ลายพิมพ์ริมฝีปากในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

บทความ

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ซับซ้อน แต่มีความสำคัญทางนิติวิทยาศาสตร์และอาชญวิทยา จึงต้องการวิธีการที่ให้ความแม่นยำสูงในการปฏิบัติ ในปัจจุบันอาศัย สารพันธุกรรม(DNA) ลายพิมพ์นิ้วมือ และเอกลักษณ์ฟัน เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่สามารถสืบหาข้อมูลเหล่านั้นก่อนเสียชีวิตเพื่อนำมาเปรียบเทียบได้ วิธีการมาตรฐานจึงไม่สามารถใช้พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ ทำให้มีความพยายามในการศึกษาวิธีอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และวิธีการหนึ่งที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้นได้แก่ การใช้ลายพิมพ์ริมฝีปาก(lip print) ลายพิมพ์ริมฝีปากเป็นลายพิมพ์บริเวณขอบริมฝีปาก(vermillion border of lip) ซึ่งเป็นบริเวณที่แห้งเนื่องจากเป็นเยื่อบุผิวที่มีการสร้างชั้นเคอราทิน(keratinized epithelium) และพบรอยย่นหรือร่อง(groove) บนขอบริมฝีปากในหลากหลายรูปร่างและทิศทางเป็นรูปแบบจำเพาะบุคคลคล้ายคลึงกับที่พบในลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งร่องที่พบเหล่านี้แสดงลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลยกเว้นในระหว่างแฝดแท้(monozygotic twins) (1) ร่องบนขอบริมฝีปากพิมพ์เหล่านี้เริ่มปรากฏประมาณสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ และมีรูปแบบคงที่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต (2) แม้ได้รับบาดเจ็บบริเวณริมฝีปาก แต่ภายหลังหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ร่างกายจะสามารถฟื้นฟูร่องบนขอบริมฝีปากให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมก่อนได้รับบาดเจ็บได้ (3,4) ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ จึงมีผู้สนใจนำลายพิมพ์ริมฝีปากมาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล รวมไปถึงการใช้ในการสืบหาผู้ก่อเหตุในคดีอาชญากรรมได้อีกด้วย R. Fisher เป็นนักมานุษยวิทยาท่านแรกที่เริ่มอธิบายถึงรูปแบบจำเพาะของร่องบนขอบริมฝีปากมนุษย์ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1902 (1) ต่อมา ในปี ค.ศ. 1938 Edmond Locard นักอาชญวิทยาคนสำคัญได้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของลายพิมพ์ริมฝีปากในงานทางนิติวิทยาศาสตร์ (5) อย่างไรก็ตามต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 1950

จึงได้มีการนำลายพิมพ์ริมฝีปากมาใช้เพื่อการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจริงเป็นครั้งแรกโดย L.M. Snyder ในกรณีอุบัติเหตุทางการจราจร (6) จากนั้นเป็นต้นมา ลายพิมพ์ริมฝีปากจึงเป็นที่ยอมรับและมีการพัฒนาในวงกว้างมากขึ้น เพื่อยืนยันความถูกต้องและสร้างมาตรฐานให้สามารถนำลายพิมพ์ริมฝีปากมาใช้ได้อย่างเป็นระบบและเหมาะสมยิ่ง ขึ้น ลายพิมพ์ริมฝีปากมักพบบ่อยครั้งในการตรวจบริเวณเกิดเหตุ(crime scene) เช่น บนเสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน หรือแม้กระทั่งก้นบุหรี่ (7) ทั้งในแบบที่มองเห็นได้ชัดเจนจากรอยลิปสติก(lipstick) ที่ติดบนวัตถุพยาน หรืออยู่ในรูปลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงที่มองไม่เห้นด้วยตาเปล่า เนื่องจากบริเวณขอบริมฝีปากเป็นรอยต่อระหว่างผิวหนังทางด้านนอกของริมฝีปากที่มีต่อมไขมัน(sebaceous gland) และเยื่อเมือก(mucosa) ทางด้านในของริมฝีปากที่มีต่อมน้ำลายขนาดเล็ก(minor salivary gland) ดังนั้นสารคัดหลั่งจากต่อมไขมัน และต่อมน้ำลาย จะเคลือบบนขอบริมฝีปากร่วมกับน้ำลายจากลิ้นที่มาเลียบริเวณนี้ ทำให้เกิดเป็นลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงติดบนวัตถุพยานได้ (8) ลายพิมพ์ริมฝีปากทั้งสองแบบล้วนแต่มีความสำคัญต่องานนิติวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และบ่อยครั้งที่ลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงเป็นกุญแจสำคัญช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมเนื่องจากผู้ชายมักไม่ใช้ลิปสติก รวมทั้งในปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพของลิปสติกมากขึ้นจนทำให้ลิปสติกชนิดไม่หลุดลอก(persistent lipstick) จึงไม่สามารถเห็นรอยลิปสติกในบริเวณเกิดเหตุได้ (9) จึงควรตรวจบริเวณเกิดเหตุอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนทั้งภายใต้แหล่งกำเนิดแสงขาวและแสงอัลตราไวโอเลต(whit e and ultraviolet light source) (10) รวมทั้งควรถ่ายภาพในบริเวณเกิดเหตุอย่างละเอียดเป็นลำดับแรกในการตรวจและเก็บลายพิมพ์ริมฝีปากเพื่อป้องกั นการละเลยหรือทำลายลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงบนวัตถุพยาน (11 รอยลิปสติกที่ติดบนวัตถุพยาน นอกจากช่วยให้เห็นลายพิมพ์ริมฝีปากได้ชัดเจนมากขึ้น ยังมีประโยชน์อย่างอื่นด้วย โดยทั่วไป ลิปสติกประกอบด้วยสารอินทรีย์และอนินทรีย์หลายชนิด แต่ประมาณร้อยละ 65 ของลิปสติกแต่ละชนิดจะเป็นสารประกอบที่เหมือนกัน ส่วนที่เหลือแตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ผลิต ดังนั้นการวิเคราะห์เนื้อลิปสติกที่ติดบนวัตถุพยานจะช่วยให้รู้ชนิดและผู้ผลิตลิปสติก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนของตำรวจได้ (12) นอกจากนี้ในลิปสติกอาจมีการปะปนของเซลล์ทำให้อาจตรวจสารพันธุกรรมในรอยลิปสติกที่ตรวจพบได้อีกด้วย (13)

ลิปสติกชนิดไม่หลุดลอกทำให้มองเห็นลายพิมพ์ริมฝีปากได้ยากด้วยตาเปล่า รวมทั้งส่วนประกอบของลิปสติกชนิดนี้มักมีไขมันปนอยู่ปริมาณเล็กน้อย จึงไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ด้วยวิธีปกติ แต่สามารถแสดงให้เห็นได้โดยใช้ lysochrome dye ซึ่งสามารถย้อมติดกรดไขมัน(fatty acids) ได้ดี ช่วยให้แสดงลายพิมพ์ริมฝีปากได้ชัดเจน (14) นอกจากนี้ในกรณีที่วัตถุพยานมีสีใกล้เคียงกับ lysochrome dye ทำให้ตรวจเปรียบเทียบลายพิมพ์ริมฝีปากได้ยาก อาจต้องย้อมลายพิมพ์ริมฝีปากด้วยสีเรืองแสง(fluorescent dye) เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนขึ้น (12) ลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงสามารถแสดงให้เห็นชัดด้วยสีเรืองแสงได้เช่นเดียวกัน (15) และยังทำให้ปรากฏชัดขึ้นได้ด้วยสารอีกหลายชนิดขึ้นกับลักษณะพื้นผิวของวัตถุพยาน เช่น plumb carbonate ซึ่งเป็นผงสีขาวช่วยให้ลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงปรากฏได้ดีบนผิวที่เรียบมัน เช่น ผิวโลหะหรือพลาสติก แต่ไม่เหมาะที่จะใช้บนผิววัตถุพยานสีขาว ซึ่งในกรณีดังกล่าวมักใช้ marphil black powder หรือ fat black aniline dyer ซึ่งมีสีเข้มทำให้ตรวจลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงบนผิววัตถุพยานสีขาวได้ชัดเจนกว่า นอกจากนี้ silver nitrate มักใช้ในกรณีที่พบลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงบนผิววัตถุพยานที่ไม่เรียบ เช่น ผิวไม้ หรือกระดาษแข็ง สำหรับ DFO(1,8-Diazafluoren-9-one) และ ninhydrin มักใช้ในกรณีที่ต้องการให้ลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงปรากฏบนผิววัตถุพยานที่เป็นรูพรุน(porous surfaces) ส่วน cyanoacrylate dye เหมาะกับผิววัตถุพยานที่เคลือบขี้ผึ้ง(waxed surfaces) หรือเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทไวนิล(vinyl) (9,16) หลังจากทำให้ลายพิมพ์ริมฝีปากแฝงปรากฏชัดเจนแล้ว ควรถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อนำมาเปรียบเทียบในภายหลังกับลายพิมพ์ริมฝีปากของผู้ต้องสงสัย ถึงแม้ว่าร่องบนขอบริมฝีปากจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การเก็บลายพิมพ์ริมฝีปากจากผู้ต้องสงสัยควรใช้ลิปสติกทาเคลือบริมฝีปากก่อนเพื่อให้เห็นร่องบนขอบ ริมฝีปากชัดเจนมากขึ้นก่อนถ่ายรูป และควรถ่ายรูปริมฝีปากหลายรูปจนกระทั่งลิปสติกที่เคลือบไว้เลือนหายไปจนหมด (8) เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากพอที่จะนำมาเปรียบเทียบกับลายพิมพ์ริมฝีปากที่เก็บรวบรวมได้จากบริ เวณเกิดเหตุได้ถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

  1. Sivapathasundharam B, Prakash PA, Sivakumar G. Lip prints (Cheiloscopy). Indian J Dent Res 2001;12(4):234–37.
  2. Dineshshankar J, Ganapathi N, Yoithapprabhunath TR, et al. Lip prints: role in forensic odontology. J Pharm Bioallied Sci 2013;5:S95–S97.
  3. Tsuchihashi Y. Studies on personal identification by means of lip prints. Forensic Sci 1974;3:233–48.
  4. Suzuki K, Tsuchihashi Y. A new attempt of personal identification by means of lip print. Can Soc Forensic Sci J 1971;4:154–58.
  5. Thomas CJ, van Wyk CW, The palatal rugae in identification. J Forensic Odontostomato 1988;6 (1):21–5.
  6. Snyder LM, Homicide Investigation 2ed, Thomas:Springfield;1967:65.
  7. Ehara Y, Marumo Y. Identification of lipstick smears by fluorescence observation and purge-and-trap gas chromatography. Forensic Sci Int 1998;96:1–10.
  8. Ball J. The current status of lip prints and their use for identification. J Forensic Odontostomatol 2002;20(2):43–6.
  9. Seguı´ MA, Feucht MM, Ponce AC, Pascua F. Persistent lipsticks and their lip prints: new hidden evidence at the crime scene, Forensic Sci Int 2000;112:41–7.
  10. Castello´ A, Alvarez M, Verdu´ F. Just lip prints? No: there could be something else. FASEB J 2004;18:615–16.
  11. Caldas IM, Magalhaes T, Afonso A. Establishing identity using cheiloscopy and palatoscopy. Forensic Sci Int. 2007;165:1–9.
  12. Ehara Y, Marumo Y. Identification of lipstick smears by fluorescence observation and purge-and-trap gas chromatographyใ Forensic Sci Int 1998;96:1–10.
  13. Webb LG, Egan SE, Turbett GR. Recovery of DNA for forensic analysis from lip cosmetics. J Forensic Sci 2001;46(6):1474–479.
  14. Castello´A, Alvarez M, Miguel M, Verdu´ F. Long-lasting lipsticks and latent prints. Forensic Sci Commun [online] 2002, http://www.fbi.gov/hq/lab/fsc/backissu/Apr2002/verd.html.
  15. Castello´ A, Alvare´z-Seguı´ M, Verdu´ F. Use of fluorescent dyes fordeveloping latent lip prints. Color Technol 2004;120(4):184–87.
  16. Trozzi TA, Schwartz RL, Hollars ML. Processing Guide for Developing Latent Prints. Forensic Sci Commun [online] 2001, http://www.fbi.gov/hq/lab/fsc/backissu/Jan2001/lpu.pdf.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพ.ทวีพงศ์ อารยะพิศิษฐ
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แบบทดสอบ