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันที่อาจมีส่วนของดีเอ็นเอติ ดอยู่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากคือแปรงสีฟันของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลนั้น (1,2) แปรงสีฟันเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีเซลล์จากเยื่อบุช่องปาก รวมถึงเซลล์อื่นๆจากน้ำลายติดค้างอยู่บนแปรงสีฟัน และเนื่องจากเป็นอุปกรณ์จำเพาะบุคคลที่โดยทั่วไปแล้วมักไม่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่น (3) ในกรณีที่สามารถตรวจเก็บดีเอ็นเอจากแปรงสีฟันได้ จะมีความจำเพาะบุคคลที่เชื่อถือได้ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ อย่างไรก็ตามปริมาณดีเอ็นเอที่สกัดได้จากแปรงสีฟัน มักมีปริมาณน้อย จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส(polymerase chain reaction) ให้ดีเอ็นเอมีปริมาณมากเพียงพอ ก่อนนำไปวิเคราะห์สร้างแบบแผนดีเอ็นเอ(DNA profile)< เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ การสกัดดีเอ็นเอจากแปรงสีฟันมีวิธีที่แตกต่างกันหลายวิธี เช่น การใช้เครื่องมือมีคมตัดส่วนหัวแปรงใส่ลงในสารละลายสกัดดีเอ็นเอจากเซลล์(lysis solution) เพื่อให้ได้ปริมาณดีเอ็นเอมากที่สุดเท่าที่ทำได้ (3) วิธีนี้จึงต้องใช้สารละลายสกัดดีเอ็นเอจำนวนมากพอที่จะท่วมหัวแปรงสีฟัน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งวิธีการนี้จะไม่สามารถสกัดดีเอ็นเอซ้ำได้หากเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากใช้หัวแปรงสีฟันทั้งหมดไปในการสกัดดีเอ็นเอแล้ว อย่างไรก็ดี มีการศึกษาเปรียบเทียบการสกัดดีเอ็นเอจากเฉพาะกระจุกขนแปรงสีฟัน และพบว่าผลการศึกษาที่น่าสนใจ โดยดีเอ็นเอที่สกัดได้จากขนแปรงสีฟัน 5 กระจุก และผ่านการเพิ่มจำนวนด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส กลับมีปริมาณมากกว่าเมื่อสกัดจากขนแปรง 10 กระจุก (4) ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเชื่อว่าเป็นผลจากยาสีฟันที่ติดค้างอยู่ในแปรงสีฟัน เนื่องจากในส่วนประกอบของยาสีฟันมีสารประกอบที่สามารถยับยั้งการทำงานของปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสได้ (5) การเพิ่มปริมาณของขนแปรงสีฟัน จึงเพิ่มโอกาสในการปนเปื้อนยาสีฟันไปด้วย ทำให้ยับยั้งปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสบางส่วนจึงได้ปริมาณดีเอ็นเอน้อยลงกว่าที่คาด ถึงแม้การใช้ขนแปรงสีฟันจำนวนไม่มากก็สามารถสกัดดีเอ็นเอเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ โดยใช้ปริมาณสารละลายสกัดดีเอ็นเอน้อยกว่าการใช้หัวแปรงสีฟันทั้งหมด และยังสามารถสกัดซ้ำได้จากขนแปรงสีฟันส่วนที่เหลืออยู่

การสกัดดีเอ็นเอจากขนแปรงสีฟันจึงมีข้อดีกว่าการสกัดจากหัวแปรงสีฟันทั้งหมด แต่การสกัดดีเอ็นเอจากขนแปรงสีฟันก็ยังมีความยุ่งยากในการจัดการกับขนแปรงสีฟันขนาดเล็กจึงเพิ่มความเสี่ยงต่ อการปนเปื้อน ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้จึงมีการศึกษาที่เก็บใช้ขนแปรงสีฟันมีการศึกษาคำแนะนำให้ตัดหัวแปรงสีฟันประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1ใน 3 ของหัวแปรงสีฟันในการสกัดทำให้ลดปริมาณสารละลายสกัดดีเอ็นเอ และยังเหลือส่วนของแปรงสีฟันสำหรับทำซ้ำได้ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด และขนแปรงสีฟันยังติดกับหัวแปรงสีฟันที่ถูกตัดทำให้ลดปัญหาความยุ่งยากในการจัดการกับขนแปรงสีฟัน (6) ช่วงเวลาการใช้แปรงสีฟันเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาในการสกัดดีเอ็นเอที่สกัดได้จากแปรงสีฟัน เพราะหากเป็นแปรงสีฟันที่ถูกใช้ไม่นานอาจมีปริมาณเซลล์ที่มีดีเอ็นเอไม่เพียงพอ แต่ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแปรงสีฟันที่ถูกใช้เป็นเวลา 1 วัน 7 วัน 14 วันและ 30 วัน พบว่าสามารถสกัดปริมาณดีเอ็นเอได้ไม่แตกต่างกันหากมีกระบวนการสกัดดีเอ็นเอที่มีคุณภาพเหมาะสม (4) แสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลาการใช้แปรงสีฟันไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณดีเอ็นเอที่สกัดได้ แต่ในทางกลับกันแปรงสีฟันที่ใช้เป็นระยะเวลานานอาจจะสกัดปริมาณดีเอ็นเอได้น้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก ความถี่และความแรงของน้ำในการล้างแปรงสีฟันหลังใช้งาน น้ำที่ไหลแรงอาจชะล้างเซลล์ที่ติดค้างบนแปรงสีฟันออกไปได้มาก จึงสกัดปริมาณดีเอ็นเอได้ลดลง (7,8) แม้ว่าการศึกษาเท่าที่ผ่านมาช่วยยืนยันความสำเร็จในการสกัดดีเอ็นเอจากแปรงสีฟัน แต่การศึกษาในเรื่องนี้ยังคงมีไม่มากนัก จึงยังคงต้องมีการศึกษาในอีกหลายประเด็นเช่น ผลจากวัสดุในการผลิตแปรงต่อการยึดเกาะของเซลล์ หรืออุณหภูมิและความชื้นในการก็บรักษาแปรงสีฟันในห้องน้ำต่อการปนเปื้อนหรือทำลายเซลล์ที่ติดค้างบนแปรงสี ฟัน เป็นต้น (5) เพื่อพัฒนาขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ในการสกัดดีเอ็นเอจากแปรงสีฟันเพื่อให้ได้วิธีที่มีมาตรฐานในการตรวจต่อไป หากจำเป็นต้องใช้แปรงสีฟันในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในอนาคต


เอกสารอ้างอิง

  1. Ballantyne J. Mass disaster genetics. Nat Genet 1997;15:329–31.
  2. Jobim MR, Gamio F, Ewald G, Jobim M, Jobim LF. Human identification using DNA purified from residues in used toothbrushes. Int Congr Ser 2004;1261:491–3.
  3. Tanaka M, Yoshimoto T, Nozawa H, Ohtaki H, Kato Y, Sato K, Yamamoto T, Tamaki K, Katsumata Y. Usefulness of a toothbrush as a source of evidential DNA for typing. J Forensic Sci 2000;45:674–6.
  4. Bandhaya A, Panvisavas N. Optimization of DNA recovery from toothbrushes. Forensic Sci Int Genet Suppl Ser 2008;1:9–10.
  5. Sujatha G, Priya VV, Dubey A, Mujoo S, Sulimany AM, Tawhari AMO, Mokli LK, Mohana AJ, Varadarajan S, Balaji TM, Raj AT, Patil S. Toothbrushes as a Source of DNA for Gender and Human Identification—A Systematic Review. Int J Environ Res Public Health. 2021;18:11182. doi: 10.3390/ijerph182111182.
  6. Riemer L.B., Fairley D., Sweet D. DNA collection from used toothbrushes as a means to decedent identification. Am J Forensic Med Pathol 2012;33:354–6.
  7. Yamamoto Y, Hara M, Takada A, Kido A, Miyazaki T, Saito K. STR loci analysis of buccal cavity cells captured by laser microdissection. Int Congr Ser 2006;1288:666–8.
  8. Alfadaly N, Kassab A, Al Hedaithy F. Determination of DNA profiling of siwak and toothbrush samples used in Kingdom of Saudi Arabia. Egypt J Med Hum Genet 2016;17:383–7.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพ.ทวีพงศ์ อารยะพิศิษฐ
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แบบทดสอบ