การซ่อมแซมครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนด้วยเรซินคอมโพสิต

บทความ

การซ่อมแซมครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนด้วยเรซินคอมโพสิต
​(Repair of porcelain fused to metal crown with resin composite)

ในปัจจุบันการบูรณะฟันด้วยครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนเป็นที่ได้รับความนิยม  เนื่องจากให้ความแข็งแรงและสวยงาม ทำได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง พอร์ซเลนเป็นวัสดุที่มีความแข็งแต่มีข้อด้อยคือเปราะ เมื่อผู้ป่วยใช้งานไประยะหนึ่งอาจเกิดการแตกหักของพอร์ซเลนได้  การซ่อมแซมงานครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนภายในช่องปากให้แก่ผู้ป่วยเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้

การแตกหักของครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนเกิดจากสองสาเหตุ คือ เกิดจากการใช้งานโดยผู้ป่วยและเกิดจากความผิดพลาดของขั้นตอนการทำชิ้นงานการแตกหักของครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลน ซึ่งเกิดจากการใช้งาน ได้แก่ ผู้ป่วยมีนิสัยกัดถูฟันโดยไม่รู้ตัว การกัดดินสอหรือปากกา เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากใส่ท่อช่วยหายใจในการผ่าตัด การแตกหักของครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลน ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดของขั้นตอนการทำชิ้นงานได้แก่ การออกแบบลักษณะกายวิภาคด้านบดเคี้ยวไม่ถูกต้อง รวมทั้งการออกแบบโครงสร้างฐานโลหะไม่ถูกต้อง เช่น โลหะหนาไม่พอ หรือไม่มีโลหะรองรับพอร์ซเลน ความหนาของพอร์ซเลนไม่พอ การเลือกพอร์ซเลนที่มีความสัมประสิทธิ์การขยายตัวเหตุความร้อน (coefficient of thermal expansion) ไม่เหมาะสมกับโลหะ ผิวโลหะปนเปื้อนก่อนเคลือบพอร์ซเลน พอร์ซเลนหรือโลหะมีรอยตำหนิ การยึดติดกันระหว่างโลหะและพอร์ซเลนไม่สมบูรณ์ โดยทำให้เกิดการแตกของงานบูรณะครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนเมื่อทำการบดเคี้ยว (1-3)

การซ่อมแซมครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนด้วยเรซินคอมโพสิตเป็นวิธีการซ่อมที่ได้รับความนิยม  เนื่องจากเรซินคอมโพสิตเป็นวัสดุที่มีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติและพอร์ซเลน สามารถขัดแต่งได้เรียบและสวยงาม ทำได้ง่าย ราคาถูก และให้ค่ากำลังแรงยึดระหว่างพอร์ซเลนและเรซินคอมโพสิตสูงทั้งค่ากำลังแรงดึง (tensile bond strength) (4) และค่ากำลังแรงยึดเฉือน (shear bond strength) (5) นอกจากนี้ยังพบว่าค่ากำลังแรงยึดเฉือนของเรซินคอมโพสิตต่อพอร์ซเลนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อมีการใช้ไซเลนร่วมด้วย (5-8) อย่างไรก็ตามการซ่อมครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนด้วยเรซินคอมโพสิต เป็นการรักษาในกรณีฉุกเฉินหรือเป็นการรักษาเชิงอนุรักษ์ บางกรณีอาจไม่สามารถซ่อมแซมได้จำเป็นต้องรื้อทำครอบฟันใหม่ วิธีการซ่อมแซมชิ้นงานพอร์ซเลนที่แตกด้วยเรซินคอมโพสิต เริ่มจากใส่แผ่นยางกั้นน้ำลาย กรอโดยรอบของส่วนพอร์ซเลนที่แตกเป็นรอยตัดเฉียง (bevel) จากนั้นปรับสภาพผิวพอร์ซเลนด้วยกรดไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid, HF) หรือเจลอะซิดูเลตฟอสเฟตฟลูออไรด์หรือเอพีเอฟ (acidulated phosphate fluoride gel , APF) อย่างไรก็ตามบางการศึกษาแนะนำให้ใช้การเป่าทรายที่ผิวพอร์ซเลนแทนการใช้กรดไฮโดรฟลูออริกเพื่อลดความเสี่ยงในการที่เนื้อเยื่อในช่องปากจะถูกกรดกัดเนื่องจากพบว่าทั้งสองวิธีให้ผลสำเร็จในการซ่อมแซมใกล้เคียงกัน (9) ในกรณีที่พอร์ซเลนแตกจนเห็นโลหะให้เพิ่มการเป่าทราย (sandblasting) ที่ผิวโลหะร่วมกับการใช้สารทึบแสง (opaquer) ทาปิดสีโลหะก่อนเพื่อความสวยงาม ทาไซเลน 1 นาที หลังจากนั้นทาสารยึดติด ฉายแสงเป็นเวลา 20 วินาที และบูรณะด้วยเรซินคอมโพสิต (10-11)

พบอัตราการคงอยู่ของการซ่อมแซมครอบฟันโลหะเคลือบพอร์ซเลนด้วยเรซินคอมโพสิตคือร้อยละ 89ในระยะเวลา 3 ปี  โดยในบริเวณฟันหน้าจะพบอัตราการคงอยู่ของการซ่อมด้วยเรซินคอมโพสิตมากกว่าฟันหลัง ซึ่งตำแหน่งของฟันนั้นมีผลต่อความสำเร็จในการซ่อม (1) อย่างไรก็ตามทันตแพทย์ควรประเมินสภาพของครอบฟันว่าสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ และควรประเมินหาสาเหตุของการแตกของครอบฟัน และกำจัดสาเหตุก่อนทำการซ่อมครอบฟัน เพราะหากไม่กำจัดสาเหตุ ครอบฟันอาจแตกซ้ำได้


เอกสารอ้างอิง

  1. Ozcan M, Niedermeier W. Clinical study on the reasons for and location of failures of metal-ceramic restorations and survival of repairs. 2002;15(3):299-302.
  2. Blum IR, Jagger DC, Wilson NH. Defective dental restorations: to repair or not to repair? Part 2: All-ceramics and porcelain fused to metal systems. Dental Update. 2011;38(3):150-2.
  3. Ozcan M. Evaluation of alternative intra-oral repair techniques for fractured ceramic-fused-to-metal restorations. J Oral Rehabil. 2003;30(2):194-203.
  4. Wolf DM, Powers JM, O’Keefe KL. Bond strength of composite to porcelain treated with new porcelain repair agents. Dent Mater. 1992;8(3):158-61.
  5. Kupiec KA, Wuertz KM, Barkmeier WW, Wilwerding TM. Evaluation of porcelain surface treatments and agents for composite-to-porcelain repair. J Prosthet Dent. 1996;76(2):119-24.
  6. Newburg R, Pameijer CH. Composite resins bonded to porcelain with silane solution. J Am Dent Assoc. 1978;96(2);288-91.
  7. Chen JH, Matsumura H, Atsuta M. Effect of different etching periods on the bond strength of a composite resin to a machinable porcelain. J Dent. 1998;26(1):53-8.
  8. Shahverdi S, Cannay S, Sahin E, Bilge A. Effects of different surface treatment methods on the bond strength of composite resin to porcelain. J Oral Rehabil. 1998;25(9):699-705.
  9. Chung KH, Hwang YC. Bonding strengths of porcelain repair systems with various surface treatments. J Prosthet Dent. 1997;78(3):267-74.
  10. Robbins JW. Intraoral repair of the fractured porcelain restoration. Oper Dent. 1998;23(4):203-7
  11. Reston EG, Filho SC, Arossi G, Cogo RB, Rocha CS, Class LQ. Repairing ceramic restoratios: final solution or alternative procedure? Oper Dent. 2008;33(4):461-6.

แบบทดสอบ