Border molding และ Final Impression สำหรับงานฟันเทียมทั้งปาก

บทความ

Border molding และ Final Impression สำหรับงานฟันเทียมทั้งปาก

ในการทำฟันเทียมทั้งปากให้แก่ผู้ป่วย ทุกขั้นตอนมีความสำคัญ นับตั้งแต่ ขั้นตอน preliminary impression (รอยพิมพ์ขั้นต้น)  ก็มีความสำคัญ เพราะถ้าได้แบบรอยพิมพ์ที่ดีจะทำให้งานขั้นตอนต่อๆไป ดำเนินโดยราบรื่น  จนมีทันตแพทย์บางท่านบอกว่าถ้าได้รอยพิมพ์ขั้นต้นที่ดีแล้ว ไม่เห็นจะต้อง mold เลย มันก็อยู่ ซึ่งข้อคิดเห็นนี้ผมก็เห็นด้วยบางส่วน แต่จะไม่เห็นด้วยตรงที่ ถ้าไปเจอสันเหงือกที่เรียบแบน พื้นที่รองรับน้อย และบางปากก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาขอบไว้ตรงไหน ในกรณีดังกล่าว ถ้าไม่ mold ฟันเทียมทั้งปากชุดนั้นคงจะไม่สามารถอยู่ในที่อันควรในช่องปากได้  ในกรณีเช่นนี้คงต้องพึ่งพาการทำ border molding ที่ดี ( แต่ถ้าในงานที่ง่ายก็ไม่ทำ คิดจะมาทำงานที่ยากๆ  อาจได้แบบพิมพ์ที่ไม่ถูกต้อง พอถึงขั้นตอนการส่งมอบฟันเทียมให้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาจนต้องกลับมาเริ่มต้นทำใหม่ ) ทันตแพทย์บางท่านที่ทำborder molding เป็นประจำใน บางกรณียัง mold ยากในผู้ป่วยบางคน ดังนั้น  เริ่มต้นทำ border moldingในกรณีที่ง่ายๆ เห็นชัดๆก่อน ในตอนแรกอาจดูเหมือนยาก เกะกะไปหมด แต่พอทำจนชำนาญแล้ว จะมีความมั่นใจมากขึ้น เร็วขึ้น สุดท้ายทั้งผู้ป่วยและทันตแพทย์เจ้าของไข้จะพอใจกับผลที่ได้

ก่อนเริ่มการทำงาน

ถาดพิมพ์ปากเฉพาะบุคคลสำหรับงานฟันเทียมทั้งปากมีหลายแบบ แต่ด้ามจับจะเหมือนกันคือเกือบตั้งตรงขึ้นมาจากระนาบสันเหงือก (ไม่โค้งงอ) คือประมาณแนวแกนของฟัน central incisor1 ทั้งในขากรรไกรบนและล่าง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการทำ border mold ในบริเวณฟันหน้า เวลาดึงริมฝีปาก หรือให้ผู้ป่วยเม้มปาก ริมฝีปากจะไม่กดรั้งด้ามถาดพิมพ์ปาก ส่วนในขากรรไกรล่างควรมี finger rest ที่ด้านหลัง ตำแหน่งอยู่ประมาณ ฟัน second premolar กับ first molar เพื่อไว้กดให้ถาดพิมพ์ปากอยู่กับที่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่สันเหงือกแบบราบ รอยพิมพ์ที่ได้จะได้ไม่มีรอยของนิ้วที่กดไปปรากฏอยู่ในรอยพิมพ์ปาก ยกเว้นในกรณีที่สันเหงือกไม่ยุบตัวมาก อาจไม่ต้องทำ finger rest ก็ได้

วัสดุ และเทคนิคการทำ border mold

วัสดุที่นิยมใช้ทำ border mold มีหลายชนิด เช่น compound stick ซึ่งที่นิยมใช้กันมักใช้สีเขียว หรือ สีเทา { สีเขียวมีอุณหภูมิที่ทำให้อ่อนตัว(50-51.1º C) น้อยกว่าสีเทา(53.3-54.4º C)เล็กน้อย}2, putty silicone และ polyether เป็นต้น ในด้านเทคนิคการทำงาน สามารถเลือกใช้เทคนิคที่ใช้มือของทันตแพทย์ช่วยดึง หรือเทคนิคที่ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวเอง  ก็ได้

ในขากรรไกรบน นับตั้งแต่ด้าน disto-buccal  ของด้านซ้าย อ้อมมาทางด้านหน้า จนไปถึง distobuccal  ของด้านขวา จะมีการเคลื่อนไหวที่ให้ผู้ป่วยปฏิบัติเหมือนกัน คือ อ้าปากกว้าง และ หุบปาก   จะมีที่แตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งคือ ด้าน distobuccal จะเพิ่มการให้ผู้ป่วยเยื้องคาง, ด้าน buccal จะเพิ่มการดูดแก้ม ส่วนทางด้านหน้า จะเพิ่มการเม้มริมฝีปาก ขยับริมฝีปากซ้ายขวาเพิ่มเติมจากการอ้าปากกว้าและหุบปาก  ส่วนทางด้านท้าย ไม่ต้องมีการเคลื่อนไหว ให้วางวัสดุพิมพ์ขอบลงไปที่ด้านในของถาดพิมพ์ปากแล้วกดขึ้นไปเฉยๆ

ในขากรรไกรล่าง นับตั้งแต่ด้าน disto-buccal  ของด้านซ้าย อ้อมมาทางด้านหน้า จนไปถึง distobuccal  ของด้านขวา จะคล้ายกับในขากรรไกรบนคือ จะมีการเคลื่อนไหวที่เหมือนกัน คือ อ้าปากกว้าง และ หุบปาก และจะมีที่แตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งคือ ด้าน distobuccal จะเพิ่มการให้ผู้ป่วยเยื้องคาง, ด้าน buccal จะเพิ่มการดูดแก้ม ส่วนทางด้านหน้า จะเพิ่มการเม้มริมฝีปาก ขยับริมฝีปากซ้ายขวาเพิ่มเติมจากการอ้าปากกว้าและหุบปาก  ส่วนทางด้านลิ้นทั้งหมด จะให้ผู้ป่วยหุบปาก แล้วเอาลิ้นเลียริมฝีปากซ้ายขวาทุกตำแหน่งเหมือนกัน  แต่จะมีเพิ่มเติมดังนี้ บริเวณที่ต่อจาก retromolar pad ลงมาจะใช้วิธีการกลืน เพิ่มเติมจากเลียริมฝีปากซ้ายขวา  และด้าน distolingual ที่ต่อมา ก็จะเพิ่มการเอาลิ้นเลียกระพุ้งแก้มซ้ายขวา เพิ่มเติมจากการเอาลิ้นเลียริมฝีปากซ้ายขวา

ก่อนจะทำ border mold ต้องลองถาดพิมพ์ปากก่อน  คำถามแรกที่ต้องถามคือ เจ็บไหม ถ้าคนไข้เจ็บให้ใช้ PIP ตรวจสอบแล้วแก้ไข จากนั้นทำการลองถาดพิมพ์ปาก โดยในขากรรไกรบนต้องให้มีช่องว่างระหว่าง ส่วนบนสุดของถาดกับ mucolabial หรือ mucobuccal ประมาณ 2 มม. แต่ด้านท้ายให้คลุมเลย Hamular notch และ vibrating line ออกไปหน่อย เช่นเดียวกันในขากรรไกรล่าง ทางด้าน buccal และ labial ให้ขอบอยู่ห่าง mucolabial หรือ mucobuccal ประมาณ 2 มม.3 บริเวณ retromolar pad ให้คลุมพอดี ส่วนทางด้านลิ้นก็ให้ห่างจากพื้นของช่องปาก ประมาณ 2 มม.3  จากนั้นเริ่มทำ border mold เช่นถ้าใช้ compound stick ก็จะลนไฟให้อ่อนตัว โดยย้ำว่าต้องขยับหมุน compound stick ไปมา ยื่นเข้าออก ไม่ให้จ่อไฟอยู่กับที่ เพราะ compound จะไหม้ แล้วจะmold ไม่ได้ดี จากนั้นนำ compound ที่อ่อนตัวไปป้ายกับขอบถาดพิมพ์ปาก  พยายามเลี้ยงตัวให้ compound อยู่บริเวณขอบ ไม่ให้ไหลเข้าไปด้านในของถาด ถ้าจำเป็นก็ให้ใช้มือที่ใส่ถุงมือเปียกน้ำแต่งรูปร่างของ compound ได้ จากนั้น torch ให้ compound  อ่อนตัวอีกครั้ง แล้วไปทำให้อุ่นตัวในน้ำอุ่น แล้วรีบเอาถาดพิมพ์ปากนั้นใส่ปากผู้ป่วย ประโยคแรกที่ต้องถามผู้ป่วย คือ ร้อนไปไหม พอทนได้ไหม  ถ้าคนไข้บอกทนไม่ได้ รีบเอาออกจากช่องปาก แล้วให้ผู้ป่วยรีบบ้วนน้ำ แล้วทันตแพทย์ก็ torch ให้ compound อ่อนตัวอีกครั้งแต่คราวนี้ ตอนแช่น้ำอุ่นให้แช่นานขึ้นอีกหน่อย ถ้าคนไข้บอกทนได้ ให้ทันตแพทย์ใช้มือดึงรั้งแก้มหรือริมฝีปาก(ยกเว้นบริเวณด้านท้ายของอันบน และด้านลิ้นของอันล่าง) เพื่อรีด compound ส่วนที่เกินมากๆให้บางลง แล้วให้ผู้ป่วยขยับแก้มหรือริมฝีปากตามที่ได้กล่าวมาแล้ว  จากนั้นนำออกมาล้างน้ำ compound ที่ได้ควรจะด้านๆ แล้วเป็นรอยที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ และควรจะต่อกับบริเวณที่ทำไปแล้วอย่างดี จากนั้นทำจนครบทุกส่วน

เมื่อทำการ border mold เสร็จก็ให้สำรวจว่ามีวัสดุพิมพ์ขอบไหลเข้าไปด้านในของถาดพิมพ์ปากไหม ถ้ามีให้ค่อยๆเอา blade ที่ต่อกับ holder ค่อยๆตัดออก โดยคงส่วนที่สูงสุดของขอบเอาไว้ จากนั้นสำรวจดูบริเวณที่มีขี้ผึ้งติดอยู่ด้านในของถาดพิมพ์ปาก (ที่ทำการ relief ไว้) ให้เอาออก แล้วสำรวจบริเวณ  retromolar pad ว่ามีส่วนของวัสดุพิมพ์ขอบไปอยู่บริเวณนั้นมากไหม ถ้ามีมากไปจะกด retromolar pad ทำให้เมื่อเป็นฟันเทียมแล้ว เนื้อเยื่อบริเวณนี้จะถูกกดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็มีแนวโน้มจะดันตัวคืนรูป อาจทำให้ฟันเทียมค่อยๆลอยตัวขึ้นก็ได้ ดังนั้นอาจต้องตัดวัสดุพิมพ์ขอบส่วนนี้ออกไม่ให้กด retromolar pad ก่อนการทำ final impression จากนั้นก็ทา adhesive สำหรับวัสดุพิมพ์ปากที่ต้องการจะใช้ในการทำ final impression  แล้วจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งท่านั่ง แล้วบอกให้ผู้ช่วยผสมวัสดุพิมพ์ปากให้เข้ากัน แล้วใส่ในถาดพิมพ์ปากให้ทั่ว สำหรับในขากรรไกรบนเมื่อ load วัสดุพิมพ์ปากเต็มแล้ว ให้ลองจับที่ด้ามของถาดพิมพ์ปาก แล้วยกถาดพิมพ์ปากตั้งขึ้น ถ้าวัสดุพิมพ์ปากยังไหลอยู่มาก อย่าพึ่งใส่ในปาก ควรรอให้มีการไหลได้น้อยๆ แล้วจึงใส่ในปาก จากนั้น mold เหมือนตอนทำ border mold ส่วนในขากรรไกรล่างก็ทำแบบเดียวกัน จะมียกเว้นก็บริเวณด้าน lingual ที่ต่อจาก retromolar pad ที่ตอน mold ให้กลืน แต่เวลาการทำ final impression ไม่ต้องกลืน ให้ใช้การขยับลิ้นอย่างเดียวก็พอ จากนั้นรอจนวัสดุ set ตัว ก็นำออกจากปากผู้ป่วย ก็จะได้รอยพิมพ์ที่เหมาะสม นำไปทำ boxing เทปูนได้ แบบหล่อหลักได้ต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  1. Maxillary impression procedures, in Boucher’s Prosthodontic Treatment for EdentulousPatients 10th Edition, The C.V. Mosby Company  Page 169-193
  2. Impression Materials, in Phillips’ Science of Dental Materials 12th Edition, ELSEVIER  Page151-181
  3. Fournet SC and Tuller CS. A revolutionary mechanical principle utilized to produce full lowerdentures surpassing in stability the best modern upper dentures. J Am Dent Assoc 11:16-20,1937

แบบทดสอบ